ฟ้าโปร่งเครื่องบินยิ่งตกหลุมอากาศบ่อย เพราะโลกร้อน อดีตนักบินวิเคราะห์หลุมอากาศที่เรดาร์จับไม่ได้มีเพิ่มสูงมาก ขณะการประเมินด้วยสายตา หลีกเลี่ยงกลุ่มเมฆอันตรายก็ยังมีความเสี่ยงหนัก แนะนำผู้โดยสารคาดเข็มขัดตลอดเวลา นั่งท้ายเครื่องคือตำแหน่งกระทบน้อยสุด
สิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ 321 เส้นทางลอนดอน-สิงคโปร์ หลังบินมากว่า 10 ชั่วโมง ตอนบินลงจอดด่วนที่สนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 67 เวลา 15.45 น. เนื่องจากตกหลุมอากาศขณะทำการบิน ทำให้มีผู้โดยสารชาวต่างชาติเสียชีวิต 1 ราย มีผู้บาดเจ็บ 70 คน จากผู้โดยสารทั้งหมด 211 คน ขณะนี้ได้นำผู้โดยสารที่บาดเจ็บไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในไทย
พล.อ.ท.ดร.ศุภกฤต อริยะปรีชา รองคณบดีฝ่ายวิชาการและเทคนิค สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า การตกหลุมอากาศเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของนักบิน เพราะไม่มีเครื่องมือวัด เช่น เรดาร์, เครื่องตรวจอากาศ ที่บอกได้ว่าด้านหน้าของเครื่องบินมีหลุมอากาศหรือไม่ เพราะหลุมอากาศจะเป็นพื้นที่ว่าง ทำให้สัญญาณเรดาร์ไม่สามารถสะท้อนกลับมายังห้องควบคุมของนักการบินได้
...
การตกหลุมอากาศ จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่นักบินก็ไม่อาจทราบได้ แต่นักบินใช้การประมวล ถ้าเป็นขณะทำการบินที่สูงไม่มาก มีการเคลื่อนตัวเข้าใกล้จุดที่มีภาวะเสี่ยง จะต้องหลีกเลี่ยง ซึ่งถ้าเป็นการบินในระดับความสูงมากๆ จะไม่ค่อยมีผลกระทบในเรื่องตกหลุมอากาศ
กรณีของการตกหลุมอากาศที่ท้องฟ้าแจ่มใส เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก แต่ถ้าในกรณีที่มีเมฆขนาดใหญ่ นักบินทุกคนจะรู้ว่าเมฆแบบไหนที่ไม่ควรจะพาเครื่องบินเข้าไปใกล้ เนื่องจากมีกระแสลมภายในเมฆรุนแรง เช่น เมฆที่เป็นก้อนทะมึนสีดำ นักบินจะไม่เข้าไปเด็ดขาด และเรดาร์ของเครื่องตรวจพบว่าเมฆก้อนนั้นมีความกว้างยาว และลึกเท่าไร
สภาวะโลกร้อน มีผลอย่างมากต่อทัศนวิสัยในการบิน ถ้าการเคลื่อนที่ของอากาศมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ จะส่งผลให้ทัศนวิสัยในการบินไม่ปกติ ขณะที่ตอนนี้นักบินต่างทราบดีว่าเกิดเหตุตกหลุมอากาศได้บ่อย เพียงแต่ว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวเครื่องมากหรือน้อย ซึ่งนักบินเองบางครั้งก็เกิดความระแวง แต่ถ้ามีหลุมอากาศที่สามารถประเมินได้ด้วยตา หรือเป็นเมฆที่เรดาร์สามารถจับได้ก็จะช่วยได้มาก แต่บางครั้งหลุมอากาศมาในแบบที่นักบินมองไม่เห็น และเรดาร์ตรวจจับไม่ได้
นอกจากประเด็นเรื่องหลุมอากาศที่เพิ่มขึ้น และมีความซับซ้อนมากกว่าเดิมแล้ว ยังไม่พบปัจจัยอื่นที่นักบินกังวล เพราะปกตินักบินมีแนวทางปฏิบัติในการบินกลางวัน หรือกลางคืน และมีเครื่องมือในการตรวจสอบสภาพอากาศที่เลวร้าย เพื่อประเมินสภาพการบินที่เหมาะสม
โลกร้อนกระตุ้นตกหลุมอากาศมากขึ้น
เครื่องบินตกหลุมอากาศรุนแรง แม้เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่นักวิชาการก็มองว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังมนุษย์ต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อน โดย "นายสนธิ คชวัฒน์" นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เครื่องบินอาจตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น แม้บินอยู่ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง สัมพันธ์กับการที่โลกเข้าสู่ภาวะ "โลกเดือด" 1.โลกร้อนทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น 1.2-1.4 องศาฯ จากยุคก่อน ยิ่งระดับความสูงจากผิวโลกขึ้นไปเกือบ 20 กม. อุณหภูมิบรรยากาศยิ่งร้อนขึ้น ทำให้ลมระดับบนที่ระยะความสูงระหว่าง 7.0-16 กม. จากผิวโลกที่เรียกว่า ลมกรด หรือ Jet stream ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 200-400 กม./ชม. และเคลื่อนที่จากซีกโลกตะวันตกไปยังตะวันออกมีความเร็วลดลงในบางช่วงขณะ
...
ทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบริเวณนั้นลดลง ทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศทั้งที่อากาศช่วงนั้นปลอดโปร่งไม่มีพายุหรือเมฆฝนใดๆ เรียกว่า Clear Air Turbulance หรือ CAT หากมีเครื่องบินบินผ่าน แรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกะทันหัน และเครื่องจะตกลงไปในมวลอากาศที่บางลง ซึ่งเรียกว่า การตกหลุมอากาศ
2.โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิในบรรยากาศโลกสูงขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะเครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้น ทั้งที่เครื่องบินบินอยู่ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งได้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดบ่อยขึ้น นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาค้นพบว่าตั้งแต่ปี 1979-2020 มีเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 55 และมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นโลกสู่บรรยากาศ จึงทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ
แนวทางปฏิบัติผู้โดยสาร เมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ
"พล.อ.ท.ดร.ศุภกฤต" กล่าวว่า สำหรับผู้โดยสารสายการบิน หากไม่เดินไปเข้าห้องน้ำระหว่างการบิน ควรรัดเข็มขัดไว้ตลอดเวลา เพราะถ้าหากเกิดเหตุตกหลุมอากาศอย่างที่คาดการณ์ไม่ได้ ก็ได้รับบาดเจ็บน้อยลง เพราะในสภาวะตกหลุมอากาศที่จะเกิดขึ้นทั้งลำ จะเห็นว่าเมื่อตกหลุมอากาศจะมีแรงกระแทกเกิดขึ้นบริเวณส่วนหัวเครื่องมากกว่าส่วนท้ายเครื่อง
...
ส่วนหางเครื่องจะมีน้ำหนักเบากว่า แต่ข้อเสียของการนั่งในส่วนท้ายเครื่องจะมีสภาวะส่ายไปมา ทำให้คนที่ไม่ชินเวียนหัว ดังที่จะเห็นว่าเวลาเครื่องบินเกิดอุบัติเหตุ คนที่นั่งท้ายเครื่องมักจะรอด เพราะส่วนหัวเครื่องมีน้ำหนักสูงกว่า และต้องเจอกับแรงปะทะต่างๆ เป็นอันดับแรก ก่อนส่วนท้ายเครื่อง เช่น เครื่องบินของสายการบินญี่ปุ่นที่ประสบอุบัติเหตุชนภูเขา คนที่รอดจะนั่งอยู่บริเวณท้ายเครื่อง.