“เกือบ 100% ของไฟป่าในไทย เกิดขึ้นเพราะน้ำมือมนุษย์” นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พร้อมอธิบายปัญหาไฟป่า ว่า กรณี “สลักพระ” นั้น เราสังเกตพบว่า ไฟเริ่มไหม้ตั้งแต่ประมาณ 4 วันก่อน (วันที่ 3 ก.พ.) และมันเริ่มลุกลามอย่างมากในวันที่ 6 ก.พ. ที่สำคัญคือ จุด Hotspot ยิ่งปรากฎมาก ในช่วงตอนกลางคืน ซึ่งตรงนี้เอง คือ สิ่งที่ชัดเจนว่า ไม่ใช่ไฟป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และเป็นฝีมือคนแน่นอน ที่สำคัญ คือ ในช่วงกลาง เรามีการลาดตระเวน โดยเฮลิคอปเตอร์ โดรน ยานพาหนะ (จยย.) รวมถึงการเดินเท้า ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ กลับกัน เวลากลางคืนกลับเกิดจุด Hotspotจากข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ประจำวันที่ 7 ก.พ. พบว่าในพื้นที่ประเทศไทย พบจุดความร้อน 226 จุด แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 79 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 72 จุด พื้นที่เกษตร 30 จุด เขต สปก. 23 จุด ชุมชนอื่นๆ 21 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 1 จุด หากสังเกตในพื้นที่ ก็จะพบว่า จุดความร้อน มีมากมาย โดยเฉพาะ จ.กาญจนบุรี จากสถิติข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี โดยกรมป่าไม้ ระบุว่า ป่าไม้ในประเทศไทยที่ได้รับความเสียหายและเสียสมดุลทางระบบนิเวศเกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในสาเหตุ คือ “ไฟป่า” ทั้งการเกิดจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ด้วย ในปี พ.ศ. 2565 พบว่า มีการดับไฟป่า 2,371 ครั้ง พื้นที่ถูกไฟไหม้ 38,245.6 ไร่ ลดลงจากปี พ.ศ. 2564 ที่มีการดับไฟป่า 4,311 ครั้ง และมีพื้นที่ถูกไฟไหม้ 100,704.3 ไร่สาเหตุหลักของการเกิดไฟป่ามาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การหาของป่าและการเผาไร่ เมื่อพิจารณาพื้นที่ที่มีการดับไฟป่าในแต่ละภูมิภาค พบว่า พื้นที่ภาคเหนือถูกไฟไหม้มากที่สุด รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก และภาคใต้ ตามลำดับเผาป่าล่าสัตว์ สาเหตุหลัก “ไฟป่า” ระดม จนท.เกือบ 300 ดับไฟสลักพระ นายนฤพนธ์ บอกกับเรา สาเหตุหลักของไฟป่า เกิดมาจาก “พรานป่า” เข้าไปล่าสัตว์ กรณี “สลักพระ” นั้น เชื่อว่า “เป้าหมาย” คือ สัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแต โดยใช้วิธีการทำ “กับดัก”ขณะที่ “สัตว์ใหญ่” นั้นล่าได้ยาก เพราะว่าหากมีเสียงปืน เจ้าหน้าที่ก็จะรู้ได้ และสัตว์ก็จะหนี ถามว่ามีไหม ก็มี แต่เกิดขึ้นน้อยกว่า นายนฤพนธ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีการระดม “ชุดเสือไฟ” จาก 3 ศูนย์ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และ อุทัยธานี เข้ามาช่วยทำแนวกันไฟและดับไฟ ซึ่งเดิม มีกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อยู่ราว 200 นาย และมีการระดมเพิ่มเข้ามาอีก 60 นาย สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ (7 ก.พ.) คือ มี “ไฟ” เกิดขึ้่นเพิ่มอีกหลายจุด เมื่อพิจารณาดูแล้ว มันมาจากการแอบล่าสัตว์ อย่างไรก็ตาม จากการระดมเจ้าหน้าที่ชุดเสือไฟลงพื้นที่ เชื่อว่า อีกประมาณ 2-3 วันก็น่าจะคบคุมสถานการณ์ได้... นอกจากนี้ ยังมีการจ้างและระดมชาวบ้านมาช่วยเฝ้าระวังด้วย มีรายงานว่า ปี 2023 เป็นปีที่เกิดไฟป่า รุนแรงเพราะ...ในปี 2023 มีการเกิดไฟป่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี สาเหตุเพราะความแห้งแล้งค่อนข้างสูง ส่งผลให้มีใบไม้ร่วงหล่นเยอะ กลายเป็น “เชื้อเพลิง” อย่างดีให้กับเกิดไฟป่า ในขณะที่พื้นหญ้าก็มีสภาพแห้ง ทำให้ติดไฟได้ง่าย ดังนั้น ชาวบ้านที่เขาไปหาของป่า เขาก็คิดว่า จุดไฟแล้ว จะเกิดเพลิงไหม้ ไม่เยอะ แต่ด้วยที่มีเชื้อเพลิงอย่างดีมีมาก จึงทำให้เกิดไฟป่ามาก กลายเป็นว่าหนักที่สุดในรอบ 5 ปี“โดยเฉพาะปีที่แล้ว ภาพรวมที่ “สลักพระ”เสียหายจากไฟป่าราว 2.3 แสนไร่ แต่ภาพรวมทั้งประเทศ เสียหายมากกว่า 12 ล้านไร่” นายนฤพนธ์ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจ สำหรับ พื่้นที่ที่ถูกเผามากที่สุด นายนฤพนธ์ เผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจ ว่า อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ รอยต่อจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง, อมก๋อย, ศรีน่าน, แม่ยม จ.แพร่ เมื่อถามว่า จากปัญหาไฟป่า กี่เปอร์เซ็นต์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นิ่งไปครู่หนึ่ง แล้วตอบว่า “มนุษย์เกือบ 100%” แผนการรับมือ ในปีนี้ สิ่งที่เราวางแผนไว้ คือ การเฝ้าระวัง ไม่ให้เกิดไฟป่า โดยฝีมือมนุษย์ เรามีการตั้งจุดสกัด จุดเฝ้าระวัง โดยมีชาวบ้านร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ช่วยกันดำเนินการ โดยมีเครือข่ายอาสาสมัคร หลายเครือข่ายมาช่วย. เรียกว่า อส.อส. (อาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ) เวลาเกิดเหตุ หัวหน้าอุทยานฯ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และ หัวหน้าสถานีไฟป่า จะต้องร่วมกันเป็น “ซิงเกิลคอมมานต์” โดยมีหัวหน้าสั่งการ 1 คน คือ หน้าอุทยานฯ หรือ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นผู้สั่งการให้เข้าไปดับไฟ หากเหตุการณ์บานปลาย คุมไฟไม่อยู่ภายใน 2 วัน หัวหน้าระดับ “สำนัก” จะต้องลงพื้นที่ดูแลด้วยตัวเอง ถ้าหากยังไม่คุมไม่ได้ ก็จะรายงานไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ระดม กรม ความร่วมมือ : ฝ่ายปกครองเข้ามร่วมพูดคุยกับชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะหากให้ความร่วมมือ ก็จะส่งดีในภาพรวม “ยอมรับว่า บางจุด ที่เจ้าหน้าที่จะ “ชิงเผา” ก่อน เพื่อทำแนวกันไฟ ป้องกันไม่ให้ลุกลาม ดีกว่าเกิดไฟป่าแล้วควบคุมไม่ได้ การชิงเผา ดังกล่าว คือ ต้องรายงานสภาพทุกอย่างก่อน ว่าสภาพอากาศเป็นอย่างไร จะเผาในพิกัดไหน เนื้อที่ครอบคลุมเท่าไหร่ ปีนี้ค่าฝุ่นควัน มลพิษ รุนแรงมาก หากยังมีการเผา และ ลุกลามเข้าไปในป่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นส่งผลเสียกับทุกฝ่าย...ชาวบ้าน : ได้รับผลกระทบจากควันพิษ ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพ หลายพื้นที่ต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน เพราะ “ค่ามลพิษ” ในอากาศเพิ่มขึ้น สัตว์ป่า : หนีเตลิด เสียชีวิตในป่า ธรรมชาติ : ระบบนิเวศน์เสียหาย เกิดความแห้งแล้ง สูญเสียพื้นที่ซับน้ำ ต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นฟู “อยากจะขอความร่วมมือกับทุกคนว่า “ขอเถอะ” อย่าเผาป่า...” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน