เผยสถิติ 3 สาเหตุ คร่า ชีวิตเด็กน้อย อายุ 0-4 ขวบ จมน้ำมากที่สุด สำลักอาหารติด 1 ใน 3 เผย รอบ 3 ปี มีเด็กกว่า 2 พันคน เผชิญความรุนแรงในครอบครัว... 

มันเป็นเรื่อง “น่าเศร้า” สำหรับการตายของเด็กน้อยวัย 2 ขวบ แต่ยิ่งแปลกประหลาด เมื่อร่างไร้วิญญาณของหนูน้อยถูกแช่อยู่ในตู้เย็น ซึ่งคดีนี้ทางตำรวจได้มีการตั้งข้อหา ผู้เกี่ยวข้องในคดี “อำพราง” ศพ ในขณะที่สาเหตุการเสียชีวิต ผลชันสูตรคาดว่าจะมาจากอาหาร (ข้าวเหนียว) ติดคอ 

สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กเล็ก คือ 0-4 ปี ในช่วง 5 ปี คือ 2558-2562 พบว่า เด็กเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจาก การจมน้ำตาย และอุบัติเหตุจมน้ำ รองลงมาคือ อุบัติเหตุทางถนน และอันดับ 3 คือ อุบัติเหตุอื่นที่คุกคามการหายใจ หมายถึงการถูกรัดคอ หรือสำลักอาหาร อุดตันการหายใจ โดยใน 5 ปีนั้น (ยังไม่มีข้อมูลอัปเดตล่าสุด) มีการเสียชีวิตรวมกันถึง 248 ศพ

นอกจากนี้ ยังมีสถิติที่น่าสนใจคือ การเสียชีวิตจากการสัมผัสกระแสไฟฟ้า รังสี อุณหภูมิ และความดัน สุดขั้ว 5 ปี จำนวน 73 ศพ และการถูกทำร้าย 38 ศพ

...

นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า เบื้องต้น กรมของเรามีหน้าที่ในการป้องกันดูแลคุ้มครองเด็ก ไม่ให้ถูกละเมิด หรือกระทำการรุนแรง 

กรณีเด็ก 2 ขวบที่เป็นข่าวนั้น เบื้องต้น ทางกรมได้เข้าประสานพูดคุยกับ “บิดา” ของน้องแล้ว ซึ่งเป็นเคสที่เกิดขึ้น และน้องเสียชีวิตไปแล้ว โดยเราพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ ทั้งด้านคดีความ ข้อกฎหมาย ทางกรมฯ ก็พร้อมให้การช่วยเหลือ ส่วนประเด็นคดีความ 

กรณีการเสียชีวิตของเด็กเล็กนั้น นางอภิญญา กล่าวว่า เนื่องด้วยทางกรมฯ มีภารกิจ 3 ด้าน คือ ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน, คุ้มครองพิทักษ์สิทธิ และการจัดสวัสดิการของเด็กและครอบครัว โดยมีการ่วมงานกับภาครัฐ และภาคีเครือข่าย 

ฉะนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ เราจะต้องไม่ไปแตะกับ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” โดยเฉพาะในประเด็น “เด็กต้องมีชีวิตรอดและอยู่อย่างปลอดภัย” มีศักยภาพตามช่วงวัย มีการดูแลที่ปลอดภัย ดังนั้น สิ่งที่เราดู เราไม่ได้จำเพาะเจาะจงเฉพาะเด็กไทย แต่เป็นต่างชาติเราก็ดูแล 

สถิติความรุนแรงในครอบครัว 2564-2566  

อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เผยว่า สถิติจากบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด ระหว่างปี 2564-2566 พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ถูกกระทำความรุนแรง 2,155 ตัวเลขดังกล่าว เป็นการกระทำรุนแรงเพียงอย่างเดียว ไม่รวมการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ปัญหาความยากจน หรือการถูกทอดทิ้ง

3 อันดับแรกที่เกิดขึ้น สำหรับความรุนแรง คือ 

อันดับ 1. การถูกล่วงละเมิดทางเพศ 1,034 ราย 

อันดับ 2. ถูกกระทำความรุนแรงทางกาย 914 ราย 

อันดับ 3. ถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจ 207 ราย 

ที่น่าสนใจ คือ สถิติในปี 2564 มีจำนวน 318 ราย ปี 2565 มีจำนวน 721 ราย เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ ปี 2566 ถือเป็นสถิติสูงอย่างก้าวกระโดด คือ 1,116 ราย 

โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว โดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับ สุรา ยาเสพติด บันดาลโทสะ และปัญหาสุขภาพจิตของคนในครอบครัว ทั้งนี้ กรณีที่เป็นการกระทำการรุนแรง ส่วนมากจะเป็นเด็กเล็ก คือ 0-4 ปี เพราะเขาเหล่านั้นไม่สามารถตอบโต้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้ ส่วนการล่วงละเมิดทางเพศ จะเป็นกลุ่มเด็กที่โตกว่า

...

การช่วยเหลือจากเหตุความรุนแรงในครอบครัว 

“ความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่เรื่องภายในครอบครัว เพราะเราสามารถคุ้มครองผู้ที่ถูกระทำความรุนแรงด้วย ถึงแม้จะไม่ใช่เด็กก็ตาม แต่สำหรับเคสเด็ก เราสามารถแยกเขาออกจากครอบครัวได้ เพื่อนำเด็กมาตรวจร่างกาย ประเมินผลกระทบทางจิตใจ และคุ้มครองโดยบ้านเด็กและครอบครัว ส่วนกรอบระยะเวลาในการดูแลนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เนื่องจากเหยื่อบางรายยังอยู่ในขั้นตอนของการรักษา ก็จำเป็นต้องอยู่ที่บ้านพักก่อน แต่หากทางครอบครัวที่เป็นปู่ย่าตายายที่ไม่ใช่ผู้ที่มีปัญหาต้องการรับกลับ ก็สามารถทำได้”

ฝากเตือนพ่อแม่ คิด-ตรวจสอบให้ดีก่อนฝากเลี้ยงบุตร 

อธิบดีกรมกิจการเด็กฯ กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ที่เลี้ยงลูกเล็กๆ โดยเฉพาะพ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ว่า เราเข้าใจว่าท่านมีภารกิจต้องทำงานหาเงิน บางครั้งก็ฝากลูกไว้กับคนรู้จักเพราะความไว้ใจ หรือสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนก็ตาม ท่านต้องพิจารณาเรื่องใบอนุญาตด้วย สภาพความเป็นอยู่ อัตราพี่เลี้ยงกับเด็กเหมาะสมหรือไม่ 

...

แต่กรณี คนที่รู้จัก หรือ ญาติพี่น้อง ก็อยากให้ท่านมั่นใจก่อนว่า เด็กจะมีความปลอดภัยหรือไม่ โดยที่ท่านต้องหมั่นติดตามเด็กด้วย อย่างไรก็ดี ทางกรมฯ เองก็มีโครงการ “ขึ้นทะเบียนครอบครัวอุปถัมภ์ 

กรณี “ครอบครัวอุปถัมภ์” นั้นแตกต่างกับ “บุตรบุญธรรม” เนื่องจาก ครอบครัวอุปถัมภ์ จะช่วยดูแลเด็ก แต่ไม่มีสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะบิดามารดา แต่สามารถให้ความรักเติมเต็มให้กับเขาได้ โดยผู้ที่จะอุปถัมภ์ จะได้เงินช่วยเหลือจากกรมฯ รายละ 2,000 บาท 

โดยครอบครัวอุปถัมภ์นั้น จะมีเจ้าหน้าที่เข้าคอยตรวจสอบ ว่าครอบครัวที่รับไปมีปัญหาความรุนแรงหรือไม่ มีปัญหาด้านสุราหรือเปล่า ซึ่งทีมนักสังคมสงเคราะห์จะเป็นผู้ประเมิน

เมื่อถามว่า มีเหตุผลใดบ้างที่จะทำให้การอุปถัมภ์เป็นอันสิ้นสุดลง อธิบดีกรมกิจการเด็กฯ บอกว่า การอุปการะนั้น จะบ่งบอกระยะเวลาชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งถือว่ามีกรอบระยะเวลาอุปถัมภ์อยู่แล้ว หรือนอกจากนี้ก็พบว่า ความผิดต่างๆ ที่ทางเจ้าหน้าที่ตรวจพบ 

เมื่อถามว่า การอุปถัมภ์ดังกล่าว มีการช่วยเหลือเรื่องเงินด้วย เกรงว่าจะมีช่องโหว่ หรือข้อตกลงระหว่างผู้ให้และผู้รับหรือไม่ อธิบดีกรมกิจการเด็กยืนยันว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งโดยปกติแล้วจะมี 2 แบบ คือ ต้องการรับเงินช่วย และไม่ต้องการรับเงินช่วยก็มี ซึ่งจะได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินของเจ้าหน้าที่ โดยดูรอบด้าน 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...