ดราม่าเดือดในโลกออนไลน์ เกิดอะไรขึ้นกับ ”หมอพรทิพย์” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ หนึ่งในสว.ผู้ทรงเกียรติ ขณะท่องเที่ยวในประเทศไอซ์แลนด์ ได้เห็นแสงเหนือสมปรารถนา กับคณะนักการเมืองที่ร่วมเดินทางไปด้วยกัน แต่แล้วก็เกิดความงุนงงชั่วขณะ เมื่อเข้าไปร้านอาหาร กลับถูกชายไทยคนหนึ่งไลฟ์สดอ้างว่าเป็นเจ้าของร้าน ด่ากราดไล่ออกจากร้านไม่ต้อนรับหมอพรทิพย์ เพราะแค้นมากที่ทำกับประเทศไทย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งผู้เห็นด้วย บางคนมองว่าการกระทำและการตัดสินใจของหมอพรทิพย์ย่อมมีผลตามมา กับบทบาทเพื่อส่วนรวมและประชาชน ส่วนกลุ่มไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่างรุนแรงเต็มไปด้วยความเกลียดชัง ไม่ควรกระทำไม่ว่าจะเป็นขั้วใดก็ตาม ส่วนตัวหมอพรทิพย์เอง ได้ตอบคอมเมนต์ผู้มาให้กำลังใจในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ขอบคุณค่ะ ไม่รับมันมา ทุกสิ่งที่ทำก็กลับเข้าตัวค่ะ”

สาเหตุหมอพรทิพย์ ถูกไล่กลางร้านในต่างแดน ปมแค้นฝังใจสว. สิ่งที่ทำต้องได้รับผล

ในอีกมุมมองของ ”รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโซเชียล แซงชั่น คือการต่อต้านทางสังคม เป็นวิธีการในประเทศที่มีอารยะทำกันในการไม่ขายของ ไม่บริการให้ เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ซึ่งในประเทศตะวันตกก็ยอมรับในการปฏิบัติไม่บริการกับบุคคลที่ตัวเองไม่อยากสนับสนุนหรือต่อต้าน เป็นเสรีภาพที่จะทำได้ในการแสดงออกทางสังคมในการต่อต้านสว.ไม่ได้โหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงประชาชน

...

“เป็นสิทธิที่ทำได้ อาจมีความรู้สึกค่อนข้างอินกับการเมืองไทย อาจจำได้ว่าสว.คนไหน งดออกเสียงไม่โหวตให้คุณพิธา เลยแสดงออกไม่เห็นด้วยกับสว. และในเมืองไทย คงเคยได้เห็นมีการขึ้นป้ายไม่ต้อนรับสลิ่ม ไม่ต้อนรับเสื้อแดง แสดงออกและสื่อสารให้รับรู้ ป้องกันการปะทะกันในพื้นที่ มีการแบนร้านโน้นร้านนี้ แสดงออกไม่สนับสนุนคนนั้นคนนี้ เป็นการสื่อสารล่วงหน้า และคนที่รู้ว่าอยู่ในสถานะจะถูกต่อต้าน ก็จะหลีกเลี่ยงจะเข้าไป ซึ่งในเมืองไทยจะไม่เห็นลักษณะอย่างนี้แบบที่หมอพรทิพย์โดน”

ไม่โหวตให้พิธา ทำไม่ถูกใจประชาชน ย่อมถูกต่อต้าน 

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงกปปส.ชุมนุมประท้วง มีการโห่ร้องโห่ไล่เมื่อเห็นคนในครอบครัวชินวัตร ไปที่ไหนก็ไปเป่านกหวีดขับไล่เพื่อต่อต้าน เป็นสิ่งที่คนไทยโดยทั่วไปไม่ยอมรับเท่าไร ไม่ชอบให้ใช้วิธีรุนแรง หรือประจานในที่สาธารณะ ส่วนกรณีของหมอพรทิพย์ ต้องยอมรับว่าเป็นบุคคลสาธารณะย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตรวจสอบประเมินได้ และการที่หมอพรทิพย์ แสดงการปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ ไม่โหวตให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ก็แน่นอนประชาชนก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ มีสิทธิแสดงออกเมื่อไม่เห็นด้วยกับบุคคลสาธารณะ

โดยเฉพาะสว.และสส.ต้องรับผิดชอบต่อคนส่วนใหญ่ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองทำไปในฐานะสส.หรือสว. หากทำไม่ถูกใจประชาชนก็ต้องตระหนักดีในการลงมติใดๆ ในสภาฯ กับผลที่ออกมากับการตัดสินใจของตัวเอง ต้องยอมรับในการแสดงออกคัดค้าน เพราะไม่ใช่เรื่องที่ทำส่วนตัว แต่ส่งผลต่อสาธารณะ และการจะมาบอกว่าเป็นสิทธิของตัวเองในการจะลงมติอย่างไร แต่ในส่วนประชาชนได้แสดงออกไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณได้กระทำไป

สาเหตุหมอพรทิพย์ ถูกไล่กลางร้านในต่างแดน ปมแค้นฝังใจสว. สิ่งที่ทำต้องได้รับผล

“หมอพรทิพย์ถูกไล่ออกจากร้าน ไม่น่าจะใช่ปฏิบัติการล่าแม่มด แต่เป็นสิ่งที่กระทำไปแล้วและปรากฏอยู่จากการกระทำของสว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน มีการลงมติที่แตกต่างกัน ครั้งแรกลงมติให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าเป็นเสียงข้างมาก แต่พิธา ก็มาจากเสียงข้างมาก แต่กลับงดออกเสียง เป็นปรากฏการณ์เดียวกันแต่อธิบายคนละอย่าง จนประชาชนไม่พอใจ และสว.ก็ได้เงินเดือนจากภาษีของประชาชน ย่อมจะถูกตอบสนองด้วยความพอใจหรือไม่พอใจก็ได้ ถ้าเป็นการลงมติในบริษัทเอกชนไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ ประชาชนจะแสดงออกโซเชียล แซกชั่นไม่ได้เลย”

บุคคลสาธารณะทำไปแล้ว ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้น

สิ่งที่กระทำไปแล้วต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้น อย่างสว.13 คน โหวตให้พิธา ก็ได้รับการชื่นชมยินดีว่าทำตามเสียงประชาชนในเชิงบวก แต่กรณีหมอพรทิพย์ ได้ผลเชิงลบประชาชนไม่ยอมรับ โดยเฉพาะประเทศในตะวันตกมองในแง่สิทธิเสรีภาพของประชาชน และพื้นที่นั้นเข้าใจว่าเป็นร้านของเขา ก็มีสิทธิไม่ให้บริการ ไม่ขายของให้กับบุคคลที่เขาคิดว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามที่สังคมยอมรับ ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติสามารถทำได้ เพราะหมอพรทิพย์ เป็นบุคคลสาธารณะ

สาเหตุหมอพรทิพย์ ถูกไล่กลางร้านในต่างแดน ปมแค้นฝังใจสว. สิ่งที่ทำต้องได้รับผล

...

เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ตราบใดที่เป็นบุคคลสาธารณะสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ในทุกมิติ มีกฏหมายคุ้มครองประชาชนในการตรวจสอบ แสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้หมด ยกเว้นเมืองไทย กฏหมายไปคุ้มครองบุคคลสาธารณะ แทนที่จะคุ้มครองประชาชน ซึ่งตรงข้ามกับสหรัฐฯ เมื่อกล้าลงมติสวนกับประชาชน ทางประชาชนก็มีสิทธิแสดงออกไม่พอใจได้ และในโลกโซเชียลทั้งหลาย ก็ลงมือจัดการ แต่ไม่ขับไล่ในเชิงกายภาพเหมือนกรณีหมอพรทิพย์ เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกและเป็นพื้นที่สาธารณะ

“บุคคลสาธารณะ เป็น Nothing Personal ไม่มีอะไรเป็นส่วนตัว เมื่อสิ่งที่คุณทำไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ได้กระทบต่อส่วนรวม ต่อสาธารณะ ต่อประเทศชาติ ส่งผลต่อการปกครอง เพราะไม่เห็นด้วยจนไม่สามารถได้นายกฯ จากเสียงประชาชนส่วนใหญ่ ก็ต้องรับผลอย่างนี้ และประชาชนสามารถแสดงออกได้ รวมถึงการแสดงออกเรื่องจุดยืนทางการเมืองของแต่ละคน”.