เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ไม่รอด ต้องพ้นจากตำแหน่ง กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) และนั่นหมายความว่า รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรรคหนึ่ง (1) 

"เศรษฐา" ไม่รอด อีกบรรทัดฐานความซื่อสัตย์ บี้นักการเมืองอื่น

อีกปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทย ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ และอาจทำให้คนในสังคมต้องช็อกอีกครั้ง หลังมีการยุบพรรคก้าวไกล เพราะบางส่วนคาดไม่ถึงว่า เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับ “รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์” คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก็คาดไม่ถึงเช่นกัน ถือว่าพลิกโผ จากก่อนหน้าคิดว่า เศรษฐา มีโอกาสรอดมากถึง 90% และเมื่อเป็นเช่นนี้การเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

...

“รศ.ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์” กล่าวว่า ในแง่ของการวางมาตรฐานจริยธรรม โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วางเรื่องความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ จากการแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ทำให้ เศรษฐา ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และเกมต่อไปจะเป็นการไล่บี้รัฐมนตรีและสส. ซึ่งมีปัญหาคล้ายคลึงกัน และจากนี้ไปศาลจะต้องรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม แม้กระทั่งการยุบพรรคก้าวไกลก็เกี่ยวพันกันหมด ไม่แน่ใจจะเพิ่มเครดิต หรือลดทอนการทำหน้าที่ของศาล เพราะรัฐธรรมนูญไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน

“เท่ากับศาลวางคุณค่าด้านความซื่อสัตย์ ก็ต้องไปวัดไปใช้กับนักการเมืองคนอื่นๆ ว่าเป็นอย่างนี้หรือไม่ รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น ในการกลับไปดูกระบวนการยุติธรรมว่าจะรวมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ เพื่อให้เกิดบทเรียนใหม่ในการสร้างบรรทัดฐานของสังคม และเคสมาตรฐานอย่างนี้เคยเกิดขึ้นกับ ปารีณา ไกรคุปต์ และนักการเมืองคนอื่นๆ มาแล้ว เห็นชัดด้านกฎหมายทางอาญา แต่เคสนี้เป็นทางการเมือง และต่อไปคนที่เข้าสู่การเมืองต้องดีมาตั้งแต่ตอนเรียน”

เกมการเมืองต่อไป เจรจาต่อรอง เพื่อไทยไม่กล้ายุบสภา

การเมืองไทยหลังจากนี้คาดว่าไม่วุ่นวาย เพราะเป็นเรื่องเจรจาต่อรอง และความได้เปรียบตอนนี้ยังเป็นของพรรคเพื่อไทย ส่วนอันดับรองลงมาคือ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย และหลังจากนี้จะมีการส่งต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ใคร แต่หาก พรรคเพื่อไทย ยอมพรรคภูมิใจไทย จะเป็นการลดทอนความกดดัน และยังได้เป็นรัฐบาลต่อไป

ขณะเดียวกันทาง อนุทิน ก็ให้ความสำคัญพรรคเพื่อไทย ในการให้ตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้น เพื่อแลกกับการเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ อนุทิน มีความเป็นไปได้สูงที่จะนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาจเป็นเกมของฝ่ายอนุรักษนิยมก็มีความเป็นไปได้ และต้องดูว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเป็นใคร ก็พอเห็นภาพได้ชัดว่ามีความสัมพันธ์กับใคร

ถามว่า ภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี จะยุบสภาหรือไม่? มองว่า หากพรรคเพื่อไทยยุบสภา จะทำให้ความได้เปรียบหายไป กลายเป็นความได้เปรียบของพรรคประชาชน อีกทั้งกลุ่มประชาชนไม่พอใจคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล บวกกับความไม่พอใจในอดีต ยิ่งทำให้พรรคประชาชนได้เปรียบ มีความเป็นไปได้จะชนะเลือกครั้งหน้าเป็นรัฐบาลพรรคเดียวก็เป็นไปได้

...

"อนุทิน" เก๋าเกม นายกฯ คนต่อไป ดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงล่ม

หากเกมไม่พลิก อนุทิน จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เพราะแคนดิเดตคนอื่นๆ สู้อนุทินไม่ได้ มีทั้งความบู๊และความเก๋า และต่อไปจะเป็นเกมการเมืองต่างตอบแทน จะยื้อไปจนครบวาระ ขณะที่ พรรคเพื่อไทย จะปรับตัวในการประคองตัวเป็นรัฐบาลให้ได้ เพราะความนิยมของพรรคเพื่อไทยถดถอยลงมาก และผลงานที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไร

จากนี้ไปการเมืองไทยคงต้องปรับแผน และแน่นอนจะกระทบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เพราะขัดกฎหมายหลายอย่าง ก็เป็นความแปลกกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการให้ เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีไปก่อน แล้วก็พ้นสภาพ จนการเมืองกลับมาวังวนเดิมๆ อาจเป็นชัยชนะของกลุ่มอนุรักษนิยมระดับหนึ่ง แต่ไม่ยั่งยืน เพราะคลื่นลูกใหม่จะกระทบกับอำนาจเดิมที่พยายามดึงรั้งให้คงอยู่ และกำลังจะพาเข้าไปจุดล่อแหลม พาไปสู่รัฐประหาร สู่วงจรอุบาทว์ ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไปอีก

“ถ้าเพื่อไทยยุบสภา ก็จะแพ้ให้กับพรรคคนรุ่นใหม่ คนจะเลือกเข้ามาอย่างถล่มทลาย เลือกโดยไม่รู้จักว่าเป็นใคร ท้ายสุดก็จะยื่นยุบพรรคประชาชนอีก ไม่ดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ดูตามตัวบทกฎหมายอื่น เพราะหากตัดสินตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน หากดูตามกฎหมายอื่น ก็ไม่ตอบเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อย่างเคสนี้ พิชิต ชื่นบาน ก็ลาออกไปแล้ว กลายเป็นว่าคนยื่นทูลเกล้าฯ ก็ผิดไปด้วย และต่อไปจะยิ่งทำให้สถาบันเดือดร้อนมาก เหมือนเป็นการปกป้องที่ทำเกินเลย”.