“พังดัมมี่” ช้างขี้บ่น แสนรู้ ได้รับการไถ่ชีวิตหลังต้องร่อนเร่ ไปอยู่กับเจ้าของใหม่ ถึงมีประเด็นดราม่า แต่ “พระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง” แกนหลักในภารกิจครั้งนี้ มองว่านี้คือทางที่ดีที่สุด ในการช่วยชีวิตสัตว์ประจำชาติ และเพียง 4 ปี ได้ไถ่ชีวิตช้างไปแล้ว 16 เชือก ถึงใครมองว่านี่ไม่ใช่ภารกิจสงฆ์ แต่ฐานะมนุษย์ การช่วยเหลือช้าง เสมือนการต่อลมหายใจแห่งพุทธศาสนา

พระครูสังฆรักษ์วีรวัฒน์ วีรวฑฺฒโน (พระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง) อาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐศาสตร์การปกครอง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา (มมร) วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ถึงภารกิจการช่วยเหลือช้างว่า ครั้งแรกเริ่มระดมทุนทรัพย์เพื่อไถ่ช้างบ้าน ที่ตกทุกข์ได้ยาก ตั้งแต่ปี 2564 ช่วงโควิดระบาด เพราะช้างที่อยู่ในปาง ส่วนใหญ่เป็นของชาวบ้านที่มาทำงานในปาง เมื่อเกิดวิกฤติโควิด ช้างและควาญเริ่มอดอยาก ไม่มีนักท่องเที่ยว ภาพที่น่าเศร้าคือ ควาญพาช้างเดินกลับบ้าน ที่แม่แจ่ม และอมก๋อย เดินจากปางช้างในเมืองเชียงใหม่ มันเป็นภาพติดตา ด้วยบางช่วงเป็นพื้นถนนร้อนๆ

...

“ช่วงโควิด การนำช้างกลับบ้านเป็นความน่าสงสารของทั้งคนและช้าง โดยช้างเชือกแรกที่เริ่มไถ่ชีวิตช่วงปี 2544 ทั้งควาญและช้างเริ่มเจอปัญหาความอดอยาก ควาญบอกว่าถ้าไม่ขายช้าง ก็ไม่รู้จะมีเงินเลี้ยงช้างต่อไปหรือไม่ ด้วยมีค่าใช้จ่ายเดือนละหมื่นบาท ช้างเชือกนั้นอายุ 8 ปี เจ้าของขาย 9 แสนบาท เลยประกาศให้ญาติโยมที่ศรัทธาทราบ เพื่อระดมทุนไถ่ชีวิตช้าง ซึ่งมีผู้บริจาคทำบุญ จนสามารถไถ่ช้างเชือกแรกออกมาได้ หลังจากนั้นก็มีคนส่งข้อมูลช้างที่ได้รับความลำบาก ทั้งตาบอด และเป็นช้างเพชฌฆาต ที่ฆ่าควาญมาแล้วหลายคน จนไม่สามารถขายได้ และนำมาส่งมอบให้กับหน่วยงานรัฐที่โรงพยาบาลช้างศูนย์ จ.ลำปาง”

ช้างเชือกต่อมาเป็นช้างที่เคยใช้งานลากไม้ตามริมชายแดน ถูกผูกไว้กับหลัก 5–6 เดือน ไม่ได้ไปไหน และไม่ค่อยได้กินน้ำ เพราะหลักที่ผูกอยู่ไกลหมู่บ้าน จึงได้ลงพื้นที่ไปดู ทำการไถ่ช้างมาไว้ที่โรงพยาบาลช้าง จริงๆ แล้วคนเลี้ยงช้าง ไม่ได้อยากขายช้างบ้าน เพราะช้างเปรียบเสมือนคนนึงของครอบครัว แต่เชือกนี้เจ้าของบอก “ถ้าไม่ขาย เขาก็ต้องอดตายไปกับผม” เลยตัดสินใจรวบรวมทุนทรัพย์ไถ่ช้างเชือกที่ 2 ซึ่งปี 2564 ไถ่ชีวิตช้างตกทุกข์ได้ยากทั้งหมด 6 เชือก

แนวคิดการไถ่ชีวิตช้าง ที่ทุกเชือกมอบให้โรงพยาบาลช้างศูนย์ จ.ลำปาง หน่วยงานรัฐดูแล เพราะช้างทุกเชือกที่ไถ่ชีวิตต้องเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เป็นของใครคนนึง รวมถึงเป็นหน่วยงานที่มีแพทย์ดูแลประจำ สามารถดูแลอาหารที่สมบูรณ์ โดยตอนนี้ไถ่ชีวิตช้างทั้งหมด 16 เชือกแล้ว

ช้างตระกูลแสน ความหมายมาจากช้างอารักษ์วัดเจดีย์หลวง

ช้างบ้านทั้งหมดที่ได้รับความลำบาก เมื่อได้รับการไถ่ชีวิต มีการตั้งชื่อใหม่ “พระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง” เรียกช้างเหล่านี้ว่า “ช้างตระกูลแสน” ตามชื่อรูปปั้นช้างโบราณรอบเจดีย์ วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ซึ่งจำวัดอยู่ และเป็นแรงบันดาลใจทำให้อาตมาอยากช่วยเหลือช้างตกยาก

...

รูปปั้นช้างรอบเจดีย์หลวงมีทั้งหมด 28 เชือก แต่มีบางรูปปั้นที่มีชื่อช้างปรากฏอยู่มาตั้งแต่โบราณ เช่น ข่มพลแสน ดาบแสนด้าม หอกแสนลำ จึงนำชื่อที่มีคำว่า “แสน” มาตั้งชื่อช้างที่ได้ไถ่ชีวิตมา เพื่อเป็นมงคล สอดคล้องกับช้างรูปปั้นที่รอบองค์พระเจดีย์ เปรียบเสมือนการสืบสานพุทธศาสนาไปด้วย

“อาตมามีความผูกพันกับช้างตั้งแต่เด็ก สมัยก่อนในพื้นที่ภาคอีสาน พอมีงานวัดจะมีช้างเร่ มาก่อนการจัดงาน 1 วัน เราจะไปนั่งดูช้างที่ผูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา พอหมดงาน ควาญจะพาช้างกลับ อาตมาจำได้ว่าตอนนั้นนั่งร้องไห้อยู่หลายวัน”

ภารกิจที่ประทับใจในการช่วยช้างที่อยู่ในความทรงจำคือ การไถ่ชีวิตช้างเพชฌฆาต ที่ จ.พังงา ฆ่าคนมาแล้ว 9 คน ช้างอายุ 20 ปี ทำให้ไม่มีใครกล้าซื้อ โดยเจ้าของต้องการขาย ถึงลดราคาต่ำมาก ไม่มีใครซื้อ ด้วยไม่กล้านำไปใช้งานต่อ แต่เมื่อมีการไถ่ให้มาอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลช้าง กลับดูเชื่องและยอมขึ้นรถแบบไม่ขัดขืน

การระดมเงินเพื่อไถ่ชีวิตช้างแต่ละเชือก พระอาจารย์ต้องมีการสืบหาข้อมูลของช้างและควาญ เพื่อให้ได้ช่วยช้างที่เดือดร้อนจริง ยุคนี้การที่คนทั่วไปบริจาคให้กับโครงการอะไร ต้องมีความเชื่อมั่น โปร่งใสจริง ที่ผ่านมาเมื่อมีโครงการให้ช่วยช้าง มีเจ้าภาพใหญ่ และให้คนที่อยากมีส่วนร่วมมาบริจาคด้วย เราถือว่าช้างที่ช่วยเป็นของคนไทยทุกคน หากมีเงินเหลือจะนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลช้าง

...

กรณีล่าสุด ไปช่วยเหลือ “พังดัมมี่” ที่มีแฟนคลับอยู่บนโลกออนไลน์มาก แม้มีประเด็นดราม่าเรื่องควาญ แต่ขอยืนยันว่าไม่มีใครไปทำไม่ดีใส่ควาญอย่างที่เป็นข่าวลือ ตอนนี้ช้างได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลช้างแล้ว ไม่ต้องเร่ร่อนเหมือนแต่ก่อนอีก

ช้างมีส่วนช่วยทำให้เห็นธรรมะที่มีความอ่อนโยนและแข็งแกร่ง เวลาที่ช้างอยู่กับควาญ มีความอ่อนโยนนิ่มนวล ทำให้คนรักเมตตา ขณะเดียวกันเวลาเห็นช้างงัดกับต้นไม้ เอางวงงางัดดิน แสดงถึงความแข็งแกร่ง เหมือนกับคนเราที่เจอปัญหา ต้องเอาความแข็งแกร่งอดทน มาใช้กับตัวเอง

“ส่วนกรณีรัฐบาล จะนำแพนด้าจีนมาเลี้ยงในไทยอีกครั้ง อาตมาคิดว่า การนำสัตว์มาเป็นทูตสันถวไมตรีไม่ควรทำ ไทยมีช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติ ก่อนเราจะไปดูแลแพนด้า อยากให้ค่ากับการดูแลสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมากกว่า สิ่งที่อยากได้ตอนนี้คือ โรงพยาบาลช้าง เพราะโรงพยาบาลช้างศูนย์ลำปาง ทำหน้าที่หนักมาก รัฐบาลควรมองว่าพื้นที่ไหนมีช้างมาก ต้องไปสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม เมื่อมีสถานที่แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาบุคลากร เราควรเอาเงินหลายล้านบาทที่ต้องดูแลแพนด้า มาสร้างโรงพยาบาลช้าง ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับช้างอีกหลายเชือก ดีกว่านำเงินมาดูแลแพนด้าเพียงตัวเดียว”.

...