เหตุการณ์หนุ่มไทยวัย 53 ทำงานเป็นลูกจ้างร้านอาหารไทยในเมืองโยโกฮาม่า จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าช่วยเหลือเพื่อนคนไทยด้วยกัน ขณะถูกกลุ่มอันธพาลแก๊งยากูซ่าญี่ปุ่น 5 คน รุมทำร้ายบริเวณหน้าร้านอาหารไทย จนเหตุการณ์บานปลายแก๊งยากูซ่าถูกแทงเสียชีวิต 1 ศพ บาดเจ็บสาหัส 2 กลายเป็นข่าวไปทั่วญี่ปุ่น
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ตำรวจเมืองโยโกฮาม่า รับแจ้งเหตุเมื่อเวลา 19.40 น. วันที่ 2 พ.ย. เกิดเหตุทะเลาะวิวาทมีชาย 2 คนถูกแทงบาดเจ็บที่ท้องและหลัง และ 1 คนถูกแทงบริเวณหน้าอกขวา เสียชีวิตขณะถูกส่งโรงพยาบาล ขณะที่พยานในที่เกิดเหตุระบุเห็นชายญี่ปุ่น 5 คนอยู่ในอาการมึนเมา เดินเข้ามาหาเรื่องแตะจักรยานที่จอดอยู่หน้าร้านอาหารไทยจนล้ม
จากนั้นพนักงานในร้านได้ออกมายกจักรยานขึ้นมาจอด จนถูกรุมสกรัมทำร้ายไม่ยั้งและพยายามวิ่งหนี ก่อนพนักงานในร้านซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันออกมาช่วย พยายามใช้มือซ้ายเข้ามาห้าม ส่วนมือขวาถือมีดไว้ข้างหลัง กระทั่งอีกฝ่ายถูกแทงเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส และต่อมาตำรวจได้จับกุมชายไทยอายุ 53 ปี ในข้อหาฆาตกรรม
ด้านคนไทยที่ถูกทำร้ายได้โพสต์เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าลูกค้าญี่ปุ่นที่เข้ามากินข้าวเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง และตำรวจได้เห็นจากกล้องวงจรปิด หลังแก๊งยากูซ่าเดินโวยวายถีบจักรยานหน้าร้านอาหารไทยทุกร้านในย่านนั้น อ้างว่าเกลียดคนไทย ให้กลับประเทศไปให้หมด และร้านอาหารแถวนี้ให้ปิดให้หมด เพราะเป็นเจ้าของประเทศ
...
ทุกชีวิตมีค่าเท่ากันในญี่ปุ่น แม้อยู่ในแก๊งยากูซ่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการอ้างว่าเกิดจากการกระทำของแก๊งยากูซ่า และสุดท้ายถูกคนไทยแทงเสียชีวิต 1 บาดเจ็บสาหัส 2 ซึ่งในเรื่องนี้ “รศ.ดร.นรีนุช ดำรงชัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ระบุว่า การทะเลาะวิวาทจนมีผู้เสียชีวิตในญี่ปุ่นถือว่ารุนแรงมาก เพราะโดยพื้นฐานของญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับชีวิตคน ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน และจากเคยศึกษาเรื่องภัยพิบัติในญี่ปุ่น ไม่ว่าแต่ละชีวิตจะเป็นใครจะให้ความสำคัญเท่ากัน ตรงข้ามกับไทยถ้าเป็นคนดังเป็นเซเลบจะเป็นข่าวใหญ่
“แม้ผู้เสียชีวิตเป็นแก๊งยากูซ่า ก็เป็นข่าวใหญ่ในญี่ปุ่น จากค่านิยมของคนญี่ปุ่นถ้าเมื่อใดไปฆ่าคน ไม่ว่าจะอย่างไรก็คือผิดในเบื้องต้น สมมติว่ามีคนฆ่าคนที่เรารักแล้วไปแก้แค้นเอาคืน ผิดก็คือผิด และแน่นอนต้องไปสืบสวนอีกทีในเรื่องข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร แม้จะเป็นยากูซ่าก็ตาม ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย”
แก๊งยากูซ่า มีเส้นแบ่งไม่เคยหาเรื่องคนธรรมดา
เรื่องที่เกิดขึ้นอาจมีหลายประเด็นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่แน่ใจว่าคนไทยเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นถูกต้องหรือไม่ อย่างประเด็นการค้ามนุษย์ มีคนไทยเข้ามาเป็นแบล็กกราวนด์อยู่เบื้องหลังหรือไม่ หรือเผลอๆ อาจมีความเกี่ยวพันกัน อาจมีการค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ในการใช้แรงงาน ประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อน และข่าวที่ออกมาก็รายงานเพียงเท่านั้น เพราะเท่าที่รู้จักสังคมในญี่ปุ่น แม้แก๊งยากูซ่าเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย แต่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนธรรมดา จะมีพื้นที่เส้นแบ่งของเขาจะไม่วุ่นวายไปหาเรื่องใคร
เป็นอีกประเด็นทำให้คิดในเรื่องค้ามนุษย์ เพราะปกติแก๊งยากูซ่าไม่ยุ่งกับคนธรรมดา ยิ่งการไม่ชอบคนไทยก็ดูประหลาดๆ ไม่รู้มีเบื้องหลังเป็นอย่างไร หรืออาจเป็นคนเมามาก่อเหตุก็ได้ ต้องติดตามดู อีกทั้งการทะเลาะวิวาทในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเกิดในพื้นที่ร้านเหล้า และโดยทั่วไปไม่ใช่จะมี ไม่ใช่ไปที่ไหนก็เกิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าสมัยก่อน จะไม่เป็นแบบนี้ มีการก่อเหตุทำร้ายคนทั้งในลักษณะของการแทงหรือใช้ปืนทำเองก่อเหตุ แต่ก็มีไม่มาก
สำหรับเมืองโยโกฮาม่า เป็นเมืองคล้ายๆ ปริมณฑล มีโตเกียวเป็นเมืองหลวง และยังมีเมืองรอบๆ อย่างเมืองไซตามะ มีภาพของความมีเสน่ห์กิ๊บเก๋ มีไชน่าทาวน์ เป็นเมืองติดทะเล และมีรีสอร์ต มีกลิ่นอายความหรูหรา
...
สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนไป คนจนมากขึ้น ไม่สนเรื่องคนอื่น
ส่วนประเด็นคนญี่ปุ่นเมื่อเห็นเหตุทะเลาะวิวาท จะไม่เข้าไปห้าม เพราะไม่ใช่คาแรกเตอร์ของคนญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งไม่อยากเอาตัวไปยุ่งเกี่ยวในประเด็นขัดแย้งของผู้อื่น หรือกรณีนั่งในรถไฟ จะไม่ค่อยลุกให้คนชรา เมื่อคนชราไม่ได้นั่งก็มองว่าไม่เป็นไร เพราะคนชราในญี่ปุ่นเชื่อว่าถ้ามีบุญคุณก็ต้องตอบแทน เหมือนการติดหนี้ ก็จะถอยไม่อยากจะรับความหวังดี
“เป็นส่วนหนึ่งในญี่ปุ่น จะเห็นภาพคนหนุ่มนั่งเฉยๆ เวลาขึ้นรถไฟขึ้นรถเมล์ ก็เป็นอะไรที่คล้ายกับอุจิ โซโตะ ถ้าเป็นเรื่องของคนในก็ช่วยเหลือ ถ้าเป็นคนนอกก็ไม่เกี่ยวกัน ก็ไม่ช่วยเหลือ โดยทั่วไปจะไม่เห็นคนญี่ปุ่นเข้าช่วยเหลือ แม้จะเห็นเหตุทะเลาะวิวาทก็ตาม”
ประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะคนมีความกดดันมากขึ้นเหมือนกับคนทั่วโลก หากคนไทยไปประเทศญี่ปุ่นต้องระมัดระวัง จากที่เมื่อก่อนญี่ปุ่นเป็นสังคมเดี่ยวหากวางของทิ้งไว้ก็ไม่หาย แต่ปัจจุบันคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไป เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่สูญหาย หรือ The Lost Decade จากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ต้องเปิดประเทศให้คนเข้ามา จนมีคนต่างชาติมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 10 ปี และ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนคนไทยก็เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง
...
นอกจากนี้ สังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันมีปัญหาความยากจนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กจำนวนมากรอรับการช่วยเหลือทางการเงินในด้านสวัสดิการ ส่วนผู้สูงอายุถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว และจะพบผู้สูงอายุก่อเหตุลักเล็กขโมยน้อยมากขึ้น เกิดจากวิธีคิดของผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่บางคนมีเงิน แต่อยู่คนเดียวอาจเหมือนเหงาไม่มีใคร จึงก่อเหตุในลักษณะนี้มากขึ้น.