คุยกับ รศ.ดร.ครศร ถึงที่มาของ 'ดุกบิ๊กอุย' ปลาลูกผสมรสชาติถูกปาก พร้อมชี้เรื่องพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ คืออีกสาเหตุที่เป็นปัญหาทำผลผลิตลด แนะคนไทยเลิกปล่อยปลาดุกบิ๊กอุยลงแหล่งน้ำ
ติดตามเรื่องราวของสถานการณ์ 'ปลาดุกไทย' อย่างต่อเนื่อง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายตรงสนทนากับ 'รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ' หน่วยวิจัยจีโนมิกส์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปของ 'ปลาดุกบิ๊กอุย' ปลาดุกยอดนิยมถูกปากคนไทย
นอกจากนั้น ยังชวนอาจารย์ร่วมวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ 'ปลาดุกบิ๊กอุย' โตช้า ผลผลิตตกต่ำ พร้อมแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและทันท่วงที ก่อนที่อะไรๆ จะสายไป…
...
ย้อนอดีต 30 ปีกว่า ที่มาของ 'ปลาดุกบิ๊กอุย' :
เมนูอาหารอันโอชะของคนไทยที่ทำจาก ปลาดุก ไม่ว่าจะเป็นยำปลาดุกฟู ผัดเผ็ดปลาดุก กะเพราปลาดุก หรืออื่นๆ รศ.ดร.ครศร บอกกับทีมข่าวฯ ว่า ประมาณ 95-98% เป็นปลาดุกลูกผสมที่เรียกว่า 'บิ๊กอุย' เกิดจากแม่ที่เป็นปลาดุกอุย และพ่อที่เป็นปลาดุกยักษ์
รศ.ดร.ครศร เล่าที่มาที่ไปของ ปลาดุกบิ๊กอุย ให้เราฟังว่า แต่เดิมแล้วปลาดุกชนิดพื้นเมือง (Native Species) ของประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 4-5 ชนิด แต่ที่รู้จักกันดี จะมีปลาดุกอุย ปลาดุกด้าน และปลาดุกลำพัน ซึ่งปลาดุกลำพันจะพบบริเวณป่าพรุ ปัจจุบันหลักๆ จะพบได้ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ส่วนอีก 2 ชนิด จะพบได้ทั่วไปในประเทศ
โดยแต่เดิมคนไทยนิยมกิน 'ปลาดุกอุย' เพราะพบได้ทั่วไป นอกจากนั้นมันยังเนื้อแน่นและนุ่ม สีของเนื้อจะออกเหลืองๆ นอกจากนั้นชาวลาวและชาวกัมพูชาก็ชื่นชอบปลาดุกอุยไม่แพ้กัน
แต่เมื่อความต้องการบริโภคมีมากขึ้น จึงเริ่มมีความพยายามเพิ่มจำนวนปลาดุกให้มีทุกท้องที่ จากที่เคยจับได้แค่ตามธรรมชาติ ก็เริ่มมีการนำมาเพาะและขยายพันธุ์ แต่ผลปรากฏว่าทำให้ปลาดุกอุยเริ่มตายง่ายขึ้น เพราะปลาเกิดอาการเครียด และต้านทานโรคได้ต่ำ
"พอเป็นแบบนั้น ทำให้ประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว น่าจะช่วง พ.ศ. 2531 มีนักวิชาการในกรมประมง คือ คุณมานพ ตั้งตรงไพโรจน์ ได้ทำการศึกษาและวิจัยร่วมกับอาจารย์จากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จับปลาดุก 2 ชนิด คือ ปลาดุกอุย เพศเมีย กับ ปลาดุกยักษ์ เพศผู้ มาผสมกัน โดยรีดน้ำเชื้อออกมา ได้ออกมาเป็นลูกผสม ที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า ปลาดุกบิ๊กอุย"
ทำไมต้องใช้ 'ปลาดุกยักษ์' ในการผสมพันธุ์? :
รศ.ดร.ครศร เล่าเกร็ดความรู้แทรกให้เราฟังว่า ปลาดุกยักษ์ มีหลายชื่อ เช่น ปลาดุกเทศ ปลาดุกแอฟริกา เพราะชื่อภาษาอังกฤษคือ North African catfish หรือมีอีกชื่อก็คือ ปลาดุกรัสเซีย เนื่องจากในอดีตรัสเซียนำปลาดุกเข้ามายังแถบเอเชีย โดยผ่านเข้ามาทางประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ผ่านเวียดนาม ลาว และเข้าสู่ไทย
แน่นอนว่าเมื่อไม่ใช่ปลาท้องถิ่น จึงทำให้ 'ปลาดุกยักษ์' ถือเป็น 'เอเลี่ยนสปีชีส์' (Alien Species) และ 'ปลาดุกบิ๊กอุย' ก็เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์เช่นเดียวกัน จึงนำไปสู่คำถามต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมจึงยังเลือกใช้ผสมพันธุ์…
...
อาจารย์จากหน่วยวิจัยจีโนมิกส์ฯ เผยคำตอบว่า ปลาดุกรัสเซียมีขนาดใหญ่กว่าปลาดุกไทยมาก อีกทั้งยังโตเร็วกว่า ต้านทานโรคได้ดีกว่า แต่เนื้อไม่แน่น มีสีขาว เนื้อสัมผัสก็ไม่เป็นที่นิยม ส่วนปลาดุกอุยนั้นโตช้า ต้านทานโรคได้ต่ำ แต่เนื้อแน่น สัมผัสรสชาติถูกปากคนไทย จึงเหมือนเป็นการนำข้อดีของปลาดุก 2 ชนิดมาผสมรวมกัน
"จากเหตุผลดังกล่าว ถ้าเลี้ยงปลาดุกอุยอย่างเดียว มันให้จำนวนน้อยและโตช้า ทำให้มีการเอาข้อดีของปลาดุก 2 ชนิด มาผสมกันให้ดียิ่งขึ้น ในสภาพที่คนไทยและตลาดผู้บริโภคยอมรับได้ ต้นทุนไม่แพงเกินไป เกิดเป็น 'ปลาดุกบิ๊กอุย' ที่แม้ว่าจะต้านทานโรคได้ไม่ดีเท่าปลาดุกยักษ์ แต่ยังต้านทานโรคได้ดีกว่าปลาดุกอุย เลี้ยงก็โตไว ร่นระยะเวลาได้ นอกจากนั้นยังตัวใหญ่ เนื้อแน่น และอร่อย ถูกใจคนไทย"
แนวโน้มผลผลิตและการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย :
สืบเนื่องจากหัวข้อที่แล้วที่ รศ.ดร.ครศร เน้นย้ำว่า "เรื่องต้นทุนไม่แพงเกินไป และคนนิยมเลี้ยง เป็นส่วนในอดีตนะครับ"
...
ทีมข่าวฯ จึงสอบถามกลับว่า "แล้วปัจจุบันแนวโน้มของการเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุยเป็นอย่างไรบ้าง?"
อาจารย์ตอบกลับทันทีว่า "แนวโน้มแย่ที่สุดเลยครับ"
รศ.ดร.ครศร กล่าวต่อว่า ผลผลิตของปลาดุกบิ๊กอุยลดลงจากประมาณ 120,000-130,000 ตันต่อปี เหลือประมาณ 80,000 ตัน ในขณะที่จำนวนพื้นที่ใช้เลี้ยงไม่แตกต่างกันมาก แต่ผลผลิตต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ข้อหลัก ได้แก่ คุณภาพของปลา และต้นทุนอาหาร
"สำหรับคุณภาพของปลา พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ใช้ผสมเชื้ออยู่ทุกวันนี้ก็ให้ลูกน้อยลง การเลี้ยงและรอบการเจริญเติบโตใช้เวลานานขึ้น แต่ก่อนเลี้ยงใช้ประมาณ 120 วัน แต่ตอนนี้ขยายเป็น 150 วัน เพราะฉะนั้นจากปีหนึ่งที่ทำได้ประมาณ 3 รอบ ก็กลายเป็น 2 รอบครึ่ง หรือ 2 รอบ มันก็เท่ากับการตัดวงจรการผลิตไปส่วนหนึ่ง และต้นทุนอาหารที่เอาไว้ใช้เลี้ยงปลาก็สูงขึ้น ทำให้ทุกอย่างตกต่ำลง"
'พันธุ์ปลาดุก' ปัจจัยที่เป็นปัญหา :
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ยกส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ระหว่างทีมข่าวฯ กับ 'คุณอัมพุชนี นวลแสง' รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมง จากสกู๊ปเรื่อง 'ปลาดุกไทย' ยิ่งเลี้ยง ยิ่งลด จับตาอนาคต 2 ปัจจัยคุกคาม ความตอนหนึ่งว่า…
...
"ผู้เพาะเลี้ยงก็พบปัญหาเพิ่มเติมขึ้นมาว่า ปลาดุกบิ๊กอุยที่เคยตัวใหญ่ ก็เริ่มตัวเล็กลง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าไม่ได้มีการคัดสายพันธุ์ตั้งแต่แรก เพราะว่าจำนวนพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มีจำกัด ทำให้นานวันเข้าคุณภาพก็เริ่มลดลง"
ทีมข่าวฯ จึงสอบถามปลายสายต่อว่า จากที่คุณอัมพุชนี ได้กล่าวมานั้น มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?
รศ.ดร.ครศร ตอบว่า เกี่ยวข้องอย่างแน่นอนเลยครับ อย่างที่บอกไปว่าคุณภาพลูกปลาดุกบิ๊กอุยทุกวันนี้ ขนาดเล็กลง และน้ำหนักน้อยลง ใช้รอบการเลี้ยงที่นานขึ้น จากการที่เราทำวิจัย ศึกษา ค้นคว้า และเก็บข้อมูล พบว่าโดยปกติมีอยู่ 4 ปัจจัย ที่นำไปสู่ความสำเร็จของการเพาะขยายพันธุ์ ได้แก่ การเพาะเลี้ยง โรค อาหาร และพันธุ์
"ซึ่งใน 3 ปัจจัยแรก คือ การเพาะเลี้ยง เราควบคุมได้ดีระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องของโรค ปลาดุกเป็นปลาที่ทนโรคได้ดีถ้าเทียบกับชนิดอื่นๆ และเรื่องอาหาร แม้ต้นทุนจะสูง แต่ถ้ามีการปรับหรือประยุกต์ มันก็ยังพอไปต่อได้ แต่สิ่งที่ตอนนี้ยังไม่สามารถทำอะไรได้เลยก็คือ 'พันธุ์' ของมัน"
ประเทศไทยยังไม่มีพันธุ์ปลาดุก :
อาจารย์จากหน่วยวิจัยจีโนมิกส์ฯ กล่าวต่อว่า ต้องบอกเลยว่า "เราไม่เคยมีพันธุ์ปลาดุกเลี้ยง" ถึงเราจะมีปลาดุกอุย หรือมีปลาดุกยักษ์ แต่นั่นคือ 'ชนิด' ภาษาอังกฤษเรียกว่า Species (สปีชีส์) แต่เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า 'พันธุ์' ทุกวันนี้เราใช้วิธีการจับจากธรรมชาติ เสร็จแล้วก็เอามาเพาะขยายระดับหนึ่ง แต่ไม่มีการพัฒนาไปถึงขั้นจนเป็นพันธุ์ พอไม่ได้ทำอย่างนั้น ก็เท่ากับเราผสม 'ชนิด' ปลาดุกไปเรื่อยๆ
"ถ้าเทียบให้เห็นตัวอย่างคือ วัว เรามีพันธุ์วัวต่างๆ เช่น โคเนื้อภูพาน ซึ่งตัวอย่างที่กล่าวมา ผ่านการผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์มาเป็นอย่างดีแล้ว ทำให้สามารถรักษาคุณภาพไว้ได้"
แม้จะเรียกว่าพันธุ์ แต่ในความเป็นจริง ไม่มีการคัดเลือกพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ เราใช้วิธีการจับจากธรรมชาติแล้วนำมาใช้ เช่น จับมาทำสต๊อกพันธุ์ ดังนั้น เมื่อเกษตรกรรายย่อยรับซื้อต่อกันมา เขาก็ไม่รู้หรอกว่าซื้ออะไรต่อกันมา เพราะว่าทุกอย่างไม่มีการวางระเบียบวางแผนทางพันธุกรรมชัดเจน มันเป็นเพียงการหยิบมาแล้วก็ใช้…
"จริงๆ แล้วก็ไม่ได้อยากให้เรียกว่าพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ อยากให้เรียกว่า 'ตัวตั้งต้น' ซึ่งตัวพวกนี้ไม่ได้มีการคัดเลือกที่ดีพอ เพราะฉะนั้นมันจะมีแต่การใช้เดิมๆ ซ้ำๆ อยู่กันตลอดเวลา และแน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น ขาดระเบียบและการวางแผนทางพันธุประวัติ พันธุกรรม มันก็เลยทำให้คุณภาพลดลงอย่างต่อเนื่อง"
ต้องตั้งต้นสร้างพันธุกรรม และประชากรตั้งต้น :
ทีมข่าวฯ สอบถามต่อไปว่า แล้วเรื่องนี้จะมี แนวทางแก้ปัญหา อย่างไรได้บ้าง?
รศ.ดร.ครศร กล่าวว่า ต้นตอหลักๆ ควรจะตั้งต้นสร้างพันธุกรรม หรือสร้างพันธุ์ปลาขึ้นมา…
"ผมได้ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง จากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ สวทช. ก็คือทุน เราก็มีการวางแผนกันว่า ในส่วนของ 'ปลาดุกอุย' เราจะไปจับจากธรรมชาติ และจะมีการบันทึกแหล่งพันธุกรรม ใช้ข้อมูลดีเอ็นเอ (DNA) เข้าไปประกอบว่ามันควรจะเป็นแบบไหน"
"เสร็จแล้วเราจะนำมาผสมให้เป็น 'ประชากรตั้งต้น' ซึ่งพอเป็นสารตั้งต้นที่ดีแล้ว หลังจากนี้ใครจะหยิบไปปรับปรุงพันธุ์แบบไหน เช่น โตเร็วสุดๆ ให้มันตัวอ้วนกว่านี้ หรือต้องการคัดเลือกให้เป็นแบบไหน ก็ใช้ประชากรตั้งต้นในการต่อยอด อย่างกรณีอย่างปลานิล กุ้งกุลาดำ หรือวัว เขาจะมีประชากรตั้งต้นกันหมด แต่ปลาดุกไม่มี"
"เพราะฉะนั้น 'จุดหลัก' ที่ควรจะต้องจัดการก็คือ การสร้างประชากรตั้งต้นขึ้นมาให้ได้ เพื่อเป็นของประเทศและประชาชน เสร็จแล้วนำประชากรส่วนนี้ ส่งต่อไปให้เกษตรกร หรือผู้ที่ต้องการจะปรับปรุงพันธุ์ต่อไป สิ่งนี้จะทำให้ทุกอย่างเสถียรได้ นี่คือการแก้ปัญหาของปลาดุกอุย"
"ผลสุดท้ายมันก็จะเป็นปลาดุกอุยเหมือนเดิม แต่ว่าอาจจะแข็งแรงขึ้น มีข้อมูลมากขึ้น เพราะมีการรวบรวมพันธุกรรม รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายให้เป็นระเบียบ" รศ.ดร.ครศร กล่าวกับ ทีมข่าวฯ
แล้วปลาดุกยักษ์ควรทำอย่างไรต่อ?
อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า ส่วนปลาดุกยักษ์ที่อดีตเรามีการนำเข้ามาและผสมไปแล้ว ถ้าจะต้องแก้ส่วนนี้อีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะแก้ได้ยาก เพราะไม่ใช่ปลาท้องถิ่นของประเทศ
"ตอนนี้มันเหมือนกับว่าเราหยิบมาแล้วใช้วนอยู่เรื่อยๆ มันเลยมีแต่การถดถอย อาจจะแก้โดยการปรับปรุงพันธุ์ระดับหนึ่ง ถึงดีขึ้นได้แต่คงไม่มาก อาจจะต้องมีการนำเข้าใหม่ เหมือนในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งเขาก็จะมีการนำเข้าจากประเทศแอฟริกามาใช้เลย"
หากจะนำเข้า 'ปลาดุกยักษ์' ต้องอยู่ในการควบคุมอย่างเคร่งครัด :
รศ.ดร.ครศร ให้ข้อมูลว่า การจะนำเข้าปลาดุกยักษ์จากแอฟริกา ต้องไปดูข้อระเบียบของกรมประมง เพราะมันไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่น ซึ่งกรมประมงมีระเบียบที่ดีอยู่แล้ว ถ้าเกิดเอามาเพื่อการค้าโดยตรงก็คงทำไม่ได้ แต่ถ้าเอามาเพื่อศึกษา วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ เขาก็มีระเบียบ มีการอนุญาต แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมที่รัดกุม
"เนื่องจากถ้าเป็นปลาดุกยักษ์หลุดสู่ธรรมชาติ จะเป็นอะไรที่อันตรายมาก เพราะปลานี้เป็นปลากินเนื้อ มันสามารถจะกินลูกปลาได้สนั่นหวั่นไหวมาก แต่ถ้ามีการนำเข้ามา และควบคุมไม่ให้ออกไปไหนทั้งสิ้น ใช้เพื่อศึกษา เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อันนี้ทำได้ แต่ย้ำว่าจะอยู่ภายใต้การควบคุมที่รัดกุม"
เราถามต่อไปว่า แล้วปลาดุกยักษ์ที่เกษตรกรบางคนมีไว้ครอบครอง แบบนี้ผิดกฎหมายหรือไม่?
อาจารย์ครศร แสดงความคิดเห็นว่า มันเลยจุดคำว่าผิดกฎหมายไปนานแล้ว เพราะมันเข้ามาได้ 30 กว่าปีแล้ว ยังดีที่มันอยู่ในพื้นที่การควบคุมของเกษตรกร แต่ถ้าเมื่อไรมันหลุด! หรือเราไปซื้อปลาดุกยักษ์จากเกษตรกรมาปล่อย แบบนี้ผิดแน่ๆ
ดุกบิ๊กอุย = Invasive alien species :
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า น้องบิ๊กอุย จะมีคุณแม่เป็นปลาสัญชาติไทย แต่อาจารย์ครศรก็บอกว่า น้องถือเป็น Invasive alien species หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ (ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน) 100% และแม้ว่าปลาดุกบิ๊กอุยจะเป็นหมัน แต่มันก็เป็นปลากินเนื้ออยู่ดี มันกินแหลก! ทำลายระบบนิเวศและปลาท้องถิ่น
"ดังนั้น ทุกคนที่ไปซื้อปลาดุกหน้าเขียง เพื่อบอกว่าจะปล่อย เพราะอยากทำบุญ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่ผิดมาก มันเป็นปลาเอเลี่ยน ในเชิงของพวกผมจะบอกว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง"
แสดงว่าปล่อยปลาดุกอุย ที่เป็นปลาท้องถิ่นได้ใช่หรือไม่?
"ถ้าเป็นตามวิชาการจริงๆ ไม่อยากให้ปล่อย ให้ดีที่สุดคือไม่ควรมีการปล่อยปลาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าต่อให้ปล่อยปลาพื้นเมือง มันก็เหมือนเราเอาแหล่งพันธุกรรมไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ผมแนะนำว่าเราแค่รักษาระบบนิเวศให้ดี สัตว์ก็จะเพิ่มจำนวนที่เหมาะสมได้เอง"
"อย่างถ้าเราปล่อยปลาดุกอุยผิดที่ มันก็เหมือนเราไปกวนกระแสธรรมชาติ แต่สุดท้ายเราก็ห้ามคนไม่ได้ หรือถ้าหมอดูทัก แล้วต้องการปล่อยจริงๆ ถ้าปล่อยปลาพื้นเมืองก็ยังพอหลับตาข้างหนึ่งได้ อย่างไรก็ตาม ต้องปล่อยให้ถูกแหล่งธรรมชาติอยู่ดี"
ถ้ายังไม่ทำอะไรเลย คาดว่าจะแย่กว่านี้ :
อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มก. แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าไม่ทำอะไรเลย ในเชิงการจัดการพันธุกรรม ผมคาดการณ์ว่าจะแย่ลงไปเรื่อยๆ จากผลผลิต 80,000 ตัน อาจจะเหลือ 70,000 ตัน อย่างที่เห็นปัญหาได้ชัด คือ อัตราการฟักตัวต่ำมาก สมมติเราใส่ผสมกัน ลูกฟักออกมาแล้วรอด 70% เหลือเพียง 30% เป็นต้น
"เราต้องจัดการพันธุกรรม สร้างพันธุกรรมให้ดี อีกทางหนึ่งสร้างการรับรู้ของคนในประเทศ ให้เห็นว่าปลาดุกไม่ใช่ปลาคนจน ส่งเสริมการแปรรูปต่างๆ ให้มากขึ้น ถ้าเปลี่ยนพวกนี้ได้ก็อาจจะเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ให้มากขึ้น"
รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ กล่าวปิดท้ายว่า ปัญหานี้ควรแก้ 'เร่งด่วน' เพราะกราฟผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ระยะ 3-4 ปีหลัง ตกต่ำกว่าแสนตัน ถ้ายังไม่แก้ในอนาคตอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย…
กราฟิก : Anon Chantanant
อ่านบทความที่น่าสนใจ :