เรื่องเล่าจากความทรงจำ ณ เนปาล-กาฐมาณฑุ วิถีแห่ง 'กุมารี' เด็กหญิงตัวแทน 'เทวีผู้มีลมหายใจ' ศรัทธาแห่งสตรีที่ฝังรากลึก ความเชื่อการเทิดทูนเด็ก ชีวิตจริงที่ต้องแลก...
'มนุษย์' แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มีปัญญายิ่งยวดเหนือกว่าเดรัจฉานทั้งปวง แต่ตราบใดที่การเวียนว่ายตายเกิดยังคงมีอยู่บนโลก และวัฏฏะแห่งความทุกข์ยากของชีวิตยังไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์ย่อมต้องการที่พึ่งพิง หวังให้พลังและ 'อำนาจที่มองไม่เห็น' ช่วยปลอบประโลมจิตใจอันบอบช้ำให้ทุเลาลง
ปรากฏการณ์ 'ความเชื่อ' เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อ 'เด็ก' คนหนึ่งถูกเชิดชูให้กลายเป็น 'ผู้วิเศษ' สามารถประทานพรและสั่งสอนธรรมได้ มีกลุ่มผู้ศรัทธากราบไหว้ เกิดเป็นกระแสให้สังคมตั้งคำถามว่า เรื่องแบบนี้ปกติจริงหรือ?
ความเชื่อลักษณะนี้อาจจะแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ไม่ใช่สำหรับ 'เนปาล' ณ 'กาฐมาณฑุ' แผ่นดินที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 3,297 กิโลเมตร มีความเชื่อเรื่อง 'กุมารี' (Kumari : कुमारी) เด็กหญิงตัวน้อยผู้ถูกขนานนามว่าเป็น 'Living Godness' หรือ 'เทวีผู้มีลมหายใจ' ชาวเนปาลนับถือเธอเป็นตัวแทนแห่ง 'เทวีตาเลจู' ผู้คุมครองดูแลให้ชีวิตและบ้านเมืองร่มเย็นเสมอมา
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านทุกคนท่องโลกแห่งศรัทธาและวิถีชีวิต 'กุมารี' ตั้งแต่การสรรหาเด็กหญิงผู้บริสุทธิ์ สู่การขึ้นเป็นที่สักการบูชา และชีวิตหลังการคืนสู่สามัญ ผ่านเรื่องเล่าจากความทรงจำของชาวเนปาล ผู้ศรัทธากุมารีตั้งแต่จำความได้ นามว่า 'อัสสชิตะ อวาเล' หรือชื่อไทย 'ธันวา' เจ้าของร้านอาหารหิมาลายา อดีตประธานสมาคมชาวเนปาลโพ้นทะเล หรือ NRNA (Non–Resident Nepali Association) ประจำประเทศไทย ซึ่งการสนทนาวันนี้ เราจะเน้นไปที่เรื่องราวของ 'กุมารี ณ กาฐมาณฑุ'
เราจะมาดูกันว่า ความเชื่อเรื่องกุมารีของเนปาล และเด็กผู้วิเศษของไทย จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
จาก 'ตาเลจู' สู่ 'กุมารี' จุดเริ่มต้นความเชื่อสตรีเพศ :
ธันวา บอกว่า ที่ประเทศเนปาลมีความเชื่อว่า 'กุมารี' คือเทพเจ้าผู้ปกป้องบ้านเมือง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าในอดีตเคยมีกุมารีอยู่ที่เดียวและองค์เดียว แต่เมื่ออาณาเขตขยายกว้างออกไป ก็มีการสถาปนากุมารีองค์อื่นๆ ขึ้น ใน 13 เมือง ก็จะมีกุมารี 13 องค์ แต่ การปฏิบัติของกุมารีในนครกาฐมาณฑุจะเคร่งครัดมากที่สุด
อัสสชิตะ เล่าตำนานความเชื่อ ที่เป็นจุดกำเนิดแห่งกุมารีให้เราฟังว่า ย้อนไปในอดีต นครกาฐมาณฑุยังไร้ซึ่ง 'กุมารี' แต่ชาวเมืองจะเคารพนับถือเทวีชื่อ 'ตาเลจูภวานี' (Taleju Bhawani) ซึ่งศรัทธาแต่ดั้งเดิม เชื่อกันว่าพระองค์ทรงเป็นร่างอวตารของพระนางทุรคา ศักติแห่งพระศิวะ เทวีตาเลจูทรงเป็นผู้คุ้มครองกาฐมาณฑุ และพระองค์จะสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ผ่าน 'กษัตริย์'
...
ตามคำบอกเล่าจากความทรงจำ 'ตาเลจู' เป็นเทวีที่มีรูปร่างสวยงดงาม กษัตริย์พระองค์หนึ่งมักจะขึ้นไปยังเทวสถาน เพื่อสนทนากับเทวี แต่แล้ววันหนึ่ง 'อาเพศ' ก็ได้มาเยือนนครแห่งนี้ เมื่อกษัตริย์มีความคิด 'เชิงชู้สาว' ต่อเทวี แต่ 'ตาเลจู' หยั่งรู้ความคิดของกษัตริย์ จึงทำให้พระองค์ไม่พอใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
เทวีตาเลจูจึงตรัสกับกษัตริย์ "เรารู้ว่าท่านคิดเช่นไร สิ่งที่ท่านกำลังคิดอยู่ มันเป็นเรื่องอกุศล เป็นสิ่งชั่วร้าย ท่านไม่สามารถคิดแบบนี้กับเทพเจ้าได้ ความผิดของท่านครั้งนี้ เราจะไม่มาโลกมนุษย์ จะไม่คุยกับกษัตริย์ จะไม่ประทับยังเทวสถานนี้อีกต่อไป และไม่ปกป้องบ้านเมืองนี้ได้อีกแล้ว"
เมื่อกษัตริย์ได้ยินดังนั้น พระองค์ทำได้เพียงวิงวอนต่อเทวีตาเลจู แต่ทางพระแม่ยังคง 'ปฏิเสธ' และยืนยันเช่นเดิม อย่างไรก็ตามเทวีตะเลจูภวานียังคงมีเมตตา จึงตรัสต่อกษัตริย์ว่า "เอาเช่นนี้ แม้เราจะลงมาดูแลบ้านเมืองด้วยตัวเองไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่ท่านทำได้ คือการเลือกเด็กผู้หญิง ที่มีร่างกายและจิตใจแข็งแรงสมบูรณ์ ให้เรียกหญิงสาวคนนั้นว่ากุมารี แล้วเราจะมาประทับยังร่างของนาง"
...
การสรรหากุมารี สตรีน้อยศักดิ์สิทธิ์ ตัวแทนแห่งเทวีตาเลจู :
ในอดีตกษัตริย์และชนชั้นนำในวังจะทำการสรรหากุมารี จากเด็กหญิงที่มีความบริสุทธิ์อายุประมาณ 2-3 ขวบ แต่หลังจากยกเลิกการปกครองระบอบราชาธิปไตย และสิ้นสุดอำนาจแห่งกษัตริย์ การสรรหากุมารี จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล
อัสสชิตะ บอกว่า 'กุมารี' จะถูกคัดเลือกรอบแรกจากเด็กผู้หญิง 2 ตระกูล คือ 'ศากยะ' (Sakya) และ 'วัชราจารย์' (Vajracharya) ซึ่งศากยะเป็นตระกูลเดียวกับพระพุทธเจ้า (สมณโคดม) ส่วนวัชราจารย์เป็นตระกูลชาวพุทธ ที่อยู่ระดับเดียวกับพระพุทธเจ้า ซึ่ง 2 ตระกูลนี้มีการปฏิบัติที่เคร่งครัด ถือว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริง แม้จะมีเพียง 2 ตระกูล แต่มีหลายครอบครัว
...
การคัดเลือกกุมารีเป็นเสมือน 'ความลับ' ปุถุชนจะไม่รับรู้เรื่องราวภายใน จะได้รู้ว่าใครเป็นกุมารี ก็ต่อเมื่อการสรรหานั้นสิ้นสุดลง อัสสชิตะบอกกับทีมข่าวฯ ว่า ไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด เพราะมีความซับซ้อน และแต่ละเมืองจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่สำหรับนครกาฐมาณฑุ เท่าที่ศึกษามา อัสสชิตะเล่าว่า
"ดวงชะตาราศีเกิดของเด็กหญิง ต้องตรงกับกษัตริย์ (หรือผู้นำ) มีร่างกายสมบูรณ์ครบ 32 ประการ ต้องผ่านการทดสอบและขั้นตอนหลายอย่าง ที่เด็กทั่วไปไม่สามารถจะทนได้ อย่างที่ผมจำได้คือ เด็กจะถูกขังในห้องมืด แล้วมีหัวควายที่ถูกบูชายัญใส่ไว้ในห้องด้วย ถ้าเด็กทนไม่ได้และแสดงความกลัว แสดงว่าเด็กคนนั้นเป็นกุมารีไม่ได้"
จากข้อมูลเพิ่มเติมทำให้เราพอจะทราบลักษณะบางอย่าง ของการคัดเลือกเด็กหญิงที่จะมาเป็นกุมารีได้ว่า เธอต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน 32 ประการของเทวีในศาสนาฮินดู เช่น รูปร่างหน้าตา ต้องมีหน้าอกเหมือนสิงโต ต้นขาเหมือนกวาง มีขนตาเหมือนวัว ดวงตาต้องเป็นสีดำ มีฟันครบถ้วน ลำตัวเหมือนต้นไทร และเสียงก้องกังวานชัดเจน
เมื่อทำการเลือกแล้ว เทวีตาเลจูจะลงมาประทับยังร่างของเด็กหญิงผู้บริสุทธิ์ โดยปกติแล้วกษัตริย์จะไม่ยอมก้มหัวให้ใคร แต่สำหรับ 'กุมารี' ถือว่าเป็นคนเดียวที่กษัตริย์ยินยอมก้มหัวให้
จากคนสามัญ สู่การก้าวขึ้นที่ประทับ เพื่อรับหน้าที่และชีวิต 'กุมารี' :
กุมารีในเมืองกาฐมาณฑุ จะเรียกว่า 'กุมารีหลวง' หลังจากได้รับการแต่งตั้งจะต้องย้ายจากบ้านของตน เพื่อเข้าพักในที่ประทับ ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายกับเทวสถาน เรียกว่า 'กุมารีพะหาล' (Kumari Bahal) หรือ 'กุมารีเช' (Kumari Che) ซึ่งเป็นตำหนักไม้แกะสลักแบบอารามของพุทธศาสนา เราจะเรียกแบบเข้าใจง่ายว่า 'วัง' ตั้งอยู่ในย่านพระราชวังโบราณ หรือที่ชาวเมืองเรียกกันว่า 'จัตุรัสกาฐมาณฑุทุรพาร์' (Kathmandu Durbar Square)
ธันวา เล่าว่า ในแต่ละวันจะมีตารางกำหนดอย่างชัดเจนว่า กุมารีต้องทำหน้าที่หรือประกอบพิธีอะไรบ้าง และจะสามารถออกจากวังได้เฉพาะในช่วงเทศกาล หรือช่วงที่มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในกรณีที่ต้องออกจากวัง 'เท้า' ของกุมารีจะต้องไม่โดนพื้น แต่จะมีคนอุ้มหรือไม่ก็มีรถแบบโบราณให้นั่งประทับออกไป ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนี้อยู่
"ปัจจุบันยังมีกุมารีอยู่ทั้ง 13 เมือง ซึ่งรายละเอียดของแต่ละแห่งก็แตกต่างกันออกไป เช่น ในเมือง 'ภักตปูร์' (Bhaktapur) จะไม่มีระเบียบที่เคร่งครัด กุมารีสามารถพำนักในบ้านของต้นเองได้ แต่เมื่อมีพิธีหรือเทศกาล จะต้องอยู่ในที่ประทับแห่งกุมารี แต่กุมารีแห่งกาฐมาณฑุเป็นกุมารีหลวง จะไม่สามารถออกจากวังได้ และไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนไม่ได้
ส่วนอีกเมืองที่เคร่งครัดแต่ยังไม่เท่ากาฐมาณฑุก็คือเมือง 'ปาฏัน' (Pātan) ในเมืองนี้กุมารีสามารถไปโรงเรียนได้ แต่เมื่อเสร็จแล้ว ต้องกลับมาประทับยังวังดังดังเดิม"
ธันวา ให้ข้อมูลต่อว่า ในอดีตกุมารีจะไม่ได้รับการศึกษา เพราะว่าไปโรงเรียนไม่ได้ แต่ในปัจจุบันรัฐบาลจะส่ง 'ครู' ไปสอนกุมารีถึงในวัง และให้ครูทำการสอบไล่ได้ตามปกติ ส่วนกุมารีก็จะได้รับผลการสอบเป็นใบประกาศ ที่มีสิทธิเทียบเท่ากับเด็กทั่วไป ทางสถาบันการศึกษาต่างๆ ล้วนอยากให้ 'กุมารี' เข้าศึกษา เพราะถือว่าเป็นการโปรโมตสถาบันของตัวเอง และส่วนใหญ่กุมารีจะได้รับทุนการศึกษาจากสถาบัน
การกลับคืนสู่ชีวิตเด็กหญิงสามัญของกุมารี :
ตำแหน่ง 'กุมารี' ไม่มีระยะเวลาที่แน่นอน บางคนอาจจะอยู่แค่หลักเดือน แต่บางคนก็อยู่มากกว่า 10 ปี แต่การกลับคืนสู่ชีวิตสามัญอย่างเต็มตัวนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำเมื่อไรก็ได้ แต่มีการระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า
เด็กหญิงจะพ้นจากความเป็นกุมารีทันที ก็ต่อเมื่อเธอเริ่มมี 'ประจำเดือน' ที่แสดงให้เห็นถึงการเข้าสู่แรกแย้มแห่งวัยหญิงสาวอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ดี อัสสชิตะ กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงแค่มีประจำเดือน แต่กุมารีต้องรักษาตัวให้ดีอยู่เสมอ ห้ามเลือดออกจากร่างกายในทุกกรณี เช่น เป็นแผล ฟันหลุด ฯลฯ เพราะนั่นจะถือว่าสิ้นสุดวิถีแห่งกุมารี
อัสสชิตะ กล่าวต่อว่า กุมารีก็มักจะไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะให้เห็นฟัน มีความสุขุมแตกต่างจากเด็กทั่วไป ในอดีตกุมารีไม่ได้รับอนุญาตให้ยิ้ม หากยิ้มเมื่อไรก็ถอดจากตำแหน่งทันที แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็นอย่างนั้น มีรายละเอียดเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
"บางคนรักษาตัวเป็นอย่างดีเพื่อคงความเป็นกุมารีไว้ แต่กับบางคนไม่ระวังตัวก็พลาดได้เสมอ ทำให้อายุของการเป็นกุมารีนั้นไม่แน่นอน แต่เมื่อพ้นจากการเป็นกุมารี รัฐบาลจะมอบงบประมาณให้คล้ายกับเงินเกษียณ" ธันวากล่าวกับเรา
ชีวิตของครอบครัวกุมารี :
แม้ลูกสาวจะได้เป็นตัวแทนแห่งตาเลจู แต่อัสสชิตะ บอกว่า ครอบครัวของเธอจะไม่ได้รับการดูแลใดๆ จากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม 'ครอบครัว' นั้นๆ จะได้รับของที่มาจากแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกุมารี บางครั้งอาจเป็นสิ่งของ อาหาร รวมไปถึง 'เงินทอง' ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะถวายเงิน และนั่นก็กลายเป็น 'รายได้' ของครอบครัว
"การศึกษา และค่าใช้จ่ายของกุมารี รัฐบาลเป็นคนออกให้ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่กุมารีได้รับก็จะกลายเป็นของครอบครัว และเท่าที่ทราบมา เงินที่ครอบครัวได้รับค่อนข้าง 'งาม' เลยทีเดียว"
ผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของกุมารี :
ช่วงชีวิตของกุมารีน้อย ต่างได้รับการปรนนิบัติที่ดีมาโดยตลอด ทำให้เราสงสัยว่า "หลังจากพ้นตำแหน่ง จิตใจของพวกเธอเป็นเช่นไรบ้าง"
อัสสชิตะ บอกกับเราว่า "ไม่ปกติเหมือนเด็กทั่วไปแน่นอน"
เขาเล่าต่อว่า มีกุมารีองค์หนึ่ง ที่เคยไปกราบไหว้ ตั้งแต่กุมารียังเป็นเด็กจนกระทั่งเติบโต ท่านเป็นกุมารีอยู่ประมาณ 12-13 ปี เคยเดินอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปไหน และไม่ใส่รองเท้า หากจะออกไปข้างนอกก็มีคนพร้อมเดินหลีกทางให้เสมอ แต่หลังจากพ้นความเป็นกุมารี ท่านไม่สามารถเดินนอกบ้านได้ เพราะเดินไม่เป็น กลัวผู้คน มีอาการเขินอาย และเดินไปไหนมาไหนไม่ถูก โดยเฉพาะการข้ามถนนยิ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก
"การเป็นกุมารีมากว่า 10 ปี พฤติกรรมและช่วงชีวิตนั้น ย่อมถูกฝังลึกลงเข้าไปในจิตใจของเด็ก ต้องใช้เวลาปรับตัวอย่างน้อย 2-3 ปี บางครั้งอาจจะต้องจับมือให้เดินเลยด้วยซ้ำ ซึ่งเราเห็นมากับตาตัวเอง ล่าสุดมีผู้หญิงที่เพิ่งพ้นจากกุมารีได้ประมาณ 3 ปี มาเที่ยวที่กรุงเทพฯ เรามีโอกาสได้ดูแล ซึ่งเขาก็ใช้ชีวิตปกติ
แม้จะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าบุคลิกของเหล่าอดีตกุมารี มักจะไม่เหมือนคนทั่วไป จะมีความสุขุม นุ่มลึก นิ่งๆ ดูแล้วยังหลงเหลือความน่าเคารพแบบครั้งที่เคยเป็นกุมารี เราคิดว่าตอนเลือกเขาก็มีความพิเศษกว่าเด็กปกติอยู่แล้ว พอไม่ได้เป็นกุมารีก็เลยยังเป็นเช่นเดิม"
นอกจากนั้นยังมีความเชื่ออีกว่า บุรุษผู้แต่งงานกับอดีตกุมารีจะอายุสั้นและเสียชีวิตเร็ว ทำให้ผู้ชายมักจะไม่แต่งงานกับกุมารี แต่ก็ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาจะไม่มีเลย
การดูแลจากรัฐบาล หลังกุมารีคืนสู่หญิงธรรมดา :
ธันวา บอกว่า หลังจากสิ้นสุดความเป็นกุมารี รัฐบาลจะส่งคนมาดูแลสุขภาพจิต และการใช้ชีวิต แต่เราไม่ทราบชัดเจนว่าแต่ละคนใครจะเป็นผู้มาดูแล เนื่องจาก ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล จากที่เคยพบเจอด้วยตัวเอง 'เพื่อน' เคยเป็นผู้ดูแล ต้องคอยสอนและชี้แนวทางทุกอย่าง จนกระทั่งอดีตกุมารีใช้ชีวิตได้ตามปกติ
"ในกาฐมาณฑุ มักจะให้ครูที่เคยสอนในวังเป็นผู้ดูแลอดีตกุมารี เพราะเป็นคนเดียวที่กุมารีกล้าพูดคุยด้วยมาโดยตลอด ทั้งสอนให้เดิน สอนใส่รองเท้า สอนข้ามถนน สอนการใช้ชีวิต ฯลฯ"
อยู่ไทยมากว่า 40 ปี ไม่เคยเห็น 'เด็ก' ที่เป็นร่างทรงเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ :
จากประสบการณ์การใช้ชีวิตในประเทศไทยของ 'อัสสชิตะ อวาเล' กว่า 40 ปี เขาบอกกับเราว่า ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์ที่ 'เด็ก' ได้รับการบูชา หรือเป็นตัวแทนของเทพเจ้าในเมืองไทย เคยเห็นแต่การทรงเจ้าของผู้ใหญ่
"แต่เราเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งในประเทศไทย ที่บอกว่าเด็กระลึกชาติ แล้วสามารถบอกข้อมูลได้เป๊ะๆ แต่สำหรับการทรงเจ้า หรือเป็นตัวแทนของเทพเจ้า ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย"
แล้วการสมมติให้ 'เด็ก' สักคนในไทย เป็นตัวแทนแห่งเทพเจ้า ต่างจากที่เนปาลอย่างไร?
อัสสชิตะ แสดงความเห็นว่า ของเนปาลมีมาตั้งแต่โบราณ ความเชื่อเรื่องศาสนา ความเชื่อในเทพเจ้าที่มีอยู่มากมายหลายพระองค์ และความเชื่อในตัวกุมารี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคม แต่ถูกฝังรากหยั่งลึกลงในจิตใจของชาวเนปาล
การพึ่งพิงศาสนาและการบูชาเทพเจ้า ถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ ทุกบ้านที่เนปาลจะมีเทพเจ้าประจำตระกูล ในหมู่บ้านก็จะมีเทพเจ้าประจำหมู่บ้าน เชื่อกันว่าถ้าประพฤติผิดต่อเทพเจ้า จะเกิดเรื่องไม่ดีต่อชีวิต ทรัพย์สิน และความเป็นอยู่
"ส่วนในเมืองไทย ตามความคิดเห็นส่วนตัว เคยได้ยินว่ามีการเข้าทรงเกี่ยวกับเทพเจ้า หรือเทวีองค์ต่างๆ สุดท้ายก็ถูกจับได้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ผมเคยเข้าร่วมพิธีกรรมบางอย่าง ที่เขาบอกว่าจะมอบพลังให้ แต่สุดท้ายก็มีเรื่อง 'ผลประโยชน์' จึงทำให้เราไม่รู้สึกเชื่อ เมืองไทยนับถือศาสนาพุทธและอื่นๆ เป็นเรื่องปกติ แต่อาจจะยังไม่ได้เชื่ออย่างลึกซึ้งต่อเทพเจ้า เหมือนกับที่เนปาล"
"ความเชื่อบางอย่างที่เรามีมาตั้งแต่เด็ก เราเลยเชื่ออย่างสุดใจ เช่น เรื่องกุมารี ที่เรายังมีศรัทธาอยู่เสมอ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่สิ่งใดที่เกิดขึ้นใหม่ เราก็อาจจะไม่เชื่อ หรือต้องใช้เวลานานกว่าจะเชื่อ"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :