ดราม่าไม่หยุด ชาวเน็ตวิจารณ์หนักกรณี หมอพรทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) คนดัง โพสต์รูปลงอินสตาแกรม ลักษณะนอนทับมอสส์ในทุ่งหินลาวา พื้นที่อนุรักษ์ของไอซ์แลนด์ ระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยว จากนั้นได้ลบโพสต์ พร้อมขอโทษต่อการกระทำที่เกิดขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องพืชมองว่า "ลาวามอส" เป็นพืชเฉพาะถิ่น หากถูกเหยียบบ่อยๆ จะทำให้ตาย มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
กลายเป็นกระแสดราม่าไม่ได้พัก กรณี หมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) คนดัง ที่เดินทางไปท่องเที่ยวส่วนตัวที่ไอซ์แลนด์ หลังมีคลิปคนไทยอ้างเป็นเจ้าของร้านอาหารในต่างแดนอัดคลิปขณะที่ หมอพรทิพย์ เดินซื้อของในร้าน ชายดังกล่าวได้ไล่ให้ออกไปจากร้าน ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ในโลกโซเชียล นอกจากนี้ยังวิจารณ์ภาพลักษณะนอนทับ "ลาวามอส" ก่อนถูกลบออกอย่างรวดเร็ว
ภายหลัง หมอพรทิพย์ เดินทางกลับถึงไทยก็ได้โพสต์ในช่องทางโซเชียลส่วนตัวว่า ยอมรับผิดพลาด ไม่ได้ศึกษากฎระเบียบให้ชัดเจน จุดที่ถ่ายรูปไม่มีป้ายเตือน เมื่อรู้ว่าผิดพลาดรีบลบภาพทันที แต่ไม่ทันสำหรับคนที่เกลียดชังนำไปขยายผล
...
มอสส์ในทุ่งหินลาวา ถือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ของไอซ์แลนด์ มีกฎระบุไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าไปเหยียบในทุ่ง ทีมข่าวเจาะประประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง พิศาล ตันสิน อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชและภูมิทัศน์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดสวนแบบชื้น วิเคราะห์ถึงระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบว่า มอสส์ในทุ่งหินลาวา ประเทศไอซ์แลนด์ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศมาก เพราะเป็นพืชเริ่มต้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความเย็น และสูงจากระดับน้ำทะเลมาก ทำให้ไม่มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมเป็นป่าได้ ดังนั้นพืชที่ขึ้นทดแทนป่าคือมอสส์
กรณี หมอพรทิพย์ ที่เกิดขึ้น อาจไม่สร้างผลกระทบมาก หากจุดนั้นไม่มีคนลงเข้าไปเหยียบย่ำซ้ำอีก เพราะมอสส์จะขึ้นอยู่บนหิน เหมือนมอสส์ที่ขึ้นอยู่บนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ แต่ในแนวทางอนุรักษ์ไม่ควรเข้าไปเหยียบ หรือนอนลงบนพื้นดังกล่าว และส่วนใหญ่พื้นที่ท่องเที่ยวจะมีป้ายเตือนเป็นระยะ
“วงจรของมอสส์ในทุ่งหินลาวา เมื่อน้ำแข็งเข้ามาปกคลุมจะหายไป เมื่อถึงฤดูที่มีความร้อนจะขึ้นมาใหม่ เป็นวัฏจักรของระบบนิเวศ แตกต่างจากไทยที่มอสส์ขึ้นบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ เช่น ดอยอินทนนท์ ถ้ามีการทำลาย จะส่งผลต่อระบบนิเวศป่า เจ้าหน้าที่จึงต้องกันพื้นที่ให้คนเดิน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่ต้นน้ำ”
มอสส์ จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากมีการเหยียบย่ำ หรือเข้าไปกระทำของมนุษย์ในพื้นที่ซ้ำๆ เพราะจะทำให้เศษดินบริเวณราก เมื่อถูกเหยียบบี้มาก ทำให้การงอกของลำต้นใหม่ต่ำ และมอสส์จะยืนต้นตายอย่างรวดเร็ว
มอสส์ในทุ่งหินลาวา เป็นพืชประจำถิ่นที่เกิดขึ้นจากส่วนประกอบของความสูงจากระดับน้ำทะเล สารอาหารในดินพื้นที่นั้น รวมถึงปริมาณน้ำฝน ทำให้เวลาถ่ายรูปออกมามีความสวยงาม เหมือนก้อนหินเปลี่ยนเป็นสีเขียว ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ และเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวไม่ควรเข้าไปทำลาย
“ข้อห้ามในเรื่องห้ามจุดไฟ ยังเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะในระดับความสูงความชื้นขนาดนั้นเป็นเรื่องยากที่เชื้อไฟจะติดได้ง่าย แต่การห้ามถือเป็นข้อดีที่ไม่ทำให้นักท่องเที่ยวจุดไฟจนส่งผลกระทบต่อมอสส์ในทุ่งหินลาวา”
สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปหากไปเจอพื้นที่มอสส์ขึ้นมากๆ ไม่ควรเข้าไป ควรเดินในเส้นทางที่มีการทำทางเดินไว้ให้แล้ว เพราะการท่องเที่ยวที่ดี ไม่ควรไปทำร้ายสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพราะนักท่องเที่ยวมาแล้วก็ไป แต่สิ่งมีชีวิต พืชอีกหลายชนิดต้องพึ่งพิงระบบนิเวศ หากเกิดผลกระทบจะสร้างผลร้ายต่อธรรมชาติตามมา.
...