คุยเรื่องควายไทย กับนักวิชาการสัตวบาล ชี้กำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หลังวงการประกวดควายสวยงามเริ่มได้รับความนิยม มองสถานะควายเปลี่ยนไป จากกำลังหลักคู่กายเกษตรกรในอดีต สู่การเป็นธนาคารและทรัพย์สินในปัจจุบัน 

'ควาย' เป็นสัตว์คู่สังคมไทยมาช้านาน ในอดีตถือเป็นกำลังหลักในการทำเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีแห่งโลกาภิวัตน์ที่รุกล้ำมามากขึ้น ทำให้ความสำคัญ สถานะ และภาพจำของควายเริ่มเปลี่ยนไป

วันนี้เราจะมาลองดูกันสิว่า สถานะควายไทยนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ผ่านมุมมองและข้อมูลจาก 'คุณทวีพร เรืองพริ้ม' นักวิชาการสัตวบาล ชำนาญการพิเศษภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม

ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่อง 'น้องควาย' เรามาดูกันหน่อยดีกว่าว่า ตอนนี้ควายบ้านเราเหลือประมาณกี่ตัว ข้อมูลควายไทย ณ เดือนเมษายน 2567 โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมปศุสัตว์ บันทึกไว้ว่า จำนวนกระบือ (ควาย) ทั่วประเทศไทย มีทั้งหมด 1,817,289 ตัว มีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งสิ้น 311,303 ราย

...

อัตลักษณ์ควายไทย : 

นักวิชาการสัตวบาล เริ่มเลกเชอร์ข้อมูลเกี่ยวกับควายให้เราฟังว่า ควายแยกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ควายป่า และควายบ้าน ซึ่งวันนี้เราจะพูดกันถึง 'ควายบ้าน' สำหรับควายกลุ่มนี้จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ ควายปลัก (Swamp buffalo) และควายแม่น้ำ (River buffalo) ซึ่งทั้งสองชนิดจัดอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน คือ Babalus babalis แต่ถึงอย่างนั้น น้องควายทั้ง 2 ชนิด ก็มีความแตกต่างกันทางสรีรวิทยา และรูปร่างอย่างชัดเจน 

สำหรับ ควายปลัก (Swamp buffalo) สามารถพบได้ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา และลาว ในอดีตนิยมเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานในไร่นา เมื่ออายุมันมากขึ้นจะส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์ เพื่อนำมาทำเป็นอาหาร เหตุผลที่ชื่อควายปลัก เพราะชอบนอนแช่ปลัก รูปร่างภายนอกล่ำสัน ผิวหนังมีสีเทาเข้มเกือบดำ ขนเล็ก ลำตัวหนาลึก ท้องใหญ่ หัวยาวแคบ หน้าผากแบนราบ ตานูนเด่นชัด ช่วงระหว่างรูจมูกทั้ง 2 กว้าง ขาทั้ง 4 สีขาวแก่ หรือสีเทาคล้ายใส่ถุงเท้า คอยาว ใต้คอมีขนขาวคล้ายตัววี หัวไหล่ และอกนูนชัดเจน

ส่วน ควายแม่น้ำ (River buffalo) พบในอินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ แถบยุโรปตอนใต้ และยุโรปตะวันออก ให้นมมากและเลี้ยงไว้เพื่อรีดนม ไม่ชอบลงแช่โคลน ชอบน้ำสะอาด มีขนาดใหญ่ รูปร่างแข็งแรง ผิวหนังดำ หัวสั้น หน้าผากนูน เขาสั้นและบิดม้วนงอ ส่วนลำตัวจะลึกมาก มีขนาดเต้านมใหญ่ 

คุณทวีพร ยืนยันว่า ควายไทยเป็นควายปลักแบบดั้งเดิมแทบจะ 100% หรือ 100% เลยก็ว่าได้ เพราะเราไม่ได้เอาควายจากนอกเข้าไทยนานมากแล้ว แม้ที่ผ่านมาทางกรมปศุสัตว์จะมีการนำเข้าควายแม่น้ำบ้าง แต่ก็เพื่อการศึกษาและทดลอง จึงไม่มีผลกระทบอะไรกับควายท้องถิ่น

'อัตลักษณ์' ควายไทย ถือว่ามีกล่าวไว้หลายตำรา แต่ก็จะมีจุดเด่นชัดอยู่ 5 จุด คือ ตาแต้ม แก้มจ้ำ ปากคาบแก้ว อ้องคอ และข้อเท้าขาว ขยายความว่า 'ตาแต้ม' คือ มีแต้มขาวเหนือหัวตา 'แก้มจ้ำ' จะมีแต้มขาวที่แก้มข้างซ้ายและขวา 'ปากคาบแก้ว' จะมีแต้มขาวที่ปาก 'อ้องคอ' จะมีขนและหนังบริเวณใต้คอเป็นสีขาว ไม่ว่าจะมี 1 อ้อง หรือ 2 อ้อง และ 'ข้อเท้าขาว' คือ มีขนขาวที่ข้อเท้าหรือแข้ง 

...

ควาย คือ ธนาคาร : 

คุณทวีพร มองว่าภาพจำเรื่องควายเคยหายไปพักหนึ่งจากสังคมไทย ราวกับว่าพวกเราลืมมันไปแล้ว บางคนถึงขั้นเอ่ยปากว่า "เดี๋ยวนี้ไม่เห็นควายเลย หรือ ไม่ได้เห็นควายมานานแล้ว" อย่างไรก็ตาม ควายได้รับการกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน และเริ่มมีการพาควายเดินสายประกวดมากขึ้น 

ปัจจุบันการใช้แรงงานควายอย่างในอดีต เช่น การเกษตร ลากเกวียน หรือไถนา แทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว แต่ถึงอย่างนั้น ควายยังถือเป็นสัตว์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมือง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงควายเป็นฝูง ฝูงละประมาณ 2-5 ตัว

นักวิชาการสัตวบาล เปรียบเปรยว่า ควายเหมือนธนาคารของชาวบ้านและเกษตรกร พ่อควายเหมือนเงิน ส่วนลูกควายเป็นดอกเบี้ย เกษตรกรจะเลี้ยงควายแบบท้ายไร่ ปลายนา ให้กินหญ้าหรือฟางตามพื้น ปล่อยมันเดินเล่นตามธรรมชาติ พอตกช่วงเย็นก็ต้อนกลับบ้าน เป็นวัฒนธรรมคู่กับเกษตรกรไทยเช่นนี้มาช้านาน 

"ที่บอกว่าควายเหมือนธนาคาร เพราะว่าเวลาชาวบ้านต้องการเงินใช้จ่ายส่วนต่างๆ เช่น ลูกหลานเปิดเทอม งานมงคล งานอวมงคล หรืออะไรก็แล้วแต่ พวกเขาจะนำควายไปขายเปลี่ยนเป็นเงิน นอกจากนั้น ควายยังเป็นเหมือนทรัพย์สิน ที่บ่งบอกถึงฐานะของผู้เลี้ยง หากอยากดูว่าใครรวยหรือไม่ ให้ลองดูที่จำนวนควาย สรุป ถ้าต้องใช้เงิน สิ่งที่เขานึกได้สิ่งแรก คือ ขายควาย นี่คือวิถีชีวิตของคนอีสาน มันคือทรัพย์สินที่พอประมาณการได้ที่คงมีอยู่ในมือ เป็นเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน"

...

เลี้ยงเพื่อพัฒนาพันธุ์และสร้างมูลค่า :

ส่วนแรกที่คุณทวีพรได้พูดถึง เป็นมุมของชาวบ้านหรือเกษตรกร ที่เลี้ยงควายทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่เธอบอกกับทีมข่าวฯ ว่า ยังมีการเลี้ยงควายเพื่อจุดประสงค์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน นั่นก็คือ เลี้ยงควายสวยงาม เพื่อใช้เดินสายประกวด

นักวิชาการสัตวบาล กล่าวว่า ในส่วนนี้เกิดจากการที่กลุ่มผู้เลี้ยงปรับปรุงพันธุกรรมของควาย โดยการใช้พ่อพันธุ์มาผสมเทียม ให้ได้ควายที่โครงร่างสูงใหญ่ คล้ายกับควายไทยในอดีต จุดนี้เรามองว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยพัฒนารูปร่างควายให้ดีขึ้น 

คุณทวีพร ขยายความว่า ปัจจุบันนี้ควายไม่ได้ตัวสูงใหญ่เหมือนสมัยปู่ย่าตาทวด เพราะเกษตรกรที่เขาเลี้ยงทั่วไปจริงๆ มักจะใช้การเลี้ยงแบบพ่อควายหนึ่งตัวคุมฝูงตลอดชีพ ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า เลือดชิด (In Breeding) ซึ่งทำให้ยีนถดถอย แคระแกร็น ตัวเล็ก เกิดลักษณะพิการ เช่น 2 หัว 3 ขา พวกนั้นเกิดจากยีนด้อย สาเหตุตัวอย่าง เช่น พ่อควายทับลูกควาย หรือหลานควาย เป็นต้น

...

"In Breeding คือ การผสมพันธุ์ระหว่างสายเลือดเดียวกัน หรือใกล้ชิดกัน เช่น พ่อกับลูกสาว แม่กับลูกชาย หรือพี่น้องท้องเดียวกัน ทำให้เกิดยีนด้อย ความบกพร่องทางด้านร่างกาย พิการ อ่อนแอ มีผลต่อการเจริญเติบโตถดถอย" นักวิชาการสัตวบาล เน้นย้ำให้เข้าใจอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม คุณทวีพร บอกว่า เกษตรกรหลายคนก็มีความพยายามแก้ปัญหาจุดนี้ เช่น เปลี่ยนพ่อผู้นำฝูง หรือสลับคอก แต่สุดท้ายมันก็ยังวนเวียนอยู่แบบนั้น เพราะตัวนั้นอาจเป็นลูกของตัวนี้ ตัวนี้อาจเป็นลูกของตัวนั้น มันจึงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสียทีเดียว

ดังนั้น จึงมีการเลี้ยงควายเพื่อประกวดอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเหมือนการช่วยพัฒนาควายไทย เนื่องจากผู้เลี้ยงจะใช้พ่อพันธุ์มีโครงร่างใหญ่ แล้วนำน้ำเชื้อมาผสมเทียม ลูกที่เกิดอย่างน้อยก็ต้องได้ลักษณะดีของพ่อ แล้วถ้าพ่อควายสามารถจ่ายลูกได้ดี จ่ายลูกสวยอย่างนิ่งและต่อเนื่อง ก็จะยิ่งช่วยคอนเฟิร์มว่า พ่อควายตัวนั้นมีน้ำเชื้อดี เพราะผ่านสิ่งที่เรียกว่า Progeny test (การทดสอบสายพันธุ์) 

"เมื่อเป็นเช่นนั้น น้ำเชื้อและค่าตัวของพ่อควายจะแพงขึ้น ยิ่งถ้าไปเดินสายประกวด แล้วได้รางวัลมาเยอะ ก็จะทำให้ราคาของพ่อควายแพงขึ้นไปอีก คล้ายกับนางงามที่ผ่านมาหลายเวที ซึ่งตอนนี้การเลี้ยงควายเพื่อประกวด ถือว่ากำลังมาแรง ทั้งควายเผือกและควายดำ"

นักวิชาการสัตวบาล สรุปส่วนนี้ไว้ว่า ปัจจุบัน ควายไทยเลี้ยงติดบ้าน เลี้ยงเป็นวัฒนธรรม ประมาณ 80% ส่วนอีกประมาณ 20% ที่เหลือ เป็นการเลี้ยงเพื่อสร้างมูลค่า

ความนิยมในการบริโภค : 

ทีมข่าวฯ ถามนักวิชาการสัตวบาลว่า สำหรับการบริโภคเนื้อควายนั้น ได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด คำตอบของคำถามนี้ คือ สำหรับประเทศไทย การบริโภคเนื้อควายส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคเหนือ ชาวเหนือนิยมบริโภคเนื้อควายมากกว่าเนื้อวัวอย่างชัดเจน แม้ว่าชาวอีสานจะนิยมบริโภคเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเท่าภาคเหนือ เพราะคนอีสานจะบริโภคเนื้อควายพอกับเนื้อวัว ส่วนคนภาคกลางและภาคใต้ ก็จะเน้นเนื้อวัวมากกว่า 

"สำหรับต่างประเทศ เนื้อควายจะแพงกว่าเนื้อวัว เช่น สเต๊กเนื้อควายจะแพงกว่า 2 เท่า เพราะเนื้อละเอียด รสชาติดี นุ่มแบบมีคุณภาพ กลิ่นมีเอกลักษณ์ เป็นเนื้อแบบเฮลท์ตี้ คอเลสเตอรอลต่ำ โปรตีนสูง ธาตุเหล็กเยอะ"

อนุรักษ์และผลักดันเพื่อการค้าคู่กันไป : 

นักวิชาการสัตวบาล ให้ข้อมูลว่า ในแถบเอเชีย การเลี้ยงควายของเราถือว่าเหนือกว่าทุกประเทศ ด้วยพันธุกรรมและการจัดการ ทำให้เราไปได้ไกลในเรื่องควาย แม้ว่าประเทศอื่น เช่น ฟิลิปปินส์ จะดังเรื่องควาย แต่ไทยก็ยังเป็นผู้นำและเป็นที่ 1 ในเอเชียเรื่องควายปลัก อีกทั้งถ้าโลกจะพูดถึงควายชนิดนี้ ยังไงก็ต้องนึกถึงประเทศไทย

"เราได้นำร่องจดสายพันธุ์ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ควายไทยที่ GenBank ไปแล้ว 23 ตัว ซึ่งตอนนี้กรมปศุสัตว์ก็กำลังทำต่อเนื่อง ที่เราต้องทำแบบนี้ เพื่อเป็นการชูสายพันธุ์ที่เรามี เราต้องรีบดำเนินการ เพราะเราไม่อยากให้ควายเหมือนข้าวหอมมะลิ หรืออื่นๆ ที่ถูกคนอื่นชิงจดไปก่อน"

หมายเหตุ : GenBank คือ ฐานข้อมูลที่ทำการรวบรวมลำดับนิวคลีโอไทด์ ซึ่งจะเปิดเผยต่อสาธารณะ มีศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (NCBI) เป็นผู้ดูแล ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ ด้านฐานข้อมูลลำดับนิวคลีโอไทด์นานาชาติ (INSDC)

คุณทวีพร แสดงความคิดเห็นว่า ตอนนี้ควายไทยถือว่ามีสมรรถภาพที่ดีเหนือโซนเอเชียทั้งหมด มุมมองของเราเลยคิดว่า ควรทำควายเพื่อการอนุรักษ์ และเพื่อการค้าควบคู่กันไป ต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น ให้มีมูลค่ามากขึ้น หากสามารถตีตลาดต่างประเทศได้ ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น

"ควายไทยเป็นสัตว์ที่อยู่คู่คนไทยและชาติไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน นอกจากการอนุรักษ์ไว้แล้ว เราจะต้องช่วยกันพัฒนาพันธุกรรมและเป็นการเพิ่มมูลค่าควาย พอควายราคาสูงขึ้น คนก็จะหันมาเลี้ยงควายกันมากขึ้น จำนวนเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการตลาด ดังนั้น การเพิ่มจำนวนควายพร้อมๆ กับคุณภาพไปพร้อมกัน ตอนนี้เรามองว่าควายไทยดีขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว เพราะเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว จำนวนควายเหลือไม่ถึงล้าน แต่ตอนนี้ขึ้นมาเกินล้านแล้ว"

'คุณทวีพร เรืองพริ้ม' นักวิชาการสัตวบาล
'คุณทวีพร เรืองพริ้ม' นักวิชาการสัตวบาล

ภาพ : ทวีพร เรืองพริ้ม


อ่านบทความที่น่าสนใจ :