ชวนรู้จัก 'หลุมอากาศ' อันตรายบนน่านฟ้า ผลพวงจากปัญหาโลกร้อน แนะผู้โดยสารรัดเข็มขัดทุกครั้ง ฟังคำเตือนของกัปตันทุกเที่ยวบิน

ระทึกน่านฟ้าอีกครั้ง! เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. วันนี้ (21 พ.ค. 2567) เที่ยวบิน SQ321 ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ เส้นทางลอนดอน-สิงคโปร์ ทำการบินด้วยโบอิ้ง 777-300 ER ขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิ

หลังจากนั้น เพจ บันทึกไม่ลับของคนขับเครื่องบิน ได้โพสต์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

"สภาพอากาศย่ำแย่วันนี้ ทำให้มีเกิดสภาพอากาศแปรปรวนตามเส้นทางบินวันนี้ตลอดทาง ทำให้สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ซึ่งเดินทางจากสนามบิน ลอนดอน ปลายทางสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ต้องทำการเปลี่ยนเส้นทางฉุกเฉินมาลงสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากได้รับรายงานว่ามีผู้โดยสารบาดเจ็บ 30 คน และเสียชีวิต 1 คน จากเคสนี้เราได้บทเรียนหนึ่งอย่างนะครับ คาดเข็มขัดตลอดเวลาที่อยู่ที่ที่นั่งครับ ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ"

หลังจากนั้นมีการระบุเพิ่มเติมว่า คาดว่าเครื่อง 'ตกหลุมอากาศ' บริเวณแถบมหาสมุทรอินเดีย แต่เรื่องนี้ต้องรอข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการ

ทีมข่าวฯ ต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นกรณีศึกษา ทีมข่าวฯ ขอพาคุณผู้อ่านทุกคนย้อนอ่านบทสัมภาษณ์เรื่อง หลุมอากาศ ที่เราเคยได้มีโอกาสสนทนากับ 'รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล'

ก่อนอื่นเราขอพาทุกคนไปรู้จัก 'หลุมอากาศ' เบื้องต้นก่อนดีกว่า ว่ามันคืออะไร?

...

อ.ชัยวัฒน์ สรุปเรื่องหลุมอากาศ ให้เข้าใจโดยง่ายว่า มันคือสภาพที่ลมฟ้าอากาศแปรปรวน อากาศร้อนมาปะทะกับอากาศเย็น แล้วเกิดเป็นกระแสหรือสายลำอากาศเคลื่อนไหวเร็วแบบเจ็ต คล้ายไอพ่นของเครื่องบินเจ็ต 

ซึ่งการตกหลุมอากาศ จะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับเบา 2. ระดับปานกลาง 3. ระดับหนัก โดยหากเป็น 2 ระดับแรก ส่วนใหญ่จะส่งผลเพียงเครื่องบินสั่นไหว มีอาการตกหลุมอากาศเล็กๆ ทำให้ผู้โดยสารตกอกตกใจไปบ้าง แต่ไม่ค่อยมีอันตรายรุนแรง แต่หากเป็นระดับที่ 3 อาจจะรุนแรงถึงขนาดทำให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บได้เลย!

รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ ระบุว่า สิ่งที่บรรดานักนิยมทัวร์บินเที่ยวต่างประเทศต้องรู้เอาไว้ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลตัวเองเมื่อขึ้นเครื่องบินนับจากนี้ ก็คือปรากฏการณ์ตกหลุมอากาศ แม้ในยามทัศนวิสัยปลอดโปร่ง คิดค่าเฉลี่ยแล้ว ในปัจจุบันก็สูงถึงประมาณ 750 ครั้งต่อปี! โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาโลกร้อน

เมื่อพูดถึงปัญหาโลกร้อน อ.ชัยวัฒน์ เอ่ยปากว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่า ปัญหาโลกร้อน มันเริ่มต้นขึ้นเมื่อมนุษย์เราเริ่มต้นการใช้เครื่องจักร พูดง่ายๆ ก็คือ โลกมันเริ่มร้อนขึ้นมาตั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่มีการปล่อยมลพิษขึ้นไปบนท้องฟ้า จนกระทั่งค่อยๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Green House Effect หรือ ปรากฏการณ์เรือนกระจก กระทั่งทำให้โลกค่อยๆ ร้อนขึ้นๆ จวบจนปัจจุบัน

"ปรากฏการณ์โลกร้อนจากน้ำมือมนุษย์เรานั้น ทำให้บรรยากาศของโลกแปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีผลทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง เกิดพายุบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้นๆ และต่อไปในอนาคต หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อะไรจะเกิดขึ้นกับอนุชนรุ่นหลังของเรา ก็คิดกันเอา" รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล ฝากถึงผู้อ่านทุกคนที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยๆ ว่า ขอให้ปฏิบัติตามคำเตือนของกัปตัน และเข้มงวดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัยกับที่นั่ง อันตรายของมันก็จะลดน้อยลงไป