เปิดกลไกกฎหมายลงโทษเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ก่ออาชญากรรมรุนแรง นักอาชญาวิทยาเด็กชี้ "ทำผิดต้องโดนลงโทษ" หรือ ต้องให้ผู้ปกครองร่วมรับโทษ...
เรียกว่าเป็นคดีสะเทือนขวัญต่อเนื่อง จากเหตุกราดยิง โดยเด็ก 14 มาถึงคดี กลุ่มเยาวชน 5 คน (หนึ่งในนั้นเป็นลูกตำรวจ สภ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว) รุมทำร้าย ป้ากบ หรือ นางบัวผัน ตันสุ อายุ 47 ปี หญิงสติไม่สมประกอบ ก่อนจะพบร่างเสียชีวิตที่สระน้ำข้างโรงเรียน
และที่ตื่นตะลึงไปกว่านั้น คือ การปรากฏตัวของ “ลุงเปี๊ยก” นายปัญญา คงแสนคำ อายุ 56 ปี สามีป้ากบ ที่ทีแรกมารับสมอ้างว่าเป็น คนก่อเหตุ กระทั่ง สื่อจากช่อง 8 ได้ไล่ตามกล้องวงจรปิด ก่อนจะพลิกคดีว่า ลุงเปี๊ยก อาจไม่ใช่ฆาตกรตัวจริง และพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเยาวชน กลุ่มลูกตำรวจต่างหาก
นี่แหละ คือ สิ่งสังคมตั้งคำถาม มีขบวนการ ปั้นแพะรับบาป หรือไม่ เพราะในเมื่อลุงเปี๊ยกไม่ได้ทำ ไฉน ถึงรู้ว่า อาวุธที่ใช้ลงมือทำร้าย คือ เก้าอี้ แถมหลักฐานจึงถูกงมพบในภายหลังด้วย จะมีคนเขียนบทให้ลุงเปี๊ยกพูด?
เรื่องของผู้ใหญ่ ปัญหาคาใจในวงการสีกากี คงต้องให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไป...
กลับมาเรื่องเด็ก... ความเหี้ยมของเด็กยุคนี้ เด็กกลุ่มนี้ จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ต้องแก้กฎหมายเพื่อเอาผิดเลยหรือไม่
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ "รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร" อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม ม.มหิดล นักอาชญาวิทยาเด็กและเยาวชน
...
แก้กฎหมาย เพื่อลงโทษเด็ก เป็นสิ่งไม่จำเป็น แต่ควรใช้กฎหมายที่มีลงโทษผู้ปกครอง!
รศ.ดร.สุณีย์ เผยว่า นักอาชญาวิทยาทั่วโลก จะไม่แนะนำให้แก้กฎหมายเพื่อมาลงโทษเด็ก เพราะมันมีงานวิจัยในหลายๆ ประเทศทั่วโลก พบว่า หากแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มโทษให้หนัก หรือ รุนแรงขึ้น มันก็ไม่ได้ช่วย ให้อาชญากรรมบางประเภทลดลง แต่...ต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้คนเรารู้จัก สำนึก ผิดชอบ ชั่วดี ด้วยเหตุนี้จึงต้องย้อนกลับไปดูที่ “ครอบครัว” ว่า หากทำไม่ได้ ครอบครัวก็จะมีปัญหา ดังนั้น จึงใช้วิธีการ “ลงโทษ” ผู้ปกครอง ตอนนี้ บางประเทศ เริ่มทำแล้ว เช่น นิวซีแลนด์
“กระบวนการยุติธรรมเด็ก ไม่ประสงค์ที่จะให้เด็กเข้าไปอยู่ในศูนย์ฝึกอบรม เพราะการได้เข้าไป มันยิ่ง “บ่มเพาะ” พฤติกรรมให้เด็กเพิ่มแรงกระตุ้นการก่อเหตุอาชญากรรม หรือบ่มเพาะความชั่วร้ายมากขึ้น แต่เขาจะใช้มาตรการฟื้นฟูอื่นๆ ตามแต่ละประเทศ มีบริบทที่เหมาะสม เช่น ประเทศในสแกนดิเนเวีย เขาจะให้เด็กไปบริการสังคม เรียกว่า Social Welfare ขณะที่บ้านเรา หรือในอาเซียน ก็ต้องไปหามาตรการที่เหมาะสม ที่ทำได้ เพื่อให้รู้ว่า “ทำผิด ต้องได้รับโทษ” แต่จะใช้วิธีการได้ก็ขึ้นอยู่กับบริบทประเทศ แต่จะเอาเขาไป “จำขัง” มิได้ เพราะจะไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งไม่ดีมาอีก”
สิ่งที่ “นิวซีแลนด์” ทำนั้น เขาค่อนข้างเข้มงวด ไม่ใช่ประเทศเขาควบคุมได้ดี แต่เขาสอนให้เด็ก “เคารพกฎหมาย”
เมื่อถามว่า จะจัดการอย่างไร กรณี เด็กก่ออาชญากรรมรุนแรง เช่น กราดยิง ฆาตกรรม อาจารย์สุณีย์ ชี้ว่า หากเราไปพิจารณาจริงๆ แล้ว กับสังคมอเมริกัน ต้นแบบเหตุกราดยิง เป็นคนอเมริกัน จริงๆ หรือไม่ และในสังคมอเมริกันมีปัญหาอะไรหรือไม่
เมื่อมองย้อนกลับมาที่สังคมไทย ก็มีลักษณะเป็น “สังคมศักดินา” ใครมีอำนาจวาสนา ก็มักใช้อำนาจกันเป็นเรื่องปกติ ถามว่าเรื่องนี้เด็กเห็นไหม ขณะเดียวกัน สื่อเอง ก็นำเสนอข่าวในแง่ลบมากมาย พร้อมบทวิเคราะห์ เรื่องนี้เองส่วนตัวก็เข้าใจสื่อว่า ข่าวร้ายมันขายได้ ส่วนหนึ่ง จึงกลายเป็นกระแสให้เด็กได้เห็น...
“ดังนั้น เราจะไปด่าเด็กเลว ความเลวทั้งหมดมาจากเด็ก แบบนี้ไม่ได้ ส่วนหนึ่งต้องโทษผู้ใหญ่ด้วย ว่าทำให้เขาดูก่อน แล้วยังมีบทวิเคราะห์ตามมาว่าแบบนี้ๆ เมื่อเห็นดังนั้นแล้ว เด็กจะไม่คิดตามได้อย่างไร ดังนั้น การที่เราจะโทษเด็กคนเดียว เราไม่ทำแบบนั้น เราต้องโทษครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สังคม สื่อมวลชน น้ำหนักมันอยู่ที่ “องค์รวม” อย่าโทษเด็กและพ่อแม่อย่างเดียว หากเขาอยู่มิติไหนมากกว่า มิตินั้นก็จะมีน้ำหนัก เช่น อยู่ในโรงเรียนมาก เจอเพื่อนเกเร แน่นอนว่าเด็กทุกคนต้องการที่ยืนในสังคม เขาก็คงตามเพื่อน...”
คนเราตอนเป็นเด็กก็เคยทำไม่ดีมาบ้าง เช่น หนีเรียน แอบสูบบุหรี่ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นวัยคึกคะนอง ท้าทาย แต่เราต้องคิดว่า เราทำต้องทำอย่างไรให้ความท้าทายมันชะลอ และทำให้ข้ามมันไปให้ได้ เพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
ทางออกของเรื่องนี้คือ ทุกคน ทุกหน่วยงานต้องกลับมานั่งคุยกัน
พ่อแม่ คุณทำอะไร...เลิกสักทีเถอะ ระบบอุปถัมภ์ เพราะหากระบบแบบนี้ยังอยู่ มันจะคิดว่า “แบบนี้ทำได้โว้ย...”
เด็กยุคใหม่ ก่อเหตุรุนแรงกว่าในอดีต?
ประเด็นนี้ อาจารย์สุณีย์ มีความเห็นต่าง เพราะความรุนแรงนั้น มีมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว แต่ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เราพบเห็นกันง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้ทุกอย่างอยู่ในสมาร์ทโฟน เราได้เห็นโลกทั้งโลกจากโทรศัพท์มือถือ เพียงเครื่องเดียว และเดี๋ยวนี้มองไปไหน เด็กที่อยู่ในรถเข็น ยังถือโทรศัพท์มือถือ ในโลกนี้แทบทุกที่มีไวไฟให้บริการ ถามว่ามีการ “ปิดกั้น” เพื่อ “ปกป้อง” จริงๆ ไหม
...
สังคมเวลานี้ ต้องการให้ กฎหมาย ลงโทษเด็ก แบบผู้ใหญ่
ถามว่าประโยชน์ของการลดอายุ เพื่อลงโทษเด็ก มีประโยชน์ไหม คำตอบของคำถามนี้ อาจารย์สุณีย์ ตอบว่า “มี” แต่เราจะต้องแลกกับอะไรบ้าง เรื่องนี้ต้อง เช็กและบาลานซ์ให้ดี เพราะในปี 2565 เราเคยปรับเรื่องนี้ไปแล้ว ตาม UN Congress ของ Human Rights Watch และ Children’s Rights แล้ว
“พอปรับไปแล้ว เรามาดูว่าสิ่งที่เราปรับไปมีอะไร ฉะนั้น เหตุผลหรือ มาตรการที่เราพอจะทำได้ คือ Children’s Rights ไม่ได้บอกให้จำคุกเด็ก หรือประหารชีวิต แต่สิ่งที่ทำได้มีอยู่ สิ่งสำคัญคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหา”
กฎหมายการลงโทษเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
ทั้งนี้ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565 มีการแก้ไขมาตรา 73 และ 74 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2551 เพื่อแก้ไขช่วงอายุเด็กที่ไม่ต้องรับโทษอาญาโดยปรับเปลี่ยนจาก 10 ปี เป็น 12 ปี โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือวันที่ 8 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป
...
สาระสำคัญในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ในมาตรา 73 ระบุว่า เด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 74 เด็กอายุกว่า 12 ปีแต่ยังไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
2) ถ้าศาลเห็นว่าบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง สามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้ระวังเด็กไม่ให้เกิดก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาทในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น
แต่ถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่น และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง มาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่าจะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้หรือไม่ก็ได้ ถ้ายอมรับข้อกำหนด ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลนั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว
3) ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิตหรือสถานที่ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี
ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กตาม (2) ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
...
ในกรณีที่เด็กนั้นไม่มีบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง หรือมีแต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือในกรณีที่เด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน
(2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควรหรือให้ดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นได้
คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) วรรคสอง และวรรคสามนั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ความปรากฏแก่ศาล โดยศาลรู้เองหรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคล หรือองค์การที่ศาลมอบตัวเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้นหรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ด้วยว่า ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญากำหนดเกณฑ์อายุเด็กซึ่งไม่ต้องรับโทษแม้ได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ที่อายุยังไม่เกิน 10 ปี แต่จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าเด็กอายุ 12 ปี กับ 10 ปี ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการด้านความคิด สติ ปัญญา จริยธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่และยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนได้อย่างดีพอ
อีกทั้งเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี อยู่ในวัยการศึกษาระดับประถมศึกษา ยังไม่สมควรให้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีอาญาซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการบางประการที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล และอาจทำให้เด็กเรียนรู้วิธีกระทำความผิดเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำอีก กรณีจึงสมควรใช้มาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อให้การสงเคราะห์และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็กอายุ 10 ปี แต่ไม่เกิน 12 ปีได้รับผลดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญเพื่อให้เด็กกลับตัวเป็นคนดีและเป็นประชากรที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ต่อไป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านบทความที่น่าสนใจ