จากจุดเริ่มต้นรูปปั้นครูกายแก้ว ความสูง 4 เมตร กว้าง 3.50 เมตร ขนาดหน้าตัก 108 นิ้ว รวมน้ำหนัก 3 ตันครึ่ง มีการบรรทุกด้วยรถเครน 6 ล้อ หมายเลขทะเบียน 727679 สร้างความตกตะลึงให้กับผู้คน เพราะรูปปั้นขนาดใหญ่ไปติดคาสะพานลอยคนข้ามหน้าศาลอาญา ไม่สามารถผ่านไปได้ จนการจราจรบนถนนรัชดาภิเษกขาเข้า ติดขัดอย่างหนักเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 ส.ค. 2566 ขณะนำมาตั้งบริเวณโรงแรมเดอะบาซาร์ บนถนนรัชดาภิเษก
ผ่านไปไม่นานหลังการทำพิธีบวงสรวงเมื่อค่ำวันที่ 13 ส.ค. 2566 มีหลายเรื่องราวดราม่าเกี่ยวกับครูกายแก้ว ครึ่งมนุษย์ครึ่งนก มีปีกด้านหลัง เล็บยาว ตาแดง และมีเขี้ยวคล้ายนกการเวก อ้างว่าเป็นผู้มีวิชาตบะแก่กล้าเมื่อพันปีก่อนในกัมพูชา ยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่ผู้รู้ก็ออกมาบอกว่าไม่มีจารึกใดบันทึกถึงครูกายแก้ว เป็นบรมครูพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามที่กล่าวอ้าง
กระแสต่อต้านและอคติต่างๆ โจมตีครูกายแก้วอย่างหนัก แม้ทีมผู้สร้างรูปปั้นครูกายแก้ว ยืนยันมีเจตนาดี ใครจะอคติก็เรื่องของเขา และไม่มีการบูชายัญลูกหมา ลูกแมวเพราะเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่หากไปกราบไหว้ครูกายแก้ว แล้วสำเร็จจะว่าอย่างไร เชื่อกันว่าจะช่วยในเรื่องความรำ่รวย ความสำเร็จตามที่ขอพร โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของบ่อนกาสิโนประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมถึงชาวสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน และจีน
และแล้ววันที่ 28 ธ.ค. 2566 รูปปั้นครูกายแก้วและองค์เทพในศาล ก็ถูกย้ายไปเก็บด้านหลังโรงแรมเดอะบาซาร์ บรรทุกด้วยรถเครน หมายเลขทะเบียน 725524 ภายหลังไพโรจน์ ทุ่งทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จำกัด และเจ้าของโรงแรม กลับมาเป็นผู้บริหาร และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีหนังสือสั่งให้ย้ายรูปปั้นครูกายแก้ว ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 30 ธ.ค. เนื่องจากมีการปลูกสร้างในพื้นที่เช่า โดยไม่ได้รับอนุญาตตามเงื่อนไขสัญญาเช่า และให้จ่ายค่าปรับ จำนวนเงิน 1.33 ล้านบาท
...
เบื้องหลังการย้ายรูปปั้นครูกายแก้ว ริมถนนใกล้แยกรัชดา-ลาดพร้าว หลังตั้งอยู่ในศาลเพียงแค่ระยะเวลา 4 เดือนกว่าเท่านั้น “เทพฤทธิ์ แป้นสุข” กรรมการผู้จัดการ บริษัทครูกายแก้ว จำกัด บอกว่า ไม่มีปัญหาในการย้ายครูกายแก้วออกจากพื้นที่โรงแรมเดอะบาซาร์ เพราะหลังเวลา 2 ทุ่มวันที่ 28 ธ.ค.นี้ เตรียมย้ายครูกายแก้วไปเก็บในพื้นที่ใกล้ๆ ก่อนนำไปตั้งในพื้นที่แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ยื่นข้อเสนอหลายคน จะนำรูปปั้นครูกายแก้ว ไปตั้งให้คนกราบไหว้
“การย้ายครูกายแก้วเป็นปัญหาระหว่างผู้บริหารโรงแรมคนเก่ากับคนใหม่ ต้องปล่อยให้เคลียร์กันเอง ทางเราไม่อยากเข้าไปยุ่งระหว่างมีข้อพิพาท เหมือนถูกชักใยเข้าไปร่วมด้วย ก็ให้พวกเขาดำเนินการกันไปในศาล และทางอาจารย์หน่อย ผู้สร้างรูปปั้นครูกายแก้ว ไม่อยากทะเลาะ ไม่อยากเสียเวลาชีวิต แต่ก็ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นผู้เช่าพื้นที่อย่างถูกต้อง ซึ่งทั้งสองฝั่งต้องไปแก้ต่างกันเอง”
เมื่อมีการย้ายรูปปั้นครูกายแก้วออกจากพื้นที่โรงแรมเดอะบาซาร์ ทางบริษัททัวร์จีนที่เป็นหุ้นส่วนในการตั้งศาลครูกายแก้ว เพื่อรองรับทัวร์สายมูเตลู ก็ได้สอบถามมา เพราะก่อนหน้านั้นมีลูกทัวร์ชาวจีนจองโรงแรมจนเต็มไปถึงกลางปี 2567 จะต้องมีพื้นที่แห่งใหม่ตั้งรูปปั้นครูกายแก้ว เพื่อการกราบไหว้ขอพร คาดว่าอยู่ในพื้นที่ไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก
ก่อนการจะย้ายรูปปั้นครูกายแก้ว ทางโรงแรมได้ทำหนังสือมา แต่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีคำสั่งศาล และไม่ระบุวันในการพูดคุย เหมือนถามลอยๆ ไม่มีการคอนเฟิร์มใดๆ และขณะนั้นอยู่ต่างประเทศ ก็ตอบไปว่าให้รอหลังกลับจากต่างประเทศ และเมื่อกลับจากต่างประเทศมีการย้ายรูปปั้นครูกายแก้วออกจากพื้นที่โดยไม่บอกกล่าว แต่ไม่มีปัญหาในการหาสถานที่ใหม่ และตั้งแต่มีการทำพิธีบวงสรวงครูกายแก้ว ยืนยันมีผู้ศรัทธาจำนวนมากมากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะคนจีน
“จริงๆ แล้ว ทางอาจารย์หน่อย ไม่ต้องการให้ครูกายแก้ว เป็นกระแสโด่งดังมาตั้งแต่แรกแล้ว และตอนรูปปั้นไปติดตรงสะพานลอยคนข้าม จนเป็นไวรัล ก็ไม่ใช่การวางแผนหรือตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น แต่ต้องการทำเป็นศาลให้คนกราบไหว้ เพื่อรองรับลูกทัวร์จีนเท่านั้น”.
...