บุกสำรวจ 'คลองโอ่งอ่าง' ประชาชนชี้ห่างการพัฒนาและต่อยอด ปัจจุบันเหมือนกลับไปเริ่มต้นใหม่ ที่ผ่านมาพยายามสู้และอยู่ด้วยตัวเองแล้ว ตอนนี้หวังหน่วยงานรัฐช่วยโปรโมตและฟื้นฟูให้รุ่งเรือง

"คลองโอ่งอ่าง" เป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง ที่มีประวัติยาวนานไม่น้อยกว่า 240 ปี นี่คือหนึ่งในคลองสายสำคัญ และยังเปรียบเสมือนศูนย์กลางของย่านเศรษฐกิจสำคัญ เช่น สำเพ็ง พาหุรัด และสะพานเหล็ก 

สถานที่ดังกล่าว ได้รับการพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนผ่านอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2564 คลองโอ่งอ่างได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์ก ที่มีชุมชนแห่งสุนทรียภาพ และสิ่งแวดล้อมสะอาดน่ารื่นรมย์ของกรุงเทพมหานคร โดยมีรางวัล UN-Habitat 2020 Asian Townscape Awards ในฐานะเป็น "ต้นแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์" (Landscape Improvement Project) เป็นเครื่องการันตีความสุดยอด ซึ่งปีนั้นมีเพียง 6 ประเทศที่ได้รับรางวัลนี้!

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจนก้าวสู่จุดสูงเช่นนั้น ย่อมแลกมากับงบประมาณแผ่นดินที่ค่อนข้างสูง ทำให้ประชาชนหลายคนมองว่า สถานที่แห่งนี้จะได้รับการดูแล และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วรุ่งโรจน์ก็มีโรยรา 'คลองโอ่งอ่าง' ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซบเซาเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่า ฟุบไปแล้วก็ยังไม่เคยฟื้นอีกเลย! ทำให้หลายคนถอนหายใจเสียดายไปตามๆ กัน 

...

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะอัดฉีดงบไปมากมาย แต่กลับมีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะว่า คลองโอ่งอ่างวันนี้ไม่ได้ครื้นเครงดั่งวันวานที่คุณผู้อ่านอาจจะเคยไป หรือเคยเห็นตามโซเชียลมีเดีย เราจึงได้ลงพื้นที่คลองโอ่งอ่าง เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2567 เพื่อดูให้เห็นกับตา! และสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

หลังจากเดินออกในทางออกที่ 1 ของสถานีรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และเดินไปต่อประมาณ 500 เมตร จะสังเกตเห็นตึกเพนต์ลวดลายหลากสีสันชวนมอง เป็นอันว่าถึงจุดหมายปลายทางที่เรามาเยือนแล้ว 

เราข้ามถนนเพื่อเดินเลียบคลองมุ่งหน้าสู่บริเวณสะพานหัน ใกล้กับตลาดสำเพ็ง เลียบคลองนี้เองเคยเป็นท่าเรือคายัคที่มีคนมาต่อแถวรอพายเรือล่องสายน้ำกันยาวเหยียด แต่วันนี้กลับเหลือเพียงท่าและความว่างเปล่า บรรยากาศสองฝั่งเงียบเหงาแทบจะไร้ผู้คน ถึงอย่างนั้นพื้นก็สะอาดตาไม่รกสกปรก และมีสตรีทอาร์ตบนกำแพงให้เห็นเป็นระยะ เป็นสีสันชวนมองกลางความเงียบสงบ 

หลังจากเดินถึงสะพานหัน เราเดินเลียบคลองตามทางของเขตพระนคร บรรยากาศ 2 ฝั่งเงียบแต่ไม่ถึงกับเหงา มีผู้คนเดินไปมาบ้างเล็กน้อย แต่อาจจะไม่ดูครึกครื้นเหมือนช่วงข้ามสะพานหัน เพราะนั่นเป็นจุดเชื่อมไปตลาดสำเพ็ง

คลองโอ่งอ่าง… ห่างการพัฒนาและต่อยอด : 

ทีมข่าวฯ เดินข้ามสะพานเปลี่ยนฝั่งจากเขตพระนคร สู่เขตสัมพันธวงศ์เพียงชั่วพริบตา ในเขตนี้เองเราเดินเรียบตามคลองย้อนกลับไปไม่ไกลนัก ก็ได้พบกับร้านขายผัดไทยและหอยทอด ซึ่งเป็นหมุดหมายนัดพบกับแหล่งข่าวทั้งสองคน ได้แก่ 'คุณอุ๋ม รัฐวรรณ' ประธานชุมชนคลองโอ่งอ่าง และ 'คุณเบส วรท' เหรัญญิกชุมชนคลองโอ่งอ่าง

จากคำบอกเล่าของ คุณเบส วรท ในฐานะผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ เป็นเสียงช่วยยืนยันว่า 'คลองโอ่งอ่าง' เคยมียุคสมัยที่รุ่งเรือง และล้นหลามด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา แต่มาวันนี้มีเพียงความเงียบเหงาเข้าครอบคลุม ตามพื้นทางเดินก็แทบจะไร้เงาของผู้มาเยือน 

คุณอุ๋ม รัฐวรรณ เสริมว่า แต่ก่อนทาง กทม. และเขตจะช่วยกันประชาสัมพันธ์ และจัดหาร้านค้ามาลง หน่วยงานรัฐกับชุมชนช่วยเหลือกัน ทุกอย่างเลยออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ตอนนั้นก็เปิดได้ไม่นานมาก เพราะไม่กี่เดือนมีโควิดระบาด ทำให้คนเริ่มซาและตลาดต้องปิดตัวลง จนกลับมาเปิดอีกครั้งแล้วก็ปิดรอบที่สอง ร้านค้าที่เคยมาขายก็เริ่มกระจายไปที่อื่น

...

"พอกลับมาเปิดครั้งที่ 3 ฝั่งพระนครเขาก็ไม่ได้เปิดตลาดอีก ฝั่งนี้เราเป็นประธานยังช่วยเขตดูแลชุมชนได้ แต่ฝั่งนู้นไม่มีชุมชน เคยมีประชาคมแต่ยกเลิกไปแล้ว ตอนนี้เลยกลายเป็นว่า เขตพระนครขาดคนประสานงานอย่างต่อเนื่อง หากจะดำเนินงานอะไร เขตต้องมาเป็นคนจัดการทั้งหมด"

ด้านเหรัญญิกชุมชนฯ แสดงความคิดเห็นว่า เอาจริงๆ นะ ผมมองว่าที่นี่มันขาดการโปรโมตและขาดการพัฒนา เพื่อช่วยดึงดูดคนเข้ามา กรุงเทพฯ ยุคนี้ผมไม่เถียงเลยนะว่ามันดีขึ้นหลายจุด แต่ผมแค่สงสัยว่าจุดที่มันดีอยู่แล้วเช่นที่นี่ เขากลับไม่มาต่อยอด เหมือนปล่อยปละละเลย ไม่มาทำให้ยั่งยืน 

คุณวรท กล่าวต่อว่า แต่ก่อนช่วงที่ยังเป็นผู้ว่าฯ อัศวิน คลองโอ่งอ่างได้รับการโปรโมต มีคนมาเดิน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ขนาดไม่ต้องมีงานอะไรคนก็มาเดิน มันอยู่ได้ด้วยตัวเอง ส่วนตอนนี้มีปัญหาสะสมหลายอย่าง และไม่ได้รับการแก้ไข 

"ต้องถามว่า ถ้าจะให้อาจารย์ชัชชาติมานั่งรับฟังปัญหาแบบนี้ ท่านมีเวลาไหมอย่างน้อยสัก 10 นาที ช่วงโควิดเศรษฐกิจแย่เราไม่เถียง แต่หลังจากนั้นที่นี่ไม่ได้รับการพัฒนาหรือฟื้นฟูอะไรเลย กลางคืนไฟหลายดวงยังติดบ้างไม่ติดบ้าง แจ้งไปไม่รู้กี่รอบ ก็ไม่เห็นมีใครมาซ่อมหรือดูแล"

...

"เหมือนกลับไปเริ่มต้นใหม่" : 

"ตอนนี้มันเหมือนกลับไปเริ่มต้นใหม่" คำตอบของ 'คุณอ้อ' (นามสมมติ) หลังจากเราถามว่า คลองโอ่งอ่างปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง เธอแสดงความคิดเห็นว่า จริงๆ แล้วพวกเราไม่ขออะไรมากเลยนะ ขอแค่ช่วยมาพัฒนาเหมือนสมัยผู้ว่าฯ อัศวินก็พอแล้ว

"สมัยนั้นกล้าพูดเลยนะ ทุกตารางนิ้วแทบจะเป็นเงินเป็นทอง เราขายของที่อื่นแล้วมาส่งของลูกค้าที่นี่ เรายังขายดีมาก แค่ลองมองย้อนกลับไปดูสมัยผู้ว่าฯ อัศวินเป็นยังไง เราขอแค่นั้นเลย อยากให้เป็นแบบนั้น หรือถ้ามันจะดีกว่านั้นก็ได้ อยู่ที่ผู้ว่าฯ ยุคนี้แล้วว่าเขาจะทำยังไงให้มันดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำให้เหมือนคนเก่า เอาแนวทางของคุณก็ได้แค่ขอให้มันดี"

คุณอ้อ กล่าวต่อว่า เราต้องพูดกันตรงๆ นะ สมัยคุณอัศวินน้ำในคลองจะไม่เน่าแบบนี้ เพราะเขามีกิจกรรมพายเรือ ขยะจึงจะไม่มีให้เห็น คลองมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ตลอด น้ำจะไม่น้อยแบบนี้ด้วย ส่วนปัจจุบันจะมาบอกว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ทำตรงนี้ก็ไม่ใช่นะ เพราะต้นสัปดาห์ที่พี่เห็นว่านายกฯ กับผู้ว่าฯ มาลงพื้นที่ ทุกอย่างมันสะอาดไปหมด น้ำในคลองสูง ขยะไม่มีให้เห็น น้ำสวย น้ำใส จนเราคิดในใจว่า "ถ้าทำแบบนี้ได้ทุกวันคงจะดี"

"โธ่… พี่ล่ะไม่อยากจะพูด น้ำใสน้ำสูงเพราะเขารู้ว่านายกฯ จะมา ลองให้นายกฯ มาเองแบบไม่ต้องบอกใครสิ ก็จะได้เห็นอีกแบบหนึ่ง" คุณอ้อกล่าวย้ำ

...

ด้าน 'คุณหลอด' ผู้ประกอบการร้านอาหารตามสั่ง เขตสัมพันธวงศ์ แสดงความคิดเห็นว่า ต้องยอมรับว่าสมัยคุณอัศวินเขาทำไว้ได้ดีมาก แต่พอมาปัจจุบันเรายังไม่เห็นว่ามีการทำอะไรเพิ่มเติม คุณชัชชาติเราก็ไม่ได้เห็นมาตรงนี้บ่อย มีเพียงช่วงแรกๆ และรอบล่าสุดที่มากับนายกฯ 

แม้ว่าคุณหลอดจะสนทนากับทีมข่าวฯ ด้วยใบหน้าที่มีรอยยิ้มเสมอ แต่คำพูดของเธอกลับสวนทางอย่างชัดเจน… ถ้าเขาจะพัฒนาจริงๆ ที่นี่มันน่านั่งนะ แต่ตอนนี้ช่วงกลางคืนมันเหมือนซอยร้าง คนไม่มากันเลย เพราะไม่มีอะไรดึงดูดให้เขามา อย่างเราลงทุนขายของไป จะได้ทุนคืนไหมก็ไม่รู้ 

"คนอาจจะพูดถึงผู้ว่าฯ อัศวินกันเยอะ ก็ต้องยอมรับว่าภาพจำสมัยนั้นมันดี แต่พวกเราประชาชนไม่มีอะไรซับซ้อนมากหรอก ใครจะเข้ามาเป็นหัวหน้าหรือผู้นำ พวกเราก็พร้อมทำตาม ขอแค่บอกมาว่าอยากพัฒนาแบบไหน หรืออยากได้แบบไหน ชาวบ้านพร้อมร่วมมือ ใครจะเข้ามานำเราไม่ว่า เพราะคุณเข้ามาด้วยเสียงส่วนมาก ขอแค่เข้ามาแล้วทำ"

คุณอ้อ กล่าวเสริมว่า ใจของชาวบ้านจริงๆ อยากสะท้อนปัญหานะ อยากพูดคุยกับผู้นำ แต่ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงตัว เรามีเสียงแต่เสียงของเราไปไม่ถึง อย่างตอนที่นายกฯ มาลงพื้นที่ เราก็เข้าไม่ถึงตัวเขาเลย เพราะมีคนเดินล้อมหน้าล้อมหลังไปหมด ครั้นจะตะโกนถามเดี๋ยวก็โดนว่าเป็นแม่ค้าปากตลาด เราแค่อยากให้เขามาถามเราหน่อยว่ามีปัญหาอะไรอยู่ไหม

"เหมือนมีแต่คำสัญญา" : 

จากรายงานข่าวทางเว็บไซต์ ไทยรัฐออนไลน์ เนื้อหาข่าวเกี่ยวกับ 'คลองโอ่งอ่าง' บางส่วนของวันที่ 11 มีนาคม 2567 รายงานว่า "วันที่ 10 มีนาคม 2567 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนา สั้น-กลาง-ยาว หลังมีกระแสประเด็นสังคมเรื่องพื้นที่ปัญหาที่ยังไม่ส่งมอบงาน จนเป็นข้อวิจารณ์ว่า กทม. ปล่อยให้คลองโอ่งอ่างหมดคุณค่า Landmark ของกรุงเทพฯ"

โดยแผน 3 ระยะ สั้น-กลาง-ยาว คือ

ระยะสั้น : ภายใน 2 เดือน เริ่มต้นเปิดตัวดึงอัตลักษณ์ของสะพานเหล็กในการจัดเทศกาลและกิจกรรม ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้

ระยะกลาง : ภายใน 4 เดือน ใช้การประเมินและปรับรูปแบบกิจกรรมหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมระยะสั้น พร้อมประชุมร่วมกับแกนนำและผู้ค้าถึงแนวทางการต่อยอดถนนคนเดินให้ยั่งยืน เช่น การทดลองจัดกิจกรรมสั้นๆ ช่วงสุดสัปดาห์ โดยให้แกนนำขับเคลื่อนทั้งหมด และสำนักงานเขตเป็นที่ปรึกษา 

ระยะยาว : ภายใน 6-8 เดือน ทดลองเปิดโอกาสให้แกนนำบริหารจัดการด้วยตนเอง เมื่อครบ 8 เดือน จะประเมินครั้งสุดท้าย ก่อนถอดบทเรียน และขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป

หากจะนับตั้งแต่วันที่รองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ ก็ผ่านเวลามา 3 เดือนกว่า จนเกือบล่วงเข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว ทีมข่าวฯ จึงนำข้อมูลส่วนนี้สอบถามแหล่งข่าวว่า มีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

เหรัญญิกชุมชนฯ แสดงความคิดเห็นว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการมาจัดงานก็จริง แต่เป็นการเชิญพระมาลงน้ำ แล้วก็ให้คนในพื้นที่ใส่บาตร ไม่ได้มีการจัดงานเล่นน้ำเหมือนจุดอื่นๆ ซึ่งผมมองว่าถ้าจะทำแบบนั้นไม่ต้องทำก็ได้ เพราะวัดอยู่แค่นี้ ถ้าชาวบ้านเขาอยากใส่บาตร เขาเดินไปใส่กันเองได้ ปกติเราก็ทำกันแบบนั้นอยู่แล้ว 

ประธานชุมชนฯ เสริมในประเด็นนี้ว่า ตอนนี้ต้องบอกว่าไม่มีอะไรพัฒนาดีขึ้นเลย เห็นเขาพูดจะจัดงานนู่นนี่แต่ก็ไม่เห็นจะลงมาจัดสักที "เหมือนมีแต่คำสัญญา" แล้วอย่างที่คุณพูดมาเป็นแผนของท่านรองฯ ทีมผู้ว่าฯ ใช่ไหม จริงๆ แล้วก็ยังมีทางทีม สก. ที่เขาเคยบอกว่าจะควักกระเป๋าตัวเองจัดงานอีเวนต์ให้เอย แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นมี เหมือนสัญญาที่ลอยไปตามลม ส่วนสงกรานต์ที่จัดมามันก็โอเค แต่จัดยังไงถึงมีแต่ชาวบ้าน

"ตั้งแต่ที่พูดมาเขายังไม่ได้ทำอะไรเลย จากคลองที่เคยสวยติดระดับโลกกลายมาเป็นแบบนี้ได้ยังไง นึกถึงอดีตที่ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน แล้วโลเคชันมันก็ดี เชื่อมกับย่านการค้าและรถไฟฟ้า แต่ทุกวันนี้มันแย่จริงๆ แย่ไปหมด" คุณอุ๋มแสดงความเสียดายต่อชุมชนริมน้ำแห่งนี้

คนโอ่งอ่างขอแก้ข่าว… เราไม่ได้ทะเลาะกัน : 

ระหว่างที่เรานั่งสนทนากับ คุณอุ๋ม รัฐวรรณ เธอได้เอ่ยประเด็นหนึ่งขึ้นมาว่า "ไม่รู้เอาข่าวจากไหน ใครเป็นคนปล่อย เวลาเราเจอผู้หลักผู้ใหญ่ อย่าง สก. ผู้ว่าฯ หรือปลัด เขาจะชอบบอกว่า ที่เขาไม่มาทำต่อเพราะชาวบ้านทะเลาะกัน เราสงสัยว่าชาวบ้านทะเลาะกันตรงไหน เราฟังคำเหล่านี้จนเบื่อ"

ประธานชุมชนคลองโอ่งอ่าง พูดเปิดประเด็นด้วยสีหน้าเบื่อหน่าย ก่อนจะกล่าวเสริมต่อไปว่า แล้วมีวันหนึ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงมา เราก็เลยขอว่าช่วยมาประสานให้ต่อเนื่องหน่อยได้ไหม เขาบอกมาว่า 'แล้วอย่าทะเลาะกันนะ' เราก็เลยงงมากว่าทะเลาะกันที่ไหน คุณแจงมาเลยดีกว่า หรือไปเอาคนที่พูดมาชี้เลยดีกว่าว่าชาวบ้านคนไหนทะเลาะกัน 

"แล้วถ้าผมใช้คำนี้ล่ะ… ชาวบ้านไม่ได้ทะเลาะกัน แต่ผู้มีอำนาจทะเลาะกัน" เหรัญญิกชุมชนฯ กล่าวเสริมขึ้นอีกแรง

จากที่ทีมข่าวฯ ได้ย้อนเปิดดูคลิปในอดีต ซึ่งผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ มีบางช่วงกล่าวว่า "อาจจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งกันบ้างในชุมชน ในพื้นที่" เราจึงตั้งข้อสังเกตว่า หรือนี่อาจจะเป็นเครื่องช่วยยืนยันว่า สิ่งที่ประธานและเหรัญญิกชุมชนฯ กล่าวกับเรา น่าจะไม่ใช่เรื่องเกินจริง

อาจจะด้วยเหตุเกรงว่าทีมข่าวฯ ไม่เชื่อคำพูด หรือเพื่อยืนยันสิ่งที่กล่าว คุณอุ๋ม รัฐวรรณ จึงแนะนำเราว่า "ถ้าไม่เชื่อคุณลองเดินถามชาวบ้านได้เลยว่า เราทะเลาะกันจริงหรือเปล่า" เราจึงได้หยิบประเด็นนี้ติดตัวไว้ และถามผู้คนทั้งสองฝั่งตามข้อเสนอของประธานชุมชนฯ

"ชาวบ้านทะเลาะกันจริงไหมครับ?"

'คุณติ๊ก' ผู้ประกอบการร้านน้ำปั่นฝั่งเขตพระนคร ตอบคำถามของเราว่า "ถ้ามันจะมีก็เป็นเรื่องปกตินะ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรเลย เพราะแถวนี้เขาอยู่กันแบบอบอุ่น ลองดูฝั่งนู้นสิ…" คุณติ๊กหยุดมือจากเครื่องปั่นน้ำ ชี้นิ้วข้ามไปฝั่งเขตพระนคร ก่อนจะกล่าวต่อว่า "ขนาดเขาขายของเหมือนกัน ขายร้านอาหารตามสั่งติดๆ กัน เขายังไม่ทะเลาะกันเลย ดังนั้น การทะเลาะแบบเรื่องใหญ่โตไม่มีแน่นอน"

"จริงๆ มันไม่ได้เกี่ยวกับคนในชุมชนทะเลาะกันหรอก มันเป็นเหตุผลที่หน่วยงานพูดกันขึ้นมาเอง" คุณเก๋ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ประกอบการริมคลองโอ่งอ่าง กล่าวตอบถึงประเด็นข้างต้น "จะมาบอกว่าชาวบ้านตีกันมันก็ไม่ใช่ คนสองฝั่งก็อยู่คนละเขต คนฝั่งนี้ก็ไม่ได้ไปยุ่งทะเลาะอะไรกับคนฝั่งนู้น คนฝั่งนู้นก็ไม่ได้มาทะเลาะอะไรกับคนฝั่งนี้ เราไม่ได้ก้าวก่ายกัน"

เธอแสดงความคิดเห็นต่อ ด้วยใบหน้าเบื่อหน่ายว่า คำว่า 'ชาวบ้านตีกัน' คำนี้นี่นะ เราฟังแบบนี้มาหลายรอบมาก เวลาหน่วยงานให้ข่าวก็จะชอบพูดว่าชาวบ้านตีกัน คนในชุมชนทะเลาะกัน เลยไม่อยากมาจัดกิจกรรมให้ แต่ตัวเราเองในฐานะชาวบ้านที่อยู่ตรงนี้ ไม่เคยเห็นใครตีกันเลย ดังนั้นคุณจะมาอ้างว่าไม่เข้ามาพัฒนาเพราะคนทะเลาะกัน เราว่ามันฟังไม่ขึ้นเลย

ด้าน 'คุณหลอด' ผู้ประกอบการร้านอาหารตามสั่ง แสดงความคิดเห็นว่า ชาวบ้านเขาไม่มีปัญหาแบบนั้นหรอก คนที่มีปัญหาก็คงเป็นพวกเขาที่เถียงกัน ไม่เกี่ยวกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะไปนั่งทะเลาะกันทำไม แค่ปากท้องตัวเองก็เหนื่อยพอแล้ว

คุณหลอดหยุดนิ่งไปสักครู่ คล้ายกับคิดอะไรบางอย่าง ก่อนจะกล่าวต่อขึ้นมา หรือเขาไปเห็นชาวบ้านเถียงกันเวลาเรียกประชุม แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเป็นประเด็น เพราะการจะมีความเห็นต่างมันเป็นเรื่องปกติ พอจบจากเวทีทุกคนก็แยกย้ายกัน มาคุยกันได้เหมือนเดิม คนเราเห็นต่างกันได้แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ คือการไปเห็นเขาเถียงกันในที่ประชุม มันไม่ได้แปลว่าชาวบ้านจะไม่ชอบกัน

ผู้ประกอบการฝั่งเขตสัมพันธวงศ์อย่าง 'คุณอ้อ' (นามสมมติ) เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันว่า "ชาวบ้านไม่ทะเลาะกันหรอก" พี่ว่าชาวบ้านที่นี่โคตรจะสามัคคี อย่างพื้นที่ตรงนี้แทบไม่สกปรกเลยนะ เพราะชาวบ้านช่วยกันดูแล ลองดูสิว่าตรงนี้มีตรงไหนที่เป็นถังขยะของ กทม. วางไว้บ้าง มีแต่ชาวบ้านเอาถุงไว้ตามร้านแล้วก็ช่วยกันเก็บขยะรวมไว้ ค่อยเอาไปรวมในจุดที่ กทม. จะมาเก็บ 

คนคลองโอ่งอ่างไม่พยายามอยู่ด้วยตัวเอง? : 

"คลองโอ่งอ่าง เราคงไม่สามารถเอางบประมาณไปจัดอีเวนต์ทุกอาทิตย์ได้ เพราะฉะนั้นจะให้ตลาดอยู่รอดได้ ต้องมีการหารือร่วมกับชุมชน ให้เป็นตลาดที่เหมือนกับว่าชุมชนช่วยกันจัดการดูแล ซึ่งท่านรองฯ ศานนท์ ได้เข้าไปคุยกับชุมชนตลอด อาจจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งกันบ้างในชุมชน ในพื้นที่"

"แต่ก็เชื่อว่าสุดท้ายต้องเป็นตลาดที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ที่ชุมชนช่วยกันดูแล สร้างสินค้า สร้างกิจกรรม ที่มีคน ที่ดึงดูดคนเข้าไปได้ แต่ถ้าเกิดว่าเหมือนต้องไปจัดอีเวนต์ทุกวัน ต้องเอางบประมาณไปจัดอีเวนต์ทุกที สุดท้ายแล้วเนี่ยมันจะอยู่ไม่รอด ผมว่าตลาดหลายๆ อย่าง มันต้องอยู่ด้วยเนื้อหาของตัวมันเอง ซึ่งบางครั้งทางชุมชน หรือว่าคนรอบข้าง ก็ต้องพยายามสร้างตรงนี้ขึ้นมา ท่านศานนท์ก็ลงไปดูตรงนี้อยู่"

ข้อความข้างต้นเป็นบทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน 

"เราก็เห็นท่านบอกอย่างนั้นจริงๆ แหละ" 'คุณติ๊ก' ผู้ประกอบการร้านน้ำปั่นกล่าวตอบ ก่อนแสดงความคิดเห็นต่อว่า ใช่… เราอยู่กันได้ เราก็อยู่ของเราแบบนี้ไปแต่ละร้าน ที่ผ่านมาพวกเราพยายามช่วยตัวเองกันอยู่แล้ว แต่ที่ประชาชนร้องขอกัน คือการเข้ามาพัฒนาและต่อยอด ให้มันมีความหลากหลาย ดึงดูดคนเข้ามาเหมือนเดิม เพราะถ้าเป็นอย่างทุกวันนี้ คุณมาเห็นแบบนี้คุณอยากเดินเหรอ นักท่องเที่ยวมาเห็นเขาก็ผิดหวัง 

"เราเสียดายสิ่งที่ทำมา เพราะที่นี่มันทำไปตั้งกี่ร้อยล้าน แล้วมาทิ้งอย่างนี้เปล่าๆ อย่างนี้เหรอ แล้วอันนี้เราพูดแบบไม่ได้ว่านะ ท่านเอาไปพัฒนาจุดอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็แค่สงสัยว่าทำไมที่ที่ดีอยู่แล้วไม่ต่อยอด ทำให้สวยงามดีขึ้นกว่าคนเก่า สำหรับเราที่นี่ทุกอย่างดีหมดนะยกเว้นไม่มีคน มันยังโชคดีตรงที่ว่ามีสำเพ็ง ปากคลองตลาด และเยาวราช คนอาจจะเดินหลงเข้ามา ทำให้ตรงนี้ยังไม่ตาย แต่ถ้าเป็นที่อื่นคงตายไปนานแล้ว" คุณติ๊กสนทนากับเราพลางวุ่นกับการทำงานในร้านของตนไปด้วย 

ด้าน 'คุณอ้อ' (นามสมมติ) แม้ว่าตนจะเร่งรีบกลับไปเตรียมของขายมากเท่าไร แต่เธอก็ยังคงเลือกที่จะพูดคุยกับเรา และแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า ชาวบ้านต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองมันเป็นเรื่องปกติของทุกคน อย่าว่าแต่คลองโอ่งอ่างทุกที่ต้องเป็นแบบนี้ ทุกคนต้องต่อสู้เพื่อให้ตัวเองรอด แต่อย่างที่บอก สมัยก่อนหน่วยงานเขายังมีการช่วยพัฒนา จัดกิจกรรมต่างๆ ให้คนมาเที่ยว เลยทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"ฉะนั้นการที่ชาวบ้านจะช่วยตัวเอง มันเป็นเรื่องปกติที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ที่หายไปจากแต่ก่อนคือตอนนี้คนไม่มา เพราะมันไม่มีอะไรให้มา ถ้าให้คุณเดินสัก 3 รอบ คุณก็เบื่อแล้ว รอบที่ 4 ก็ไม่อยากจะเดินเพราะมันไม่มีอะไร คุณก็ต้องอยากจะไปที่อื่น"

ทางด้าน คุณเก๋ (นามสมมติ) ผู้ประกอบการริมคลองโอ่งอ่าง มองประเด็นนี้ว่า ทุกวันนี้เราก็อยู่ด้วยตัวเองอยู่แล้วนะ หรือแต่ก่อนเวลามีงานเราก็ร่วมกันออกเงินซื้อไฟประดับเอง อย่างถ้าคุณเห็นสายไฟห้อยอยู่ นั่นคือของที่ชุมชนซื้อกันเอง แต่ตอนนี้ไม่ได้เปิดกันแล้ว เพราะไม่มีใครจ่ายเงิน เนื่องจากไม่มีคนมาเดิน 

"เอาแบบนี้ ถ้าจะทำจริงๆ อยากพัฒนาจริงๆ ตัว กทม. และเขตต้องลงพื้นที่ จะมาบอกว่าให้ชาวบ้านร่วมมือกันเอง คนในพื้นที่ก็อยากทำ ไม่ใช่ว่าไม่อยากทำ แต่คุณไม่มีอะไรมาให้เลย ให้ออกกันเองหมด แต่เวลาได้รับผลประโยชน์ มีหน้ามีตา มีข่าวไปลง ก็จะมาอ้างว่าหน่วยงานเป็นคนจัดการ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่"

"ถ้าทางรัฐไม่มีอะไรให้ชุมชนเลย แต่เวลาออกข่าวมาบอกว่าเป็นหัวเรือให้ แบบนี้เราฟังแล้วรู้สึกไม่โอเคนะ เรื่องเสียตังค์เล็กน้อยเราไม่ซีเรียสหรอก เพราะนี่มันเป็นชุมชนบ้านเรา ถ้าจะช่วยกันพัฒนา นิดๆ หน่อยๆ ก็ช่วยกันลงได้ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง เราไม่อยากได้ผลงาน แต่เราอยากให้ชุมชนบ้านเรามันดีขึ้น"

คุณเก๋กล่าวแสดงความคิดเห็นอย่างฉะฉานและเข้มข้น เธอพูดพร้อมชี้นิ้วนำสายตาเราไปทางสายไฟอีกครั้งว่า อย่างที่บอกนะ ไฟระย้าคือของเราเอง ของคนในชุมชน เราช่วยกันออกตังค์เอง ตู้ไฟก็ไปขอการไฟฟ้ามา เขตไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องเลยอันนี้พูดกันตามตรง ค่าไฟอันนี้ก็เก็บเงินส่วนกลางเพื่อเอาไปจ่าย ไม่ได้มี กทม. หรือเขตเข้ามาช่วย ของที่เราเสียภาษีไปให้รัฐคือไฟโคมใหญ่เท่านั้น

"ขอแค่ช่วยโปรโมต" : 

คุณเบส วรท กล่าวว่า ที่บอกว่าชุมชนควรอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราเห็นด้วยและไม่เถียง แต่เวลามีงบลงมาก็ไม่ได้มาปรึกษาอะไรชาวบ้าน อยากจะทำอะไรก็ทำกัน ไม่มีการเข้ามาพูดคุยว่าจะจัดอะไร เขาก็จัดแบบที่เขาอยากจัด แล้วพอมีปัญหาก็มาถามว่ามีข้อเสนอแนะอะไรบ้าง แล้วพอเสนอไปก็ไม่ปรับปรุงอีก ผมยืนยันนะว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองอยู่แล้ว

"พวกเราไม่ได้ต้องการให้มาจัดงานหรูหราอะไรเลยนะ ขอแค่ช่วยโปรโมตให้คนรู้จักว่าตรงนี้มันคือที่ไหน รู้จักว่าตรงนี้มันมีอะไรบ้าง เพราะที่นี่คือวิถีชุมชน การที่จะทำให้คนรู้จัก สื่อในมือของหน่วยงานภาครัฐมีตั้งเยอะแยะ ไม่ต้องโปรโมตให้เราตลอดเวลาก็ได้ อย่างน้อยเดือนหนึ่งขอแค่สัก 30 วิ มันคงไม่ยากเกินไป"

ประธานชุมชนฯ เสริมความคิดของเหรัญญิกฯ ว่า ทุกวันนี้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าขอให้คุณช่วยโปรโมตเท่านั้น ช่วยโปรโมตมันก็ไม่ได้เสียหายอะไร หรือถ้าอยากช่วยพวกเรามากกว่านั้น ลองประสานงาน หารือพูดคุยกัน ชักชวนร้านค้ามาลงขายสักเดือนละครั้ง หรือทุกสุดสัปดาห์ ซึ่งตรงนี้เราเคยเสนอไปแล้ว แต่หน่วยงานทำไมไม่จัดแบบนั้น

หลังเสร็จสิ้นภารกิจ เราเดินข้ามถนนก่อนเดินลงสู่เลียบคลองอีกจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นทางเดินสู่รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) เรายอมรับว่าช่วงนี้เอง ที่ต้องพยายามกวาดสายตามองซ้ายขวาอยู่ตลอด เพราะแม้จะมีแสงไฟก็จริง แต่มันทั้งเงียบและแทบจะไร้คน มีเพียงร้านนั่งชิลที่ตั้งอยู่ต้นทาง แต่ก็ไม่มีแขกมานั่งดื่ม ส่วนสตรีทอาร์ตข้างกำแพงก็มีไฟส่องน้อยๆ ให้พอมองเห็น ภาพต่างๆ ที่ผ่านสายตาทีมข่าวฯ ประกอบเข้ากันจนไม่น่าเชื่อว่า สถานที่แห่งนี้เคยรุ่งเรืองและเต็มไปด้วยรอยยิ้มจากผู้มาเยือน 

มาถึงจุดนี้ ความคาดหวังของคนชุมชนคลองโอ่งอ่าง คงไม่มีอะไรมากไปกว่าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น และอยากให้คลองสายนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทีมข่าวฯ เชื่อว่า แม้ตอนกลางคืนจะเงียบเหงา แต่ช่วงกลางวันคลองโอ่งอ่างยังคงมีเสน่ห์รอทุกคนไปเยี่ยมชม ทั้งอาหารอร่อยราคาจับต้องได้ ความเป็นกันเองของคนสองฝั่งคลอง วัดเก่าแก่เผื่อใครหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อีกทั้งยังใกล้รถไฟฟ้า เดินทางง่าย และใกล้สถานที่สำคัญหลายแห่ง

อ่านบทความที่น่าสนใจ :