พูดคุยกับ “ผู้พันเบิร์ด” ปมปัญหา “เด็กช่าง” ไล่ตีกัน ชี้ “ไม่มีใครทำลายศักดิ์ศรีได้ นอกจากตัวเอง” สุดท้ายทุกคนจะมุ่งสู่เส้นทางเดียวกัน ใครไม่หยุดความรุนแรง คนนั้นจะตกขบวนรถไฟแห่งชีวิต...
“ไม่มีใครทำลายศักดิ์ศรีเราได้ นอกจากตัวเราเอง...”
นี่คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์พิเศษ โดยทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ “ผู้พันเบิร์ด” หรือ พล.ต.วันชนะ สวัสดี รองโฆษกกองทัพไทย ถึงปัญหา เด็กช่างตีกัน จนกลายเป็นปัญหายืดเยื้อของสังคม เลือด และชีวิตของคนในสถาบันการศึกษาสายอาชีพต้องสังเวย ผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ต้องจากไปก่อนวัยอันควร ทั้งที่เขาเหล่านั้นยังสามารถทำประโยชน์ให้กับตัวเอง ญาติมิตร หรือแม้แต่ประเทศชาติได้
ที่ผ่านมา พล.ต.วันชนะ ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองของโครงการ “สุภาพบุรุษอาชีวะ” เดินสายบรรยายพบปะน้องๆ และวันนี้ พล.ต.วันชนะ จะมาบอกเล่า เบื้องหลังการทำงาน แนวทาง และความพยายามในการมุ่งสลายความขัดแย้ง สู่ “เป้าหมาย” ในอาชีพ
พล.ต.วันชนะ เล่าว่า ความจริง เด็กที่เข้ารับการฝึก ส่วนมากจะเป็นเด็กดี เข้าเรียนตามปกติ... ซึ่งคำถามคือ แบบนี้จะเข้ารับการฝึกทำไม ผู้พันเบิร์ด รีบอธิบายความหมายคือมีบางส่วนที่เคยมีปัญหาเรื่องการทะเลาะวิวาท เล็ดลอดเข้ามาฝึกด้วย การทำกิจกรรมนั้น ไม่ได้มุ่งเป้าเปลี่ยนทัศนคติทันที แต่เป็นการสร้างโอกาสอื่นๆ ให้กับน้องๆ
...
ดังนั้น การทำกิจกรรม ถือเป็นการเปิดกว้างให้เด็ก ได้รับรู้ถึงมุมมองชีวิต และโอกาสที่กว้างมากขึ้น
คำถามต่อมา...ประโยชน์ของโครงการนี้คือ “ป้องกันเด็กตีกัน” ได้ไหม... คำตอบของคำถามนี้ คือ ความพยายามนำเด็กออกมาจากวงจรนั้นต่างหาก เพื่อให้เขาปฏิเสธการตีกัน รวมถึงวิธีการ “เอาตัวรอด”
“ปัญหาที่เกิดขึ้น บางส่วนมาจาก “น้องๆ” ที่ไม่ได้มาเรียน เกเรอยู่บ้าง ส่วนนั้นเรามีกระบวนการอย่างอื่น คือ การไปทำกิจกรรมกับรุ่นพี่ 'อาชีวะ' ด้วยกัน ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนที่ทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ชั้นนำระดับประเทศ จะเป็นกุญแจสำคัญในการ 'ดึง' น้องกลุ่มที่อาจจะเกเร ให้กลับมาเรียน ดังนั้น โครงการที่กองทัพช่วยกันดูแลนั้น จึงเป็นการทำงานกับ 2 กลุ่มเป้าหมายนี้ไปพร้อมกัน ซึ่งโครงการที่ทำนั้น...ไม่สามารถแก้ไขได้ 100%”
สำหรับตัวอย่างกิจกรรม ที่ พล.ต.วันชนะ ยกตัวอย่างในโครงการ อาทิ วิชาประวัติศาสตร์ การป้องกันตัว การสร้างทัศนคติที่ดีในการดำเนินชีวิต การแนะแนวอาชีพ โดยมีห้างร้านต่างๆ เข้ามาร่วม, การทำงานในอนาคต (ทั่วไป), ความยากลำบากในการทำงาน ที่ผู้จ้างต้องการ เพื่อเสริมประสบการณ์ให้กับเด็กๆ
“สิ่งที่เราทำ ไม่ได้มุ่งเป้าเฉพาะอาชีวะ แต่นักเรียน นักศึกษาทั่วไป เราก็ทำ”
โครงการที่ทำนี้ มีลักษณะเบี่ยงความสนใจให้มามุ่งทำงานในอนาคต หรืออาชีพ นอกเหนือเรื่อง ศักดิ์ศรีสถาบัน? พล.ต.วันชนะ บอกว่า เราจะไม่ค่อยพูดเรื่องศักดิ์ศรี แต่สิ่งที่เราเน้น คือ อาชีพ ความมั่นคงในอนาคตของน้องๆ
“เราไม่ได้บังคับให้เขาไปเป็นแบบนั้น แบบนี้ แต่เราไปเพื่อให้เห็นโอกาสชีวิตที่มากขึ้น ส่วนการตัดสินใจในการดำเนินชีวิตของเด็กนักเรียน ขึ้นอยู่ที่ตัวเด็กหรือแนวทางของโรงเรียนอยู่แล้ว บนหลักพื้นฐานในการคิดหรือทำกิจกรรมตามหลักสูตร”
แนวทางการแก้ปัญหาเด็กนักเรียนตีกัน...
รองโฆษกกองทัพไทย พล.ต.วันชนะ ชี้ว่า ปัญหาเด็กนักเรียนตีกันนั้น มี “ผลทางอ้อม” กับงานด้านความมั่นคง ดังนั้น สิ่งที่เราทำ คือ “เรา” สามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เช่น ไปจับมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพ เช่น โรงเรียนในสังกัดอาชีวะ เขาจะรู้ว่าปัญหาเด็กช่างตีกัน มันมีสาเหตุมาจากอะไร เขาจึงมีหน้าที่เป็น “แม่งาน” หลัก ส่วนเราทำหน้าที่สนับสนุน
การพูดคุยกับหน่วยงานอาชีวะ เมื่อวานนี้ (21 พ.ย.) ปัญหาหลักของนักเรียนตีกัน คือ ยังคงมาจากประเด็นเดิม และเด็กมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งไม่ได้เกเร อีกกลุ่มหนึ่ง จะบอกว่าเขา “เกเร” ก็พูดไม่ได้เต็มปาก เพราะมันมีเรื่องของการชักจูง บวกกับเขาเป็นวัยรุ่น อยู่ในวัยคึกคะนอง ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาเวลานี้ ก็เป็นวิธีการเดิม คือ ให้รุ่นพี่ดึงพวกเขากลับมา อย่างน้อย ทำให้เด็กเหล่านี้เรียนให้จบ
...
“ไม่ว่าเวลานี้คุณจะเกเรขนาดไหน ท้ายที่สุด ปลายทาง พวกคุณจะเข้าสู่ระบบ 'การทำงาน' ต้องไปหาอาชีพ ทำมาหากิน เราพยายามทำให้เขาเห็นว่า 'ชีวิต' มันก็แค่นี้”
ฉะนั้น...การพบปะรุ่นพี่ ได้ทำกิจกรรมหลากหลาย กีฬา ดนตรี จิตอาสาลงพื้นที่ทำประโยชน์ให้สังคม เท่าที่ได้สัมผัสน้องๆ ไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร เพียงแต่เขาชอบแสดงออก และมีพลังสูง หลายครั้งที่เราพาเขาไปช่วยประชาชน เขาช่วยเต็มที่ เป็นหัวแรงในการคิดและลงมือทำ เรียกว่า ไม่จบไม่เลิก ทักษะงานช่างของเขา สามารถทำประโยชน์ได้มากมาย ทำให้ชาวบ้านที่ได้เห็นก็รู้สึกประทับใจ และเมื่อถึงเวลาที่เขาจะมีระเบียบวินัย เด็กเหล่านี้จะมีด้วยตัวเอง”
วิถีความรุนแรง ที่สุดแล้ว ชีวิตตกขบวนรถไฟแห่งชีวิต
พล.ต.วันชนะ กล่าวว่า หากดูสถิติเด็กอาชีวะตีกันในปัจจุบัน มันลดลงมาก แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงกลับมาตีกันอีก คงต้องให้หน่วยงานที่เขาดูแลเป็นคนสรุป และที่ผ่านมา การดูแลเรื่องนี้เขามีศูนย์ดูแลความปลอดภัยของอาชีวะ คอยสอดส่องอยู่ มีครู และนักเรียน ลงพื้นที่ ตรวจตราทุกวัน ซึ่งคุณครู ส่วนหนึ่งที่มาคอยสอนอาชีวะนี้ ก็คือ รุ่นพี่ที่กลับมาเป็นครู ถือเป็นเรื่องที่เขาเสียสละมาก
หลายฝ่ายมองว่า “อาชีวะ” ตีกันไม่เลิก ชาวบ้านหลายคนแสดงความเห็นว่า “ควรยกเลิก” เรียนไปเลย ส่วนตัวมองเรื่องนี้อย่างไร พล.ต.วันชนะ มองว่า ความเห็นของประชาชนนั้นเกิดขึ้นได้ แต่การตีกันแบบนี้ ก็เชื่อว่าเขาไม่อยากทำแบบนี้ตลอด
...
“หากใครยังใช้วิธีการรุนแรงแบบนี้ตลอด สุดท้ายจะตกขบวน ความหมาย คือ แทนที่จะเปลี่ยนแนวคิด มาตั้งใจเรียน แล้วมาทำมาหากิน ดังนั้น หากเขาไม่รีบกลับมา...เขาก็จะตกขบวนรถไฟแห่งชีวิต ที่สำคัญคือ “อาชีวะ” นั้น คือฟันเฟืองใหญ่ของประเทศชาติ เราต้องให้เกียรติเขา เนื่องจากเขาก็เป็นฟันเฟืองใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพราะเป็นภาคแรงงานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศ ถ้าขาดแรงงานกลุ่มนี้ไปประเทศเราเดินต่อยาก”
เมื่อถามว่า จะมีมาตรการอะไรในอนาคตเร็วๆ นี้ไหม ผู้พันเบิร์ด บอกว่า ตอนนี้ทางกลุ่มอาชีวะกำลังพูดคุยหามาตรการกันอยู่ บางเรื่องตกผลึกกันแล้ว เช่นว่าจะทำกิจกรรมอะไร ยกตัวอย่าง เมื่อปี 2565 ทางกลุ่มอาชีวะมีการเซ็นข้อตกลงความร่วมมือกับทางกองทัพ ในเรื่อง วิชาประวัติศาสตร์ โดยมีรายละเอียดว่า ในโรงเรียนจะทำอะไร นอกโรงเรียนจะมีกิจกรรมอะไร
ผมไปบรรยายอบรมในหลายๆ ที่ และปีนี้น่าจะสานต่อ โดยมีการพูดคุยกับ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาไว้แล้ว เพื่อสานต่องานให้เป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนคนที่มีขีดความสามารถให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่คิด
เมื่อถามว่า ทำไมต้องวิชาประวัติศาสตร์...ประวัติศาสตร์จะช่วยให้เด็กไม่ตีกันได้หรือ... พระเอกหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวร กล่าวว่า คำว่า “ประวัติศาสตร์” นั้น ไม่ได้หมายถึงประวัติศาสตร์ยุคเก่าก่อนขนาดนั้น เพียงแต่เป็นประวัติศาสตร์แบบกลางๆ เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์สถาบัน ซึ่งประวัติศาสตร์เหล่านั้น ก็อาจจะเชื่อมโยงมาถึงตัวน้องๆ เอง ซึ่งวันหนึ่งก็จะเป็นประวัติศาสตร์ของตัวเอง
“เราเขียนประวัติตัวเอง มันก็คือประวัติศาสตร์ สิ่งที่เราจะให้เขาจากวิชาประวัติศาสตร์ คือ การสอนให้เขารู้จักเคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น และนำไปสู่การไม่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น การได้คุยกับน้องๆ เรื่องราวเหล่านี้ ส่วนตัวสังเกตว่าน้องๆ ก็ดีขึ้น รู้จักการให้เกียรติกันมากขึ้น คิดถึงส่วนรวมด้วย แต่การทำเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องทำซ้ำๆ และในพื้นที่เดิมๆ ด้วย โดยมีการเปิดโอกาสให้เขาเสนอโครงการที่อยากจะทำ และได้ให้ลงมือทำ”
...
ช่วงท้าย พล.ต.วันชนะ กล่าวว่า การกระทำความผิดต่างๆ เป็นเรื่องของบุคคล อย่าเหมารวม ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักเรียนอาชีวะ ก็ควรทำตัวให้เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของชาติ ในขณะที่กองทัพ ก็พร้อมให้ความร่วมมือทุกด้าน ไม่ว่าหน่วยงาน หรือตัวน้องๆ เองขอมา ก็พร้อมให้ความร่วมมือ
เสียดายหรือไม่...ปัญหาเด็กนักเรียนสายอาชีวะตีกัน ทำให้คนเลือกเรียนสายนี้น้อยลง พล.ต.วันชนะ ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง ที่คนเลือกเรียนสายนี้น้อยลง...ไม่มีใครทำลายศักดิ์ศรีเราได้ นอกจากตัวเราเอง การที่เราจะมีศักดิ์ศรีได้ เราต้องช่วยเหลือกัน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ