บุกโรงงานไฟเซอร์เบลเยียม กับแนวทางในอนาคตของวัคซีน วัคซีน 2 in 1 ป้องกันโควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ในเข็มเดียว วัคซีนงูสวัด และ RSV ฉีดให้กับแม่ที่ตั้งครรภ์ ...  

ตั้งแต่ปลายปี 2562 “โลก” ได้รู้จักกับ “ไวรัส” ที่มาจาก “อู่ฮั่น” และต่อมาได้ถูกจำกัดชื่อ คือ “โควิด-19” โรคติดต่อร้ายแรงและอุบัติใหม่แสนน่ากลัวที่ไม่มียารักษา และแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว หากใครได้รับเชื้อโรค ทางเดียวที่ทำได้คือการรักษา “ตามอาการ” 

จากความน่ากลัวของเชื้อโรคนี้ หนทางต่อสู้ที่ “โลก” หาทางรับมือ คือการไล่ตามให้ทัน ด้วยการวิจัยและพัฒนา “วัคซีน” 

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ระบุ สถิติการฉีดวัคซีน ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2566 (อัปเดตล่าสุดแล้ว) พบว่าคนไทยที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 146,758,556 โดส ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีผู้ฉีดวัคซีน 1 เข็ม จำนวน 57.6 ล้านคน จำนวน 2 เข็ม 54 ล้านคน และเข็มบูสเตอร์เข็มที่ 3 จำนวน 27.3 ล้านคน เข็มที่ 4 จำนวน 6.5 ล้านคน เข็มที่ 5 จำนวน 1 ล้านคน และเข็มที่ 6 จำนวน 6.8 หมื่นคน

...

จากตัวเลขดังกล่าว คุณสังเกตเห็นอะไร... มันคือ “ตัวเลข” การฉีดวัคซีนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด 

แล้วมันแปลว่าอะไร... ทำไมคนไทยเลือกฉีดวัคซีนน้อยลง คำตอบของคำถามนี้อาจจะมีหลายเหตุผล แต่โดยรวมน่าจะเพราะ “เรา” มีภูมิคุ้มกันกันแล้ว หาก “ติดเชื้อ” อาการของโรคก็จะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต (ยกเว้นคนที่มีโรคประจำตัว หรือเข้าข่าย 608) เป็นที่มาของการประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น 

คำถามต่อมา...เรายังจำเป็นที่ต้องฉีดวัคซีนโควิดหรือไม่...? และหากมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันโควิด และโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ระบาดตามฤดูกาล เราจะฉีดกันหรือไม่...

โรงงาน “Pfizer” เมือง Puurs สายการผลิต “วัคซีน” ที่ใหญ่สุดในยุโรป 

เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้เดินทางไปดูงานที่โรงงานไฟเซอร์ ที่เมือง Puurs ประเทศเบลเยียม ซึ่งถือเป็นโรงงานที่มีสายการผลิตและบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งถือเป็นกำลังหลักของบริษัทวัคซีนระดับโลก ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ครั้งที่มีการระบาดรุนแรง ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบัน โรงงานแห่งนี้เป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรซัพพลายเออร์มากกว่า 100 ราย โดยมียุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ วัคซีนอายุรศาสตร์, โรคอักเสบและภูมิคุ้มกัน, โรคหายาก, ยาต้านการติดเชื้อ และมะเร็ง 

เราใช้เวลาเดินทางกว่า 17 ชั่วโมง (รวมต่อเครื่อง) กว่าจะถึงกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อไปถึงสนามบิน สัมผัสแรกที่แตะผิวหนังคืออากาศเย็น สภาพอากาศโดยรวม 3 วัน จะเฉลี่ยอยู่ที่ 7-12 องศาเซลเซียส ขณะที่ “แสงแดด” ก็ไม่ค่อยเจอเท่าไร ทำให้ภาพรวมที่ “ผู้เขียน” ได้สัมผัส รู้สึกว่า “สภาพอากาศ” หม่นๆ ซะเหลือเกิน...

Peter Lundholm Senior Director, EMEA Supply Chain & Customer Experience, Pfizer Global Supply Chain เล่าว่า ไฟเซอร์ มีประวัติศาสตร์กว่า 170 ปี และที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาเครือข่ายผลิตชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลก ปัจจุบันมีโรงงานผลิต 36 แห่ง มีศูนย์กระจายสินค้า 11 แห่ง มีพนักงานกว่า 3 หมื่นคน ขณะที่ Puurs มีพนักงานราว 5,000 คน ทั้งนี้ สามารถกระจายยาและวัคซีนมากกว่า 5 หมื่นล้านโดส ไปยัง 180 ประเทศ และเข้าถึงผู้ป่วยกว่า 1.3 พันล้านคน หรือ 1 ใน 6 ทั่วโลก 

ในช่วงการระบาดหนัก มีความต้องการยาสูงขึ้นกว่า 200% โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยหนัก โดยที่ผ่านมาได้มีการทดสอบการส่งวัคซีนที่ต้องอาศัยระบบความเย็นพิเศษ ซึ่งการส่งนั้นจะมีเครื่องมือติดตามด้วย โดยมีเป้าหมายการส่งไปถึงมือผู้ใช้งานภายใน 1-4 วัน และมีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 99% 

จากการเดินดูโรงงานไฟเซอร์ เจ้าหน้าที่ให้เปลี่ยนชุด ใส่ชุดคลุม รองเท้า และศีรษะ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเชื้อโรคปนเปื้อน เจ้าหน้าที่ของไฟเซอร์ เผยว่า กระบวนการการผลิตวัคซีนเกือบ 100% ใช้กระบวนการจากเครื่องจักรทั้งสิ้น พร้อมมีการถ่ายภาพ ตรวจสอบการปนเปื้อนทุกขั้นตอน เรียกว่าเป็นโรงงานปลอดเชื้อ 100% ซึ่งสิ่งที่ทีมข่าวฯ ได้เดินชมอยู่ในส่วนบรรจุภัณฑ์เป็นหลัก โดยความสามารถของโรงงานนี้ สามารถผลิตวัคซีนได้นาทีละ 600 โดส ลองคำนวณกลมๆ ก็ 8 แสนกว่า เกือบ 9 แสนโดส/วัน 

...

Mark Fletcher
Mark Fletcher

วัคซีน โควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ ในเข็มเดียว 

สำหรับสิ่งที่ไฟเซอร์กำลังทำ และจะนำมาใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ Mark Fletcher the Lead, Emerging Markets Region Medical Affairs Respiratory Vaccines ของไฟเซอร์ ระบุว่า “ไข้หวัดใหญ่” เปรียบเสมือนจอกศักดิ์สิทธิ์ของวิทยาศาสตร์มาหลายทศวรรษ และทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ นักวิทยาศาสตร์ก็มักเลือกที่จะทดสอบกับไข้หวัดใหญ่ 

Mark ระบุว่า ข้อดีของเทคโนโลยี mRNA คือการผสมผสาน เรียกว่า หากมีการฉีดวัคซีนเพียงครั้งเดียว ก็สามารถกำหนดเป้าหมายเกี่ยวกับไวรัสได้หลายชนิด ด้วยเหตุนี้ เราจึงใช้ประโยชน์แบบ 2 in 1 ด้วยการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ภายในเข็มเดียวกัน และจากการทดสอบพบว่า ผู้ฉีดวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B และโควิด-19 

หนึ่งในทีมของไฟเซอร์ ให้ข้อมูลว่า การผสมวัคซีนหลายชนิดรวมกันนั้น หากเป็นเทคโนโลยีแบบเชื้อตายนั้นสามารถทำได้ยาก เนื่องจากจะส่งผลข้างเคียง คือ เวลาฉีดจะทำให้รู้สึกเจ็บมาก เกิดอาการบวมแดง แต่สำหรับ mRNA จะใช้ปริมาณที่น้อยกว่า ผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอน ทำให้มีความปลอดภัยที่สูงกว่า  

...

ด้าน Julia Spinardi Senior Medical Director for Covid-19, Emerging ให้ข้อมูลว่า เป้าหมายระยะยาวของไฟเซอร์ และพันธมิตร BioNTech นั้น การสร้างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี mRNA เนื่องจากสามารถลดเวลาในการพัฒนาได้มาก โดยในช่วงเดือนกันยายน 2022 นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มทดลองทางคลินิกระยะ 3 กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ด้วยเทคนิค mRNA กับอาสาสมัคร ราว 36,000 คน กระจายกว่า 200 แห่ง ในช่วงการระบาดในสหรัฐฯ 

วัคซีน RSV และงูสวัด 

นอกจากวัคซีนโควิดแล้ว ทางไฟเซอร์ได้มีการพัฒนาวัคซีนในการป้องโรค RSV ซึ่งส่วนมากจะมีการระบาดในเด็ก โดยพบว่ามีเด็กทั่วโลกป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจจาก syncytial virus หรือ RSV ปีละกว่า 33 ล้านคน โดยส่วนมากจะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับมารดาของเด็กขณะตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 32 ถึง 36 สัปดาห์ ซึ่งเวลานี้เริ่มมีการใช้งานในสหรัฐฯ แล้ว โดยเป็น เป็นวัคซีน RSV prefusion F (RSVpreF) ชนิดไบวาเลนท์ โดยป้องกัน เชื้อ RSV ในทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน 

...

นอกจากนี้ ยังมีแผนการผลิตวัคซีนโรค “งูสวัด” ด้วยเทคโนโลยี mRNA โดยมีการประกาศเริ่มทดลองระยะ 1 และ 2 โดยให้ชื่อวัคซีนนี้ว่า Varicella Zoster Virus modRNA (VZV modRNA) โดยจะใช้อาสาสมัครที่ร่างกายแข็งแรง 900 คน อายุ 50-69 ปี ในระยะที่ 1 เพื่อหาสูตรและขนาดวัคซีนที่เหมาะสม

Professor Tikki Pangestu
Professor Tikki Pangestu

วัคซีน ยังเป็นสิ่งจำเป็น 

ในวงการพูดคุยนั้นยังมีศาสตราจารย์รับเชิญ ประกอบด้วย Professor Tikki Pangestu Visiting Professor, Yong Loo Lin School of Medicine, National University of Singapore อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบายขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเนื้อหาสรุปว่า ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนโควิดทั่วโลกแล้วกว่า 1.33 หมื่นล้านโดส และแม้ปัจจุบันความรุนแรงของโรคจะลดลง แต่ “วัคซีน” ก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่ เพราะจากข้อมูลในปีแรกๆ ของการระบาด พบว่าการฉีดวัคซีนสามารถหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตได้กว่า 20 ล้านคน (ข้อมูลจาก 185 ประเทศ) นอกจากนี้ ยังช่วยลดงบประมาณด้านสาธารณสุขกว่า 1.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อโควิดแล้วมากกว่า 700 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 6 ล้าน การกลายพันธุ์ครั้งใหม่จะเป็นการแพร่กระจายไวรัส ฉะนั้น วัคซีน จึงถือเป็นสิ่งจำเป็น 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ที่มารูป : ไฟเซอร์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ