ทำคนไทยตื่นเต้นดีใจเป็นกันใหญ่ เมื่อรัฐบาลออกมาประกาศพบแหล่งแร่ลิเทียมในแหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา และแหล่งแร่โซเดียมอีกเป็นจำนวนมาก ในภาคอีสาน ถือเป็นแร่หลัก หรือวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% จะทำให้ไทยเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลาง และฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาคแห่งนี้ ภายหลัง “รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา

พร้อมกับอ้างข้อมูล กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบ แหล่งแร่ลิเทียมกว่า 14,800,000 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา โดยมีการคาดการณ์ว่าความต้องการลิเทียมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าภายในปี 2568 และจะต้องการมากกว่า 2 ล้านตัน ภายในปี 2573

เหมือนจะเป็นข่าวดีให้กับคนไทย และในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย แต่อาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง นักคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์คำนวณ และยูทูบเบอร์ ผู้ก่อตั้ง Loy Academy ได้ออกมาโพสต์ว่า “หยุดแหกตา โกหกประชาชน!! เรื่องแหล่งแร่ #ลิเธียม ที่พังงา แร่ Lepidolite ที่ตะกั่วทุ่งมี % Lithium Oxide ราว 0.35-0.45%”

...

1. สินแร่(หิน) Lepidolite 25 ล้านตัน ไม่ใช่ลิเธียมออกไซด์ 25 ล้านตัน ตามที่ตีข่าวใหญ่โต มีลิเธียมออกไซด์ ไม่เกิน 0.45% ของหินชนิดนี้ที่แหล่งนี้ 2. แหล่งเล็กมาก ต่อให้เอา 2 แหล่ง และต่อให้มีหินแร่รวมกัน 25 ล้านตัน ก็คาดว่าขุดหินแร่มาใช้ได้อย่างเก่งแค่ 10 ล้านตัน ถ้าแยกแร่ได้ดีเยี่ยม ก็เหลือลิเธียมออกไซด์ไม่เกิน 3 หมื่นตัน

3. ที่สำคัญสุดคือเกรดห่วย ต่อให้นำสินแร่ขึ้นมาได้ ยกสินแร่ให้ฟรี ๆ ก็ไม่เอา เพราะเกรดต่ำมาก 0.45% ปกติเกรดที่คุ้มค่าการลงทุนแต่งแร่ คือ 0.9% ค่าสกัดให้เป็นลิเธียมออกไซด์ ต่อตันอาจแพงกว่าราคานำเข้าเสียอีก ประมาณว่า แหล่งนี้ต้องใช้หินแร่(สินแร่) ถึง 300 ตัน จึงจะสกัดลิเธียมออกไซด์ได้ 1 ตัน

“เศร้าใจไม่รู้ใครหลอกคนไทย จนเป็นข่าวใหญ่โตปัญญาอ่อน อีก 3 ปีคนไทยก็ลืม ข่าวขุมทรัพย์โคตรแร่โลกตะลึงนี้ เหมือนขุมทองทหารญี่ปุ่นที่เมืองกาญจน์ หรือเป็นข่าวปั่นหลอกนักลงทุน”

แหล่งแร่ลิเทียมในไทย มีมานานแล้ว หลายพื้นที่

เช่นเดียวกับ “ดร.ประหยัด นันทศีล” นักธรณีวิทยาและอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็รู้สึกงงๆ เช่นกันกับข่าวที่ออกมา โดยบอกกับทีมเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่า การพบแร่ลิเทียมในแร่เลพิโดไลต์ที่มีในสายแร่เพกมาไทต์นั้น ในมุมของนักธรณีวิทยาแล้วรู้กันมานานแล้วว่ามีในไทย ตั้งแต่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลงมาอุทัยธานี และกาญจนบุรี ไล่ลงไปทางใต้ จนถึงประเทศอินโดนิเซีย ว่ามีโอกาสที่จะพบแร่ตัวนี้ เพราะปกติมีโอกาสเกิดร่วมกับแร่ดีบุก

ส่วนแหล่งแร่ที่มีธาตุโซเดียมนั้นก็พบว่ามีอยู่ใต้แผ่นดินอีสานมานานแล้ว แต่ไม่มีใครพัฒนามาทำแบตเตอรี่แทนลิเทียมเท่านั้น ดังนั้นการพบว่าธาตุโซเดียมอาจจะทำหน้าที่ได้เหมือนธาตุลิเทียมได้นั้นนับว่าเป็นข่าวดี แต่การนำมาใช้งานจริงๆ นั้นต้องทำการศึกษาอีกระยะหนึ่ง

แม้การค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมในไทยเป็นทางเลือกหนึ่งก็จริง แต่ต้องทำงานกันอย่างหนักในเชิงวิศวกรรมทางเคมี เพราะแร่เลปิโดไลต์ (Lepidolite) อยู่ในกลุ่มไมก้า มีสูตรเคมีซับซ้อน ทำให้การสกัด Li ออกมาย่อมยากกว่าเป็นธรรมดา

“เป็นสิ่งที่ดีในการค้นพบแหล่งใหม่ เพียงแต่ว่าเทคโนโลยีการสกัดเอาธาตุลิเทียมออกมาจากแร่เลพิโดไลต์นั้นยังไม่คุ้มทุน ซึ่งนักวิศวกรรมเคมีกำลังพยายามพัฒนาวิธีสกัดที่คุ้มทุน และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด”

ธาตุลิเทียมในแร่สปอดูมีน สกัดได้ง่าย ไม่เคยพบในไทย

แต่หากว่าเป็นธาตุลิเทียมในแร่สปอดูมีน (Spodumene) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของแร่ในกลุ่มไพรอกซีน ก็มีองค์ประกอบของธาตุลิเทียมอยู่ และมีสูตรเคมีที่ซับซ้อนน้อยกว่า และสกัดได้ง่ายกว่า แต่ในประเทศไทยยังไม่พบแร่ตัวนี้ เรามีแต่แร่ Lepidolite ที่มักจะเกิดร่วมกับแหล่งแร่ดีบุก แต่จะมีปริมาณแร่เลพิโดไลต์มากน้อยแค่ไหนก็แล้วแต่สภาพธรณีวิทยาของแต่ละแหล่ง

...

กรณีแหล่งแร่ของธาตุโซเดียมที่พบในภาคอีสานของไทย ก็คือชั้นหินเกลือ หรือ evaporite จากหมวดหินมหาสารคาม เพราะเคยมีทะเลมาก่อน ทำให้ได้ชั้นหินเกลือที่หนามากๆ ที่ชาวบ้านนำมาทำเกลือสินเธาว์ นับว่าเป็นความรู้ใหม่ที่โซเดียมสามารถมาทำเป็นหน้าที่เหมือนลิเทียมได้เช่นกัน แต่ยังคงเป็นขั้นของการทดลองในห้องปฏิบัติการ การนำมาใช้งานจริงนั้นยังคงต้องศึกษากันอีกสักพัก ซึ่งในชั้นหินเกลือ มีเกลือแกงที่เป็นสารประกอบเคมีโซเดียมคลอไรด์ หรือเรียกว่าแร่เฮไลต์ (Halite) อยู่เป็นจำนวนมากที่สุด

แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราให้ความสนใจเฉพาะเกลือที่มีโพแทสเซียมที่จะนำมาทำปุ๋ย เราเลยรู้จักหน่วยหินนี้ในนามของแหล่งแร่โพแทช แต่ถ้าเทียบปริมาณแล้วปริมาณแร่ที่มีธาตุโพแทสเซียมนั้นก็น้อยกว่าเกลือแกงที่มีธาตุโซเดียมอยู่น้อยกว่ามาก

“อันนี้เป็นข่าวดีที่พบว่าสามารถนำโซเดียมมาแทนลิเทียมได้ แต่ก็ต้องศึกษาอีกไม่น้อย หากจะนำมาใช้งายจริง ส่วนประเด็นของลิเทียมในแร่เลพิโดไลต์ทางภาคใต้นั้นต้องพิจารณาว่าภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน และเงื่อนไข ระเบียบการ หรือกฎหมายเหมืองแร่ของไทยในปัจจุบันนั้นมีความคุ้มทุนหรือไม่ คงต้องถามคนในวงการเหมือง และนักลงทุนดู”.