แพทย์สมองเตือน 'เสพติดคลิปสั้น’ ทำพฤติกรรมเปลี่ยน เสี่ยงสมองเสื่อม-โรคจิตเวช ยกเคสตัวอย่าง ดูคลิปมากจนเกิดภาพหลอน...

เคยลองสังเกตตัวเองบ้างหรือไม่ ทำไมบางครั้ง เราไม่สามารถจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นาน ทำไปสักพัก ดูไปสักหน่อย อ่านไปสักนิด ก็หลุดโฟกัส จิตใจจดจ่อไม่ได้

หากเคยมีอาการลักษณะนี้ ลองย้อนกลับไปดู 'พฤติกรรม' หรือ 'การใช้ชีวิตประจำวัน' สักนิดหนึ่ง ว่าคุณ 'เสพติด' การดู 'คลิปสั้น' หรือปัดหน้าจอโซเชียลมีเดียแบบเร็วๆ หรือเปล่า เพราะนั่นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้คุณมีอาการแบบที่กล่าวมาข้างต้น

ยังไม่ต้องนึกอะไรไกลมากก็ได้ ลองทดสอบตัวเองก่อนเลยว่า "คุณสามารถอ่านเรื่องนี้จนจบได้หรือไม่?"

วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกคนไปสำรวจตัวเอง กับเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ 'สมอง' และลองเช็กว่า 'คุณเสพติดการดูคลิปสั้นหรือไม่'

หากเสพติด!!! จะส่งผลอย่างไรในอนาคต พร้อมแนะนำวิธีเบื้องต้น ที่จะทำให้คุณห่างจากเรื่องเหล่านี้ได้ ผ่านการพูดคุยกับ 'ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช' แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ 'สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์'

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช
ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช

...

เคสตัวอย่าง เสพติดดูคลิป ชีวิตเปลี่ยน! :

ก่อนจะไปรู้ว่า อาการเสพติดคลิปสั้นเป็นอย่างไร มีสาเหตุใดบ้าง หมอสุรัตน์ได้ลองยกตัวอย่าง 'เคส' ที่เคยพบเจอในชีวิตจริง มาให้ทุกคนได้เห็นกันก่อน

'เคสแรก' ที่คุณหมอยกตัวอย่าง เป็นเรื่องราวของ 'คุณป้า' อายุ 60 กว่าปีคนหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตช่วงวัยเกษียณอยู่ที่บ้าน ในแต่ละวันไม่มีกิจกรรมให้ทำมากนัก จึงใช้ชีวิตไปกับการดูคลิปสั้นๆ ในแอปพลิเคชันหนึ่ง 

โดยปกติแล้ว คุณป้าเป็นคนที่อารมณ์อ่อนไหวง่าย และเป็นคนขี้สงสาร เธอจึงเสพติดการดูเนื้อหาที่ดูแล้วรู้สึกสงสาร หดหู่ เสียใจ ทำอยู่เช่นนั้นประมาณ 4 เดือน

วันหนึ่ง คุณป้ากลายเป็นคนที่ไม่พูดคุยกับคนอื่น ลูกๆ จึงพามาพบคุณหมอ และพบว่าคุณป้ามีอาการ โรคซึมเศร้า หรือ MDD (Major Depressive Disorder) เป็นอาการซึมเศร้าที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง จนเกือบฆ่าตัวตาย ซึ่งนี่เป็นผลจากการเสพติดดูคลิป ในแอปพลิเคชันหนึ่ง…

'เคสที่สอง' เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ชอบดูคลิปเยอะมาก จนกระทั่ง วันหนึ่งลุกขึ้นมาเป็นคนผลิตคอนเทนต์เอง เพราะเกิดภาพหลอน ในหัวว่า มีคนมาสั่งให้ทำคลิป ให้ลงวิดีโอบ่อยๆ จนต้องมานอนแอดมิตในโรงพยาบาล 

เมื่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาล คุณหมอจึงให้ลองงดเล่นโซเชียลมีเดีย และงดดูคลิปสั้นๆ ผลออกมา 'เธออาการดีขึ้น' สิ่งนี้บ่งบอกได้ว่า การดูคลิปนั้นเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการนี้ สันนิษฐานเพิ่มเติมว่า เธออาจจะมีภาวะทางจิตเวชอยู่แล้วก็ได้ แต่ถูกกระตุ้นเพราะเสพติดคลิป 

สาเหตุที่ทำให้ 'เสพติด' คลิปสั้น :

คุณหมอสุรัตน์ กล่าวว่า ไม่ใช่อยู่ดีๆ คนเราจะหันมาสนใจคลิปวิดีโอสั้นๆ แต่ความจริงแล้ว เราเริ่มถูกฝึกตั้งแต่เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต

การเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้เราสมองเรา 'ตื้นขึ้น' คำว่าตื้นขึ้น คือ สมาธิและการจดจ่อนั้นต่ำลง เนื่องจากอินเทอร์เน็ตจะดึงความสนใจ และเวลาของเราไปด้วย เพราะ 'เวลาของเรา = มูลค่าของผู้ผลิต' ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกสะสมมาเรื่อยๆ จนกลายเป็น 'ความเคยชิน'

...

จนกระทั่งวันหนึ่ง มนุษย์มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จากที่เคยดูและอ่านเนื้อหาต่างๆ ได้นาน ก็กลายเป็นชอบดูเรื่องราว 'สั้นๆ' ที่ใช้เวลาไม่นาน หมอสุรัตน์ บอกว่า "คนสมัยใหม่จะไม่จดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนาน มักจะเลือกดูสิ่งที่สั้นๆ แล้วก็เปลี่ยนไปดูเรื่องอื่น โดยเฉพาะคลิปสั้นๆ ที่มีให้เห็นแทบจะทุกแอปพลิเคชัน กลายเป็นสิ่งที่คนชอบกันมาก"

สาเหตุ…

ทีมข่าวฯ สอบถามคุณหมอว่า "เพราะอะไรจึงกลายเป็นแบบนี้"

หมอสุรัตน์ บอกว่า เพราะ คลิปสั้นๆ มีความกระชับ และไม่อารัมภบทมาก ในอันดับแรกคนที่ทำคลิปเขาพยายามทำให้เรา 'สนใจ' ก่อน ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า 'นิวโรมาร์เก็ตติ้ง' (Neuromarketing) ซึ่งเป็นการตลาดที่ใช้หลักการด้านประสาทวิทยา เข้ามาช่วยวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค 

พวกเขาจะใช้หลักการที่เรียกว่า Hook คล้ายกับใช้เบ็ดตกปลาไปเกี่ยว เป็นการพยายามทำอย่างไรก็ได้ ให้ช่วง 10 วินาทีแรก ให้ผู้ชมสนใจเนื้อหาที่ผลิตให้ได้มากที่สุด

...

คราวนี้แหละ! พอผู้ชมสนใจแล้ว ก็จะใช้อย่างอื่นมาประกอบช่วย เช่น ตัวหนังสือที่น่าสนใจ, คำพูดที่น่าสนใจ เป็นต้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่ทำให้ผู้ชมอยากติดตามมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 'ส่วนที่ดึงอารมณ์' หากลองสังเกตพวกคลิปที่ดึงอารมณ์ได้ มักจะเป็นคลิปที่มีอารมณ์ร้าย-ด่าทอกัน และคลิปความสนุก แต่คลิปอารมณ์ร้าย จะดึงคนได้มากกว่าอารมณ์ดี 

อีกส่วนหนึ่ง คือ 'คอนเทนต์ที่น่าสนใจ' เช่น พูดขึ้นตั้งแต่ต้นคลิปเลยว่า "คุณรู้หรือไม่ วิธีการลดความอ้วนมี 3 วิธี" มันก็เหมือนการ Hook คนดูเข้าไป พอถูก Hook แล้ว วิดีโอสั้นๆ เหล่านั้น จะพยายามบีบเนื้อหาต่างๆ ให้มีความน่าสนใจ ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด 

สมองมนุษย์ในยุคอินเทอร์เน็ต :

หมอสุรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน คนสมาธิสั้นกันเยอะขึ้น และมักจะสนใจเรื่องสั้นๆ เช่น เมื่อเล่นอินเทอร์เน็ต หากต้องอ่านบทความ หรืออ่านข่าวยาวๆ มักจะอ่านไม่จบ ยกเว้นคนที่สนใจจริงๆ หรือคนที่ไม่ได้สมาธิสั้นมาก 

...

"มันมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ชื่อว่า The Shallows Brain คำว่า Shallow แปลว่า ตื้น และ Brain แปลว่า สมอง เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสมองในยุคอินเทอร์เน็ต พบว่าคน 'สมองตื้นขึ้น' หมายความว่า สนใจเล็กๆ น้อยๆ สนใจสิ่งใดแต่ไม่สามารถจดจ่อได้นาน 

เขาเอาคนที่เล่นอินเทอร์เน็ต และดูคลิปสั้นบ่อยๆ มานั่งดูคลิปนานๆ ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างเหล่านั้นทำไม่ได้ เพราะไม่มีสมาธิ พอไม่มีสมาธิก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทสมอง 

การสนใจสิ่งใดสั้นๆ กับสนใจนานๆ ใช้สมองคนละส่วนกัน เขาจึงบอกไว้ว่า "คนที่เล่นอินเทอร์เน็ตบ่อยๆ เดี๋ยวคลิกตรงนู้นที ตรงนี้ที จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดภาวะที่เรียกว่า Short Attention Span คือ มีระยะการจดจ่อที่ต่ำลง คิดอะไรไปเรื่อย แต่โฟกัสไม่ได้"

'ความสุขแท้จริง' ของ 'สมองมนุษย์' และกระบวนการใช้ชีวิตที่ดี คือ ต้องมีสมาธิและจดจ่อได้ นั่นจึงจะมีความสุขกับตัวเอง แต่ช่วงที่มาเล่นอินเทอร์เน็ต ดูคลิปสั้นๆ เหมือนกับว่า มนุษย์เราโดนขโมยเวลาไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมอง เพราะสมองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำอะไรแบบนี้

หมอสุรัตน์ กล่าวต่อว่า "สมองของคนถูกพัฒนามาเป็นหมื่นปี ล้านปี แต่ไม่ได้ถูกพัฒนาให้มาเสพติดกับเทคโนโลยี ที่เพิ่งถูกพัฒนาเมื่อประมาณ 10-20 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของ 'ชีววิทยาธรรมชาติ' สมองตามเทคโนโลยีไม่ทัน 

พอ 'เสพติด' การดู 'คลิปสั้น' มันจะกระตุ้นสารเคมีที่เรียกว่า 'โดปามีน' (Dopamine) ที่อยู่ในสมอง สารเคมีชนิดนี้จะทำให้เสพติดเนื้อหาที่ดู แล้วยิ่งไปเจอกับ 'อัลกอริทึม' ที่ระบบวางเอาไว้ ป้อนสิ่งที่เราชอบดูเข้ามา มันจึงเกิดการกระตุ้นเรื่อยๆ และเสพติดในที่สุด

อีกอย่างหนึ่ง คลิปสั้นทำให้เราจดจ่อกับอะไรสั้นๆ แป๊บเดียวก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่น ทำให้สมองกลายเป็นถังขยะ เมื่อนานขึ้นจะทำให้เราเกิดภาวะเครียด ส่งผลระยะยาวกับสมอง อาจทำให้สมองเสื่อม นอนไม่หลับ"

พฤติกรรมเปลี่ยน เสี่ยงสมองเสื่อม และโรคทางจิตเวช :

หมอสุรัตน์ ยืนยันกับทีมข่าวฯ ว่า ปัจจุบันมีงานวิจัย ที่ทำการศึกษาอย่างชัดเจน ถึงผลกระทบของการเสพติดคลิปสั้นในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งคุณหมอได้สรุปผลให้เข้าใจโดยง่าย ดังนี้

ข้อแรก โรคจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทั่วโลกเป็นหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ สูงวัย หรือวัยรุ่น เมื่อเล่นโซเชียลมีเดียเยอะ เวลาที่จะเอาไปเข้าสังคมจริงๆ เช่น ออกไปทำสวน ออกไปอยู่กับธรรมชาติ ก็น้อยลงไปด้วย

"เมื่ออยู่กับโซเชียลมีเดียปุ๊บ แล้วดูคลิปสั้นๆ จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพราะเหมือนสมองถูกควบคุมไปแล้ว มันปรับตัวไม่ทัน พอปรับตัวไม่ทัน ก็เกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า กระบวนการฆ่าตัวตายมากขึ้น ภาวะวิตกกังวลก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน"

ข้อสอง เกี่ยวกับเรื่องของเนื้อหาคลิปโดยตรง บางทีคนดูไม่สามารถควบคุมเนื้อหาที่จะดูได้ เพราะถูกอัลกอริทึมป้อนข้อมูลให้ ซึ่งพวกมันจะป้อนเนื้อหาที่หลากหลาย มาให้แบบรัวๆ สมองเราเสพเนื้อหาที่ต่างกัน อารมณ์หลากหลาย ในระยะเวลาอันน้อยนิด จึงทำให้มันประมวลผลไม่ทัน และเกิดความเครียดไปด้วย 

"เปรียบเทียบกับประชากร 100 คน เราไม่รู้หรอกว่า 100 คน ที่กำลังเสพคอนเทนต์อยู่ ระดับจิตใจของแต่ละคนเป็นอย่างไร บางคนอ่อนไหวง่าย บางคนก้าวร้าว หรือบางคนเป็นกลุ่มชอบ Sexual Harassment แต่พอดูคลิปไปเรื่อยๆ อัลกอริทึมจะกวาดทุกเนื้อหามาให้ดู"

การแสดงออกทางพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป :

หมอสุรัตน์ เน้นย้ำว่า หาก 'เสพติด' การดู 'คลิปสั้น' เป็นระยะเวลานาน จะส่งกับพฤติกรรมของเราอย่างแน่นอน คือ 'จำอะไรไม่ได้' ในอนาคตหากต้องไปทำงาน จะทำแบบไม่มีสมาธิสักเท่าไร 

นอกจากนั้น หากรู้สิ่งใดก็จะรู้แบบตื้นๆ ไม่รู้ลึกหรือรู้จริง ดูเหมือนว่าเป็นคนเก่ง แต่ทำอะไรก็อาจจะไม่เสร็จ ในระยะยาวก็จะมีผลกับสมองอีกด้วย เราจะเป็นคนเครียดง่ายขึ้น เก็บตัวมากขึ้น และในอนาคตจะเป็นโรคทางจิตเวชได้ และก็จะไม่ชอบอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง 

"ตัวอย่าง ในบางแอปพลิเคชัน คุณจะถ่ายรูปโดยการใช้ 'ฟิลเตอร์' ที่ทำให้ดูดีกว่าปกติ ซึ่งนั่นไม่ใช่การอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงๆ และนั่นไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ มันจะส่งผลต่อพฤติกรรม ให้ไม่แสดงภาวะความเป็นจริงของตัวเอง เวลาพูดกับคนอื่น ก็อาจจะไม่พูดความจริง"

คอนเทนต์ 3 ประเภท จากความคิดเห็นของหมอสุรัตน์ :

เนื้อหาของคลิปวิดีโอนั้นมีจำนวนมาก และหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก แต่โดยส่วนตัวแล้ว หมอสุรัตน์ ขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก 

หนึ่ง 'คอนเทนต์จรรโลงโลก' มีเนื้อหาที่ให้ข้อมูลสุขภาพ ให้กำลังใจชีวิต ให้กระบวนการคิดต่างๆ 

สอง 'คอนเทนต์ที่เอาสนุกเป็นหลัก' คอนเทนต์ประเภทนี้ไม่มีพิษภัยอะไร แต่เน้นสนุกอย่างเดียว มันทำให้คลายเครียดได้ก็จริง แต่ก็ไม่ใช่การคลายเครียด ที่เราต้องออกไปทำกิจกรรมทางกาย สุดท้าย เราก็เสพติดการดูคลิปไปอีก

ส่วนข้อที่ หมอสุรัตน์ เน้นหนักๆ และมองว่า 'น่าจะ' เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของคน คือ สาม 'Bad Content' คุณหมอ กล่าวว่า คอนเทนต์ประเภทนี้เป็นการทำให้คนสุขภาพจิตเสีย เช่น พูดด่าทอ แสดงความโหดร้าย พฤติกรรมตบตี คำผรุสวาทต่างๆ

"คอนเทนต์นี้อาจจะไปขึ้นให้คนที่มีภาวะทางจิตเวชเห็น มันอาจจะทำให้เกิดการกระตุ้นอาการทางจิตเวชได้ง่ายขึ้น เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งเด็กรุ่นใหม่เป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะขึ้น เพราะสมองไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น

ปัญหาก็คือว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนๆ หนึ่งมีปัญหาทางจิตเวชเป็นพื้นฐานเดิม ไปเจอ Bad Content แล้วดันชอบขึ้นมา มันจะเกิดการกระตุ้นเป็นวงจรวนๆ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาโดยรวมทั้งหมด หากยังเป็นคลิปสั้นๆ ก็ยังส่งผลไม่ดีในระยะยาว เพราะทำให้ Short Attention Span เราจะทำอะไรได้ไม่นาน และไม่สามารถจดจ่อกับมันได้"

คำแนะนำห่างไกล 'การเสพติด' :

หมอสุรัตน์ ได้ให้คำแนะนำ เพื่อการแก้ไข และป้องกันการเสพติดไว้ว่า ระยะเวลาโดยรวมทั้งวัน ไม่ควรเล่นเกิน 2 ชั่วโมง เพราะถ้าเกิน 2 ชั่วโมง แสดงว่า ระยะเวลาในการทำอย่างอื่นจะลดลง แล้วสมองจะถูกชักนำให้จดจ่อกับอะไรได้ลดลง ในส่วนนี้ไม่รวมระยะเวลาการอ่านข่าวยาวๆ หรืออ่านอีบุ๊ก แต่หมายถึงการดูคลิปสั้นๆ อะไรไวๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองตื้น 

หากถามว่าระยะเวลาใน 2 ชั่วโมงนี้ควรทำอย่างไร คุณจับเวลาไปเลยก็ได้ ว่าวันนึงคุณเล่นโซเชียลมีเดียเท่าไร แล้วประเมินตนเองก่อนในระยะแรก อย่างต่อมา แนะนำว่าให้พฤติกรรมที่ดีขโมยเวลาของคุณ เช่น ออกกำลังกาย ออกไปพบเพื่อน 

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง เป็นกระบวนการ 'หลอกอันกอริทึม' หมายความว่า อัลกอริทึมจะชอบส่งเนื้อหาต่างๆ มาให้ ซึ่งบางทีอาจจะส่ง Bad Content มาให้ 

"ถ้าหากเจอเนื้อหา เรื่องราวดีๆ จรรโลงชีวิต ให้กดติดตามและดูนานๆ เพื่อให้อัลกอริทึมคิดว่าเราชื่นชอบเนื้อหาลักษณะนี้ ส่วน Bad Content หรือเนื้อหาที่ทำให้ดูแล้วเกิดความเครียด ให้กดปิดหรือเลื่อนผ่านไป เนื้อหาสนุกสนานดูได้ แต่ไม่ควรเกิน 20% ของเนื้อหาทั้งหมด"

ส่วนในเด็กเล็ก ผู้ปกครองอาจจะต้องให้คำแนะนำ และจำกัดเวลาในการดู โดยการใช้คำพูดที่ดีและสื่อให้เห็นว่า 'เราพยายามเข้าใจเขาอยู่' ต้อง Deep knowledge insight 'สอนด้วยไม่ใช่ด่าอย่างเดียว' ลองนั่งดูไปกับเด็ก และนั่งวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ไปด้วยกัน

"คลิปสั้นบางคลิปมีประโยชน์กับตัวเรา ไม่มีอะไรแย่ไปเสียทั้งหมด แต่มนุษย์ถูกพัฒนาให้อยู่กับสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น อยากให้แบ่งเวลาให้ดีๆ อย่าลืมออกไปใช้ชีวิตข้างนอกบ้าง สุขภาพใจ สุขภาพจิตก็จะดีขึ้นเอง"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :