
ถิ่นกำเนิด :
ปลาหมอคางดำ มีถิ่นกำเนิดที่ทวีปแอฟริกา แพร่กระจายตลอดแนวชายฝั่งจนถึงแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น ไนจีเรีย แคเมอรูน เซเนกัล ไอวอรี่โคสต์ กินี ไลบีเรีย โตโก คองโก เบนิน แกมเบีย บิสเซา มอริเตเนีย กานา เซียร์ราลีโอน

ขนาดและเพศ
ปลาหมอคางดำขนาดโตเต็มวัย อาจมีขนาดลำตัวยาวถึง 8 นิ้ว หรือมากกว่า
เมื่อโตเต็มวัย ปลาหมอคางดำเพศผู้จะมีสีดำบริเวณหัวและบริเวณแผ่นปิดเหงือกมากกว่าเพศเมีย
การผสมพันธุ์
สามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้ตลอดทั้งปี อย่างไรก็ดี กิจกรรมการผสมพันธุ์อาจจะลดลงในช่วงฝนตกหนัก มีกระแสน้ำแรง และมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมรวดเร็ว
โดยเมื่อถึงช่วงระยะเวลาจับคู่ผสมพันธุ์จะเข้ามาในเขตน้ำตื้น ปลาเพศเมียทำหน้าที่ขุดหลุมสร้างรัง เพศผู้ทำหน้าที่กระตุ้นให้ปลาเพศเมียวางไข่และผสมน้ำเชื้อภายนอก
การขยายพันธุ์ :
แม่ปลาหมอคางดำ 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 50-300 ฟอง หรือมากกว่า โดยขึ้นกับขนาดของแม่ปลา
การฟักไข่และดูแลตัวอ่อนในปากโดยปลาเพศผู้ โดยไข่จะใช้เวลาฟักประมาณ 4-6 วัน และพ่อปลาจะดูแลลูกปลาโดยการอมไว้ในปากนานประมาณ 2-3 สัปดาห์
สำหรับลูกปลาที่อยู่ในปาก ระยะหลบซ่อนตัว จะมีขนาดประมาณ 1 ซม. น้ำหนักประมาณ 0.14-0.18 กรัม


ข้อมูลทางวิชาการ :
ปลาหมอคางดำ ลักษณะการทำรังก่อนผสมพันธุ์ จะคล้ายกับ ปลาหมอเทศ เพียงแต่แตกต่างกันตรงที่ ปลาหมอคางดำ “ตัวผู้” จะอมเก็บไข่ที่ผสมแล้ว และอมตัวอ่อนในปาก ส่วน ปลาหมอเทศและปลานิล นั้น “ตัวเมีย” จะเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลตัวอ่อน
ขณะเดียวกัน จากการสุ่มผ่าพิสูจน์เพศปลาหมอคางดำที่พบในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร (เนื่องจากหากมองเพียงภายนอกแทบจะไม่สามารถระบุเพศได้ชัดเจน) ยังพบด้วยว่า “ปลาหมอคางดำ” มากกว่า 90% ในฝูงเป็น “ตัวเมีย”
แต่จากการที่“ตัวผู้” เป็นผู้ดูแลลูกปลาวัยอ่อน ฉะนั้นหากตัวผู้ในฝูงมีจำนวนน้อยมาก ย่อมไม่สามารถดูแลลูกปลาจำนวนมากได้เพียงพอแน่นอน จึงมีความเป็นไปได้ที่ตัวเมียจะร่วมดูแลลูกปลาร่วมกับตัวผู้ โดยพฤติกรรมเช่นนี้พบได้ในบางสายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ
ด้วยเหตุนี้ อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ปลาชนิดนี้สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
อาหาร ปลาหมอคางดำ
ปลาหมอคางดำกินทั้งพืชและสัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากสิ่งมีชีวิต

ทั้งนี้ จากการทดลองในห้องปฏิบัติการศูนย์วิจัยและการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 2 (สมุทรสาคร) พบว่าปลาหมอคางดำชอบกินลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งแชบ๊วย และลูกปลาวัยอ่อน
ความน่ากลัว

เนื่องจากลำไส้ปลาหมอคางดำมีความยาวมากกว่า 4 เท่าของความยาวลำตัว และมีระบบย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยกุ้งได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที ด้วยเหตุนี้ ปลาหมอคางดำจึงมีความต้องการอาหารอยู่แทบตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยค่อนข้างดุร้ายเมื่อเทียบกับปลาหมอเทศด้วย
บริเวณที่พบในประเทศไทย :
ปากแม่น้ำกร่อย ป่าชายเลน จนถึงชายฝั่งทะเล รวมถึงในน้ำจืด แม่น้ำ ทะเลสาบน้ำจืด ในบริเวณที่มีกระแสน้ำไม่ไหลแรง
ข้อมูลทางวิชาการ
ปลาหมอคางดำ ดุและกินเก่ง จริงหรือไม่? :
จากการศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารของ “ปลาหมอคางดำ” ทั้งกินเก่งและกินจุจริง
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ปลาหมอคางดำ “กินเก่งกินจุ” นั้น เป็นเพราะมันมีระบบทางเดินอาหารที่ยาว และมีระบบย่อยอาหารที่ทำงานได้ดี จนทำให้มันสามารถกินและย่อยได้อย่างรวดเร็ว
จะสังเกตได้เลยว่าเมื่อปลาหมอคางดำ รุกเข้าไปในพื้นที่ไหน พื้นที่นั้นก็มักจะพบว่าสัตว์น้ำท้องถิ่นลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว โดยถูกแทนที่ด้วยปลาหมอคางดำ ที่ออกลูกออกหลานเต็มไปหมดเลย ก็แสดงว่า มันกินอาหารได้หลากหลาย โดยอาหารหลักๆ คือ แพลงก์ตอนพืช และสัตว์ สาหร่าย เศษซากพืช ซากสัตว์ สารอินทรีย์ นอกจากนั้นยังสามารถกินสัตว์น้ำวัยอ่อนของ กุ้ง หอย ปู และปลา ซึ่งจากการที่สามารถกินอาหารได้หลากหลาย ส่งผลให้ปลาหมอคางดำสามารถเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่าง
ปลาหมอคางดำ กินพวกเดียวกันเองหรือไม่ :
จากการทดสอบยังไม่พบว่า ปลาชนิดนี้กินพวกเดียวกันเองแบบเป็นๆ เว้นเสียแต่หากพวกมันป่วยหรือตาย พวกมันก็จะกินเศษซากเหล่านั้น เพราะมันเป็นสัตว์น้ำที่กิน “เศษซากอินทรีย์” อยู่แล้ว
ซึ่งประเด็นนี้ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหนที่มี “ไข่ของสัตว์น้ำ” อยู่ตามพื้นบ่อ ก็จะถูกพวกปลาหมอคางดำไล่กินจนหมดได้เช่นกัน

จุดเด่นของปลาหมอคางดำ
สามารถทนความเค็มได้สูง และทนต่อความเปลี่ยนแปลงความเค็มในช่วงกว้าง
โดยผลจากการทดสอบ : ปลาหมอคางดำขนาด 1.5-2.5 ซม. สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มฉับพลันจากน้ำจืด 0 ppt จนถึงความเค็ม 30 ppt และสามารถปรับตัวและเริ่มกินอาหารได้ใน 1 ชั่วโมง
แต่ในระดับความเค็มตั้งแต่ 35 ppt ลูกปลาหมอคางดำจะตายภายใน 30 นาที เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงความเค็มในฉับพลัน
อย่างไรก็ดี ถ้าปรับเพิ่มความเค็มช้าๆ ลูกปลาหมอคางดำ อาจอาศัยได้ในน้ำที่มีความเค็มสูงกว่า 40 ppt
ข้อมูลทางวิชาการ
พฤติกรรมการหลบหลีกสัตว์ผู้ล่า :
ปลามีการรวมตัวเป็นฝูง เพื่อข่มขวัญศัตรู รวมทั้งปลาหมอคางดำ เป็นสัตว์หากินกลางคืน โดยธรรมชาติจึงสามารถหลบหลีกหนี “สัตว์ผู้ล่า” ได้เก่งอยู่แล้ว โดยหากเป็นบริเวณริมคลองริมบ่อ พวกมันก็มักจะไปหลบซ่อนตัวตามรากไม้เป็นส่วนใหญ่
ปลากะพงขาว :
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “กรมประมง” แนะนำให้เกษตรกรใช้ “ปลากะพงขาว” ทำหน้าที่เป็น “ปลาผู้ล่า” เนื่องจากมีปากที่กว้าง กินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ได้ดี มีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำทะเล เช่นเดียวกับปลาหมอคางดำ
ปลากะพงขาว กำจัด ปลาหมอคางดำ ได้จริงหรือ?
“คือแบบนี้ครับ กรมประมงโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 2 (สมุทรสาคร) หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสาคร ในปัจจุบัน ได้ศึกษาพฤติกรรม และแนวทางกำจัดปลาหมอคางดำโดยใช้ปลากะพงขาว มาตั้งแต่ปี 2560
แม้ว่า ปลาหมอคางดำตัวโตเต็มที่อาจจะมีขนาดยาวได้ถึง 8 นิ้ว และมีรายงานว่า สามารถโตได้ถึง 11 นิ้ว แต่สิ่งที่ปลากะพงขาวในฐานะปลาผู้ล่าจะทำ คือ เข้าไปควบคุมและจำกัดปริมาณการขยายพันธุ์ของลูกปลาหมอคางดำในพื้นที่นั้นๆ โดยเข้าไปกินลูกปลา หรือปลาที่มีขนาดเล็กกว่าปากปลากะพงขาว ขณะที่ปลาหมอคางดำตัวใหญ่ จะถูกกำจัดโดยการดักจับด้วยเครื่องมือประมง
การจะทำให้วิธีนี้ได้ผลดี จะต้องฝึกให้ “ปลากะพงขาว” รู้จักการล่า “ลูกปลาหมอคางดำ” เสียก่อน เพราะต้องไม่ลืมว่า “ปลากะพงขาว” ที่เกษตรกรเพาะได้นั้น ส่วนใหญ่ถูกฝึกให้กินอาหารเม็ดมาก่อน
ขณะเดียวกัน วิธีการนี้แนะนำว่าควรใช้กับ “บ่อกุ้งหรือบ่อปลา” ของเกษตรกร ที่ถูกรุกรานจากปลาหมอคางดำเสียจนแทบไม่เหลืออะไรในบ่อแล้ว เพราะการใช้ “ปลากะพงขาว” เป็นผู้ล่านั้น นอกจากจะสามารถค่อยๆ กำจัดการแพร่กระจายของ “ลูกปลาหมอคางดำ” ในบ่อได้แล้ว ยังทำให้เกษตรกรได้ “ผลผลิตเป็นปลากะพงขาว” ทดแทน โดยไม่ต้องเสียเงินค่าอาหารให้กับ “ปลากะพงขาว” ที่ถูกปล่อยลงไปในบ่อด้วย
แต่อย่างไรก็ดี สำหรับวิธีการนี้ ผมขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า ควรจะใช้ก็ต่อเมื่อในพื้นที่นั้นถูกรุกรานจากปลาหมอคางดำอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันผลกระทบของปลากะพงขาวต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น
ส่วนปลาหมอคางดำที่โตเต็มวัยและมีขนาดใหญ่แล้ว วิธีการกำจัดหรือควบคุมปริมาณที่ดีที่สุด ก็คงไม่เว้น ต้องจับมันขึ้นมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำเป็นอาหารเมนูต่างๆ หรือแปรรูป ปลาแดดเดียว หมักเป็นปลาร้า น้ำปลา ทำลูกชิ้น หรือผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่ใช้ปลาเป็นวัตถุดิบ รวมถึงทำน้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ
สัตว์ผู้ล่าในธรรรมชาติของปลาหมอคางดำ :
ปลาผู้ล่าโดยทั่วไป หรือก็คือ ปลากินเนื้อทั้งหมดที่มีขนาดใหญ่ ปลามีความกว้างของปากเพียงพอที่จะกินปลาหมอคางดำนั่นเอง!
ปัญหา

การแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้สัตว์น้ำท้องถิ่นในธรรมชาติลดลง จากการบุกรุกยึดครองพื้นที่และตกเป็นเหยื่อของปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำท้องถิ่นวัยอ่อน และวัยรุ่น
เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำที่จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์สัตว์น้ำธรรมชาติประสบปัญหาสัตว์น้ำเข้าบ่อลดลง อันเนื่องจากพันธุ์สัตว์น้ำจากธรรมชาติลดลง และเสี่ยงต่อปลาหมอคางดำจะหลุดรอดเข้ามา ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงมากขึ้น ทั้งการกรองน้ำ การใช้กากชา รวมถึงต้องซื้อพันธุ์สัตว์น้ำมาปล่อยทดแทน และอาจต้องซื้ออาหารมาเสริมเพื่อทดแทนอาหารที่เคยได้รับจากธรรมชาติจากการเปิดน้ำเข้าออก
ขณะเดียวกัน หากในอนาคตไม่สามารถควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำได้ อาจแพร่กระจายไปสู่แหล่งน้ำจืดและชายฝั่งมากขึ้น สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องถิ่น และกระทบต่อการประมงในอนาคต
เหตุใดปลาหมอคางดำจึงเพิ่มจำนวนขึ้น
เนื่องจากปลาหมอคางดำจำนวนมาก ได้หลุดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงปลาชนิดนี้กินอาหารได้แทบทุกชนิด และขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว หนำซ้ำยังทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่รุนแรงได้ดี โดยเฉพาะความเค็ม การกำจัดให้หมดไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
ข้อมูลทางวิชาการ
ความแข็งแกร่งของปลาหมอคางดำ :
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ปลาหมอคางดำ” สามารถหลบหลีกปลาผู้ล่า จนสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วนั้น ก็คือ ปลาชนิดนี้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ใน “แหล่งน้ำที่มีค่าออกซิเจนต่ำ หรือแหล่งน้ำเสื่อมโทรม” รวมถึงยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับ “แหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำทะเลที่มีค่าความเค็มสูง สามารถผสมพันธุ์ได้ดีในน้ำเค็ม โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง ปากแม่น้ำที่มีความเค็ม สามารถอาศัยและผสมพันธุ์ในน้ำทะเลทั่วไปที่ความเค็มไม่เกิน 37 ppt ได้ดี เช่น รายงานการพบปลาหมอคางดำที่ฮาวาย
อุปสรรคของปลาผู้ล่า
ปลาผู้ล่าทั่วไป โดยเฉพาะปลากินเนื้อ มักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีออกซิเจนสูงกว่า ด้วยเหตุนี้ ปลาหมอคางดำ จึงสามารถหลบหนีปลาผู้ล่าไปยังพื้นที่ปลอดภัยจนกระทั่งขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
การล่อและดักจับปลาหมอคางดำ
ปลาหมอคางดำถึงแม้จะสามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้ แต่ด้วยการเคลื่อนที่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ และเคลื่อนที่หลบหลีกรวดเร็วเพื่อป้องกันผู้ล่า ยังทำให้เกิดการแย่งชิงการใช้ออกซิเจนในน้ำของฝูงปลาหมอคางดำ ทำให้ปลาจะว่ายเข้าหาบริเวณที่มีออกซิเจนสูง หรือบริเวณผิวน้ำ
จากพฤติกรรมว่ายรวมฝูงเข้าหาพื้นที่ออกซิเจนสูง สามารถนำมาใช้ในการล่อจับฝูงปลาหมอคางดำ โดยการเติมอากาศในพื้นที่ดักจับ ที่มีคอกหรือท่อบังคับให้ปลารวมอยู่ในบริเวณที่มีการวางอวนกางรองรับไว้ เมื่อปลารวมฝูงกันมากพอ สามารถยกอวนรวบรวมปลาได้จำนวนมากโดยไม่ต้องลากอวนไล่ต้อนปลา
ความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทย :
“ต้องยอมรับว่า แหล่งน้ำธรรมชาติในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทยทุกวันนี้ เสื่อมโทรมลงทุกวันจากปัญหามลภาวะต่างๆ และสารอินทรีย์สะสม จึงทำให้แม้จะมีหรือไม่มีปลาหมอคางดำ สัตว์น้ำในธรรมชาติของเราก็ลดน้อยลงอยู่แล้วจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
ฉะนั้น เมื่อปลาหมอคางดำสามารถอยู่ได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีสารอินทรีย์ปริมาณสูง ค่าออกซิเจนต่ำ มันจึงกลายเป็นสัตว์น้ำที่สามารถสร้างกลุ่มของตัวเองให้มีจำนวนมากขึ้นๆ เรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ด้วยกลไกทางธรรมชาติ เมื่อมีสัตว์ที่มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็นประชากรหลักในพื้นที่ หรือสายพันธุ์ที่โดดเด่นขึ้นมา ธรรมชาติก็จะสร้าง “ผู้ล่าทางธรรมชาติ” ออกมา
ปลาหมอคางดำ = ปัญหา?
แปรรูป
1. แปรรูป
นำไปแปรรูปหรือนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ เพื่อให้ตลาดมีความต้องการและมีราคา เพื่อเป็นการลดจำนวนปลาในธรรมชาติ
ปลากะพงขาว

2. ปลากะพงขาว
ปล่อยปลากะพงขาวลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ เพื่อควบคุมจำนวนประชากรปลาหมอคางดำ อย่างไรก็ดี วิธีการนี้ต้องตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่าแหล่งน้ำดังกล่าว ถูกปลาหมอคางดำบุกรุกจนแทบไม่มีสัตว์น้ำชนิดอื่นอยู่เลย
สังเกต

วิธีสังเกตแหล่งขยายพันธุ์ปลาหมอคางดำ
สังเกตได้จากลักษณะการจับคู่ขุดหลุมสร้างรัง ทำให้ปลาชอบผสมพันธุ์วางไข่ในพื้นที่ที่กระแสน้ำไม่ไหลแรง เช่น ภายในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติ
วิธีป้องกันบ่อเลี้ยง
1. การเตรียมบ่อ ตากบ่อให้แห้งสนิท
2. กรองน้ำด้วยถุงกรอง หรือใช้คลอรีน เพื่อทำลายไข่ของปลาและลูกปลา
3. ใช้กากชาเพื่อฆ่าปลาในบ่อ ก่อนการเลี้ยงสัตว์น้ำ
วิธีลดผลกระทบของปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติ
1. กรองน้ำที่นำเข้าบ่อด้วยถุงกรอง หรืออวนตาถี่
2. กำจัดปลาที่หลุดรอดเข้ามาด้วยกากชา
3. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงกุ้งทะเล ในช่วงที่ยังไม่สามารถควบคุม หรือป้องกันปลาหมอคางดำไม่ให้หลุดรอดเข้ามาในบ่อได้
4. เลี้ยงปลากะพงขาวทดแทน การเลี้ยงกุ้งทะเล 1-3 รอบ หรือจนกว่าไม่มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในพื้นที่หรือในบ่อ
โดยการปล่อยปลากะพงขาวขนาด 2-4 นิ้ว กรณีปลากะพงขาวมีขนาดเล็กให้อนุบาลให้มีขนาด 3-4 นิ้วในกระชัง ก่อนปล่อยสู่ในบ่อ ควรอนุบาลลูกปลากะพงขาวด้วยปลาหมอคางดำสดสับ เพื่อให้ปลากะพงขาวคุ้นเคยกับการกินเนื้อปลาหมอคางดำ เพื่อให้ปลากะพงขาวกินลูกปลาหมอคางดำวัยอ่อน โดยปลากะพงขาวสามารถกินปลาหมอคางดำที่มีขนาดเล็กกว่าปลากะพงได้ และยังช่วยลดต้นทุนค่าอาหารปลากะพงขาวด้วย
5. เลี้ยงปูทะเลในบ่อ โดยใช้ปลาหมอคางดำเป็นอาหารปู จับปลาที่มีขนาดใหญ่โดยใช้แหหรืออวน แล่หรือตัดปลาชิ้นขนาด 1-2 นิ้ว ใส่ยอ ถาดหรือที่วางอาหาร หรือสาดในพื้นที่เลี้ยงปู โดยใช้ปลา 1-2 ชิ้นต่อปูทะเล 1 ตัว ปลาส่วนที่เหลือ สามารถเก็บไว้ได้ โดยแช่แข็งหรือหมักโดยใช้เกลือ 10% ต่อน้ำหนักปลาที่ต้องการหมัก
ข้อมูลทางวิชาการ
รสชาติของปลาหมอคางดำ :
ในช่วงประมาณปี 2560 ที่ทางทีมวิจัยเริ่มเก็บข้อมูล ต้องยอมรับว่า รสชาติของปลาหมอคางดำไม่อร่อยเอาเสียเลย เพราะเนื้อแข็งมาก
แต่จากการตรวจสอบในปัจจุบัน (ปี2567) พบว่า ปลาหมอคางดำมีคุณภาพเนื้อที่นิ่มและรสชาติอร่อยมากขึ้นแล้ว หากเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะหากนำไปทำเป็น ปลาแดดเดียว
ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลอะไรมายืนยันในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน แต่โดยส่วนตัวคิดว่า มีความเป็นไปได้ที่ปลาชนิดนี้เมื่ออยู่ในแหล่งน้ำของประเทศไทยมายาวนาน จึงอาจมีการผสมพันธุ์กับปลาในกลุ่มเดียวกัน จนกระทั่งอาจทำให้เนื้อมีรสชาติที่ดีขึ้นก็เป็นได้
วิธีการที่ดีที่สุดในการกำจัดปลาหมอคางดำ :
“โดยส่วนตัวคิดว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการกำจัดปลาหมอคางดำ คือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด ในการห้ามเลี้ยงหรือเพาะพันธุ์ เพื่อให้เกิดการนำปลาในธรรมชาติไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีมูลค่าสูงขึ้น มนุษย์ก็มักจะช่วยกันจับมันออกไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติเอง
อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า แม้จะใช้หลากหลายวิธีในการกำจัด ก็คงไม่ถึงกับทำให้ปลาหมอคางดำ หมดสิ้นไปจากประเทศไทยได้ เพราะปัจจุบันต้องยอมว่าแหล่งน้ำธรรมชาติของเราเสื่อมโทรมลงมากๆ แล้ว มันจึงกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้ ปลาหมอคางดำ สามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่งสวนทางกับที่สัตว์ผู้ล่ามีจำนวนลดลง”
สมุทรสงครามโมเดล :
เนื่องจากจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นจังหวัดแรกๆ ที่พบการรุกรานของปลาหมอคางดำมาเนิ่นนานพอสมควรแล้ว เกษตรกรจึงเริ่มมีการปรับตัว โดยการนำปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์กันได้ดีในระดับหนึ่งแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้เป็นอาหารปลากะพง หรือปูทะเล รวมถึงนำไปแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวทอด หรือทำเป็นปลาร้า ทำน้ำยาขนมจีน เป็นต้น จนสามารถแก้ปัญหาได้ดีในระดับหนึ่งมาแล้ว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : wimonrat jongjaipanitjarern
อ้างอิง รายงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เขต 2 สมุทรสาคร กรมประมง
และบทสัมภาษณ์ ดร.ชัยวุฒิ สุดทองคง หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและพัฒนาธุรกิจ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง ของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านบทความในรูปแบบ Storytelling เพิ่มเติม
ฆ่า 6 ศพเวียดนาม เรารู้อะไรบ้างแล้ว?
7 วัน ROCKSTAR ผลลัพธ์การโจมตีของ ลิซ่า
OnlyFans รัดกุมแค่ไหนกับคอนเทนต์ละเมิดเด็ก
ยูโร 2024 ทำไมอังกฤษ จึงไม่ดุดันดั่งสิงโตคำราม
ต่างชาติซื้อคอนโด ต้องระยะสั้น และเฉพาะบางพื้นที่