ไขข้อสงสัย ดราม่า 'สาวติด HIV' แพทย์ชี้ One Night Stand เสี่ยงติดเชื้อ แนะป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์...
จากกรณีที่มีนักศึกษาสาวโพสต์เรื่องราวว่าตน 'มีเชื้อ HIV ตั้งแต่กำเนิด' แต่เกิดอกหัก จึงไปเที่ยวสถานบันเทิงยามค่ำคืน และได้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายแทบจะทุกครั้งที่ไป ตลอดระยะเวลากว่า 7 เดือน ตอนนั้นตนเองไม่ได้คิดถึงอนาคตสักเท่าไร แต่ขณะนี้รู้สึกผิดบาปกับสิ่งที่ทำลงไป จึงออกมาโพสต์เตือนให้คนที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับเธอไปตรวจหาเชื้อ HIV
หญิงสาวระบุข้อความว่า...
"คิดอยู่นานว่าจะโพสต์ดีมั้ย คือเราเรียนอยู่ปี 2 จะขึ้นปี 3 ค่ะ เริ่มเที่ยวครั้งแรกช่วงเดือนเมษายนเพราะอกหัก ไปเที่ยวทีไรก็จะได้ One Night Stand ตลอดค่ะ และที่รู้สึกผิดที่สุดเลยคือเราเป็น HIV ตั้งแต่กำเนิด สงสารคนที่เคยมีอะไรกับเรา ขออโหสิกรรมให้เราด้วยนะ ตอนนี้เราอยากหนีไปบวชชีที่ไหนไกลๆ ไม่อยากเจอใครเลย
มีภาพเข้ามาในหัวว่าผู้ชายเขาก็จะต้องมีครอบครัวในอนาคต เรากังวลว่าเขาจะติดเชื้อ เราไม่อยากให้แฟนและลูกในอนาคตเขาต้องมาเจออะไรแบบเราค่ะ ที่ผ่านมา 7 เดือน เราเที่ยวแทบทุกวัน แต่ที่ไปบ่อยก็คือผับข้างปั๊มน้ำมัน คือ เรากินยาทุกวัน แต่ก็ดื่มเหล้าทำให้เชื้อดื้อยาค่ะ เลยขอสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ทำแบบนี้อีกแล้ว จะรักษาตัวเอง จะตั้งใจเรียนให้จบ คนที่เรานัดกันในผับถ้ามาเจอข้อความนี้ เราอยากให้ทุกคนไปตรวจด้วย เพราะตอนนี้เราก็มีภาวะแทรกซ้อนเลยทำให้ดื่มไม่ได้อีก เป็นห่วงนะคะ"
...
เมื่อโพสต์ไปแบบนั้น จึงกลายประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ ที่มีคนให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก
'ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล' เลขาธิการสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า "โดยปกติแล้ว ถ้ามีเชื้อ HIV อยู่ในร่างกาย แต่กินยาต้านไวรัสสม่ำเสมอ และเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถ้าวัดเชื้อในเลือดไม่ได้ โอกาสที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่นนั้นน้อยมาก หรือแทบจะไม่มี เรียกว่า U=U อันนี้เป็นโดยหลักการ"
กินเหล้าแล้วเชื้อดื้อยานั้นไม่จริง! :
ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวว่า การดื้อยา แปลว่า ไวรัสในเลือดที่เคยคุมได้กลายเป็นคุมไม่ได้ จนมันโผล่ขึ้นมาในเลือด ดังนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ แต่ประเด็นที่สาวนักศึกษาโพสต์ว่า 'กินเหล้าแล้วทำให้ดื้อยา' นั้นไม่จริงเลย เพราะโอกาสดื้อยา เกิดจากการที่ผู้มีเชื้อไม่กินยา หรือกินไม่สม่ำเสมอ การกินเหล้าไม่ใช่สาเหตุหลัก
"ต้องตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขาโพสต์กลับไปว่า เขาไม่ไปรักษาอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า เพราะถ้าคุณกินยาต่อเนื่อง แล้วมาถามหมอว่ากินเหล้าได้ไหม เราก็ตอบเลยว่ากินได้ ความสำคัญของยาต้านไวรัส คือ ต้องกินให้ครบ กินให้ตรงเวลาทุกวัน ถ้ากินยาไม่ตรง ไม่ครบ ก็มีโอกาสเสี่ยง"
ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยเสี่ยงไหม? :
สำหรับคำถามข้อนี้ ทาง ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวกับเราว่า "ต้องรู้เหตุการณ์จริงทั้งหมด จึงจะประเมินได้ว่าเสี่ยงหรือไม่ และถ้าเสี่ยง เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน"
"แต่ถ้าให้อนุมานตามโพสต์ของผู้หญิง ถ้าผู้ชายมีเพศสัมพันธ์ ณ จุดที่ผู้หญิงดื้อยาหรือไม่กินยาจริงๆ ก็ถือว่ามีโอกาสรับเชื้อได้แน่นอน ซึ่งการรับเชื้อนั้นจะมาก หรือจะน้อย หรือเปอร์เซ็นต์ในการติดต่อมีเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ใส่ถุงยางไหม ร่วมเพศแบบไหน มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์หรือเปล่า อย่างไรก็ตาม หมอสันนิษฐานว่าที่เขาโพสต์แบบนั้นเพราะไม่กินยา ดังนั้น โอกาสที่มีเชื้อก็คงมี และผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเขาก็มีโอกาสติด"
...
การป้องกัน :
ศ.พญ.ศศิโสภิณ แนะนำถึงผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนนั้นว่า "ให้ไปตรวจหาเชื้อ HIV กับแพทย์"
ในส่วนของคำแนะนำสำหรับคนอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ แพทย์หญิงของเราบอกว่า การป้องกันมีหลายอย่าง แต่ 'ถุงยางอนามัย' ยังคงเป็นสิ่งแรกที่แนะนำ เพราะว่าการใช้ถุงยางอนามัย นอกจากสามารถป้องกัน HIV ได้แล้ว ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้อีก เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส รวมถึงป้องกันการตั้งครรภ์
แต่ถ้าเป็น One Night Stand ต้องทำในกรณีเร่งด่วน ไม่อาจจะหาถุงยางอนามัยได้ทัน ไม่มีเวลาเตรียมพร้อม ไม่รู้จะเอาถุงยางมาจากตรงไหน หรือมีเพศสัมพันธ์ไปแล้ว แต่มารู้สึกตัวและตระหนักได้ทีหลัง ก็จะแนะนำให้กิน PEP ซึ่งเป็นยาที่กินหลังการมีสัมพันธ์ ในส่วนนี้ถ้ารู้ตัวแล้วให้รีบไปพบแพทย์ ยา PEP เป็นยาชนิดเดียวกับที่รักษา HIV แต่เป็นการกินเพื่อป้องกัน ซึ่งยานี้จะกินวันละเม็ด 4 ต่อสัปดาห์
อีกประเด็นหนึ่งใน กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย หรือกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง แนะนำให้กินยา PrEP ยานี้เป็นการกินเพื่อป้องกันเชื้อ HIV การกิน PrEP จะกินวันละเม็ด และต้องกินอย่างสม่ำเสมอ
...
"แยกง่ายๆ คือ PrEP กินก่อนมีเพศสัมพันธ์ ส่วน PEP กินหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยาทั้ง 2 ตัว ไม่ได้ป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์"
แพทย์แนะใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง :
ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวว่า ปัจจุบันที่มีข้อมูลว่าวัยรุ่นไทยติดเชื้อ HIV เพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นเรื่องจริง นอกจากนั้นยังมี 'ซิฟิลิส' ที่ถือว่าน่าเป็นห่วงเช่นกัน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้อนุมานได้ว่า เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นที่ไม่ได้มีการป้องกัน ขาดความรู้ และขาดการตระหนักรู้
"คงมีหลายเหตุผลที่ทำให้วัยรุ่นไทย หรือใครหลายคนเลือกที่จะไม่ใช้ถุงยางอนามัยกัน ตัวอย่างที่เราพอจะนึกได้ เช่น การซื้อถุงยางมีค่าใช้จ่าย ซึ่งบางคนอาจจะไม่มีเงินมาซื้อในส่วนนี้, การใส่ถุงยาง อาจจะทำให้อีกฝ่ายมองว่าเป็นการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งนั่นก็เป็นประเด็นทางสังคมที่ต้องดูเพิ่มเติมกันไปอีก"
"สำหรับหมอแล้ว แนะนำว่าการป้องกันเบื้องต้นที่ดีคือการใช้ถุงยาง แม้บางคนอาจจะมองว่าการร่วมเพศไม่สนุก หรือเหตุผลอื่นๆ แต่หมอก็อยากให้ป้องกันไว้ก่อน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าติดเชื้อ 1 คน และคุณไม่ดูแลตัวเอง แน่นอนว่าย่อมสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ แต่จะแพร่ไปจำนวนเท่าไรนั้น ก็บอกได้ยาก"
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :