จับตาปีนี้! โอกาสเกิดลานีญาสูง ภาคใต้ฝนอ่วม ผลผลิตเกษตรเสี่ยงเสียหาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชี้ธรรมชาติไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น เหมือนเล่นรถไฟเหาะ ทั้งเหวี่ยง รุนแรง และผันผวน!

"ร้อน" คำเพียงคำเดียว สามารถแทนความรู้สึกที่มีต่อสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างประเทศไทย เมื่อเมษายน 2567 อุณหภูมิบางพื้นที่พุ่งถึง 44 องศาเซลเซียส เรียกได้ว่า "ร้อนเป็นประวัติการณ์!" 

ส่วนภาพรวมทั่วโลก ผลของสภาพอากาศอันร้อนจัด! ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่รุนแรง จนเกิดความเสียหายต่อสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และบางเหตุการณ์มนุษย์ไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ประกอบเข้ากับปรากฏการณ์ 'เอลนีโญ' (El Niño) 

จากคำแถลงการณ์ของ 'แคลร์ นูลลิส' โฆษกองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 บางช่วงระบุว่า ปรากฏการเอลนีโญได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดเมื่อธันวาคม 2566 ถือเป็นหนึ่งในเอลนีโญที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 แม้ว่าเอลนีโญจะค่อยๆ อ่อนกำลัง แต่เห็นได้ชัดว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิของโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 

...

คำพยากรณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลเชื่อมโยงว่า ทำไมไทยถึงยังดูไร้วี่แววเข้าฤดูฝน ทั้งที่ควรจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว เรื่องนี้ 'รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช' อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยืนยันกับทีมข่าวฯ ว่า 

"ปีนี้ฝนมาช้าจริง ถ้าได้ติดตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา จะเห็นว่าเป็นไปตามคาดการณ์ เพราะเอลนีโญยังอยู่และหมดช้า ปกติต้นพฤษภาต้องประกาศฤดูฝนแล้ว แต่เขามาประกาศปลายเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ตอนนี้เองก็ข้ามมามิถุนายนแล้ว ฝนก็ยังมาน้อยกว่าปกติ ถ้าดูจากตัวเลขของกรมอุตุนิยมวิทยา จะพบว่า ตอนนี้ทั้งประเทศฝนยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 20%" 

แต่ปรากฏการณ์ที่เราต้องเผชิญยังคงไม่หมดเพียงเท่านั้น มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยมีแนวโน้มจะต้องเผชิญกับ 'ปรากฏการณ์ลานีญา' (La Niña) เสี่ยงฝนตกหนักในพื้นที่หลายจังหวัด น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน อีกทั้งลานีญาครั้งนี้ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้พบได้บ่อยครั้ง!

โอกาสเกิดลานีญา 85% เสี่ยงระดับรุนแรงต่ำกว่า 20% : 

ภาพสรุปของปรากฏการณ์ลานีญา รศ.ดร.วิษณุ ได้อธิบายให้เข้าใจโดยง่ายว่า หากเกิดลานีญา อุณหภูมิของโลกรวมถึงปริมาณน้ำฝน จะมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งจะต่ำกว่ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าเกิดที่ภูมิภาคใดของโลก สำหรับประเทศไทย หากมองสถิติย้อนหลัง พบว่า เมื่อไรก็ตามที่มีลานีญาเกิดขึ้น ประเทศไทยจะมีฝนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ แต่ถ้าเป็นเอลนีโญเหมือนที่เราเพิ่งผ่านมา เราจะแล้งมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 

เมื่อถามว่า ปี 2567 นี้ มีโอกาสเกิดลานีญามากน้อยเพียงใด? ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผยว่า ณ ตอนนี้ถ้าดูจากแบบจำลองของทางโนอา (NOAA : องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา) โอกาสจะเกิดลานีญาอยู่ที่ 85% ขึ้นไป 

"และหากดูข้อมูลจากดัชนี ONI (Oceanic Nino Index) ซึ่งวัดอุณหภูมิในน้ำทะเล ซึ่งถ้าดูอย่างเป็นทางการ เขาพบว่าลานีญาน่าจะมาประมาณเดือนสิงหาคม 2567 แล้วจะเริ่มเร่งตัวขึ้น ก่อนจะพีกประมาณเดือนมกราคม 2568 และน่าจะไปจบประมาณเดือนพฤษภาคม 2568"

...

ความรุนแรงของปรากฏการณ์นี้ รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงลานีญาต้องพูดถึงกำลังด้วย ยิ่งกำลังรุนแรงผลกระทบจะยิ่งมาก ปกติทั้งลานีญาและเอลนีโญจะมีการแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับอ่อน ระดับปานกลาง ระดับรุนแรง และระดับรุนแรงมาก 

"หากดูจากแบบจำลอง มองด้วยความน่าจะเป็นที่พอเกิดขึ้นได้ ช่วงจุดพีกอาจจะอยู่กำลังระดับปานกลาง ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีโอกาสจะเกิดกำลังรุนแรง แต่ยังน้อยกว่า 20% ก็คงต้องจับตามองกันต่อไป เพราะจริงๆ แล้ว ยังต้องดูข้อมูลหลายอย่างประกอบเพิ่ม เช่น ผลการพยากรณ์ปริมาณฝน หรืออุณหภูมิ"

กูรูด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมว่า ปัจจุบันเท่าที่มีข้อมูล เขายังไม่ได้พยากรณ์ว่ามันจะรุนแรงมากๆ แต่แค่แน่นอนว่าเมื่อจะเกิดลานีญา สภาพอากาศมันต้องไม่ปกติแน่นอน ส่วนความรุนแรงผมก็ไม่ได้มองว่ามันจะไปถึงขนาดปี 2554 ที่เราเจอน้ำท่วมใหญ่

กันยายน 2567 ลานีญาทำไทยน่าห่วง ฝั่งภาคใต้เสี่ยงฝนอ่วม! : 

หัวข้อก่อนหน้า รศ.ดร.วิษณุ ได้วิเคราะห์ความน่าจะเป็นว่า "ลานีญาน่าจะมาประมาณสิงหาคม 2567" ทีมข่าวฯ จึงถามต่อไปว่า ช่วงเดือนไหนถือว่าไทยน่าห่วงที่สุด?

...

รศ.ดร.วิษณุ ให้คำตอบว่า ที่ผมดูข้อมูลจาก 12 กรมอุตุวิทยาทั่วโลก ถ้าลานีญาเข้ามาในประเทศไทย ช่วงที่น่าจะต้องเป็นห่วงเป็นพิเศษ และน่าจะสร้างความเสียหายได้ ประมาณกันยายน 2567 เป็นต้นไป ที่ผมบอกว่าน่าเป็นห่วง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าตรงกับช่วงฤดูฝน ซึ่งโดยปกติฝนจะมากที่สุดในรอบปีช่วงเดือนกันยายน ดังนั้น ลานีญาจะมาเพิ่มกำลังน้ำฝนในช่วงเวลานั้น ฝนที่เยอะอยู่แล้ว เราอาจจะได้ฝนเพิ่มขึ้น และมีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วม 

"ช่วงเดือนกันยายน ผมให้น้ำหนักทุกภูมิภาคยกเว้นภาคใต้ เพราะฤดูกาลของเขาจะแตกต่างจากภาคอื่น ฝนจะมาช้าที่สุด และถ้ายังไม่มองภาคใต้ จากแบบจำลองที่มี ภาคที่ควรระวังก็คือภาคอีสานกับภาคเหนือ ต้องระวังเยอะกว่าภาคกลาง มันมีโอกาสท่วมในบางพื้นที่ อย่างที่เราเคยได้ยินเรื่องฝนพันปี แต่ว่าด้วยลานีญาที่กำลังมันไม่ได้รุนแรงมาก ถึงจะทำให้บางพื้นที่น้ำท่วม แต่ก็คงไม่ได้ท่วมเป็นวงกว้างจนกระทั่งน่ากลัวขนาดนั้น" รศ.ดร.วิษณุ กล่าวกับเรา

ถึงกูรูของเราจะให้น้ำหนักกับภาคใต้น้อยที่สุด แต่นั่นก็แค่ช่วงกันยายน 2567 รศ.ดร.วิษณุ วิเคราะห์ต่อไปว่า ภาพรวมภาคใต้จะโดนฝนหนักสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ เพราะหากเข้าสู่ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ช่วง 3 เดือนนี้จะเป็นฤดูฝนใหญ่ของภาคใต้ และมันจะตรงกับช่วงที่ลานีญาเพิ่มกำลังขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเตรียมตัวพีกสุดตอนมกราคม 2568 ฉะนั้น ถ้าจะทำนายก็คือสักช่วงตุลาคม ถึง ธันวาคม ภาคใต้เสี่ยงน้ำท่วม

...

ผลผลิตเกษตรเสี่ยงสูญเสีย! : 

นอกจากเรื่องปริมาณน้ำที่น่ากังวล รศ.ดร.วิษณุ มองว่า ยังมีผลกระทบด้านอื่นๆ ที่ต้องลองมองไปทีละภาคส่วน แต่ภาคที่น่าห่วงและเสี่ยงสูญเสียที่สุด คงจะเป็น 'ภาคเกษตรกรรม'

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ลานีญาทำให้ภาคเกษตรน่าจะเสี่ยงที่สุด ยกตัวอย่าง ช่วงกันยายน ถึง ตุลาคม เป็นช่วงที่เริ่มเก็บเกี่ยวข้าว ถ้าฝนมาแรงๆ ข้าวก็อาจจะล้มได้ หรือเกษตรกรตากข้าว ข้าวก็จะไม่แห้ง ทำให้ความชื้นข้าวสูงขึ้น จนราคาข้าวอาจน้อยลง หรือเกิดโรคต่างๆ ตามมา ดังนั้น ลานีญาเลยเสี่ยงต่อมิติทางภาคเกษตรทั้งกายภาพและคุณภาพ

"มันไม่ใช่แค่จะเกิดกับข้าวนะ เพราะถ้าฝนตกมาก แดดที่ออกน้อยหรือไม่ออก จะทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ หรือพออากาศชื้นมากๆ พืชผลก็เสี่ยงเกิดเชื้อรา เพราะฉะนั้นทางภาคเกษตรต้องระวังอย่างยิ่ง"

ความคิดเห็นของกูรูด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สอดคล้องกับบทวิเคราะห์จาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่า "ในช่วงที่เหลือของปี ประเทศไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะฝนตกหนัก จนนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย จนอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรได้"

ตัวอย่างความเสียหายด้านเกษตร และผลคาดการณ์ภัยลานีญา : 

แม้ว่าความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นเพียงการคาดการณ์ที่อาจจะยังไม่เห็นภาพและตัวเลขยืนยัน แต่ปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่รวนเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่ผลดีอย่างแน่นอน ตัวอย่างผลกระทบที่มีต่อผลผลิตทางการเกษตร เคยมีให้เราเห็นมาแล้วจาก "เอลนีโญ"

อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของ 'สำนักเศรษฐกิจการเกษตร' ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2567 หดตัวร้อยละ 4.1 โดยสาขาพืชซึ่งเป็นสาขาการผลิตหลัก หดตัวร้อยละ 6.4 เนื่องจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2567 ส่งผลให้สาขาบริการทางการเกษตรหดตัวตามที่ร้อยละ 3.6

ด้าน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดการณ์ว่า สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา เป็นวัฏจักรตามธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนขนาดของผลกระทบคงต้องรอความชัดเจนของสถานการณ์อีกครั้ง

"หากปีนี้ความรุนแรงของปรากฏการณ์ลานีญาอยูในระดับต่ำ อาจทำให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก เป็นปัจจัยบวกต่อภาคการเกษตร อย่างไรก็ตาม หากปรากฏการณ์ลานีญามีความรุนแรงจนถึงขั้นเกิดอุทกภัย อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง"

เตรียมตัวรับมือความไม่ปกติของธรรมชาติ : 

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นเพียงการคาดการณ์ แต่ก็เสี่ยงจะเกิดขึ้นได้ ส่วนตัวผมเข้าใจความกังวลของคน แต่เราต้องไม่กังวลจนไม่มองข้อมูลเชิงสถิติ เราต้องกังวลในเชิงภูมิศาสตร์ อยากบอกว่ายังไม่ต้องตระหนก เพราะเรื่องอากาศมีให้เรารับฟังและเตรียมตัวให้พร้อม 

อย่างพื้นที่เขตเมืองก็ต้องเตรียมทางระบายน้ำให้ดี สมมติถ้าเตรียมไม่ดีมันก็มีโอกาสที่จะได้รับความเสียหาย มันก็ขึ้นอยู่กับการเตรียมรับมือของเมืองและพื้นที่นั้นๆ เพราะหากเตรียมรับมือไม่ดี ยังไงถ้าน้ำมาก็เสี่ยงสูงที่จะได้รับความเสียหาย จากที่เราเคยเห็นเป็นบทเรียนกันมาว่า ส่วนใหญ่บ้านเราน้ำจะท่วมจากขยะอุดตัน มันเป็นเรื่องที่เราตายกันแบบง่ายๆ 

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช

"การเตรียมตัวจุดนี้ ผมว่าเราต้องพยายามคิดเผื่อเรื่องของโอกาสด้วย เช่น ขุดลอกคูคลองให้ลึกไว้ก็ดี ถือเป็นโอกาสเก็บน้ำเข้ามาไว้ให้เต็ม เพราะปีหน้าอาจจะเกิดฤดูแล้งที่เราไม่สามารถคาดเดาก็ได้ หากดูจากตอนนนี้ จะเห็นว่าน้ำในเขื่อนก็น้อยอยู่แล้ว ถ้าปีถัดไปกลายเป็นว่าต้องเจอเอลนีโญอีก มันจะยิ่งแล้งเข้าไปใหญ่"

เหตุที่ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ได้แสดงความกังวลไว้เช่นนั้น เนื่องจากในโลกปัจจุบัน ทุกอย่างมีโอกาสเป็นไปได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เราเพิ่งเกิดเอลนีโญ และก็เหวี่ยงมาเป็นลานีญาเลย ดังนั้น มันอาจจะเหวี่ยงกลับไปเอลนีโญอีกก็ได้ เพราะฉะนั้นการเตรียมรับมือเป็นสิ่งสำคัญมาก 

"โดยปกติเอลนีโญกับลานีญาจะสลับกันมา 2-7 ปีครั้ง แต่อย่างที่เราเจอกัน ลานีญารอบที่ผ่านมาเป็นรอบที่ผิดปกติ เขามา 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งมาก ณ ปัจจุบันนี้ ความถี่ของการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดเจน ว่ามันจะมาเมื่อไร และในอนาคตจะมีความไม่แน่นอนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ มันจะเหมือนกับการเล่นรถไฟเหาะที่ขึ้นๆ ลงๆ ทั้งเหวี่ยง รุนแรง และผันผวน"


อ่านบทความที่น่าสนใจ :