ผู้ป่วยโควิดทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังปีใหม่ตามการคาดการณ์ และโควิดสายพันธ์ุย่อยตัวใหม่ JN.1 คาดกันว่าจะเข้ามาระบาดแทนที่สายพันธุ์อื่น กลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย หลังระบาดไปกว่า 51 ประเทศทั่วโลก จนกรมควบคุมโรคของไทย ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก

ตัวเลขผู้ป่วยโควิดในไทยเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลกรมควบคุมโรคพบว่าระหว่างวันที่ 31 ธ.ค. 2566 ถึง 6 ม.ค. 2567 มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล จำนวน 664 ราย หรือเฉลี่ย 95 คนต่อวัน ส่วนผู้เสียชีวิต จำนวน 4 ราย เฉลี่ย 1 รายต่อวัน และผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งข้อมูลกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบโควิดสายพันธุ์ย่อย XBB และ EG.5 ขณะที่สายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ JN.1 สายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอนกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

อาการผู้ป่วยโควิดสายพันธ์ุ JN.1 จะคล้ายไข้หวัด มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ เหมือนโรคทางเดินหายใจ ระดับความรุนแรงของโรคไม่ได้เพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดิม แต่ติดต่อได้ง่ายและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หากเป็นแล้วก็เป็นอีกได้ ทำให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกรมควบคุมโรค คาดว่าผู้ป่วยจะเริ่มลดลงหลังเข้าสู่เดือน ก.พ. แล้วจะสงบลงในเดือนมี.ค. จนไปถึงฤดูกาลใหม่ในเดือนมิ.ย. 2567

โควิดสายพันธ์ุ JN.1 พบครั้งแรกในสหรัฐฯ เป็นลูกของสายพันธุ์ BA.2.86 และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variants of Interest) เนื่องจากมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อีกทั้งโปรตีนหนามเปลี่ยนไปจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ทำให้สามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราได้มากขึ้น จนผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกังวล เกรงว่าจะยากต่อการรับมือ แต่วัคซีนยังคงช่วยป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้

...

สายพันธ์ JN.1 ไม่รุนแรง แต่ความร้ายกาจไม่ได้ลดลง

ด้วยเพราะโควิดสายพันธ์ุ JN.1 สามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้มากขึ้น “ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์” หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเตือนว่า แม้คนติดเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้มีอาการไม่รุนแรง แต่ความร้ายกาจของมันไม่ได้ลดลง จากวิวัฒนาการของไวรัสมีการปรับตัว ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ๆ ออกมาป้องกันโควิดสายพันธ์ุใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันโควิดสายพันธ์ุ JN.1 มีการพบเชื้อในน้ำเน่าเสียหรือบ่อเกรอะ ซึ่งมีอุจจาระ และปัสสาวะ ทำให้สงสัยจะมีการแพร่เชื้อไปเกาะในลำไส้ อาจเกิดอาการทางเดินอาหาร จากเดิมเชื้ออยู่แค่ที่ปอด มีอาการทางเดินหายใจส่วนบนเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันต้องยอมรับประเทศไทยมีการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด ได้น้อยลงและยากมากขึ้นเพราะงบน้อย เหมือนกับทั่วโลก อีกทั้งมีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK กันที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีรายงาน และไม่มีตัวอย่างไวรัสในการถอดรหัสพันธุกรรม โดยขณะนี้ศูนย์จีโนมฯ กำลังหาตัวอย่างจากภาคเอกชนนำไปสุ่มตรวจถอดรหัสพันธุกรรม คาดว่าปลายเดือน ม.ค.นี้ ก็น่าจะรู้ผลในการนำสายพันธุ์เดิมไปเทียบสายพันธ์ุ JN.1 ในการทำฐานข้อมูลโควิดให้ทราบถึงสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น

“สายพันธ์ุ JN.1 ในขณะนี้ดูหนักในสหรัฐฯ และสิงคโปร์ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ถ้าถามถึงความรุนแรง ก็คล้ายๆ กัน ประมาณ 60% ของคนติดเชื้อในสหรัฐฯ ถ้าเทียบกับสายพันธุ์เดิม มีคนเข้าโรงพยาบาล และตายไม่มาก แต่ระบาดเร็วมาก แม้อาการไม่รุนแรง แต่จะได้รับผลกระทบจากลองโควิด จะเกิดโรคในระบบอื่น ทำให้คนในสหรัฐฯ กลัวมากเรื่องลองโควิด บางคนตอนนี้ภูมิคุ้มกันดีพอสมควร แต่ภูมิป้องกันการติดเชื้อแผ่วลงมาก จนมีความเสี่ยงสูง จะทำอย่างไรให้ติดเชื้อน้อยลง ก็ต้องให้วัคซีนตัวใหม่โมโนวาเลนต์ จากสายพันธุ์ล่าสุด เพราะข้อมูลจากสหรัฐฯ ชี้ว่าเมื่อฉีดเข้าไป สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี โดยเฉพาะสายพันธ์ุ JN.1”

อย่าละเลยป้องกันตัวเอง วัคซีนยังช่วยได้ ไม่ให้ตาย

นอกจากนี้คนเกินครึ่งทั่วโลกเชื่อว่าการระบาดของโควิดได้ยุติไปแล้ว ทำให้ละเลยในการป้องกัน แม้แต่มาตรการต่างๆ ก็ยังหย่อนยานลง ตรงข้ามกับคนไทยแม้การ์ดจะตกลงบ้าง แต่ยังป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากป้องกัน และมีคำถามว่าวัคซีนรุ่นใหม่ ในไทยมีหรือไม่ ซึ่งก็ไม่มี หรืออาจมีในโรงพยาบาลเอกชน ส่วนภาครัฐ ยังคงนำเข้าวัคซีนแต่เป็นรุ่นเก่า ป้องกันสายพันธ์ุ JN.1 ไม่ได้ แต่ป้องกันการเสียชีวิตได้

...

หรือบางคนคิดว่าติดเชื้อโควิดเหมือนไข้หวัดใหญ่ แต่ต้องระวังลองโควิด และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า 2 เท่า ถ้าเทียบกับไข้หวัดใหญ่ จึงอยากให้คนตระหนักในการป้องกันตัวเอง หากรัฐบาลลงทุนระบบไอทีในการตรวจ ATK จะทำให้การรายงานผลทำได้อย่างเต็มที่ ในการสุ่มตรวจถอดรหัสพันธุกรรม จะช่วยในการวางแผนป้องกันและรักษา ส่วนการฉีดวัคซีน อาจทำเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และคนทั่วไปควรสวมหน้ากากป้องกัน รวมถึงการกินร้อน ช้อนกลาง

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนสำหรับคนทั่วไป ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในทุกๆ ปีในกลุ่มที่มีความเสี่ยง หรือถ้าสุขภาพแข็งแรง คิดว่าไม่มีความเสี่ยง ก็ไม่ต้องฉีด เพราะบางคนกลัวอาการผลข้างเคียงทั้งที่ความจริงมีน้อยมาก แต่ควรป้องกันตัวเองให้มากๆ และในกรณีติดเชื้อโควิด หากช่วง 1-3 วัน อาการไม่ดีขึ้น ต้องไปพบแพทย์และกินยาต้านไวรัส

หากการตรวจ ATK บางครั้งไม่พบผลบวก เพราะปริมาณเชื้อไวรัสไม่มาก และหลายคนจะมีอาการชัดขึ้นในวันที่ 4 หรือ 5 มีปริมาณไวรัสมากพอ จน ATK ตรวจจับได้ หรือบางคนติดเชื้อมีอาการไอมาก ไม่มีไข้ แต่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไม่ควรประมาท ควรไปพบแพทย์ให้ตรวจอย่างละเอียด ในช่วงสถานการณ์โควิดกลับมาระบาดอีก.

...