ก็เป็นอย่างนี้มาตลอด ตามสุภาษิตไทย “วัวหายล้อมคอก” โดยต้องรอให้เกิดปัญหารุนแรง ถึงค่อยคิดแก้ปัญหา จากกรณีที่เกิดขึ้นกับ ครูเวรหญิงรายหนึ่ง ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงราย โดนคนร้ายที่รับจ้างมาตัดไม้ในโรงเรียนเข้ามาทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง และต่อมา ตำรวจได้ตั้งข้อหา ทำร้ายร่างกาย พยายามจะล่วงละเมิดทางเพศ และเสพยาเสพติด ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และกดดันให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา...และทันทีทันใด นายกฯ นิด หรือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จึงขอให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2542 ดังกล่าว ที่ให้ครูไปเฝ้าเวรยาม ซึ่งทาง ครม.ก็มีมติยกเลิกในวันนี้...มองย้อนมติ ครม. บีบครูเข้าเวร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ค้นข้อมูล มติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2542 เพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดต้องให้ครูมาเข้าเวร...จากบันทึก สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0206/ว 107 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2542 ระบุ เรื่องการปรับปรุง แก้ไข หรือ ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการจัดเวรรักษาการณ์ประจําสถานที่ราชการ โดยอ้างถึง หนังสือสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ 58 ลงวันที่ 19 เมษายน 2536 โดยใจความสำคัญ คือ สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นว่า หลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2536 บางส่วนยังไม่ชัดเจนและมีปัญหาในทางปฏิบัติ จึงเสนอขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ยกเลิกมติดังกล่าว และเห็นชอบหลักเกณฑ์ (ใหม่) การอยู่เวรรักษาการณ์ ตามที่สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ ถือปฏิบัติต่อไป โดยสิ่งที่แนบมากับหนังสือดังกล่าว คือ หลักเกณฑ์การอยู่เวรรักษาการณ์1. คำนิยาม การอยู่เวรรักษาการณ์ “เวรรักษาการณ์” หมายถึง เวรเฝ้าดูแลเหตุการณ์ประจําสถานที่นั้นๆ โดยมีอํานาจหน้าที่ตามที่ผู้บังคับบัญชากําหนด “ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร” หมายถึง ผู้อยู่เวรรักษาการณ์นอกเวลาทําการ “หัวหน้าเวร” หมายถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรที่เป็นผู้ควบคุมพิจารณาตัดสินใจกรณีต่างๆ ในการปฏิบัติหน้าที่เวร “ผู้ตรวจเวร” หมายถึง ผู้ตรวจตราดูแลการปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ของผู้ปฏิบัติ 2. ให้กระทรวง ทบวง กรม สํานักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ จัดให้มีเวรรักษาการณ์ ประจําสถานที่ราชการหรือหน่วยงานนอกเวลาราชการ และในวันหยุดราชการตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อดูแลป้องกันความเสียหายอันจะบังเกิดแก่สถานที่ราชการหรือหน่วยงานจากกรณีต่างๆ 3. การจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรในแต่ละผลัดให้มีหัวหน้าเวร 1 คน และผู้อยู่ร่วมปฏิบัติหน้าที่เวร อีก 1 คน หากส่วนราชการหรือหน่วยงานแห่งใดมีจํานวนผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรน้อย ไม่สะดวกแก่การปฏิบัติ ให้ลดจํานวนผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรได้ตามความจําเป็น โดยให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาของส่วนราชการหรือหน่วยงานนั้น 4. ในแต่ละผลัดของการจัดเวรรักษาการณ์ให้มีผู้ตรวจเวร 1 คน โดยให้ผู้ตรวจเวรต้องเป็นผู้ดํารงตําแหน่งในระดับที่สูงกว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร 5. การกําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งระดับใดเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์ หรือผู้ตรวจเวร ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นจะกําหนดตามความเหมาะสม 6. ให้จัดทําหลักฐานการจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวร โดยกําหนดวัน เวลา และตัวบุคคล ไว้ให้แน่นอน 7. การจัดผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวรของสตรีให้จัดให้ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในเวลากลางวัน ของวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ เว้นแต่ผู้มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องปฏิบัติในเวลากลางคืน โดยจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรและผู้ตรวจเวรสตรีในกรณีนี้ด้วย 8. ถ้าปรากฏว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่เวร หรือผู้ตรวจเวร จงใจละทิ้งหน้าที่ ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดหรือความร้ายแรงแก่กรณี 9. ในกรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานใดมีหน่วยรักษาความปลอดภัยประจําสถานที่ราชการ หรือมีการจ้างเอกชนให้บริการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย หรือหน่วยงานนั้นรับผิดชอบในเรื่องนี้โดยเฉพาะอยู่แล้ว จะไม่จัดให้มีเวรรักษาการณ์และผู้ตรวจเวรก็ได้ 10. กรณีที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานใดมีความจําเป็นไม่อาจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจในการที่จะสั่งการการอยู่เวรรักษาการณ์ตามความเหมาะสมได้ โดยไม่ให้เกิดผลเสียหายกับงานและทรัพย์สินของราชการหรือหน่วยงาน หากสังเกตคำสั่งโดยละเอียด จะเห็นว่ามติ ครม.ดังกล่าว “ไม่มีข้อความใด” ที่ระบุว่าต้องให้ “ครู” อยู่เวรรักษาการณ์ แต่...ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ การจัดเวรรักษาการณ์ เป็นดุลยพินิจ “ของผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น” โดยให้ทำหลักฐานการปฏิบัติเวร ระบุ “บุคคล” ให้แน่นอน ถ้า “จงใจละทิ้งหน้าที่” ผู้บังคับบัญชาสามารถลงโทษได้ตามความเหมาะสม...ไม่ห้ามจ้างเอกชนในการดูแลรักษาความปลอดภัย ด้วยมติ ครม.ดังกล่าว และระเบียบที่เขียนไว้แบบนี้ โรงเรียนที่งบไม่เพียงพอ จึงทำให้ “ภาระ” ทั้งหมดตกไปที่ “ครู” ที่มา ครู(มี)เวร ต้องเฝ้าโรงเรียน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายพูดคุยกับ ครูวีรบูล เสมาทอง ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) และเป็นประธานสหพันธ์ครูภาคเหนือ สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับครูเวร ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาเลย จะเป็นเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะมีอัตราเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการขาดนักการภารโรง ที่ผ่านมา นักการภารโรง ถูกลดอัตรากำลังลง ทำให้ “ภารโรง” ที่เคยทำงานอยู่ เมื่อเกษียณอายุไป อัตรานี้ก็จะถูก “ตัด” ออก ทำให้หลายปีที่ผ่านมาถูกสะสมปัญหา ไม่มีนักการภารโรง หรือบางโรงเรียนไม่เคยมีนักการภารโรง ก็ไม่ได้รับอัตรากำลังมา เป็นที่มาว่าทำไม “ครู” ต้องมาทำหน้าที่เป็น “ครูเวร” มาทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้กับโรงเรียน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งบางครั้งเป็นการ “ขอความร่วมมือ” กับชุมชนท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน หรือใช้วิธีการ “จ้าง” บุคคลภายนอก แต่ที่ผ่านมามักมีการอ้างมติ ครม. เมื่อปี 2542 มาบังคับใช้ให้ครูมาอยู่เวร เช่น บอกว่าเป็นข้าราชการต้องอยู่เวรยาม ครูเองก็ให้ความร่วมมือ ด้วยความที่รักโรงเรียน ครูผู้ชายอยู่เวรกลางคืน ครูผู้หญิงอยู่เวรกลางวัน ซึ่งก็เคยเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ยกเลิก มติ ครม.เดิม แล้วไงต่อ...?ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย มองว่า หากไม่มีครูอยู่เวรแล้ว ภาครัฐก็ควรจัดงบประมาณที่จะมาซัพพอร์ตในการใช้เทคโนโลยี เช่น กล้องวงจรปิด ที่ครูหรือผู้บริหารดูได้ “งบประมาณส่วนนี้ไม่เคยมีมาก่อน ยกเว้นแต่โรงเรียนจะหามาเอง หรือขอสนับสนุนจากกลุ่มผู้ปกครอง หรือหาโดยวิธีการอื่น เช่น ทอดผ้าป่า”ส่วนการเพิ่ม “อัตรานักการภารโรง” ที่รัฐบาลจะผลักดันนั้น “ผมขอให้ได้มาจริงๆ เถอะ ถ้าได้มา เรียกว่าเป็นสวรรค์ของครูในโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ผ่านมา ส.ค.ท. เรียกร้องมาตลอด หากโรงเรียนได้นักการภารโรงมาจริงๆ จะได้ความปลอดภัยของอาคารสถานที่ ครู และนักเรียนด้วย” “ภารโรง คือ สัญลักษณ์ของโรงเรียน บางโรงเรียนที่ได้ครูที่มีวุฒิการศึกษาพอสมควร เช่น อนุปริญญา หรือ ปริญญาตรี และบางโรงเรียนเล็กๆ ยังทำหน้าที่แทนครูได้ด้วย” หลังจากนี้ ส.ค.ท. จะลงพื้นที่เชียงรายไปพบผู้เสียหาย เพื่อรับฟังปัญหา ก่อนสรุปประเด็นต่างๆ ที่อยากจะให้ช่วยเหลือและแก้ไข ไปยังกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ผู้บริหารโรงเรียน” แต่ละแห่งนั้น มีความรับผิดชอบโดยตรง ฉะนั้น การจะมีมาตรการใดก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการทุกระดับลงมา อย่าปล่อยให้เป็น “ภาระ” ของโรงเรียนอย่างเดียว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน