เข้าสู่ช่วงเอลนีโญ ปีนี้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ แต่ทำไมฝนตกหนักน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.สุโขทัย สถานการณ์น่าห่วงระดับน้ำแม่น้ำยมเพิ่มขึ้นสูง และยังรับมวลน้ำเหนือที่ไหลมาจาก จ.แพร่ ได้กัดเซาะพนังกั้นน้ำแตกหลายจุดใน อ.ศรีสำโรง น้ำทะลักอย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน

กรมอุตุนิยมวิทยาระบุในช่วงวันที่ 4-5 ต.ค. ร่องมรสุมยังพาดผ่านพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสานตอนล่าง และหย่อมความกดอากาศต่ำยังปกคลุม ทำให้ยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก จากนั้นวันที่ 6-10 ต.ค. ร่องมรสุมจะเริ่มสวิงกลับขึ้นไปพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางอีกครั้ง ทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบกับพื้นที่น้ำท่วมขัง

ขณะที่พายุไต้ฝุ่นโคอินุ จะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย จะเคลื่อนผ่านไปทางใต้ของเกาะไต้หวัน ช่วงวันที่ 4-5 ต.ค. และเคลื่อนตัวไปทางตะวันตก ไปยังชายฝั่งด้านตะวันออกของประเทศจีนแถบมณฑลกวางตุ้งและฮ่องกง แต่เมื่อมาปะทะกับมวลอากาศเย็นหรือความกดอากาศสูง พายุจะเริ่มอ่อนกำลังลง และจะสลายตัวในที่สุด อาจเหลือเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำเท่านั้น 

...

บริหารน้ำผิดพลาด-ผังเมือง ทำน้ำท่วมซ้ำซาก อย่าโทษธรรมชาติ

แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาบอกถึงสาเหตุฝนตกหนักในช่วงนี้ แต่ ”รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์” ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กลับมองว่า ฝนที่ตกในช่วงนี้เป็นปกติ ไม่มีอะไรเลย มีการประเมินจนคนตระหนกไปแล้ว และปีนี้ฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วทุกภาค แต่เกิดน้ำท่วม แสดงให้เห็นการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด และปัญหาผังเมือง หากฝนตกเล็กน้อยน้ำก็ท่วมแล้ว ก็มีการพยากรณ์ว่าฝนตกหนัก เพื่อโทษธรรมชาติ และจากการประเมิน 10 วันข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. มีฝนเล็กน้อย ทางฝั่งภาคตะวันออก ส่วนวันที่ 7 ต.ค. ฝนจะตกในภาคอีสานตอนบน และเหนือตอนบน

“โดยรวมแล้ววันที่ 7 ต.ค. ฝนตก แต่ไม่หนักมาก ทำให้น้ำสะสมในพื้นที่น้ำท่วมจะดีขึ้น ลดลงตามลำดับ เพียงแต่ว่าปลายน้ำลุ่มเจ้าพระยาบริเวณพิจิตรจะโดน เพราะมวลน้ำเดินทางมาจากสุโขทัย ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนครสวรรค์ ยังรับน้ำได้อีก 4 พันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่สุโขทัย น้ำยมอยู่ใกล้ตลิ่ง ยังรับน้ำได้ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่น้ำในพื้นที่ อ.ศรีสำโรง ทะลักจนพนังกั้นน้ำพัง ทั้งๆ ที่ปีนี้ฝนน้อยกว่าค่าปกติ ทำไมน้ำท่วมได้”

ฝนจะเริ่มแผ่วลง ฤดูหนาวจะไม่หนาว เพราะเอลนีโญรุนแรง

ส่วนพายุไต้ฝุ่นโคอินุ ได้เคลื่อนไปทางมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีนไปแล้ว ไม่มีผลกระทบต่อไทย และจากการดูภาพรวมขณะนี้ท้องฟ้ามืดเร็ว ความกดอากาศสูง แสดงว่าฝนจะแผ่วลง ซึ่งประมาณกลางเดือน ต.ค. จะเริ่มอากาศเย็น และกลับมาร้อนอีกในช่วงเปลี่ยนผ่านฤดู น่าจะหลังกลางเดือน ต.ค. จะสิ้นสุดฤดูฝน แต่ฤดูหนาวปีนี้ไม่หนาว เพราะเป็นปีเอลนีโญ โดยจะรุนแรงที่สุดในช่วงเดือน ธ.ค. ปีนี้ ทำให้ครึ่งปีแรกปีหน้าจะร้อนจัด ผลกระทบจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องแล้ง น่าเป็นห่วงมาก

ทางออกในการเตรียมพร้อมรับมือต้องปรับการบริหารจัดการ โดยส่วนกลางต้องโอนอำนาจการจัดการไปให้ท้องถิ่นเหมือนต่างประเทศ ต้องสร้างความเข้มแข็งทั้งบุคลากร อุปกรณ์การประเมิน มีการสนับสนุนอย่างจริงจังในเรื่ององค์ความรู้และงบประมาณ เพราะทุกวันนี้เมื่อข้าราชการในส่วนกลางบริหารได้ระยะหนึ่งก็จะต้องย้าย แต่ท้องถิ่นเป็นเจ้าของพื้นที่จะรู้ถึงปัญหา ส่วนรัฐบาลจะดูแลเฉพาะแม่น้ำสายใหญ่เท่านั้น และประสานกับท้องถิ่น

...

เตือนรับมือ กรุงเทพฯ เสี่ยงจมบาดาล 30 ปีข้างหน้า

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นภัยคุกคามพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะไม่มีเวลาสำหรับวันพรุ่งนี้ เพราะภายใน 30 ปีข้างหน้า จะเป็นเดดไลน์ของประเทศไทย หากไม่ดำเนินการใดๆ ไม่ตัดสินใจในตอนนี้ ก็จะทำอะไรไม่ได้แล้ว ดูจากประสบการณ์จากต่างประเทศ และปัจจุบันระดับน้ำช่วงน้ำขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ซม. ในพื้นที่สมุทรปราการ บางขุนเทียน ซึ่งสูงกว่าปกติอยู่แล้ว และในอนาคตจะสูงกว่านี้ เท่ากับว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว หากไม่มีมาตรการในตอนนี้ และต้องใช้เวลาเจรจากับผู้เกี่ยวข้องมากมาย อาจใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปี เพื่อเตรียมรับมือ

“การคาดการณ์ 30 ปี เป็นการมองโลกในแง่ดี แต่หน่วยงานต่างประเทศมองว่าไทยจะน้ำท่วมสูง 30-40% ของพื้นที่ทั้งประเทศ บวกกับน้ำทะเลหนุนจะทำลายทรัพยากร ทำลายพืชผลเกษตร เท่ากับว่าความรุนแรงจะมากขึ้น พื้นที่น้ำท่วมก็จะท่วมต่อไป แต่พื้นที่ไม่เคยน้ำท่วมก็จะท่วมในอนาคต ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 20-30 ปี ในการหาทางออกอย่างจริงจัง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อย่างอินโดนีเซียก็ย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา เพราะแผ่นดินทรุดตัวอาจจมบาดาล และกรุงเทพฯ เมื่อถึงตอนนั้นจะทำอะไรไม่ได้เลย”

...