ทันทีที่ นายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" ประกาศแผนเตรียมนำแพนด้า สัตว์ทูตสันถวไมตรีจากจีน มาเลี้ยงในสวนสัตว์เชียงใหม่อีกครั้ง หลังที่ "หลินฮุ่ย" และ "ช่วงช่วง" เคยสร้างปรากฏการณ์มาแล้ว แม้ไทยจะมีผู้เชี่ยวชาญและระบบการดูแลเดิม แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับจีน ปีละหลายล้านบาท ถือเป็นเงินที่องค์การสวนสัตว์ ยากจะแบกรับไหว

เมื่อ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือกับ นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกลางด้านกิจการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า รัฐบาลไทยได้ขอให้จีนส่งแพนด้ามาไทยอีกรอบ ซึ่งทางจีนได้ตอบรับแล้ว และเตรียมให้มาอยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่

แหล่งข่าวระดับสูงให้ข้อมูลกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการนำแพนด้าจากจีนกลับมาอีกครั้ง คือรายจ่ายที่เป็นค่าเช่าแพนด้าที่ต้องจ่ายให้จีน มีราคาสูงถึงประมาณ 35 ล้านบาท ซึ่งองค์การสวนสัตว์ฯ น่าจะไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจ่าย ดังนั้นถ้ารัฐบาลอยากจะนำแพนด้ามา ควรมีงบประมาณในส่วนนี้ด้วย เพราะถ้ามองถึงความร่วมมือกับจีน การจะขอลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เนื่องจากรัฐบาลจีนมีกฎที่บังคับตายตัว

...

ประกอบกับกระแสของแพนด้าของคนไทยไม่ได้ตื่นตัวเหมือนแต่ก่อน ดังนั้น ถ้ามีรายได้จากการเก็บค่าเข้าชมที่ลดลง ยอมเสี่ยงกับสภาวะขาดทุนได้ หากรัฐบาลไม่มีเงินมาจ่ายค่าเช่าแพนด้าให้กับรัฐบาลจีน

ส่วนพื้นที่และอุปกรณ์ต่างๆ ยังสามารถรองรับแพนด้าในการเลี้ยงดูได้เหมือนเดิม โดยแพนด้าที่นำมาเลี้ยง จะต้องนำมาเป็นคู่ เพราะทางการจีน มีความต้องการจะให้แพนด้าไปขยายพันธุ์นอกประเทศ ซึ่งกรณีของหลินฮุ่ย และหลินปิง ทางการจีนมีการคัดเลือกแพนด้าคู่ที่เหมาะสมมาให้ โดยไทยประสบความสำเร็จในการผสมเทียมแพนด้ามาแล้ว

แพนด้าส่วนใหญ่ที่ส่งมา มีอายุไม่เกิน 10 ปี แต่ถ้าเป็นแพนด้าวัยรุ่น อายุ 3 ปี ถือเป็นช่วงที่สมบูรณ์ที่สุด สำหรับแพนด้าที่เคยส่งมาให้ไทย ซึ่งอยู่มาตั้งหลาย 10 ปี ก็ถือว่าคุ้มค่าในแง่ของตัวเงินที่ได้จากค่าผ่านประตู และประชาชนที่ตื่นตัวเรื่องสัตว์ป่ามากขึ้น

ส่วนอาหารของแพนด้า ไม่น่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมามีการนำไผ่ มาจากแหล่งปลูกที่ผลิตเอง ทำให้ไม่มีต้นทุนที่สูง ส่วนระบบปรับอากาศในสวนสัตว์เชียงใหม่ ถือว่าพร้อมรับแพนด้าเหมือนเดิม เพียงแต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ เมื่อนำมาแล้วคนไทยจะมีกระแสความนิยมหรือไม่ เพราะมีการเปรียบเทียบ ในการนำช้างไทยที่ตกระกำลำบากในต่างประเทศกลับมา.