หลายพื้นที่อากาศร้อนมาก ก่อนจะมีประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 21 ก.พ. 2567 ทำให้ตอนกลางวันมีอากาศร้อนเกือบทั่วไปต่อเนื่อง อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากรังสีดวงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น และลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ซึ่งเป็นรูปแบบลักษณะอากาศของฤดูร้อน แต่ภาคเหนือและภาคอีสานจะยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า จนถึงประมาณกลางเดือน มี.ค. และคาดว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน พ.ค.

มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย บริเวณประเทศไทยตอนบนจะอยู่ที่ 36-37 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าปกติ 1-1.5 องศาเซลเซียส จาก 35.4 องศาเซลเซียส และจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา จากอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 35.8 องศาเซลเซียส ส่วนกรุงเทพฯ อุณหภูมิสูงสุด 40-41 องศาเซลเซียส โดยอากาศจะร้อนอบอ้าว และร้อนจัดในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น แม่ฮ่องสอน, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ตาก, สกลนคร และอุดรธานี อุณหภูมิสูงสุด 42-44 องศาเซลเซียส ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. ไปจนถึงต้นเดือน พ.ค.

...

ปีนี้ร้อนของจริง แบบที่ไม่เคยเจอ ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.

เป็นสัญญาณเตือนปีนี้จะร้อนแบบสุดๆ "รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า ปัจจุบันโลกร้อนที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.52 องศาเซลเซียส จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และเพียงแค่เดือน ก.พ. อากาศร้อนมาก จะเจอร้อนของจริง ร้อนสุดขั้ว ร้อนแบบที่ไม่เคยเจอในช่วงเดือน มี.ค. ถึง เม.ย.นี้ จาก 3 ปัจจัยหลัก 1. โลกร้อน 2. ปรากฏการณ์เอลนีโญ และ 3. การครบรอบจุดระเบิดบนดวงอาทิตย์

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะเห็นชัด ทั้งความร้อน ความแห้งแล้ง ไฟป่า และฝุ่นพิษ รวมถึงปริมาณน้ำต้นทุนลดน้อยลง ในขณะพืชบางชนิด เช่น ข้าวมีราคาสูง เป็นแรงจูงใจให้มีการปลูกเกินแผนของรัฐบาล ประมาณ 180% แต่น้ำมีจำกัด คาดการณ์ว่าผลผลิตจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะทุเรียน น่าจะลดลงประมาณ 30%

การจัดการน้ำต้องเผชิญความเสี่ยง และความท้าทายสูง จากนี้ต่อไปทางเลือกมีไม่มาก จะอยู่กับปัจจุบัน หรือจะอยู่กับอนาคตที่มีความไม่แน่นอน และช่วงครึ่งปีหลัง ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ลานีญา แบบอ่อนถึงปานกลาง และในปีหน้าอาจจะกลับมาเป็นเอลนีโญ ทำให้ฝนอาจจะมาปกติ ยกเว้นภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน จะต้องออกแบบฉากทัศน์ให้เดินไปอย่างระมัดระวัง ถ้าผิดพลาดความเสียหายจะตามมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 

ดวงอาทิตย์ระเบิดรุนแรง ไม่ทำให้โลกร้อนขึ้น แต่เกิดพายุสุริยะ

แล้วจุดระเบิดบนดวงอาทิตย์ มีส่วนทำให้อากาศร้อนมากขึ้นจริงหรือ? “ดร.มติพล ตั้งมติธรรม” ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) อธิบายว่า จุดบนดวงอาทิตย์เป็นจุดดับ เป็นสนามแม่เหล็กที่มีมากมีน้อย เรียกว่าวัฏจักรดวงอาทิตย์ มักมีอนุภาคและมีพายุสุริยะ ทุกๆ 11 ปี ไม่เกี่ยวข้องทำให้โลกร้อนขึ้น หรืออุณหภูมิเพิ่มขึ้น ในการปล่อยพลังงานออกมา และปีนี้ไปถึงปีหน้า เป็นช่วงที่จุดบนดวงอาทิตย์มีจำนวนมากที่สุด หรือโซลาร์แม็กซิมัม ดวงอาทิตย์จะสว่างไสว ไม่ได้ทำให้โลกร้อน และเมื่ออยู่แถบขั้วโลก จะเห็นออร่ามากขึ้น ส่วนดวงอาทิตย์ ก็จะมีจุดในช่วงใกล้จะตกดิน

“ฤดูร้อนเป็นเรื่องของลมน้ำอากาศเป็นส่วนใหญ่ ไม่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ ไม่เกี่ยวกับอัตราการระเบิดของดวงอาทิตย์ ไม่ค่อยมีผลในการปล่อยพลังงาน แต่การระเบิดรุนแรงจากดวงอาทิตย์จะส่งผลให้เกิดพายุสุริยะ รบกวนระบบการสื่อสารทำให้การสื่อสารระยะไกลเป็นอัมพาต ไม่เคยได้ยินว่าจุดระเบิดบนดวงอาทิตย์ ทำให้โลกร้อน”

...