เส้นทางที่โฉบเฉี่ยว 51 ปี วิษณุ เครืองาม และ ทักษิณ ชินวัตร 2 คน 2 เส้นทางสู่เมือง ก่อนจะมาเป็น “เนติบริกร” ผู้พลิกชะตารัฐบาลด้วยกฎหมาย... “ปีนี้ผมอายุ 72 ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง เรื่อง ชีวิตที่เปรียบเหมือนทะเลกับหาดทราย ไม่ได้ตั้งเท่ หรู แต่มีความหมายที่ซ่อนอยู่ ทะเล เปรียบเหมือนการเมือง ส่วนหาดทราย คือชีวิตข้าราชการ เป็นชาวบ้านธรรมดา ถ้าหากว่าน้ำทะเลขึ้นมันก็จะซัดหาดทรายก็หายไป ถ้าน้ำทะเลลง หาดทรายก็ยื่นออกไป” นี่เป็นคำพูดตอนหนึ่ง ของ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย และเป็นที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ภายในงาน รวมใจ นิติ-มธ.2511 ดร.วิษณุ ถือเป็นมือกฎหมายคนสำคัญของประเทศ ที่ไม่ว่าฝ่ายไหน ก็ต้องขอใช้บริการ จนได้รับฉายา “เนติบริกร” และจากหนังสือที่เคยเขียนไว้ 2 เล่ม คือ “โลกนี้คือละคร” กับ “เรื่องเล่าผู้นำ” ที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์มติชน เมื่อปี 2554 มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่อยากจะนำมาให้ผู้อ่านซึมซับเห็นภาพถึง อำนาจการเมือง การแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึง ความสัมพันธ์ ระหว่าง ดร.วิษณุ กับชายที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งมีมายาวนานแล้ว ก่อนที่จะกลับมาเรียกใช้บริการอีกครั้ง สำนักเลขาคณะรัฐมนตรี เรื่องนี้อยู่ในหนังสือ โลกนี้คือละคร โดย ซือแป๋วิษณุ เคยเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า คนทั่วไปมันไม่ค่อยรู้จัก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) คืออะไร อยู่ที่ไหน ทำหน้าที่อะไร พอดีพอร้ายเอาไปปนกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงขอทำหน้าที่ไกด์ แนะนำภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และฮวงจุ้ย ของ สลค. เสียก่อน... ก่อนเดือนตุลาคม 2545 ไทยมี 13 กระทรวง 1 ทบวง และ 1 สำนักที่เทียบเท่ากระทรวง ทบวง และสำนักนี้เรียกว่าทบวงมหาวิทยาลัย และสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมา ในตุลาคม 2545 มีการปฏิรูประบบราชการ ภาษากฎหมายเรียกว่า “การพัฒนาระบบราชการ” มีการควบรวมทบวงมหาวิทยาลัย เข้า กระทรวงศึกษาธิการ และมีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ เพิ่มอีก 6 เบ็ดเสร็จรวมเป็น 19 กระทรวง และ 1 สำนัก หมายความ สำนักนายกรัฐมนตรียังคงดำรงอยู่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง จะพูดใหม่ว่ามี 20 กระทรวงก็ได้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้น มีทั้งเป็นประวัติและตำนาน ถ้าเป็นประวัติ คือ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในสมัย 2475 ตอนนั้นมีการตั้งรัฐบาลครั้งแรก เรียกว่า “คณะกรรมการราษฎร” ในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ได้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะกรรมการราษฎรคนแรก วันที่ 10 ธันวาคม 2475 รัฐธรรมนูญใหม่บัญญัติคำว่า คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ดังนั้น กรมเลขาธิการคณะกรรมการราษฎร ก็ต้องเปลี่ยนเป็นกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรมนี้เคว้งๆ คว้างๆ เจ้าไม่มีศาล หาสังกัดไม่ได้มา 20 ปี กระทั่ง พ.ศ. 2495 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 จึงจัดเอากรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ลอยอยู่ในกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีให้รู้แล้วรู้รอดไป แถมให้ทำหน้าที่ใหญ่โตเพิ่มจากแค่การเป็นหน่วยธุรการให้รัฐบาล ไปทำหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงของสำนักนายกรัฐมนตรีอีกด้วย... หมายความว่า เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกับปลัดสำนักนายกฯ กลายเป็นคนเดียวกัน สวมหมวก 2 ใบ การรวมสวมหมวก 2 ใบ ก็จะดูว่ามีอำนาจวาสนาคับฟ้า จึงใช้หลักสลายอำนาจ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” จึงแบ่งเป็น สำนักนายกฯ และสำนักคณะรัฐมนตรี และผ่ากรมเลขาฯ ออกเป็น 2 กรมอีก ซึ่งเรื่อง ดร.วิษณุ บรรยายไว้ในหนังสือค่อนข้างละเอียด มีการ แยก ยุบ ในบางช่วงเวลา ส่วนการทำงาน เรียกว่า นายกฯ อยู่ที่ไหน สลค. ก็จะอยู่ที่นั่น มีบ้างที่บางยุคต้องไปทำงานในค่ายทหาร ซือแป๋วิษณุ ระบุในหนังสือว่า ช่วงเวลาหนึ่งได้เป็นเลขาธิการ ได้งบสร้างตึกหลังใหม่ไว้ใช้งานเพิ่มขึ้นที่ตรงบริเวณ “ตึกแดง” ที่เป็นโรงเรียนนายร้อย จปร.เก่า มีห้องประชุม ครม. ไว้ใช้งานได้เองเป็นครั้งแรก...นายกฯ คนแรกที่ได้ใช้ห้องประชุมนี้ คือ นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร... ตอนเปิดอาคาร มีเรื่องปวดหัวลงหนังสือพิมพ์ เพราะ สลค. ได้มอบให้ช่างทำบานประตูหลังใหม่ด้วยไม้แผ่นใหญ่ และขอให้ช่างแกะสลักสัตว์หิมพานต์ ภาพรวมดูสวยดี แต่ก่อนเปิดอาคาร 2 วัน สื่อ ไปเห็น “อารมณ์ขัน” ของช่างแกะสลัก ที่แกะบานประตู เป็น เสือ สิงโต วัว แรด กำลังกอดรัดฟัดเหวี่ยงกัน กลายเป็นพาดหัวข่าว “ทำเนียบ รับ ครม.ทักษิณ แกะประตูไม้เป็น เสือ สิง กระทิง แรด” ฝ่ายค้านก็ร่วมเฮออนุโมทนา จะเสนอช่างไม้เป็นศิลปินแห่งชาติ ไปโน่น แต่ผมจะซวยเอา! อะไรไม่เท่ากับดันมีรูปสัตว์คล้ายจระเข้ สองตัวขี่หลังประกบกัน บางคนเอาแว่นขยายมาส่องบอก “คล้าย” ตัวเงินตัวทอง มากกว่า และยังมีสัตว์อื่น เช่น ไดโนเสาร์ ผมเกรงว่าถ้ารอช้า เรื่องจะไปกันใหญ่ อาจส่งกฤษฎีกาตีความ หรือ เชิญเจ้าหน้าที่องค์การสวนสัตว์มาพิสูจน์ จึงต้องไปตามช่างให้ อะไรเฉาะออกได้ก็เฉาะออกเสีย นี่คือ เรื่องเล่าของเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในช่วงชีวิตหนึ่งนายวิษณุ ที่เคยเคียงข้าง “ทักษิณ” แต่ความจริงนั้นเป็นเพียงหน้าฉากหนึ่งเท่านั้น เพราะความจริง เรือแป๊ะ ที่ชื่อ “วิษณุ เครืองาม” ลอยในมหาสมุทรการเมือง เคียงคู่กับ “ผู้นำ” หลายๆ คน ในหนังสือ “เล่าเรื่องผู้นำ” นายวิษณุ ได้เล่าว่า เขาเคยเห็นชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ตั้งแต่ปี 2516 เพราะ สมัยนั้น นายวิษณุ ได้ทุนของ ก.พ. ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐฯ และชื่อของทักษิณ จากโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ไม่เคยพบหน้ากัน และอันที่จริงก็ไม่คาดคิดว่าจะได้ทำงานด้วยกัน จนได้ทำงานภายใต้บังคับบัญชาของท่าน... ดร.วิลาศ สิงหวิสัย ผอ.กองการสอบของ ก.พ. และต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ก.พ. ได้เล่าระหว่างปฐมนิเทศว่า ร.ต.ต.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) เป็นนักเรียนทุนที่เก่งมาก สอบได้ที่ 1 ของรุ่น จากโรงเรียนนายร้อยสามพราน แต่แม้กระนั้นก็ไม่มีโอกาสพบหน้ากันในครานั้น เพราะ ร.ต.ต.ทักษิณ ไม่ได้เข้าปฐมนิเทศน์ คุณทักษิณกลับมาเป็นตำรวจ ใช้ทุนอยู่พักหนึ่ง ก็จะไปเรียนต่อปริญญาเอกที่สหรัฐฯ แล้วกลับมารับราชการตำรวจต่อ เคยเป็นนายตำรวจติดตาม ทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัวของ นายปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัย ร.ม.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และได้ลาออกจากตำรวจในยศ พันตำรวจโท ถามว่าทำไมถึงลาออก ท่านบอกเองว่า “ส่วนหนึ่งมาจากความเหนื่อยหน่ายต่อระบบราชการที่แข็งอืดอาด และเสียเวลาไปกับขั้นตอนหรืองานไม่เป็นสาระมากเกินไป ไม่เหมาะกับผม ซึ่งคิดเร็ว ตัดสินใจเร็ว และนิยมการทำงานแบบยืดหยุ่น สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และที่สำคัญเบื่อการเมืองในระบบราชการ” ความจริงสิ่งที่ “ทักษิณ” พูด เมื่อหลายสิบปีก่อน “ผู้เขียน” ในฐานะคนทำงานด้านสื่อ ก็เห็นว่าเป็นจริง และก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไรในปัจจุบัน และหลังจากลาออกจากตำรวจ ทักษิณ ก็ไปทำธุรกิจ ล้มเหลวบ้าง แต่ส่วนใหญ่นั้นประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะธุรกิจคมนาคม จากนั้น เขาก็วางมือทางด้านธุรกิจ เข้าสู่การเมืองตามบรรพบุรุษ “ถ้าฐานะไม่ดีจริงๆ อย่าเล่นการเมือง เล่นการเมือง ต้องเสียสละมาก ดูอย่างพ่อสิ ต้องเสียทั้งเงิน เวลา และยังเดือดร้อนครอบครัวอีก” มารดาทักษิณ ได้กล่าวเตือนไว้ อาจารย์วิษณุ สรุปเส้นทางชีวิต พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เขาไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการทางการเมือง เพราะ พ่อเขา คือ นายเลิศ ชินวัตร อดีต สส.เชียงใหม่ การก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 23 ในปี 2544 ถือว่าไม่ใช่คนแปลกหน้าทางการเมือง เขาคุ้นชินกับนักการเมือง เพราะพ่อเขาคือ นักการเมืองในรุ่น ชัย ชิดชอบ ชวน หลีกภัย เคยช่วยงานทั้งราษฎร์ และหลวง ประสานงานทางการเมือง วิ่งเข้านอกออกในทำเนียบ ตั้งแต่ ปี 2518-2519 จนเป็นที่รู้จักดีที่ละแวก ตึกไทยคู่ฟ้า ปี 2538 ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ รัฐบาล ชวน 1 และเป็น รองนายกฯ สมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ได้เป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับพรรคการเมืองใหม่ ภายใต้กรอบ “คิดใหม่ ทำใหม่”โดยในช่วงรัฐบาลชวน 1 ทักษิณ ถูกจ้องในฐานะ รัฐมนตรีที่ร่ำรวย สังคมจึงตั้งคำถามถึงเรื่อง “คุณสมบัติ” สาเหตุที่ถูกตรวจสอบ เพราะ “โดดเด่น” หรือ “ฉาวโฉ่” จนรู้สึกเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ในฐานะ “เลขาธิการคณะรัฐมนตรี” ซึ่งมีหน้าที่จัดทำบัญชีรายชื่อ พิมพ์ประวัติ และยกร่างประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งรัฐมนตรี จึงต้องเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษในการตรวจสอบคุณสมบัติอันเป็นธรรมเนียมสืบมาจนบัดนี้ผลการตรวจสอบในทางลับและทางแจ้ง ไม่ปรากฏว่า ทักษิณ ขาดคุณสมบัติ จึงได้รายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการไป เมื่อมีพระบรมรางโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งแล้ว ก็ยังมีข่าวซุบซิบว่าทักษิณ “ขาดคุณสมบัติ” ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงมีการเสนอเรื่องการตรวจสอบอย่างละเอียด และนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย จากนั้น ดร.วิษณุ ก็วางเฉย...จากนั้นก็มีข่าวซุบซิบ ในหนังสือพิมพ์ ระบุว่า “ผมตรวจสอบคุณสมบัติทักษิณและพบว่าขาดคุณสมบัติ และเตรียมเสนอให้เอาชื่อคุณทักษิณออก มีคนอ้างว่าใกล้ชิดกับคุณทักษิณ โทรมาถามผม จริงหรือไม่...ผมไม่ตอบ เพราะถือหลักเลขาธิการ ครม. ไม่ควรสื่อสารราชการลับอย่างนี้ให้สาธารณชนทราบ ผมไม่ทราบว่าคนใกล้ชิด (เดี๋ยวนี้ผมก็ยังไม่ทราบว่าเป็นใคร) ไปสื่อสารบอกต่ออย่างไร แต่วันนั้น ท่าน รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ ที่ ก.การต่างประเทศ ว่า “เลขาธิการ ครม.” เป็นเครื่องมือปล่อยข่าวให้กับผู้ไม่ประสงค์ดี ตอนนั้นผมไม่กลัวว่า รมว.ต่างประเทศ จะขัดแย้งกับผม ผมเป็นเพียงตัวละครเล็กๆ ในเหตุการณ์ แต่เกรงว่า จะมีความเข้าใจผิดระหว่างรัฐบาล โดยมี นายกฯ ชวน เป็นหัวหน้ารัฐบาล คุณ “ทักษิณ” เป็น รัฐมนตรีพรรคร่วม จากเรื่องไม่เป็นเรื่อง และเรื่องไม่จริง จึงได้ขอไปเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ทราบ พร้อมเอารายงานที่มีไปถึงนายกฯ นานแล้วว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามแต่อย่างใด ส่วนใครจะไปบิดเบือนหรือปล่อยข่าว ผมไม่ทราบ “ทักษิณ” อ่านแล้ว แสดงความเป็นสุภาพบุรุษ ขอโทษขอโพย พร้อมตบบ่า บอกว่าตอนนี้รู้แล้วใครปล่อยข่าว จากนั้นเรื่องก็สงบลง...นั่นคือการเผชิญหน้ากันครั้งแรก ระหว่างนักเรียนทุนรุ่นเดียวกัน 2 คน แต่ดูท่าทีและคำพูดแล้ว ชายคนนี้ “ปากไว” แม้ดูมีความตั้งใจจริงที่จะทำงานใหญ่ ซือแป๋วิษณุ นึกในใจ สิ่งที่น่า “ประหลาด” อีกเรื่อง ของ “ทักษิณ” คือ เวลาเข้าประชุม ครม. โดยเฉพาะในสมัย ตำแหน่งรองนายกฯ ตอน รัฐบาลบรรหาร ทักษิณ มักแสดงความคิดเห็นข้ามกระทรวง สอบถาม ท้วงติง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย น่ารังเกียจ หรือผิดกาลเทศะ แต่สิ่งที่น่าทึ่งคือ ทักษิณ ทำให้ที่ประชุมคล้อยตามได้ด้วย ท่านจะรู้สึกหงุดหงิด ถ้าเรื่องเข้าประชุมแล้วยังค้างคาใจไม่ไต่ถามให้กระจ่าง วันหนึ่งท่านเรียกให้ผมเข้าไปคุย หลังเป็นรัฐมนตรีได้ 3 สัปดาห์ ท่านถามผมว่า “จะเป็นไรไหม จะถามเรื่องคนอื่นในที่ประชุม ครม.”นิติบริกร ตอบ “ทักษิณ” ว่า ไม่ผิด ภายใต้ 3 ข้อแม้1. ถามหรือแสดงความคิดเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ อยากรู้ แย้ง หรือเห็นว่าผิด แต่รัฐมนตรีบางคนท้วงเพราะต้องการขัดคอ หมั่นไส้ เจ้าของเรื่อง 2. การสอบถามทักท้วงควรเป็นจุดชนวนให้อภิปรายต่อ หรือ ยั่วยุให้คนอื่นออกความคิดเห็นต่อ แต่อย่าไปทำแบบวางระเบิด หรือซักให้จนมุม กะฉีกหน้า หรือ กัดไม่ปล่อย หรือเอาเขาให้จนตรอก 3. เวลาใครเขาทำอย่างเดียวกับเรา หรือ กับเรื่องของเราบ้าง ต้องไม่โกรธเคือง เพราะหลักมีว่า เราทำได้ คนอื่่นก็ทำได้ ครม. ทักษิณ สไตล์ อาจารย์วิษณุ เล่าในมุมวงในว่า ช่วงสมัย รัฐบาล “ทักษิณ 1” คนสำคัญใกล้ชิดมาก คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์, หมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, เนวิน ชิดชอบ และ ยงยุทธ ติยะไพรัช ตอนตั้งรัฐบาลใหม่ๆ คุณทักษิณ ไม่ชอบคุณเนวิน จากพรรคชาติไทยนัก เวลาตั้งรัฐมนตรีใหม่ๆ จึงส่งคุณนที ขลิบทอง เข้ามาแทน แต่ต่อมา คุณเนวิน ก็ได้แสดงศักยภาพให้ปรากฏจนเป็นที่ไว้วางใจ ในด้าน “ผู้คน” ที่จะต้องใช้สอยพวกแรก : สส.จากเขตเลือกตั้ง ท่านประกาศชัดเจนว่า จะให้เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในสภาพ หรือ สนับสนุนรัฐบาล เช่น เป็นเลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี แต่ไม่ให้ลาออกมาเป็นรัฐมนตรีเด็ดขาด เพราะสิ้นเปลืองงบรัฐบาลที่ต้องมาเลือกตั้งซ่อมพวกที่สอง : สส.บัญชีรายชื่อ พวกนี้ให้เป็นรัฐมนตรีได้ แม้ต้องลาออกจากการเป็น สส. เพราะไม่มีเลือกตั้งซ่อม พวกที่สาม : กลุ่มบัญชีรายชื่อ แต่ยังไม่ถึงคราวจะเป็น สส. เรียกว่า “รอคิว” พวกนี้ต้องทำงานนอกสภาอย่างหนักต่อไป พวกที่สี่ : สส.สอบตก และบุคคลในพรรคที่ไม่ได้สมัครเลือกตั้ง พวกนี้ขอให้ลงพื้นที่ เกาะให้มั่น งบประมาณก็พอมีให้บ้าง ฉายา “เนติบริกร” บ๋อยทางกฎหมาย สำหรับ ที่มาของฉายา “เนติบริกร” ได้มาช่วงสมัย ปี 2545 โดยทุกวันสิ้นปี นักข่าวทำเนียบฯ จะตั้ง สมญานาม ให้รัฐมนตรีต่างๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แสบๆ คันๆ บ้าง ซึ่งก็ไม่มีใครถือสา สามเดือนหลังเข้ารับตำแหน่ง ดร.วิษณุ ก็ได้รับสมญานาม จากนักข่าวสายทำเนียบว่า “เนติบริกร” น้ำเสียงออกไปทาง “บ๋อย” หรือ “เสี่ยวเอ้อ” นักการเมืองอยากกินอะไรก็ชงขึ้นไป แต่ก็ดูเหมาะกับผมดี เพราะผมไม่เคยคิดขยับไปเป็นกัปตัน หรือ ซีอีโอ เมื่อคำนึงถึงความรู้ของเรา มาทาง “เนติ” และต้องให้คำแนะนำ คอยแก้ปัญหาให้รัฐบาล คอยประสานคนนู้น คนนี้ ตั้งแต่เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องใช้ความรู้ทางกฎหมาย กฎ กติกา มารยาท และโบราณประเพณีช่วยขจัดปัดเป่าปัญหาอยู่ดี ล่าสุด 30 พ.ค. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 205/2567 เรื่อง การแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ โดยให้ นายวิษณุ เครืองาม มาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายฯ ซึ่งก็แปลว่า “เนติบริกร” ผู้นี้ กลับมาทำงานอีกครั้ง ส่วนรัฐบาลจะฝ่าวิกฤติ “นิติสงคราม” ได้หรือไม่ ก็คงต้องรอดู...