คนไทยป่วยจิตเวช 2.9 ล้านคน และอาจมีปัญหาแต่ไม่ได้รักษาถึง 10 ล้านคน โฆษกกรมสุขภาพจิตวิเคราะห์ปัจจัยทำแนวโน้มพุ่งสูง พร้อมเผยโรคที่ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่ง! มองคนไทยไม่พบจิตแพทย์-นักจิตฯ เหตุยังมีภาพจำไม่ค่อยดี

ปัญหาด้านสุขภาพจิต คล้ายกับภัยเงียบวนเวียนในใจมนุษย์ รอวันแสดงผลออกมาเมื่อคนเราแบกรับไม่ไหว หลายต่อหลายครั้งผลของมันก็นำมาซึ่งความสูญเสียที่น่าใจหาย อีกทั้งปัญหาดังกล่าวดูท่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้เผยข้อมูลอันน่าตกใจเกี่ยวกับปัญหา Mental health (สุขภาพจิต) ผ่านรายงาน เรื่อง ภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 

รายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยจิตเวชมารับบริการมากขึ้น จากจำนวน 1.3 ล้านคน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เป็น 2.8 ล้านคน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ 2.9 ล้านคน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หากพิจารณาเฉพาะตัวเลขดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ด้าน สุขภาพจิตของประเทศไทยมีความรุนแรงขึ้น

จากข้อมูลข้างต้น ทีมข่าวฯ จึงได้ต่อสายตรงถึง 'ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์' จิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น และโฆษกกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ถึงปัจจัยของสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งขอคำแนะนำในการดูแลเบื้องต้น ที่น่าจะช่วยทำให้คุณผู้อ่านและผม เข้าใจและใส่ใจตัวเองมากขึ้น

หากพร้อมแล้ว เราไปสำรวจสุขภาพจิตพร้อมกันเลย!!!

...

ปัจจัยด้านสุขภาพจิตเป็นปัจจัยเชิงซ้อน : 

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ถือเป็นปัจจัยเชิงซ้อนที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านกายภาพ ปัจจัยด้านจิตใจ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม แต่ปัจจัยที่เราเห็นว่ามีมากขึ้น จะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับด้านจิตใจ

"ผมยกตัวอย่าง เช่น ปัจจุบันคนเรามีความเครียดจากปัญหาต่างๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงที่เกิดหลังการระบาดของโควิด-19 เราจะเห็นว่า หลายคนยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบช่วงก่อนโควิดได้ มีคนต้องปรับตัวมากมาย บางคนอาจปรับตัวได้ในแง่ที่ดีขึ้น แต่บางคนอาจมีปัญหาด้านธุรกิจ หรืออื่นๆ ตามมา ทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบอยู่"

โฆษกกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์ต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหา มันเกิดจากความเร่งรีบ และการเติบโตของสังคมเมืองในยุคปัจจุบัน ทุกคนอพยพเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองหลวงมากขึ้น ส่งผลให้ความเร่งรีบและการแข่งขันสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจุดนี้ก็ส่งผลต่อไปอีก ทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง จนกระทั่งกลายเป็นคนที่มีความเครียดมากขึ้น

"แสดงว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง คือกลุ่มหลักที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตใช่ไหมครับ?" เราถามคุณหมอที่อยู่ปลายสาย หลังจากได้ยินบทวิเคราะห์ก่อนหน้า 

นายแพทย์วรตม์ ตอบว่า เป็นการกระจายครับ เพราะขณะนี้กลุ่มต่างจังหวัดก็ได้รับผลกระทบหลายประการ จนทำให้หลายคนมีปัญหาสุขภาพจิตเหมือนกัน เช่น ผลิตผลทางการเกษตรแย่ลงจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อพูดถึงสภาพแวดล้อม จะเห็นได้ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเจอกับปัญหาฝุ่นควันหลายจังหวัด เมื่อเรารู้สึกว่าสุขภาพกายแย่ สุขภาพจิตก็จะแย่ตามไปด้วย

อีกหนึ่งปัจจัยที่คุณหมอวรตม์มองว่าสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ 'โลกโซเชียลมีเดีย' เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเชื่อมโยงโลกทั้งใบเข้าด้วยกันนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มักจะนำตนเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น เช่น เรามันไม่ดีเท่าคนอื่น ชีวิตของเราไม่ประสบความสำเร็จเฉกเช่นเขา 

"เหล่านี้เป็นปัจจัยโดยรวม ที่ทำให้มนุษย์เจอปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่ที่ไทยแต่เป็นกันทั่วโลก" ดร.นพ.วรตม์ กล่าวย้ำสถานการณ์กับทีมข่าวฯ  

...

ทุกช่วงวัย มีปัจจัยเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตที่ต่างกัน : 

ดร.นพ.วรตม์ มองว่า ความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพจิต คงไม่มีกลุ่มใดเสี่ยงเป็นพิเศษ เพราะแต่ละช่วงวัยเสี่ยงในภาพที่แตกต่างกันออกไป ผู้สูงอายุ ที่ลูกหลานต้องไปทำงานไกลบ้าน ไม่สามารถกลับมาหาก็ได้ ก็อาจจะเกิดความเหงา จนนำไปสู่โรคทางจิตเวช คนกลุ่มวัยทำงานหลายคนก็เจอกับภาวะ Sandwich generation อยู่ตรงกลางระหว่างวัยของลูกกับพ่อแม่ ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องทำงานหนักอย่างยิ่ง 

"ส่วนในช่วงเด็กและวัยรุ่น ก็ถือมีความแข่งขันสูง มีการเปรียบเทียบ เป็นวัยที่ถูกคาดหวังจากคนรอบข้าง อย่างเราจะเห็นได้ว่าความเครียด ปัญหาความเสี่ยงโรคซึมเศร้า หรือการฆ่าตัวตาย มีมากในเด็กและวัยรุ่นยุคปัจจุบัน เพราะพวกเขาใช้ชีวิตยากขึ้น แต่อย่างที่ว่าครับ สุดท้ายทุกช่วงวัยก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป"

อ้างอิงข้อมูลอันน่าสนใจจากสภาพัฒน์ ที่ได้กล่าวถึงผลสำรวจเยาวชนของ 'คิด for คิดส์' ปี 2565 ถึงสาเหตุของความเครียดของเยาวชน พบว่า การเรียนและความหวังด้านการทำงานในอนาคต รวมไปถึงสถานะการเงินของครอบครัว ถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยเกิดความเครียดสูง

โดยกลุ่มอายุ 15-18 ปี และ 19-22 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเครียดด้านการเรียน และความคาดหวังถึงงานในอนาคตมากที่สุด โดยอยู่ที่ร้อยละ 38.4 และร้อย 60.9 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มอายุ 23-25 ปี ปัจจัยด้านการเงินทำให้เกิดความเครียดมากที่สุดถึงร้อยละ 67.1 รองลงมา คือ การเรียนและการทำงาน ร้อยละ 66.1 ซึ่งก็ถือว่าต่างกันไม่มาก

ขณะเดียวกัน การกลั่นแกล้ง (Bully) ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดภาวะซึมเศร้า ถือเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เช่น ความเครียด การอับอาย และความมั่นใจต่ำลง

...

ในส่วนของวัยทำงาน มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนกลุ่มนี้อาจต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต นั่นก็คือ การทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับการทำงาน โดยข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปี 2566 พบว่า 

"คนวัยทำงานใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการทำงาน ซึ่งสภาพการทำงานจากการจัดอันดับของบริษัท Kisi เมื่อปี 2565 พบว่า กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลก ที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป (Most Overworked Cities) และมีพนักงานประจำกว่าร้อยละ 15.1 ทำงานล่วงเวลามากกว่า 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์"

หรือทางด้านของผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากความเหงาและความโดดเดี่ยวจากการอยู่คนเดียว ข้อมูลปี 2566 พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 84.9 มีความสุขในระดับที่ดี แต่ความสุขจะลดน้อยลงตามวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม อีกทั้งคนช่วงวัยนี้ยังมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าช่วงวัยอื่นอยู่ที่ 9.5 ต่อประชากรแสนคน

คนไทยไม่พบจิตแพทย์-นักจิตฯ เพราะอาจติดภาพจำเดิม : 

...

หากย้อนกลับไปที่ชุดข้อมูลข้างต้น จะพบว่าจำนวนผู้ป่วยจิตเวชในแต่ละปี สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่รุนแรง แต่ถึงอย่างนั้น รายงานจากสภาพัฒน์ก็ยังบอกว่า แต่นั่นอาจดูไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เนื่องจากสัดส่วนผู้ป่วยต่อประชากร คือ 1 ต่อ 24 แตกต่างจากสัดส่วนระดับโลกค่อนข้างมาก 

แต่ แต่ แต่ว่า! มีจุดหนึ่งที่พวกเขาแสดงความกังวล คือ "แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก" เมื่อทีมข่าวฯ เห็นตัวเลขที่สูงขนาดนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลจริงๆ 

อย่างไรก็ดี เราได้นำข้อมูลนี้ ต่อยอดเป็นคำถามชวนสงสัยว่า เหตุใดคนไทยถึงไม่พบคุณหมอ?

โฆษกกรมสุขภาพจิต ตอบข้อสงสัยของเราว่า จริงๆ ต้องบอกก่อนว่าตอนนี้ถือว่าดีขึ้นกว่าอดีตมาก เพราะแต่ก่อนมีการตีตราเรื่องปัญหาสุขภาพจิตเยอะ มักจะมีคำพูดว่า คนบ้า คนประสาท โรคจิต ทำให้คนไม่อยากไปรักษา แต่ตอนนี้ลดลงไปแล้ว แต่ยังไม่ 100% เพราะการทำความเข้าใจเรื่องปัญหาสุขภาพจิตอาจจะยังไม่พอ

"เราดีขึ้นแล้ว แต่ผมคิดว่าต้องดีกว่านี้ เพื่อจะได้ดึงคนเข้าสู่กระบวนการรักษา ขณะนี้พ่อแม่บางคนไม่กล้าพาลูกไปรักษา เพราะกลัวว่าจะมีประวัติติดตัว ผมคุยกับผู้รับการรักษาหลายคน ก็ยังกลัวมีประวัติติดตัว แต่อยากบอกทุกคนว่า เรื่องเหล่านี้เป็นความลับทางการแพทย์ เราไม่ได้เปิดเผยที่ไหน"

คุณหมอวรตม์ กล่าวต่อว่า บางคนก็ยังมีการตราหน้าคนกลุ่มนี้อยู่ เช่น มองว่าคนเป็นโรคซึมเศร้า คือผู้ที่อ่อนแอไม่สู้ชีวิต ซึ่งนั้นถือเป็นความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต แล้วก็มีการเข้าใจผิดว่า การรักษาโรคทางจิตเวชต้องใช้เงินทองมหาศาล แต่จริงๆ มันอยู่ใน 30 บาทรักษาทุกโรค อยู่ในสิทธิ์ทุกสิทธิ์ของคนไทย การรักษาด้วยยาพื้นฐานเรามีหมด เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเหล่านี้ใหม่

โฆษกกรมสุขภาพจิต เน้นย้ำถึงสังคมว่า การสร้างการตระหนักรู้เรื่องนี้ต้องช่วยกัน แม้ภาครัฐจะพยายามผลักดันบ้างแล้ว แต่เรื่องพวกนี้ต้องเริ่มจากตัวเรา ครอบครัวเรา เช่น ถ้าครอบครัวเจอใครมีปัญหาสุขภาพจิต ก็อย่าไปกีดกันเขา เปลี่ยนเป็นช่วยเหลือ ซัพพอร์ตข้างๆ ให้มากขึ้น หรือคนในสังคมที่มีปัญหา ก็อย่าไปรังเกียจเดียดฉันท์ ชี้ว่าเขาเป็นคนบ้า เราต้องช่วยหยิบยื่นความช่วยเหลือ

'วิตกกังวล' โรคเบอร์ 1 และแนวโน้มโรคจิตเวชที่อาจสูงขึ้น : 

เมื่อเราถามว่า โรคทางจิตเวช หรือปัญหาด้านสุขภาพจิตเรื่องไหน ที่ถือว่าเป็นโรคที่คนเป็นกันมากที่สุด ดร.นพ.วรตม์ ให้ข้อมูลว่า แม้คนจะมองว่าโรคยอดฮิต คือ โรคซึมเศร้า แต่โรคที่เป็นเบอร์ 1 มาโดยตลอด คือ โรควิตกกังวล (anxiety) ตามมาด้วย โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคทางอารมณ์ต่างๆ และโรคเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งโรควิตกกังวลนั้นมันก็ย้อนไปเกี่ยวพันกับสภาพแวดล้อม สภาพเศรษฐกิจ และสภาพสังคม

"โรควิตกกังวลเป็นโรคที่หลายคนมองข้าม เพราะมักจะคิดว่าคงเป็นแค่หนึ่งในภาวะอารมรณ์ แต่การกังวลมากจนไม่สามารถทำงานได้ กังวลมากจนสูญเสียการใช้ชีวิตประจำวัน หรือความสัมพันธ์ พวกนี้ถ้าวินิจฉัยจริงๆ เราจะพบว่าเป็นโรค ยิ่งพอมีตัวเร้า ตัวกระตุ้น จากสภาพแวดล้อมรอบข้าง ขาดคนช่วยซัพพอร์ตความกังวลที่มีอยู่ มันก็สามารถพัฒนาสู่โรควิตกกังวลได้"

โฆษกกรมสุขภาพจิต แสดงความกังวลต่อไปว่า มีโอกาสที่กราฟปัญหาด้านสุขภาพจิตจะพุ่งสูงขึ้นกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาเคยมีมาแล้ว ทั้งปัญหาเสี่ยงความเครียด ปัญหาเสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย เราเคยมีพีกเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ยังระบาดรุนแรง เราพบว่ามันมีปัญหาเหล่านี้จริงๆ

"ถามว่าเราจะปั้นบุคลากรขึ้นมารับมือทันไหม ก็ต้องบอกว่าทางภาครัฐเองก็พยายามเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตมากขึ้น แต่อัตราเพิ่มของผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ ตอนนี้ถ้าเทียบอัตราส่วนของจิตแพทย์ในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 1.25 ต่อประชากรแสนคน แต่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คะแนะนำไว้ ต้องมีประมาณ 1.7 ต่อประชากรแสนคน ทำให้เรามีจำนวนที่น้อยกว่าคำแนะนำอยู่"

แต่ก็ถือว่ามีบางจุดที่เราต้องเติมเต็มเข้าไป โดยเฉพาะเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่ใช่แค่จิตแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มนักจิตวิทยา และพยาบาลด้านสุขภาพจิตด้วย รวมไปถึงโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ ก็ควรมีผู้ที่มีความรู้ด้านสุขภาพจิตเข้าไปอยู่ในนั้นด้วย คุณหมอวรตม์ กล่าวกับเรา

เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ : 

ถึงบทส่งท้ายของสกู๊ป คุณหมอได้แนะนำการดูแลตนเองเบื้องต้นว่า การใช้เวลากับครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องเป็นเวลาที่มีคุณภาพ เช่น มานั่งคุยเรื่องราวชีวิตกัน แล้วดูว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไร เมื่ออีกฝ่ายรู้แล้วก็อย่าเพิ่งไปรีบสอนหรือต่อว่า เปิดโอกาสให้เขาได้สื่อสารหรือเล่า เพราะเขาอาจเพียงต้องการคนรับฟัง

สำหรับคนที่ต้องทำงานไกลบ้าน หรือมาอยู่คนเดียว ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายให้เราได้เข้าถึง ใช้ความก้าวหน้าของจุดนี้ หมั่นโทรหาหรือวิดีโอคอลถึงคนที่อยู่ทางบ้าน หรืออาจจะหาเพื่อนหรือคนอื่นๆ ที่ไว้ใจสักคน คอยรับฟัง และเปลี่ยน และปรึกษาชีวิตระหว่างกัน

"เรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ แม้มันจะเสี่ยงทำให้เกิดความสูญเสีย แต่ก็ยังเป็นความสูญเสียที่เราป้องกันได้ เพียงแต่ต้องสร้างความตระหนักรู้อยู่เสมอว่า ไม่ว่าจะเรา หรือคนรอบข้าง ทุกคนต่างมีโอกาสป่วยทางสุขภาพจิต หากตนเป็นผู้มีปัญหาก็ให้ยอมรับตัวเอง จะช่วยลดความสูญเสียที่อาจตามมาได้"

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์


อ่านบทความที่น่าสนใจ :