เปิดคำวินิจฉัย ที่ศาลยกคำร้องคดี ‘ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป’ ขอให้ ‘พิรงรอง’ หยุดทำหน้าที่ โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนำประมวลกฎหมายแพ่งฯ มายืนยันว่า ศาลอาญามีอำนาจสั่งให้ กสทช. หยุดทำหน้าที่ได้ เพียงแต่ขณะนี้ ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสิน “ยกคำร้อง” คดีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ขอให้ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ในระหว่างที่ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป กำลังฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ทั้งนี้ ใจความของคดีหลัก เลขที่คดี อท 147/2566 ซึ่งบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง เป็นจำเลยในความผิดฐานเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ภาคเอกชนเกิดความเสียหาย
ส่วนที่มาของคดีเกิดขึ้นหลังจากอนุกรรมการ กสทช. รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 ว่ามีโฆษณาระหว่างกดเปลี่ยนช่อง ซึ่งอนุกรรมการ กสทช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุทุกราย เพื่อให้ตรวจสอบการแพร่เสียงและภาพผ่านการรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet TV Box) และแอปพลิเคชัน TRUE ID และเรียกให้บริษัททรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เข้าชี้แจง จึงเป็นสาเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีต่อกรรมการ กสทช. ว่าทำให้ภาคเอกชนได้รับความเสียหาย โดยคดีดังกล่าว มีนัดส่งเอกสารให้เสร็จภายใน 29 พฤษภาคม และนัดไต่สวนพยานหลักฐานวันที่ 25 มิถุนายน 2567
...
สืบเนื่องจากการฟ้องคดีดังกล่าว บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ฝ่ายโจทก์ ได้ยื่นคำร้องให้ศาลสั่งให้ ศ.ดร.พิรงรอง ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ศาลได้อ่านคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยมีประเด็นคำวินิจฉัยน่าสนใจในสองประเด็น
ประเด็นที่ 1 ศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยยุติการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่?
เนื่องจากฝ่ายจำเลยยื่นคัดค้านว่า เรื่องอำนาจออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวในลักษณะนี้ ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยตรง ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วให้ความเห็นว่า การสั่งให้เจ้าพนักงานของรัฐระงับการปฏิบัติหน้าที่ มีกฎหมายใกล้เคียงคือ *มาตรา 81 วรรคหนึ่ง และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 (กฎหมาย ป.ป.ช.) ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องคดีแล้ว ก็ให้ผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าพนักงาน หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน จนกว่าจะมีคําพิพากษาเป็นอย่างอื่น
1:1 หากโจทก์ผู้ฟ้องไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ขอให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวได้หรือไหม
อย่างไรก็ดี กฎหมาย ป.ป.ช. ที่นำมาใช้เทียบเคียงนั้น เป็นกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นตัวแทนของรัฐ นั่นคือ มักต้องมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานอัยการเป็นโจทก์ผู้ฟ้องคดี แตกต่างจากคดีนี้ที่ผู้ฟ้องเป็นราษฎร ซึ่งกฎหมาย ป.ป.ช. ไม่ได้กล่าวถึงไว้
ศาลจึงวิเคราะห์ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย เห็นว่าการฟ้องคดีของป.ป.ช. หรือพนักงานอัยการ ได้ผ่านกระบวนการไต่สวนหรือสอบสวนของ ป.ป.ช. หรือพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐานมาก่อนแล้ว ส่วนคดีนี้ แม้โจทก์ไม่ใช่ ป.ป.ช. หรือพนักงานอัยการ แต่ศาลก็ดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจฟ้องและชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วยตนเอง และเห็นว่าคดีมีมูลที่จะรับไว้จึงมีคำสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา ซึ่งเป็นกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและไต่สวนเพื่อค้นหาความจริง ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากระบวนการไต่สวนและสอบสวนของ ป.ป.ช. หรือพนักงานสอบสวน
1.2 คดีอาญา ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กฎหมายอื่นเทียบเคียงแบบคดีแพ่งได้หรือไม่
ศาลยังพิเคราะห์ย้ำในประเด็นที่คำร้องนี้ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้โดยตรง แต่เมื่อคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย ศาลจึงอ้างถึงมาตรา 4 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ระบุว่า กรณีไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับ ให้วินิจฉัยคดีนั้นไปตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีก็ให้อาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ ศาลเห็นว่า การให้จําเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นมาตรการระหว่างการพิจารณาคดี ไม่ใช่การตีความกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาว่าจําเลยทำความผิดหรือไม่ ซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัด มาตรการส่วนนี้แยกส่วนต่างหากจากการพิจารณาคดี ดังนั้นจึงนํา พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 81 วรรคหนึ่ง และมาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้ในกรณีนี้ได้ ศาลจึงพิเคราะห์ได้ว่า ศาลมีอํานาจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้
ประเด็นที่ 2 จำเลยต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ไหม
ส่วนประเด็นที่ว่า เรื่องนี้มีเหตุผลสมควรเพียงพอ ที่จะสั่งให้กรรมการ กสทช. หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณาคดีหรือไม่ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย ไม่ได้เกี่ยวพันหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะหรือประชาชนทั่วไป และไม่ได้กระทบหรือเกี่ยวข้องกับส่วนได้ส่วนเสียของรัฐ
ส่วนกรณีที่โจทก์อ้างว่า จำเลยมีพฤติการณ์หรือการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความมีอคติและความไม่เป็นกลางต่อการประกอบกิจการของภาคเอกชนอันเป็นกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกันอย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทําหน้าที่กรรมการ กสทช. ที่แสดงออกชัดแจ้งถึงการคัดค้านรายงานการรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) และ ศ.ดร.พิรงรองยังเข้าร่วมแสดงความเห็นกับกลุ่มบุคคลที่มีอคติในเชิงลบต่อการประกอบกิจการของกลุ่มบริษัทในเครือทรูดิจิทัล กรุ๊ป เพื่อให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาลนั้น
...
ส่วนนี้ศาลพิเคราะห์ว่า หลังจากที่ทาง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ฟ้องคดีนี้ และศาลมีคำสั่งรับฟ้องไว้แล้ว ก็ไม่ปรากฏว่า ศ.ดร.พิรงรอง มีพฤติการณ์ใดที่ส่อให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์หรือขัดขวางการแจ้งการประกอบธุรกิจของโจทก์หรือกลุ่มบริษัทในเครือของโจทก์อีก ส่วนที่ ศ.ดร.พิรงรอง แสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน ก็ยังไม่ถึงกับมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนและศาล
กรณีนี้ ศาลจึงพิเคราะห์ว่า ยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอ ที่ศาลจะมีคำสั่งให้จำเลยหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่หากมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลอาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ในครั้งนี้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคําร้อง
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
*มาตรา 81 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ระบุว่า ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับฟ้อง ตามมาตรา 77 ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคําพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องคําพิพากษานั้น พ้นจากตําแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้
มาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน ให้ดําเนินการดังต่อไปนี้
...
(1) ถ้ามีมูลความผิดทางอาญา ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดภายในสามสิบวัน เพื่อให้อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีต่อไป
(2) ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนภายในสามสิบวัน เพื่อให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป