เปิดงบประมาณโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ 'คลองช่องนนทรี' สร้างเสร็จแล้ว 2 เฟส รวมกว่า 156 ล้านบาท เผยแผนเฟส 3 ใช้งบฯ สร้างประมาณ 315 ล้านบาท
ชวนติดตามกันต่อ สำหรับกรณี 'คลองช่องนนทรี' วันนี้ทีมข่าวฯ จะขอพาคุณผู้อ่านไปดูที่มา และงบประมาณของโครงการนี้กัน!
ย้อนไปในอดีต แนวคิดการฟื้นฟูคลองใน กทม. ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ มาทุกยุคทุกสมัย จนกระทั่งเมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการ กทม. จึงได้ดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นสวนสาธารณะคลองแห่งแรกของไทย และถูกหวังให้เป็นต้นแบบการพลิกฟื้นระบบนิเวศคลอง อีกทั้งยังถูกหมายมั่นว่า เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางกรุง เชื่อมต่อย่านธุรกิจแห่งมหานครไว้ด้วยกัน!
...
ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ทีมข่าวฯ ได้รับข้อมูลจาก 'สำนักการโยธา-กรุงเทพมหานคร' ระบุถึงที่มาของ 'โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี' ว่า จากการที่น้ำในคลองเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศ ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงเล็งเห็นความสำคัญ ในการปรับปรุงคลองช่องนนทรี เพื่อให้ประชาชนมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่ง 'คลองช่องนนทรี' ถือเป็นคลองที่อยู่ในพื้นที่ชั้นในของ กทม. และอยู่ในเขตพื้นที่ของสำนักงานเขตบางรัก, สาทร และยานนาวา เป็นคลองที่ใช้สำหรับระบายน้ำ มีขนาดกว้างประมาณ 15-17 เมตร จุดเริ่มต้นของคลองอยู่ที่ถนนสุรวงศ์ ไหลผ่านถนนสีลม ถนนสาทร ถนนจันทน์ ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระรามที่ 3 และสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทางประมาณ 4.5 กิโลเมตร
สำหรับงบประมาณที่ใช้ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่คลองแห่งนี้ จะใช้ไปทั้งหมดเท่าไรแล้ว และเบื้องต้นมีแผนก่อสร้างช่วงอื่นอย่างไรบ้าง ขอเชิญคุณผู้อ่านรับชมที่ด้านล่างนี้ได้เลย!
ช่วงที่ 1 :
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 1 เริ่มต้นที่ถนนสุรวงศ์ ผ่านถนนสีลม และสิ้นสุดที่ถนนสาทร ระยะทางรวม 800 เมตร
- งบประมาณ 78,958,604.77 บาท
- สถานะโครงการ : ก่อสร้างแล้วเสร็จ
- อยู่ระหว่างค้ำประกันผลงาน 2 ปี สิ้นสุดค้ำประกันผลงาน 20 ก.พ. 2569
- ในส่วนของต้นไม้ที่ตาย ผู้รับจ้างมีหน้าที่แก้ไข ปลูกต้นไม้ทดแทน ให้เป็นไปตามสัญญา
- หลังครบกำหนดค้ำประกันผลงาน หน่วยงานภายในกรุงเทพมหานคร จะทำการบำรุงรักษาพื้นที่ให้ยั่งยืนต่อไป
ช่วงที่ 2 :
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 1 เริ่มต้นที่ถนนสาทร ถึง ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 รวมระยะทาง 200 เมตร
- งบประมาณ 77,225,298.22 บาท
...
- สถานะโครงการ : ก่อสร้างแล้วเสร็จ
- อยู่ระหว่างค้ำประกันผลงาน 2 ปี สิ้นสุดค้ำประกันผลงาน 8 ก.ย. 2567
- ในส่วนของต้นไม้ที่ตาย ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับจ้างแก้ไขแล้ว และต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จ แม้ว่าพ้นกำหนดระยะเวลาค้ำประกัน
- กรุงเทพมหานคร มีแผนที่จะดูแลพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ช่วงที่ 3 :
โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 3 เริ่มต้นที่ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึง ถนนจันทน์ รวมระยะทาง 1,600 เมตร
...
- งบประมาณ 315,926,942.34 บาท
- สถานะโครงการ : อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขสัญญา เพื่อปรับรูปแบบของโครงการให้มีความคุ้มค่า ไม่ตัดต้นไม้เดิม ลดสิ่งก่อสร้างในคลอง และออกแบบภูมิทัศน์ให้มีความยั่งยืน
- คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ กลางปี 2568 และผู้รับจ้างยังคงมีหน้าที่ดูแลผลงานเป็นระยะเวลา 2 ปี
- หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี หน่วยงานภายในกรุงเทพมหานคร จะทำการบำรุงรักษาพื้นที่ให้ยั่งยืนต่อไป
...
ช่วงจากถนนจันทน์ ถึงถนนพระรามที่ 3 :
- ระยะทาง 1,900 กิโลเมตร
- สถานะโครงการ : อยู่ในขั้นตอนการออกแบบ เพื่อปรับรูปแบบของโครงการให้มีความคุ้มค่า ไม่ตัดต้นไม้เดิม ลดสิ่งก่อสร้างในคลอง และออกแบบภูมิทัศน์ให้มีความยั่งยืน
- เมื่อออกแบบแล้วเสร็จ จะของบประมาณ ปี พ.ศ. 2569 ต่อไป
อ้างอิงข้อมูล : สำนักการโยธา-กรุงเทพมหานคร
นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้รับจากสำนักการโยธา ทีมข่าวฯ ได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 เพจกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ถึงแผนก่อสร้างเฟสที่ 3 ว่า
"สำหรับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 3 จากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7-ถนนจันทน์ สัญญาระหว่าง ก.ย. 65-ก.ค. 66 โดยวงเงินค่าก่อสร้างตามสัญญา อยู่ที่ 366,100,000 บาท ส่วนวงเงินค่าก่อสร้างหลังปรับรูปแบบ จะอยู่ที่ 315,900,000 บาท (***ลดจากวงเงินเดิม 50,200,000 บาท) รูปแบบการก่อสร้างจะสามารถรักษาต้นไม้ไว้ได้ทั้งหมด โดยไม่กระทบต่อต้นไม้ริมคลองจำนวน 368 ต้น"
เมื่อสืบข้อมูลย้อนไปกว่านั้น พบว่า ช่วงปี พ.ศ. 2564 มีกระแสข่าวพูดถึงกันว่า โครงการนี้จะใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 980 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็นทั้งหมด 5 ช่วง ซึ่งนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการโยธา กทม. (ขณะนั้น) เผยรายละเอียดว่า
ช่วงที่ 1 จากถนนสุรวงศ์ ถึงถนนสาทร ระยะทาง 800 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท
ช่วงที่ 2 จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ระยะทาง 200 เมตร วงเงิน 80 ล้านบาท
ช่วงที่ 3 จากซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึงถนนจันทน์ ระยะทาง 1,600 เมตร วงเงินงบประมาณ 370 ล้านบาท
ช่วงที่ 4 จากถนนจันทน์ถึงถนนรัชดาภิเษก ระยะทาง 1,000 เมตร วงเงินงบประมาณ 250 ล้านบาท
ช่วงที่ 5 จากถนนรัชดาภิเษกถึงถนนพระรามที่ 3 ระยะทาง 900 เมตร วงเงิน 200 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีการพูดถึงโครงการดังกล่าว ความบางส่วนว่า "การพัฒนาคลองช่องนนทรีไม่ได้มุ่งแต่การปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะทำให้คลองมีประโยชน์มากกว่าทางระบายน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำเสียแยกออกจากน้ำดี และน้ำเสียที่แยกออกมาจะถูกบำบัดเพื่อนำกลับไปใช้ไล่น้ำเสียในคลองสายอื่นที่เชื่อมต่อกับคลองช่องนนทรี รวมทั้งยังคงมีศักยภาพในการลำเลียงน้ำในฤดูฝนได้ดียิ่งขึ้น"
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพิจารณาดูแล้ว พบว่า ข้อมูลทั้งหมดที่ได้กล่าวมา สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ ที่ทีมข่าวฯ เคยได้สนทนากับ 'เอกวรัญญู อัมระปาล' ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการ กทม. และโฆษก กทม. ซึ่งกล่าวว่า "เพราะฉะนั้นเลยเรียนว่าจาก 5 เฟส ปรับเหลือ 4 เฟส เพราะมีการปรับเพิ่มว่าส่วนไหนไม่จำเป็นก็นำออก"
อ่านเพิ่มเติม : คำตอบจาก กทม. ถึง 'คลองช่องนนทรี' 3 แนวทางลดกลิ่นเหม็น น้ำดำ
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาจากงบประมาณที่ทางสำนักการโยธาเผยกับเราแล้ว เห็นได้ว่า การใช้งบในปัจจุบันยังคงอยู่ในวงเงินที่เคยถูกตั้งไว้ตั้งแต่อดีต
จะเห็นได้ว่าทั้งงบประมาณและแผนโครงการปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงและแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เลื่อนอ่านมาถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านมีความคิดเห็นต่อ 'โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี' อย่างไรบ้าง?
.........
อ่านสกู๊ปคลองช่องนนทรี :