13 เม.ย. วันสงกรานต์ และยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ขณะที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 66,057,967 คน หรือประมาณ 13 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต พร้อมกับปัญหาสุขภาพหลายด้าน ซึ่งมากกว่าครึ่งของผู้สูงอายุที่มีฟัน มีปัญหาในช่องปากไม่ได้รับการรักษา และมีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยวอาหาร สร้างความทุกข์ให้กับผู้สูงอายุขณะที่องค์การอนามัยโลก กำหนดให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป ต้องมีฟันเหลือในช่องปากอย่างน้อย 20 ซี่ เพื่อใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร แต่จากข้อมูลของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าจำนวนฟันของคนวัยทำงานของไทย อายุ 35-44 ปี มีฟันเหลือเฉลี่ยเพียง 28 ซี่ และอายุ 56 ปี ลดลงเหลือ 18 ซี่ และเมื่ออายุ 80 ปี จะเหลือฟันไว้ใช้งานเพียง 10 ซี่เท่านั้น ส่งผลกระทบต่อการเคี้ยว การกลืนอาหาร และสำลักอาหารบ่อย เสี่ยงต่อการเสียชีวิต รวมถึงขาดความมั่นใจ ไม่กล้ายิ้ม เกิดปัญหาต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ขณะที่ปัญหาในช่องปากยังมีผลต่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นสาเหตุที่ผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป มีฟันใช้งานน้อยกว่า 20 ซี่ “ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย” ที่ปรึกษาสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ระบุว่า เกิดจากโรคฟันผุ ปริทันต์ และเหงือกอักเสบ เพราะตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าดูแลฟันได้ดี ชุมชนมีการจัดสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่กินน้ำอัดลม ไม่กินหวาน เด็กฟันผุน้อย หรือไม่มีเลย จะส่งผลเมื่อเติบโตจนถึงวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ แต่เมื่อฟันไม่เพียงพอ จะทำให้ขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน จากการบดเคี้ยวไม่เพียงพอ อาจต้องนำไปต้มหรือนึ่งให้นิ่ม ทำให้สูญเสียวิตามินและเกลือแร่ หรือถ้าเคี้ยวไม่ละเอียดจะส่งผลต่อกระเพาะอาหาร เกิดปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ และการกินไม่ละเอียด จะสำลักได้ง่าย มีเชื้อโรค เกิดการอักเสบในปอด หรือถุงลม ทำให้เสียชีวิตได้หากผู้สูงอายุไม่เหลือฟัน หรือฟันเหลือน้อยไม่เกิน 5 ซี่ อาจจะเหมาะกับอาหารที่เนื้อสัมผัสค่อนข้างอ่อน นิ่ม ง่ายต่อการบดเพื่อกลืน เช่น ข้าวต้ม ขนมใส่ไส้ ไข่ดาว และกล้วย เพราะต้องใช้ฟันร่วมกับเหงือกบดเคี้ยวอาหาร หรือกรณีเหลือฟัน 6-19 ซี่ ยังสามารถกินอาหารที่เหนียวได้ในระดับหนึ่ง เช่น ข้าวเหนียว ลูกชิ้น ปลาย่าง และมะม่วง แต่หากมีฟันมากกว่า 20 ซี่ สามารถกัดเคี้ยวได้อย่างเต็มที่ทุกเมนูอาหารได้ดั่งใจอย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นต้องดูแลสุขภาพฟันให้ดี ตั้งแต่วัยเด็กกรณีเหลือฟันน้อยกว่า 20 ซี่ และใส่ฟันเทียม ต้องทำความสะอาดฟันเทียมหลังกินอาหารทุกมื้อ และก่อนนอนให้ถอดแช่น้ำสะอาดทุกครั้ง โดยการทำความสะอาดฟันเทียม ทำได้ 3 วิธี 1. ใช้น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ทำความสะอาดฟันเทียมด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม และล้างออกด้วยน้ำสะอาด 2. ใช้ยาสีฟันชนิดครีม ทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรใช้ยาสีฟันชนิดผง จะทำให้ฟันเทียมที่เป็นพลาสติกเสื่อมเร็ว และ 3. หากฟันเทียมมีคราบสีน้ำตาล มีคราบบุหรี่ หรือคราบอาหารที่ล้างไม่ออก อาจทำให้เกิดแผลหรือมีเชื้อราในช่องปาก ให้ใช้เม็ดฟู่สำหรับแช่ทำความสะอาดฟันเทียมเป็นครั้งคราว.