ทำความเข้าใจ กฎหมายครอบครองปรปักษ์ มีไว้ทำไม อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิฯ ชี้ ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้ใครแต่ประการใด แต่มันคือ “กติกาสังคม” ให้เจ้าของกลับมาดูแลทรัพย์สิน เชื่อกฎหมายยังไม่ล้าสมัย... กลายเป็นเรื่องเศร้า เมื่อคดีพิพาท ในการแย่งบ้านที่ดิน โดยการ “ครอบครองปรปักษ์” มาจบลงด้วยการจากลาของ 1 ชีวิต และคดีนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด และต้องไปว่ากันต่อในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมาก ให้ความสนใจในและตั้งคำถามว่า กฎหมาย เกี่ยวกับการครอบครองปรปักษ์ นั้นมีไว้ทำไม...ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สกัดข้อกฎหมาย รวมถึงสัมภาษณ์ กูรูทางด้านกฎหมาย คือ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มาให้ความรู้ในมุมของกฎหมายมุมกฎหมาย :นายโกศลวัฒน์ อธิบายว่า การครอบครองปรปักษ์ ในหลักของกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน คือ ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย มีเจตนาเป็นเจ้าของ นี่คือ มุมที่จะมาแย่งกรรมสิทธิ์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้ โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็น “อสังหาริมทรัพย์” ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็น “สังหาริมทรัพย์” ได้ครอบครองติดต่อกัน เป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ สงบ : คือครอบครองอยู่ได้โดยไม่ได้ถูกกำจัดให้ออกไป หรือถูกฟ้องร้องมีคดีความกัน หรือโต้เถียงกรรมสิทธิ์กัน เช่น ต่างฝ่ายต่างหวงห้ามต่อกันโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของจะถือว่าเป็นการครอบครองโดยความสงบไม่ได้ เปิดเผย คือ ไม่ได้มีการปิดบังอำพราง หรือซ่อนเร้นเข้ายึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น สร้างฐานรากของโรงเรือนซึ่งเป็นส่วนที่ฝังอยู่ใต้ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น โดยมีเจตนาเพื่อซ่อนเร้นปกปิดการกระทำที่ไม่ชอบของตน ไม่อาจถือว่าครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำโดยเปิดเผย ตามมาตรา 1382 เจตนาเป็นเจ้าของ คือ การยึดถือครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นนั้น มิใช่เพียงแต่ยึดถือครอบครองเพื่อตนเองอย่างสิทธิครอบครองเท่านั้น แต่จะต้องมีการยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นด้วย เช่น ต้องมีการทำประโยชน์ใช้สอยทรัพย์สินนั้น, มีการขัดขวางห้ามบุคคลอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น และไม่เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิ หรือยอมรับอำนาจกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์นั้นด้วยมุมเจ้าของบ้าน : นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กล่าวว่า การครอบครองปรปักษ์ กรณีที่มีโฉนด “ที่ดิน” การแย่งการครอบครอง จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี แต่ในมุมคนเป็นเจ้าของที่ดิน กำหนดไว้ว่า ต้องเข้าไปดูแลที่ดินตัวเองด้วย ไม่ให้เจ้าของปล่อยปละละเลย หรือ ทิ้งบ้าน ที่ดิน หรือ อสังหาริมทรัพย์ เกิน 10 ปี กฎหมายกำหนดไว้ให้คุณกลับไปดูบ้าง เช่น เรื่องง่ายๆ คือ จ่าย “ภาษีบำรุงท้องที่” ถ้าท่านมีบ้านหรือที่ดิน ก็ต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้น แปลว่า การที่ท่านจะทิ้งบ้านหรือที่ดินเกิน 10 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ “หากท่านได้กลับไปดูแลบ้างแล้ว พบว่ามีการบุกรุก ท่านก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับคนผู้นั้นได้ โดยเจ้าหน้าที่จะมีการตามตัวเพื่อมาเจรจากัน” เมื่อถามว่า เนื่องจากประเทศไทยสมัยโบราณมีเนื้อที่มาก แต่ประชากรน้อย บางคนมีที่ดินมากมาย แต่ไม่ได้สนใจดูแล จึงถือเป็นการเปิดโอกาสในการครอบครองปรปักษ์ เพื่อให้มีที่ดินได้ทำกินกัน? นายโกศลวัฒน์ ให้มุมมองว่า สิ่งนี้ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้ใครแต่ประการใด แต่มันคือ “กติกาสังคม” มองอย่างคนเป็นเจ้าของที่ดิน หากละทิ้ง ไม่ใส่ใจมา 10 ปี ถือว่าไม่แยแสกับที่ดินตัวเองหรือไม่ จากกรณี บ้านอากู๋ ที่ลูกหลานมั่นใจว่าครอบครองปรปักษ์ ไม่ถึง 10 ปี เขาก็มีสิทธิดำเนินคดีตามกฎหมาย ถือว่า เป็นการรักษาสิทธิ “เราอย่าลืมว่า สมัยนี้คนไทยมีลูกน้อยลง บางครอบครัว มีพี่น้องเป็น 10 คน แต่เหลือหลาน 2-3 คน ฉะนั้น หลานบางคนได้รับสมบัติจากพ่อแม่แล้ว ยังได้จากลุงป้าน้าอาอีก เพราะ ลุงป้า บางคนไม่มีลูก ฉะนั้น ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ดูกฎหมายนี้เป็นตัวอย่างด้วย ถ้าได้รับบ้าน หรือ ที่ดิน ท่านก็ควรกลับไปดูแลบ้างนะ...มิเช่นนั้น อาจจะกลายเป็นคดีความที่เกิดขึ้น” หากมีการครอบครองอย่างสงบ เปิดเผย เจตนาครอบครองอย่างสุจริต เขาจะได้กรรมสิทธิ์เลย เช่น มีการต่อขอไฟฟ้า ประปา ในชื่อเขา และอยู่เกิน 10 ปี ท่านอาจจะเสียกรรมสิทธิ์ไปเลยหากเป็น ที่ดินที่ไม่ใช่โฉนด เช่น นส.3 หรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใช้ระยะเวลาแค่ 1 ปีเท่านั้น! “เป็นไปได้ หากท่านมีบ้าน หรือ ที่ดิน จำนวนมาก แนะนำให้ทำสัญญาเช่าไว้ดีกว่า” กฎหมาย ล้าสมัย? กับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลคลาดเคลื่อน!นายโกศลวัฒน์ มองว่า มุมผม ผมว่าไม่ล้าสมัย เพราะ หากเด็กยุคใหม่ ได้มรดกเป็นสมบัติมากมาย แล้วเขาไม่ดูแล หรือ ทิ้งขว้าง คนอื่นเข้ามาครอบครองปรปักษ์ 10 ปี ต่อน้ำ ต่อไฟใช้ เขาก็มีสิทธิ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ อย่าปล่อยเกิน 10 ปี เมื่อถามว่า หลายๆ เคสที่เกิดขึ้นสังคม มีทนายบางรายให้ข้อมูลไม่ครบ หรือ คลาดเคลื่อน นายโกศลวัฒน์ ชี้ว่า “ผมเป็นอธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิช่วยเหลือกฎหมายกับประชาชน บางคนเดินทางมาปรึกษา แต่ให้ข้อมูลไม่ครบ มีบางเรื่องพยายามปิดบัง บางเคสที่เกิดขึ้น พยายามโกงสมบัติลูกหลาน พอเราบอกว่า “ช่วยไม่ได้” แต่กลับไปบอกนักข่าวว่า “เราไม่ช่วย” ซึ่งสื่อมวลชนก็ไม่ทราบรายละเอียด ว่าคนที่มาถามอัยการ ถาม หรือ พูดอะไรกับเรา “หากมาพบอัยการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย เรามีความเป็นมืออาชีพ ที่เราจะรักษา “ตราชั่งให้ตั้งตรง ยุติธรรม” ไม่ใช่ว่าใครมาปรึกษาก่อนแล้วจะชนะ “สำนักงานอัยการสูงสุด เราคือ ทนายแผ่นดิน ไม่ใช่ทนายส่วนตัวหรือรับจ้างใคร เรากินเงินภาษีจากประชาชนคนทั้งประเทศ ตราชั่งให้ตั้งตรง ยุติธรรม กฎหมายเป็นอย่างไร เราว่าอย่างนั้น โดยไม่รับจ้างใคร เพราะเราไม่ใช่ทนายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ปัจจุบัน มีคดีมากมายที่เกิดขึ้น บางกรณี “ลูก” มาหลอกเอาที่ดินจากพ่อแม่ก็มี อ้างว่าจะไปทำการปรับปรุง หลอกให้โอนที่ดินให้ “ถ้าคุณพ่อคุณแม่ จะเอาที่ดินให้ลูกไปทำอะไรแล้วไม่มั่นใจ หรือ แม้แต่ประชาชนทั่วไป จะเอาที่ดินมอบให้ใคร เพื่อทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วไม่มั่นใจ สามารถไปหาอัยการคุ้มครองสิทธิใกล้บ้านได้ เขาจะแนะนำให้ทำอย่างไร ไม่ถูกหลอก ถูกโกง หากทำแบบนี้ คนไม่รู้จัก จะหลอกเราได้ยากมาก หรือ คนรู้จัก ที่เคยไว้ใจ ก็มีโอกาสหลอกเราได้มาก “เคยมีกรณี ลูกมาบอกพ่อว่าจะสร้างบ้านให้ใหม่ พูดแบบนี้พ่อดีใจไหม หากโอนโฉนดเป็นชื่อลูกแล้ว จะได้เอาเงินไปกู้แบงก์สร้างบ้านใ้ห้ แต่พอโอนให้แล้ว ก็ไม่สร้างให้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว... ดังนั้น หากมาหาเรา เราจะแนะนำว่าให้ลูกไปกู้เงินเลย แล้วพ่อก็จะไปกู้ร่วมและเอาโฉนดค้ำให้โดยที่ไม่ต้องโอน...” แต่เชื่อว่า มักจะมีคำอ้างว่า เพื่อให้งานมันสะดวกยิ่งขึ้น? เราจะบอกว่า หลังความสะดวกแล้ว พ่อลูกอาจจะเจออะไรบ้าง สิ่งที่เราแนะนำ คือ เราอยากให้ครอบครัวอบอุ่น อยู่กันได้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน