รู้จัก 'ไมโครพลาสติก' และผลกระทบจาก 'ภัยเงียบ' ที่ซ่อนตัวอยู่ในร่างกายของมนุษย์...

'ไมโครพลาสติก' ได้รับการพูดถึงมากขึ้น และเริ่มแสดงให้เห็นว่า มนุษย์อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป เพราะทุกวันนี้มันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง จนบางครั้งอาจเข้าไปสู่ตัวเราแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจ ราวกับว่าเป็น 'ภัยเงียบ' ที่คืบคลานอยู่ในร่างกาย และรอวันแสดงอาการออกมาก็เท่านั้น...

ไมโครพลาสติก คือ พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร พวกมันก็มีอยู่หลายรูปทรง เช่น เส้นใย, ฟิล์ม, โฟม, ไมโครบีดส์ ฯลฯ ซึ่งความน่ากลัวของมันมีอยู่มากมาย และที่สำคัญ... ด้วยชิ้นที่เล็ก 'จิ๋ว' ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงยิ่งเพิ่มความน่ากลัวเข้าไปอีก

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับ 'ไมโครพลาสติก' ให้มากขึ้น รวมถึงทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ ผ่านการพูดคุยกับ 'ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย' ผู้ประสานงานอุตสาหกรรม (Industrial Liaison) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

...

ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย
ดร.ทัศชา ทรัพย์มีชัย

ไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์! :

ดร.ทัศชา ยืนยันว่า ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พบ 'ไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์' อยู่จำนวนมาก เช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International ศึกษาโดย สูตินรีเวชของโรงพยาบาลในกรุงโรม รายงานว่า พบไมโครพลาสติกในรกเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยพลาสติกดังกล่าวเป็นพลาสติกชนิดพอลิโพรไพลีน (PP) รวมถึงเม็ดสีต่างๆ ที่พบได้ในบรรจุภัณฑ์ทั่วไป หรือ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แห่งกรุงเวียนนา และสํานักสิ่งแวดล้อมของออสเตรีย ที่ พบไมโครพลาสติกในอุจจาระมนุษย์ ที่แตกต่างกันสูงสุด 9 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 50-500 ไมครอน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ ยังไม่มีรายงานว่า 'ไมโครพลาสติก' ทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ประกาศว่าไมโครพลาสติกสามารถขับออกผ่านการขับถ่ายได้ อย่างไรก็ตาม ดร.ทัศชา มองว่าก็ยังมีความน่ากังวลอยู่ดี เพราะหากไมโครพลาสติกถูกขับออกไม่หมด และมีระดับที่เล็กลง ก็อาจคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลต่อมนุษย์ได้หลายอย่างในระยะยาว

ผลกระทบ (ที่อาจเกิด) จากสาร BPA และไมโครพลาสติก :

ไมโครพลาสติกมีสารที่เรียกว่า BPA ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่ทำมาจากพลาสติก ที่ผ่านมามีการทดลองในหนู พบว่า BPA เป็นสารที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดมะเร็งเต้านม และมะเร็งในต่อมลูกหมาก และยังส่งผลต่อความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์ในร่างกายอีกด้วย ดังนั้น แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานหรืองานวิจัย ที่สามารถอ้างอิงได้ แต่ ดร.ทัศชา ก็แสดงความกังวลว่า สาร BPA จะส่งผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์หลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างก็ล้วนมีความน่ากังวลทั้งสิ้น...

เช่น สารนี้อาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ทำให้ความจำและประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทลดลง มีผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโต ทำให้เป็นหนุ่มสาวเร็วเกินไป และเด็กอาจมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน และไฮเปอร์แอ็กทีฟ

...

อีกทั้ง ไมโครพลาสติก ยังอาจเข้าไปขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด เนื่องจากหลายคนอาจรับไมโครพลาสติกสู่ร่างกายมากกว่า 1 หมื่นชิ้นต่อปี จากการกินอาหารทะเล และดื่มน้ําจากขวดพลาสติก ซึ่งพวกมันมีขนาดเล็กเท่าแบคทีเรีย จึงอาจเข้าสู่กระแสเลือด และปิดกั้นทางเดินเลือดได้ในที่สุด

นอกจากนั้น มันยังอาจกลายเป็นตัวกลางนำสารพิษ เพราะมีคุณสมบัติดูดซับและอุ้มน้ำได้ จึงสามารถเก็บเอาสารพิษ บางประเภทไปด้วย เช่น สารพิษในยาฆ่าแมลง DDT ที่อาจปนเปื้อนในน้ํา นั่นหมายความว่า หากไมโครพลาสติกยิ่งอยู่ในทะเลนานมากเท่าไร ก็จะยิ่งดูดซับพิษไว้มากเท่านั้น เมื่อสัตว์ในทะเลที่กินไมโครพลาสติกเข้าไปก็จะรับสารพิษนั้นเอาไว้ด้วย และเมื่อคนนำสัตว์เหล่านั้นมากิน ก็จะได้รับสารพิษตกค้างจากสัตว์เหล่านั้นเช่นกัน

...

ไมโครพลาสติกมีอยู่ทุกที่ :

ปัจจุบันมีการค้นพบ 'ไมโครพลาสติก' ในทุกพื้นที่ของโลกเรา ตั้งแต่อาหารที่เรากิน ดินที่เราเหยียบ และอากาศที่เราหายใจ! ซึ่ง ดร.ทัศชา ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวฯ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยต่างๆ ซึ่งเราจะแยกออกมาให้เข้าใจเป็นข้อๆ

อาหารที่เรากิน :

นักวิจัยจาก University of Catania ประเทศอิตาลี พบเศษชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กในผลไม้และผักบางชนิด ซึ่งพบไมโครพลาสติกในแอปเปิ้ล 1 กรัม เฉลี่ย 195,500 ชิ้น ในขณะที่ลูกแพร์มีปริมาณไมโครพลาสติกเฉลี่ย 189,500 ชิ้น ต่อ 1 กรัม ส่วนบร็กโคลี และแครอต เป็นผักที่พบไมโครพลาสติกมากที่สุด เพราะพบไมโครพลาสติกในปริมาณมากกว่า 100,000 ชิ้นต่อผัก 1 กรัม

อย่างงานวิจัยจาก University of Hull และ Brunel University London ของสหราชอาณาจักร ก็ได้เก็บ ตัวอย่างหอยแมลงภู่จากบริเวณอ่าวรอบสหราชอาณาจักร 8 แห่ง และซุปเปอร์มาร์เก็ต 8 แห่ง พบว่า หอยแมลงภู่ที่จับได้ปนเปื้อนไมโครพลาสติก 100% และมีปริมาณไมโครพลาสติกมากถึง 70 ชิ้น ในทุกๆ 100 กรัมของหอยแมลงภู่

...

หากเข้ามาให้ใกล้ตัวกว่านั้น ก็คือในประเทศไทยนี่เอง ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง ได้นําปลาทูของทะเล ไทยมาสุ่มตรวจ พบไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78 ชิ้น/ตัว ประกอบไปด้วยพลาสติกลักษณะต่างๆ เช่น เส้นใย ชิ้น แท่ง และกลิตเตอร์

ดินที่เราเหยียบ :

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ปี 2562 สถานีเก็บตัวอย่างไมโครพลาสติก ได้ทำการศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก ในตะกอนดินบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง จํานวน 5 สถานี ได้แก่ หาดบางดี จ.นครศรีธรรมราช, หาดแหลมสนอ่อน จ.สงขลา, หาดสมิหลา จ.สงขลา, หาดตะโละกาโปร จ.ปตตานี และหาดพระ จ.นราธิวาส การศึกษาพบการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในตะกอนดินทั้ง 5 สถานี เฉลี่ย 577 ชิ้น/ตร.ม. โดยประเภทไมโครพลาสติกที่พบมี 6 ชนิด ได้แก่ PET ซึ่งพบมากที่สุด รองลงมา คือ PE, PVC, PP, PS และ PA ตามลำดับ

อาการที่เราหายใจ :

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ 'Environmental Chemistry Letters' ได้ระบุว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่ปีนภูเขาฟูจิและโอยามา เพื่อขึ้นไปเก็บตัวอย่างน้ำจากหมอกที่ปกคลุมบริเวณยอดเขา และใช้เทคนิคถ่ายภาพขั้นสูงตรวจตัวอย่างหมอกที่เก็บมา เพื่อหาคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี ทำให้พบไมโครพลาสติกในอากาศ ได้แก่ โพลีเมอร์ 9 ชนิด และยาง 1 ชนิด มีขนาดตั้งแต่ 7.1-94.6 ไมโครเมตร และน้ำจากเมฆในแต่ละลิตร จะมีไมโครพลาสติกอยู่ 6.7-13.9 ชิ้น

ประเภทของไมโครพลาสติก :

ไมโครพลาสติกนั้นมี 2 ประเภท คือ ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ (Primary microplastic) และ ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ (Secondary microplastic) แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น 'ไมโคร' เหมือนกัน แต่ทั้งสองประเภทต่างกันที่ จุดประสงค์การสร้างแรกเริ่ม ดร.ทัศชา ได้อธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจไว้ว่า

ไมโครพลาสติกปฐมภูมิ จะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน หรือ เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเป็น 'ไมโครพลาสติกโดยกำเนิด' เพราะถูกสังเคราะห์ให้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ตั้งแต่ต้น เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเรียกสั้นๆ ว่า 'เม็ดพลาสติกบริสุทธิ์’ (Nurdle)

หรือหากจะมองให้ใกล้ตัวกว่านั้น ชนิดที่ว่าเป็นสิ่งของในชีวิตประจำวัน ที่เราแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยด้วยซ้ำ นั่นก็คือ เม็ดพลาสติกที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า, เครื่องสำอาง หรือยาสีฟัน ซึ่งเราจะเรียกกันว่า ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือ เม็ดสครับ

"ไมโครบีดส์พวกนี้มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งเล็กพอที่จะลงไปในท่อระบายน้ำของอ่างล้างหน้า และของพวกนี้ก็จะกลายเป็นของเสียจากบ้านเรือนโดยตรง ที่สามารถไหลลงสู่แหล่งน้ำ และแหล่งน้ำเหล่านั้นก็ไหลลงไปจบที่ทะเล ทำให้พวกปลากินไมโครพลาสติกเข้าไป เนื่องจากพวกมันเข้าใจว่าเป็นแพลงก์ตอน"

สำหรับ ไมโครพลาสติกทุติยภูมิ นั้น เป็นไมโครพลาสติกที่แตกออกมาจากพลาสติกชิ้นใหญ่ เช่น การแตกหัก, การผุกร่อน, การย่อยสลาย หรืออื่นๆ จนมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งอาจจะเกิดจากการบดพลาสติก ในกระบวนการรีไซเคิล ที่เรียกว่า การย่อยสลายทางกล (Mechanical degradation) หรือ กระบวนการย่อยด้วยแสง โดยเฉพาะจากรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะทำให้สารที่เคยถูกเติมในพลาสติกเหล่านั้นหลุดออกมา จนส่งผลให้โครงสร้างของพลาสติกแตกตัว กระทั่งมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร

"อย่างยางรถยนต์ จะมีการผสมไมโครพลาสติกลงไปอยู่แล้ว ดังนั้น เวลายางบดไปกับถนนจนเกิดความร้อน จะทำให้มีพลาสติกชิ้นเล็กๆ หรือไมโครพลาสติกติดอยู่ที่ถนน พอมีฝนหรือน้ำตกลงบนถนน ก็จะไหลพาไมโครพลาสติกเหล่านั้นสู่แม่น้ำ และก็ไหลลงสู่ทะเลต่อไป"

ไบโอพลาสติกก็อันตราย :

ดร.ทัศชา ระบุว่า มีพลาสติกอีก 1 ประเภท ที่เราคิดว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้เป็นมิตรขนาดนั้น ก็คือ 'ไบโอพลาสติก' ซึ่งเป็นพลาสติกที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตร หรือจากธรรมชาติ เพราะแม้ว่าหลายบริษัทจะเคลมว่า 'ย่อยสลายได้' แต่หากกระบวนการย่อยสลายไม่ถูกวิธี สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี

อย่างพลาสติกที่ทำจากพอลีแลคติคแอซิด (PLA) จะย่อยสลายได้ก็จริง แต่ต้องย่อยสลายในสภาวะเฉพาะ เช่น ถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ จนกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และมวลชีวภาพ ภายใต้อุณหภูมิ 60 องศาขึ้นไป และยังต้องมีความชื้นที่เหมาะสม เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ 50-60% หรือนำไปผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพ ภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน

"ถ้าเราใช้ไบโอพลาสติกแล้วจัดการไม่ถูกต้อง มันจะยากกว่าการใช้พลาสติกแล้วแยกให้ถูกต้องเพื่อนำไปรีไซเคิล อย่างขวดน้ำที่เราใช้ดื่มกันทั่วไป ที่เป็นขวด PET (Polyethylene Terephthalate) ถ้าเราแยกแล้วนำไปรีไซเคิลมันก็จะรีไซเคิลได้ง่าย

แต่สมมติว่า การรีไซเคิลขวด PET มีขวดที่เป็นไบโอพลาสติกมาปะปนด้วย จะทำให้การรีไซเคิลนั้นยากขึ้นไปอีก เพราะเป็นพลาสติกคนละชนิด นี่ทำให้เห็นว่า พลาสติกที่เรามองว่าย่อยสลายได้ และเคลมว่ารักโลก ก็ต้องจัดการให้เหมาะสมและถูกวิธี ถึงจะช่วยได้จริงๆ"

ดร.ทัศชา กล่าวเพิ่มเติมว่า "อาจพูดได้ว่า ไมโครพลาสติกเป็นภัยเงียบ ที่มนุษย์อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป แต่เราก็ต้องตระหนักและหาทางป้องกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยาก สิ่งที่ควรทำที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้มีการทิ้งขยะพลาสติกลงไปในทะเล หรืออาจเริ่มจากอะไรง่ายๆ ใกล้ตัวเรา เช่น ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ คัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี"

"ความจริงแล้วถ้าไม่มีพลาสติก ก็ต้องยอมรับว่าชีวิตพวกเราจะลำบาก ดังนั้น พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย หากเราจัดการมันให้ดี และให้อยู่อย่างถูกที่ถูกทาง"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :