นกกรงหัวจุก เกมกีฬาที่ได้รับความนิยม ทำให้มีผู้มาขึ้นทะเบียนนกเพิ่มขึ้นกว่าแสนตัว แม้กรมอุทยานฯ มีการอำนวยความสะดวกให้ขึ้นทะเบียนได้เร็วขึ้น แต่มีเสียงร้องให้มีการปลดออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง นักวิชาการที่ศึกษาให้ความเห็นว่า ตอนนี้มีการจับนกกรงหัวจุก ในธรรมชาติมาสวมทะเบียนจำนวนมาก กระทบต่อระบบนิเวศ มีโอกาสนกกรงหัวจุกจะสูญพันธุ์

กรณีการปลดล็อกนกกรงหัวจุก จากสัตว์ป่าคุ้มครอง มีเสียงจากเรียกร้องจากประชาชน และฟาร์มเลี้ยง เพราะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยนกกรงหัวจุก อยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนกลำดับที่ 550 ตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ห้ามล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ แต่เปิดโอกาสให้เพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้ แต่มีผู้เพาะเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก

ผศ.ดร.สาระ บำรุงศรี หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ปลดล็อกนกกรงหัวจุก ออกจากสัตว์สงวน เสี่ยงทำให้นกกรงหัวจุกถูกจับจนสูญพันธุ์ การใช้ชีวิตของนกส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอยต่อป่ากับชุมชน จึงกลายเป็นความเสี่ยงถูกคนจับไปหารายได้

...

ความนิยมเลี้ยง นกกรงหัวจุก ทำให้มีขบวนการดักจับนกป่ามากขึ้น ประกอบกับนกกรงหัวจุก สามารถดักจับได้ง่าย เนื่องจากอุปนิสัยนกกรงหัวจุกตัวผู้ มีการครอบครองอาณาเขต ถ้ามีตัวผู้ตัวอื่นเข้ามาในอาณาเขต จะมีการต่อสู้กัน จนทำให้มนุษย์สามารถดักจับได้ง่าย โดยใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง

แม้มีการขึ้นทะเบียนการเลี้ยงนกกรงหัวจุก แต่ที่ผ่านมาก็มีการแอบอ้างสวมทะเบียนปลอม ในการนำนกที่จับได้จากป่ามาแอบอ้างขาย โดยตอนนี้มีกลุ่มขบวนการที่ทำอยู่ในหลายพื้นที่ ลักลอบขายต่อให้กับคนซื้อราคาตัวละ 300 บาท ซึ่งราคาต่างจากนกกรงหัวจุก ที่ขายอยู่ในฟาร์มตัวละ 2,000 บาท ซึ่งราคาต่างกันถึง 10 เท่า

ด้วยกระบวนการฝึกให้นกร้อง ต้องจับลูกนกมาฝึกร้องกับนกที่เป็นครู ให้เรียนรู้การร้องมีเสียงไพเราะ แต่ถ้านกตัวไหนฝึกแล้วมีเสียงร้องไม่ดี คนเลี้ยงบางรายจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ แต่อย่าลืมว่า นกที่ถูกเลี้ยงด้วยคนมาตั้งแต่เล็ก เมื่อปล่อยคืนธรรมชาติ จะไม่สามารถหากินเองได้

“ลองคิดดูว่า นกกรงหัวจุกกว่าหมื่นตัว เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนใน จ.สงขลา หากมีการเพาะเลี้ยงไม่เหมาะสม แล้วแอบปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จะสร้างผลกระทบขนาดไหน ขณะเดียวกัน มีกลุ่มขบวนการที่คอยจับนกจากธรรมชาติ เพื่อไปขายต่อ จึงกลายเป็นเหมือนวงเวียนที่จับแล้วปล่อย จนทำให้นกสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ เพราะอย่างในพื้นที่สงขลา บางพื้นที่ในป่า นกกรงหัวจุกได้หายไปจากป่าแล้ว ทำให้วงจรชีวิตของป่าเปลี่ยนไป จากเดิมที่นกเป็นผู้แพร่กระจายพันธ์ุพืช ไปในจุดที่เมล็ดพันธุ์ไม่สามารถไปถึง พอไม่มีนกกรงหัวจุก การแพร่ขยายพันธุ์พืชก็อยู่ในวงจำกัด”

จากการไปคุยกับคนที่ลักลอบจับนกกรงหัวจุก พบว่านกฟาร์มเมื่อเพาะเลี้ยงไปได้ 3 รุ่น สายพันธุ์ความเป็นนักต่อสู้ของนกจะหายไป ทำให้ต้องนำนกป่ามาผสมพันธุ์กับนกฟาร์ม เพราะการร้องของนกเป็นสิ่งที่บ่งบอกอาณาเขต และพร้อมต่อสู้กับนกที่รุกราน ถ้านกเริ่มเชื่องจะไม่ร้อง ทำให้เวลาไปแข่งก็แพ้

“นกกรงหัวจุก ที่มีการลักลอบดักจับ เป็นนกที่มาจากภาคเหนือและตะวันตก ส่วนนกในพื้นที่ภาคใต้หายไปนานแล้ว ขณะที่การขึ้นทะเบียนนกกรงหัวจุกของหน่วยงานรัฐ ค่อนข้างยุ่งยากและไม่รัดกุม ดังนั้นการแก้ปัญหาการสวมทะเบียนนก ทางภาครัฐควรมีการพูดคุยกับประชาชนที่เลี้ยงนกให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการไปดักจับนกมาจากธรรมชาติ”

ที่น่าเป็นห่วงในวงการคนเล่นนกกรงหัวจุก คือ มีการกลั่นแกล้ง โดยปรักปรำว่านกของคู่กรณี เป็นนกที่ถูกจับมาจากป่า มีหลายรายที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ต่างในคดี ทำให้คนที่ถูกกล่าวหาเสียโอกาส จนบางรายต้องเลิกเลี้ยงนกไปเลยก็มี

“ถ้าไม่มีการจัดการเรื่องการสวมทะเบียนนกที่เป็นระบบ จะทำให้นกกรงหัวจุกของไทย มีเลือดชิดมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถไปแข่งกับนกในประเทศเพื่อนบ้านได้ ถ้ามองเป็นเกมกีฬา สิ่งที่ไทยทำอยู่ยิ่งทำให้วงการเล่นนกของไทยตกต่ำ มีผลกระทบต่อรายได้ของเจ้าของฟาร์มที่เพาะพันธุ์นกในระยะยาว”.

...