ทำความเข้าใจกฎหมาย พินัยกรรม การตัดออกจากกองมรดก และการเรียกคืน เพราะ เนรคุณ หรือ อกตัญญู.... “ตัดออกจากกองมรดก” คำๆ นี้ ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง จากกรณี เจ้าของกิจการหมื่นล้าน ในจังหวัดนครราชสีมา ได้เสียชีวิตลง และมีการพินัยกรรม ซึ่ง ผลปรากฎว่า มรดกทั้งหมด ได้ตกเป็นของลูกชายเพียงคนเดียว จาก 4 คน ด้วยเหตุนี้ ลูกชายทั้ง 3 ที่ไม่ได้มรดก จึงมีการแถลงข่าว ตั้งข้อสังเกตถึง “พินัยกรรม” ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่... โดยฝ่ายลูกชายได้ระบุว่า “พ่อ” นั้น ถูกแพทย์วินิจฉัยด้วยโรคสมองเสื่อม ขณะเดียวกัน ในฝั่งภรรยาเจ้าสัว หรือ แม่ของทายาททั้ง 4 ยังได้แถลงข่าวถึงสาเหตุที่มีการตัดลูกชายทั้ง 3 ออกจากกองมรดก โดยระบุว่า มีแต่ลูกชายคนโตที่คอยดูแล และเจ้าสัวไม่ได้สมองเสื่อม แต่มีอาการหลงลืมตามวัย อย่างไรก็ตาม คดีนี้ คงต้องไปว่าตามขั้นตอนตามกฎหมาย และหลักฐานต่างๆ และที่สำคัญ เรื่องนี้เป็นเรื่องราวในครอบครัว แต่...ก็มีหลายครั้งหลายคน ที่เป็นเรื่องราวในครอบครัว ถูกเปิดเผยสู่สาธารณชน ซึ่งวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน จะพูดถึง “หลักการ” ในประเด็นพินัยกรรม การตัดออกจากกองมรดก นายโกศลวัฒน์ ระบุว่า ประเด็นเรื่องนี้มันเกี่ยวกับการ “พินัยกรรม” และการทำพินัยกรรรม ยกให้ใครนั้นเป็นสิทธิ แต่ประเด็นที่มีการโต้แย้งกันนั้น คือ “ระหว่างทำพินัยกรรม” นั้น มีสติสัมปชัญญะหรือไม่ หากมีการพิสูจน์ได้ว่า ระหว่างทำพินัยกรรมนั้น มีสติสัมปชัญญะบกพร่อง หรือ วิกลจริตก็ตาม “ในกรณี “พินัยกรรม” ตัดออกจากกองมรดก นั้น ในทางกฎหมาย จะเรียกว่าถูกกำจัดไม่ให้รับมรดก โดยที่เจ้ามรดกเขียนไว้จะให้ใครก็ได้”นายโกศลวัฒน์ กล่าว ทั้งนี้ทีมข่าวได้ตรวจสอบกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องกับ “มรดก” ในหมวด 2 มาตรา 1604 มีเนื้อหาระบุว่า บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มาตรา 1605 ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่า ตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้อง “ถูกกำจัด” มิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้นมาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้นมาตรา 1606 บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ(1)ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย(2)ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ(3)ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง(4)ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น(5)ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดเจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษรส่วนในหมวดที่ 3 มาตรา 1608 ระบุว่า เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง(1)โดยพินัยกรรม(2)โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกนั้นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน แต่เมื่อบุคคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกมาตรา 1609 การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้ ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทำโดยพินัยกรรม จะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น แต่ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนจะทำตามแบบใดแบบหนึ่งดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 1698 (1) หรือ (2) ก็ได้สังคมคนโสด และ มีลูกคนเดียว เริ่มทำ “พินัยกรรม” มากขึ้น นายโกศลวัฒน์ ยกตัวอย่าง เคสในต่างประเทศ และที่เคยเป็นข่าวว่า ที่ผ่านมา เคยมีข่าวว่า หลายคนได้ยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้กับการกุศล แทนที่จะให้ทายาท หรือ กรณีที่เป็นคนไทย ไปทำงานเป็นพยาบาล ได้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยจนถึงนาทีสุดท้าย โดยเขาเห็นว่า พยาบาลคนนี้เอาใจใส่เขาอย่างมาก เขาจึงยกมรดกให้ทั้งหมดแทนที่จะให้ลูกหลานก็มี“การทำพินัยกรรม ว่าจะยกทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ใคร โดยรายละเอียดของพินัยกรรม โดยมาก จะระบุถึงความ “พึงพอใจ” ที่จะให้ใคร แต่ถ้าไม่มีพินัยกรรม กฎหมายจะระบุ ยกให้ทายาทตามลำดับ” ดังนั้น การทำพินัยกรรมไว้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการมอบสมบัติให้กับทายาทตามลำดับ เพียงแต่ การทำพินัยกรรมนั้น ต้องเป็นไปตามกฎหมาย อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เผยว่า ปัจจุบัน มีชาวบ้านจำนวนมาก เริ่มที่จะคิดทำพินัยกรรมให้ ซึ่ง “อัยการ” สามารถช่วยทำให้เป็นพินัยกรรมฝ่ายเมือง โดยไปทำที่อำเภอ ต่อหน้าพยาน ซึ่ง ทางอัยการก็สามารถเข้าไปดูแลให้ได้ ซึ่งหากทำลักษณะแบบนี้จะได้ไม่มีปัญหาตามมา เช่น มีการกล่าวหาว่าเป็นพินัยกรรมปลอม หรือไม่ถูกต้อง แบบนี้มีเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้ามาขอความรู้ก่อน ตัวอย่าง ในงานกาชาดปีที่แล้ว มีป้าคนหนึ่งเข้ามาหา บอกว่า “ป้ามีสมบัติเหลือเยอะมาก อยากจะขอความรู้หน่อยว่าอยากจะแบ่งให้ใคร อย่างไรบ้าง โดยอาจจะให้ลูกหลานไม่ครบทุกคน เพราะคนเกเรก็ไม่อยากให้ ตัดออกจากองมรดก ซึ่งเราจะพูดคุยในลักษณะไกล่เกลี่ยให้ก่อนแต่...หากตั้งใจจะเขียนแบบนี้ ก็อยากจะให้ทำพินัยกรรมอย่างรอบ ถูกขั้นตอน เราจึงแนะนำให้ไปทำพินัยกรรมฝ่ายเมือง เพื่อให้อัยการดูแลเรื่องกฎหมายให้รัดกุมที่สุด เพราะไม่อยากให้เกิดเรื่องฟ้องร้องกันในภายหลัง ปัจจุบัน คนไทยอายุยืน เนื่องจากวิวัฒนการทางการแพทย์ และบางคนป่วยหนัก ถึงขั้นติดเตียง พูดไม่ได้ แต่ก็โดนจับปั๊มลายนิ่้วมือก็มี หรือ มีอาการป่วยจนความจำไม่ดี จนมีการหลอกล่อให้เซ็นต์ยกให้ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการให้คำปรึกษา กรณีถูกกีดกันให้เข้าพบผู้สูงอายุ หรือ เด็ก ซึ่งมีสมบัติมากๆ ก็มี เพื่อไม่ให้เข้าไปดูแลเด็กก็มี โดยขอให้เจ้าหน้าที่ไปช่วยดูแล ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถแจ้งให้อัยการคุ้มครองสิทธิฯ ซึ่งมีกว่า 100 สาขา ทั่วประเทศ ให้เข้าไปช่วยได้ กรณีเป็น “ผู้ป่วย” หรือ บุคคลไร้ความสามารถ ในทางกฎหมายจะยึดหลักฐานใดเป็นหลัก คำตอบของเรื่องนี้ นายโกศลวัฒน์ ระบุว่า ตามกฎหมายต้องยึดใบรับรองแพทย์เป็นหลัก โดยต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยว่า “สติสัมปชันญะ” ครบหรือไม่ ป่วยเป็นโรคถึงขั้นไหน หากบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ก็ตรวจได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญในการทำพินัยกรรม นั้น คือ “พยาน” เพราะ “พยาน” ในทางแพ่ง ก็น้องๆ คดีอาญา ดังนั้น หากมีเจ้าหน้าที่ เช่น อัยการ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสมบัติดังกล่าว ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น เพราะจะเห็นถึง “เจตนา” ในการทำพินัยกรรม ยกมรดกให้ เนรคุณ และการเรียกคืนเมื่อถามว่า หากบุพการี มีการยก “มรดก” ให้ไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจภายหลังและต้องการเรียกคืน นายโกศลวัฒน์ บอกว่า กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า หากให้มรดกไปแล้ว ก็สามารถเรียกคืนได้ เนื่องจากทายาท “เนรคุณ” ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในมาตรา 531 ระบุไว้ว่า อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาชญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา หรือ (2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้ส่วนการให้ที่ถอนคืนเหตุเนรคุณไม่ได้ ในมาตรา 535 (1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้(2) ให้สิ่งที่มีค่าภารติดพัน(3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา(4) ให้ในการสมรสอายุความการถอนคืนการให้มาตรา 533 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดีหรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะ ถอนคืนการให้ได้ไม่อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้นตัวอย่างคำพิพากษา กรณี “เนรคุณ” ทั้งนี้ มีการเผยแพร่ ตัวอย่างคำพิพากษา กรณี “เนรคุณ” ไว้ หลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559 ที่เรียกที่ดิน กว่า 36 ไร่คืน หลังจากพ่อ ยกให้ลูก และต่อมาลูกได้ด่าพ่อ โดยคำพิพากษาระบุว่า จำเลย (ลูก) ด่าโจทก์ (พ่อ) ว่าเป็น คนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2) คดีนี้มีการต่อสู้ถึง 3 ศาล โดยศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาได้มีการอุทธรณ์ ศาลได้พิพากษากลับ และจำเลยได้ยืนฎีกา และศาลฎีกา ได้ยืนตามศาลอุทธรณ์ โดยศาลฎีกา ระบุว่า ข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมาฟังได้ว่า จำเลยด่าโจทก์ว่าเป็นคนจัญไร อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (2) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน...นายโกศลวัฒน์ อธิบายว่า กฎหมายนี้ คือหากคุณไปทำผิดทางอาญากับเขา หรือ หมิ่นประมาท เขา เขาก็สามารถเรียกทรัพย์สินเหล่านั้นคืนได้ ที่สำคัญ กฎหมายเนรคุณนี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะที่พ่อแม่ให้กับลูกเท่านั้น คนทั่วๆ ไป ก็ได้ สามีให้ภรรยา หรือ คนทั่วไปก็ได้ ที่ให้โดยเสน่หา เพราะวันนี้เราอยู่ในสังคมใหม่ คือ มีลูกคนเดียว หรือ ไม่มีลูก ยุคไม่มีลูก เราเจอคนมาดูแลในนาทีสุดท้าย ก็อาจจะยกสมบัติเหล่านั้นได้หมดได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่าง ของ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พินัยกรรม และมรดก และการเรียกคืน กรณี “เนรคุณ” ทั้งนี้ หากใครเป็นคนโสด หรือ มีลูกหลานมากมาย ไม่อยากให้ครอบครัวมีปัญหา “แย่ง” กัน ในภายหลัง เป็นไปได้ก็น่าจะมีการจัดการสิ่งเหล่านี้ให้เสร็จสิ้น มิเช่นนั้น สมบัติพัสถาน ที่บรรพบุรุษหามาด้วยความยากลำบาก อาจจะกลายเป็น “ชนวน” ทำให้เกิดความร้าวฉานกันภายหลัง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน