เปิดสาเหตุน้ำท่วมเหนือ "ลุ่มน้ำยม" วิกฤติสุด คาดอีก 2 วัน มวลน้ำไหลบ่าถึง จ.สุโขทัย เตรียมแผนผันน้ำ หวั่นจมบาดาล "ศูนย์อำนวยการน้ำ" กางแผนกรุงเทพฯ เฝ้าระวังน้ำเหนือ พร่องน้ำเขื่อนเจ้าพระยารอ แม้น้ำทะเลหนุน ย้ำชัด "กรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี" ปีนี้กระทบน้อย
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สรุปสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือ ภาพรวมวันนี้ (22 ส.ค. 67) มีปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ จ.พะเยา (237 มม.) ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเฉียบพลันใน จ.เชียงราย, จ.พะเยา, จ.น่าน ต้นเหตุมาจากสภาวะลานีญา ทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง 24-30 ส.ค.นี้
หากมองสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือที่มีผลต่อพื้นที่ตอนล่าง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ หรือไม่ "นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ" ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์เดือน ส.ค.- ก.ย. 67 มีฝนตกหนักทางภาคเหนือตอนบน ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงใน จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.แพร่ จ.น่าน ซึ่งช่วง 2-3 วันนี้มีน้ำหลาก
ทั้งนี้สถานการณ์น้ำตามลุ่มน้ำทางภาคเหนือ สามารถสรุปได้ดังนี้
...
ลุ่มน้ำน่าน (วันที่ 22 ส.ค. 67) มีปริมาณน้ำหลาก ทำให้มีน้ำเพิ่มสูงใน อ.เมือง ไปจนถึง อ.เวียงสา จ.น่าน ตอนนี้มีน้ำท่วมเพิ่มสูง 1-2 เมตร คาดว่าอีกประมาณ 5 วัน มีปริมาณน้ำลดลง เข้าสู่สภาวะปกติ พื้นที่ดังกล่าวมีการแจ้งเตือนน้ำท่วมเฉียบพลันมาก่อนหน้าแล้ว มีการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ จ.สุโขทัย
ลุ่มน้ำยม จากปริมาณฝนสะสม 2 วันที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ต้นน้ำ จ.พะเยา และ จ.แพร่ ที่ขณะนี้มวลน้ำกำลังไหลผ่าน อ.สอง จ.แพร่ คาดการณ์ว่ามวลน้ำที่ไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบน สูงสุด 1,700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยมวลน้ำไหลสูงสุดไปเมื่อคืน (21 ส.ค. 67) ซึ่งมวลน้ำจะไหลลงไปยัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
ต้องจับตาว่ามวลน้ำขนาดใหญ่ไหลมาถึง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย วันที่ 24-25 ส.ค. 67 มีปริมาณน้ำประมาณ 1,300 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งศักยภาพการระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่างรองรับได้เพียง 800-900 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงมีมวลน้ำที่เกินศักยภาพรองรับถึง 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่งผลให้มีน้ำท่วมล้นตลิ่ง และท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ
เบื้องต้นมีการบริหารจัดการน้ำโดยผันน้ำออกจากพื้นที่ไปยังแม่น้ำน่าน และทุ่งบางระกำ ลดปริมาณน้ำหลากจากตอนบนที่หลากเข้าเมืองสุโขทัยให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลกระทบใน อ.สวรรคโลก อ.เมือง และพื้นที่ตอนล่าง จ.สุโขทัย
ขณะนี้มีการผลักดันน้ำบางส่วนในพื้นที่ตอนเหนือ เพื่อให้รองรับมวลน้ำที่ไหลลงมา รวมทั้งลดการระบายน้ำจาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ และเร่งระบายน้ำจากเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำน่าน ซึ่งมีการผลักดันน้ำจากแม่น้ำยมลงแม่น้ำน่าน
น้ำเหนือ จับตาไหล่บ่าสู่เจ้าพระยา กรุงเทพฯ
"นายฐนโรจน์" กล่าวถึงผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกรุงเทพฯ ว่า มวลน้ำจากทางเหนือที่ไหลลงมา จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น วันนี้ (22 ส.ค. 67) อยู่ที่ 700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 1,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที คาดว่ามวลน้ำจากเหนือไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง ตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยาไปจนถึงกรุงเทพมหานคร
เขื่อนเจ้าพระยา หากมวลน้ำทางเหนือไหลบ่าลงมาเติม จะมีการเพิ่มการระบายน้ำ ดังนั้นผลกระทบจากน้ำหลากในพื้นที่ตอนล่าง คาดว่ามีน้อย แม้มีน้ำทะเลหนุนในช่วงนี้ถึงปลายเดือน ส.ค. 67 แต่ไม่มีผลกระทบกับพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และ จ.สมุทรปราการ
...
“หากเทียบปริมาณน้ำในปีนี้ถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น ที่ผ่านมาเพิ่งมีปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มน้ำเจ้าพระยาเฉลี่ย 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ในปี 2565-2566 มีปริมาณน้ำมากกว่า เฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และต่อจากนี้พื้นที่ภาคเหนือมีปริมาณฝนมากตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. จากนั้นฝนจะตกหนักในภาคกลาง และภาคใต้ ในเดือน ต.ค.”
ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบน ส่วนพื้นที่ตอนล่างก็พยายามระบายมวลน้ำ ซึ่งปีนี้มีการติดตามสถานการณ์น้ำ โดยการพร่องน้ำตามลำน้ำต่างๆ ก่อน โดยเฉพาะเขื่อนเจ้าพระยา ลดระดับการเก็บน้ำมากกว่า 1-2 เมตร เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน
จากการประเมินมวลน้ำที่ทำให้เกิดอุทกภัยอยู่เวลานี้ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมที่ไหลลงมาสู่เขื่อนเจ้าพระยา ประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะไม่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงไปกว่านี้ ส่วนปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านถือเป็นเรื่องที่ดีในการเก็บกักน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ทำให้มีต้นทุนน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง.
...