ชวนรู้จัก 'ซึมเศร้าซ่อนเร้น' Masked Depression เมื่อรู้สึกเศร้า แต่ไม่อยากบอกใคร สู่การปกปิดไว้ในใจ ไม่ให้แสดงออกมา…
เดี๋ยวนี้ 'ความเศร้า' เป็นเรื่องที่สังเกตได้ยาก คนเราเก็บซ่อนความรู้สึกกันเก่งมากขึ้น บางคนรู้สึกแย่ภายในใจมากแค่ไหน ก็ยังเลือกที่จะปฏิเสธความเจ็บปวด กดทับและปกปิดความรู้สึกเหล่านั้นไว้
หลายต่อหลายข่าวที่เรามักจะเห็นคนใกล้ชิดของ 'ผู้ลาลับ' ให้สัมภาษณ์ว่า "เขาเป็นคนร่าเริง ยิ้มง่าย ไม่คิดว่าจะมีเรื่องทุกข์ที่เก็บไว้ในใจ โดยไม่บอกใคร" นั่นทำให้เราเห็นว่า ภายใต้ 'รอยยิ้ม' อันแสนหวาน อาจเป็นเพียงฉากบดบัง 'ความเศร้าหมอง'
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับ ภาวะ 'ซึมเศร้าซ่อนเร้น' หรือ Masked Depression ผ่านการสนทนากับ 'คุณธนกฤษ ลิขิตธรากุล' หรือ 'คุณคิว' นักจิตวิทยาคลินิกปฏิบัติการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เพื่อจะได้มีข้อมูลติดตัวไว้ ใช้เช็กสุขภาพจิตตัวเองเบื้องต้น รวมถึงเผื่อได้ใช้เช็กใจคนรอบข้าง
...
ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น (Masked Depression) คืออะไร? :
'ซึมเศร้าซ่อนเร้น' เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มี 'โรคซึมเศร้า' แต่ 'ไม่แสดงอาการ' ออกมาชัดเจน หรือยังไม่มีอาการสำคัญของกลุ่มโรคซึมเศร้าแสดงออกมา
คุณธนกฤษ กล่าวว่า พบรายงานจากกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน ทางด้านจิตเวชในต่างประเทศ ที่รายงานไว้ว่า ในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 ได้พบเจอกลุ่มคนที่มี 'ภาวะซึมเศร้าแต่ไม่แสดงออกถึงอาการออกมา' เรียกคนกลุ่มที่มีภาวะเหล่านี้ว่า 'Masked Depression'
Masked แปลว่า การใส่หน้ากาก การหลบซ่อน ก็หมายความว่า พวกเขาเป็นบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าที่ซ่อนอยู่ หรือ ซึมเศร้าแต่ต้องใส่หน้ากากไว้ เพื่อทำตัวเองให้ดูปกติ และแสดงออกให้เห็นว่า 'ตนเองไม่เป็นอะไร'
ซึ่งคุณคิว ได้พบงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาเมื่อ ปี ค.ศ. 2007 เขาบอกกับทีมข่าวฯ ว่า แม้จะเก่า แต่ก็เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ โดยในรายงานระบุไว้ว่า จะพบ Masked Depression ในกลุ่มคนที่มีภาวะซึมเศร้า 6-7 เปอร์เซ็นต์
"ผมมองว่าคนกลุ่มนี้น่าจะมีความทุกข์มากๆ แน่ เพราะนอกจากทุกข์จากอาการแล้ว ยังต้องทุกข์จากการที่จะต้องปกปิดความทรมานใจดังกล่าวไว้" คุณคิวกล่าวอย่างเข้าใจ
ทำความเข้าใจคำว่า Smiling Depression :
หากลองค้นหาข้อมูล 'ซึมเศร้าซ่อนเร้น' นอกจากคำว่า 'Masked Depression' ก็อาจจะพบกับอีกคำหนึ่ง คือ 'Smiling Depression' แล้วคำภาษาอังกฤษ 2 คำนี้ แตกต่างกันอย่างไร?
คุณธนกฤษ บอกว่า Smiling Depression เพิ่งมีการใช้ขึ้นมา เพื่อเรียกกลุ่มคนที่ก็มีความทุกข์ แต่ไม่มีอาการเด่นของโรคซึมเศร้าออกมา และในบางรายยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ ยังเหมือนมีความสุข โดยคนรอบข้างยากที่จะสังเกตได้
"Smiling Depression เป็นคำที่ผมพยายามไปสืบค้นหาที่มาที่ไปแล้ว แต่ก็เป็นคำที่ยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้อย่างเป็นทางการ ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต หรือ DSM (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) แม้ว่าตอนนี้จะมีการปรับปรุงถึงฉบับที่ 5 แล้วก็ตาม"
กาย-จิตใจ-สังคม ปัจจัยที่ทำให้เกิดซึมเศร้า :
ก่อนที่จะมี 'ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น' ก็จะเกิด 'ภาวะซึมเศร้า' ขึ้นมาก่อน โดยทั่วไปหากกล่าวถึงสาเหตุของภาวะซึมเศร้า คุณคิวบอกว่า จะแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ กาย-ใจ-สังคม หรือ Bio-Psycho-Social model ซึ่งบุคคลหนึ่งจะมีอาการซึมเศร้าขึ้นมาได้นั้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่เกิดจาก 3 ปัจจัยรวมกัน…
...
เริ่มต้นกันที่ 'ปัจจัยทางกาย' เดิมแล้ว… อาจจะมีประวัติคนในครอบครัว เคยเป็นมาก่อน ซึ่งไม่ใช่แค่โรคซึมเศร้า แต่ยังหมายถึงโรคทางกายอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความทุกข์ของพวกเขา นอกจากนั้น การทำงานของสารเคมีในสมอง หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็มีส่วนเช่นเดียวกัน
ถัดมา เป็นส่วนของ 'ปัจจัยทางใจ' อาจจะเป็นคนที่เคยมีบาดแผลในใจอยู่แล้ว เช่น โดนทำร้ายร่างกาย-จิตใจ รวมไปถึงลักษณะบุคลิกภาพเดิม ที่อาจจะเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง หรือเป็นคนประเภท Perfectionism ที่ทุกอย่างต้องเป๊ะ! หรือมีลักษณะการคิด การแปลความที่ไปในเชิงลบ
ส่วนสุดท้ายเป็น 'ปัจจัยทางสังคม' ที่อาจจะเจอความเครียดชนิด 'เรื้อรัง' แล้วเครียดเรื้อรังคืออะไร? หากจะให้เข้าใจโดยง่าย มันเป็นความเครียดที่อยู่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งที่อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ซึ่งเจ้าความเครียดนี่แหละ ถือว่าเป็นปัจจัยและตัวการสำคัญ ที่จะทำให้เกิดเรื่องของภาวะทางจิตเวชอื่นๆ ได้อีกเยอะมาก
และปัจจัยทางสังคมอีกอย่าง ที่จะไม่พูดไม่ได้ ก็คือ 'การขาดแหล่งสนับสนุนทางสังคม' ไม่ว่าจะจากเพื่อน หรือครอบครัว
...
"เมื่อปัจจัยเหล่านี้มาประกอบเข้าด้วยกัน และมีเหตุการณ์บางอย่างมากระตุ้น เช่น เหตุการณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นในชีวิต โอกาสที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าก็มีสูงขึ้น"
เกิดภาวะซึมเศร้า แต่ถูกซ่อนเร้นไว้ในจิตใจ :
แล้วเพราะอะไรกันล่ะ? เมื่อเกิดภาวะซึมเศร้าแล้ว ถึงยังมีเรื่องของ Smiling Depression หรือ Masked Depression เข้ามาเกี่ยวข้องอีก
คุณธนกฤษ กล่าวว่า เท่าที่ศึกษาจากข้อมูล และจากคนไข้ที่ตนเองได้เจอมาจากประสบการณ์ตรง จะพบว่า ที่บุคคลมีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น เกิดจาก 'ความรู้สึกว่าตนเองโดนตีตราจากสังคม' เช่น ไม่อยากให้ใครรู้ว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้า เพราะกลัวโดนมองว่าไม่เข้มแข็ง เป็นคนอ่อนแอ หรือกังวลว่าจะโดนปฏิบัติจากคนรอบตัวเปลี่ยนไป หรือโดนสงสัยในการทำงานของเขามากขึ้น
มีความกังวลว่า 'จะเป็นภาระของผู้อื่น' เนื่องจากเดิมแล้ว บุคคลที่มีภาวะซึมเศร้า มักจะมองตนเองในเชิงลบ มองว่าตนเองไม่มีคุณค่า และกังวลว่าจะทำให้คนอื่นต้องมาดูแลตนเอง และจะทำให้คนอื่นรู้สึกไม่สบายใจ พอมองว่าตนเองเป็นภาระ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกผิดเพิ่มขึ้น จนต้องพยายาม 'ปิดบัง' ความรู้สึกเศร้าที่เกิดในใจไว้
...
รวมไปถึงเกิดจากการมีความคิด-ความเชื่อ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเจ็บป่วยทางใจและอารมณ์ใน 'แง่ลบ' ตัวอย่างเช่น บางคนเชื่อว่าการเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวช เป็นการแสดงถึง 'ความไม่เข้มแข็ง' หรือการที่ตนเอง 'ไม่สู้ต่อปัญหา'
"นอกจากนั้นยังมี 'ความเชื่อ' ต่อเรื่อง 'อารมณ์' ว่า ไม่ควรแสดงอารมณ์เชิงลบ เราไม่ควรร้องไห้ การแสดงอารมณ์เชิงลบออกมา ทำให้คนอื่นไม่ชอบหรืออึดอัด เราควรเก็บอารมณ์นั้นไว้คนเดียว"
คุณคิว กล่าวต่อว่า หรือแม้แต่การไปเกี่ยวข้องกับลักษณะบุคลิกภาพเดิม เช่น มีความเป๊ะ! หรือ Perfectionism ซึ่งจากงานวิจัยก็พบว่า นี่เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ภาวะซึมเศร้ายังคงอยู่ แต่พวกเขาจะพยายามไม่แสดงออกมา เพราะกังวลว่าจะโดนมองว่าตนเองบกพร่อง และไม่ยอมรับว่า ตนเองเริ่มมีภาวะความไม่สบายทางใจเกิดขึ้นนั่นเอง
วิธีสังเกตเบื้องต้น และการแสดงออกของ Masked Depression :
นักจิตวิทยาคลินิกปฏิบัติการ กล่าวว่า หากพูดถึง Masked Depression หรือ Smiling Depression ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ที่คนรอบข้างจะสังเกตเห็น เพราะบุคคลเหล่านี้ยังสามารถทำงานและทำหน้าที่ต่างๆ ได้ตามปกติเลย
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยเคยศึกษาในกลุ่มคนที่มีภาวะ Masked Depression พบว่าส่วนหนึ่งจะแสดงอาการที่เกี่ยวข้องกับกายภาพออกมา เช่น เจ็บปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว เหนื่อยล้า ปัญหาเรื่องของระบบการย่อย
คุณคิว กล่าวเพิ่มเติมว่า บางงานวิจัยก็สามารถสังเกตสัญญาณได้จาก 'ความอยากอาหารที่เปลี่ยนไป' คือ อาจจะไม่อยากกินอาหาร หรืออยากกินมากขึ้นกว่าเดิม มีน้ำหนักที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
ยังมี 'อารมณ์เปลี่ยนไป' หลายคนอาจจะคิดว่า ซึมเศร้าจะพบแต่อารมณ์เศร้า แต่อีกอารมณ์หนึ่ง ที่เป็นสัญญาณคือ ความโกรธ ความหงุดหงิด ที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม
"บางคนจะมีความคิดว่าตนเองไร้ค่า หมดหวัง มองตนเองในเชิงลบ เช่น 'เป็นคนไม่มีค่า' 'เป็นภาระคนอื่น' 'มองไปในอนาคตไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้น 'เราไม่เก่ง เราทำอะไรก็ไม่ได้ดี' และอีกมากมาย ซึ่งหากเป็นคนรอบข้าง เราก็สามารถสังเกตได้จากการพูด หรือ การสื่อสารของเขา หรือบางครั้งพวกเขา จะไม่ค่อยอยากทำกิจวัตรประจำวัน ที่เคยทำแล้วมีความสุข พยายามที่จะเลี่ยงการทำกิจกรรมต่างๆ ต้องการอยู่คนเดียว"
กลับมาดูแลตัวเอง ให้จิตใจได้ใช้เวลาทบทวน :
หากใครสังเกตตัวเอง และพบว่าเริ่ม 'เครียด' จนเกินไป สิ่งที่คุณคิวแนะนำให้ทำ คือ 'กลับมาดูแล ใจ-กาย ของตัวเอง'
"ผมมักจะบอกคนไข้ว่า 'Self-care not selfish' เพราะบางคนเชื่อว่าการกลับมาให้ความสำคัญกับตนเอง เป็นการมองเห็นแต่ตนเอง ซึ่งนั้นอาจจะไม่ตรงตามความเป็นจริงมากนัก เพราะกายกับใจส่งผลต่อกัน การกลับมามีเวลาพักกับตนเอง ออกกำลังกาย ฝืนตนเองไปทำกิจกรรมที่เคยชอบ มันเป็นส่วนสำคัญในการกลับมาเยียวยาใจ"
นอกจากนั้น คุณยังต้องให้เวลาตัวเอง ในการทบทวนความคิดความรู้สึก ส่วนหนึ่งที่คนไม่รู้ว่าตนเองเกิดความเครียด อาจจะมาจากการที่เราไม่ได้มีเวลา มาถามตนเองว่า "ตอนนี้กำลังคิดหรือรู้สึกอะไร"
เราใช้ชีวิตไปแบบอัตโนมัติ โดยไม่กลับมาตรวจสอบ หรือให้ความสำคัญกับตนเอง จนอาจจะทำให้เราละเลยความรู้สึก และความต้องการของตน ดังนั้น การกลับมา "รับรู้ความรู้สึกตนเอง" รู้ว่ากำลังรู้สึกอะไร กำลังรู้สึกเศร้า กังวล โกรธ จะเป็นส่วนช่วยให้เราเข้าใจตนเอง และวางแผนในการจัดการใจได้มากขึ้น
หาแรงสนับสนุนทางสังคม หรือเข้าพบผู้เชี่ยวชาญ :
คุณคิว แนะนำต่อว่า ลองหาแหล่งสนับสนุนทางสังคม เพื่อเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ทำให้เกิดอารมณ์เชิงบวกได้ ลองสังเกตคนเศร้าๆ พวกเขามักจะออกห่างจากสังคม ไม่คุยกับเพื่อน กลับไปเก็บตัวอยู่กับตนเองเยอะไป
"เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ยิ่งทำให้ความคิดเศร้าๆ วนอยู่ในหัวมากขึ้น ยิ่งคิดวนในเชิงลบมากขึ้นก็ยิ่งเศร้า เป็นเหมือนวงจร การจะหลุดออกจากวงจรนี้เราอาจจะต้องกิจกรรมทำอย่างที่ได้เสนอไป หรือการพูดคุยกับเพื่อนที่เราไว้ใจก็ช่วยให้เราสบายใจขึ้นได้"
หรือหากใคร ไม่มั่นใจว่าตนเองมีความเสี่ยงไหม หรือกำลังตกอยู่ในโรคซึมเศร้าที่ไม่สามารถบอกใครได้ นักจิตวิทยาคลินิกปฏิบัติการของเราแนะนำว่า การพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพื่อหาแนวทางในการรักษา หรือพูดคุยเพื่อหาวิธีการจัดการภาวะซึมเศร้าร่วมกัน ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เป็นประโยชน์
(เบื้องต้นสามารถทำแบบประเมินที่ได้มาตรฐานของกรมสุขภาพจิต ชื่อว่าแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม หรือ 9Q แต่เป็นแค่การประเมินเบื้องต้น คนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นหรือไม่ ต้องไปพบ "จิตแพทย์" เท่านั้น)
ความเครียด และอารมณ์ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ :
คุณธนกฤษ สรุปส่งท้ายว่า จากที่กล่าวมาทั้งหมด ความเครียดถือว่ามีส่วนมาก ต่อโรคทางจิตเวชหลายๆ โรค ไม่ใช่แค่โรคซึมเศร้า ซึ่งความเครียดของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ถ้าความเครียดถ้าอยู่ในระดับพอดี ก็จะช่วยให้คนเรามีแรงจูงใจ เป็นแรงผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆ ดังนั้น เครียดกลางๆ กำลังดีนะครับ แต่หากเครียดมากเกินไปจนร่างกายแสดงสัญญาบางอย่างออกมา เช่น เริ่มเบื่อไม่อยากทำอะไร ไม่อยากกินหรืออยากกินมากขึ้น เริ่มมีปัญหาการนอน สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ร่างกายแสดงออกมาว่าเกิดความเครียดที่ต้องบริหารจัดการแล้ว
"ในความเป็นจริงแล้ว 'อารมณ์' เป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ ของมนุษย์ ไม่มีใครที่มาบอกเราได้ว่าเราควรจะรู้สึกยังไง หรือไม่ควรรู้สึกยังไง มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรู้สึก มีสิทธิ์ที่จะแสดงอารมณ์ ตราบใดที่เป็นการแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :