'เมืองศรีเทพ' มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย ประวัติการค้นพบ ความสำคัญของสถานที่ และข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานภาครัฐ...
สิ้นเสียงการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ก็มีเสียงโห่ร้องแสดงความยินดีเกิดขึ้นที่ประเทศไทย เนื่องจาก 'อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ' ถูกประกาศขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย หลังจากเว้นว่างไปถึง 31 ปี นับจากการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี เมื่อ พ.ศ.2535
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยเมืองศรีเทพนี้ตั้งอยู่ในบริเวณเขตที่สูงภาคกลาง ในอดีตเป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายของการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรม ระหว่างพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อเนื่องจนถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18)
...
เมืองศรีเทพมีอัตลักษณ์ของตนเอง ตั้งแต่ลักษณะการวางผังเมือง โดยเป็นเมืองแฝด หรือเมืองขยาย คือ เมืองในและเมืองนอก พบหลักฐานงานศิลปกรรมใน 'สกุลช่างศรีเทพ' มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว จนได้รับการยกย่องจากนักวิชาการเรื่องเทคนิคช่าง
อุทยานฯ แห่งนี้มีพื้นที่กว่า 2,889 ไร่ มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ และมีคูเมือง นอกจากนั้นยังมีสระน้ำโบราณมากกว่า 70 แห่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองของเมืองที่เคยมีมา
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักเรื่องราวและความสำคัญของ 'อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ' เพื่อร่วมฉลองการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของประเทศไทย ในรอบ 31 ปี และข้อความที่ฝากถึงหน่วยงานภาครัฐ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ศรีเทพ ผ่านการพูดคุยกับ 'คุณธนัชญา เทียนดี' นักโบราณคดีปฏิบัติการ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
แรกเริ่มขุดค้น :
จากคำบอกเล่าของ คุณธนัชญา ทำให้เราทราบว่า "การค้นหาโบราณสถานแห่งนี้เริ่มต้นประมาณปี พ.ศ.2447 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตามหาเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งชื่อ เมืองศรีเทพ ปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณ จากการศึกษาข้อมูลของท่าน ทำให้ท่านสันนิษฐานว่า เมืองโบราณดังกล่าวน่าจะอยู่แถบลุ่มน้ำป่าสัก-ลพบุรี แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าอยู่ตรงไหน ครั้งได้เดินทางเยือนมณฑลเพชรบูรณ์ จึงถือโอกาสตามหาเมืองนี้ไปด้วย
เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพเดินทางมาถึงบริเวณมณฑลเพชรบูรณ์ ก็ได้ไปที่ เมืองวิเชียรบุรี (อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ในปัจจุบัน) เจ้าเมืองวิเชียรบุรีได้บอกต่อพระยาดำรงราชานุภาพว่า เดิมแล้วชื่อเมืองวิเชียรบุรี คือ เมืองท่าโรง กับ เมืองศรีเทพ
กรมพระยาดำรงทราบดังนั้นจึงได้ตามชาวบ้านไปยังเขตเมืองศรีเทพปัจจุบัน แต่ขณะนั้นยังไม่ได้เรียกเมืองศรีเทพ โดยขึ้นเรือที่ท่านาตะกรุด และได้เดินเท้าต่อ กระทั่งถึงเขตเมืองโบราณตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน จึงเริ่มมีการสำรวจขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น และท่านได้เรียกเมืองโบราณนี้ว่า 'เมืองศรีเทพ'
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เขียนเรื่องเมืองศรีเทพในเอกสารต่างๆ นั่นจึงเหมือนกับการเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ต่อมามีนักวิชาการ เช่น หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ก็มาสำรวจที่เมืองศรีเทพเป็นประจำ"
...
"แต่ชื่อที่แท้จริงของเมืองแห่งนี้ (เมืองศรีเทพ ที่ขึ้นมรดกโลก) เรายังไม่ทราบแน่ชัด แล้วเมืองนี้เป็นเมืองเดียวกันกับที่ปรากฏในเอกสารที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพอ่านเจอหรือไม่ เรื่องนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่พวกเราก็เรียกเมืองนี้ว่า ‘เมืองศรีเทพ’ ไปก่อน ถ้าลองไปค้นเอกสารเก่าในหอสมุดแห่งชาติ ก็จะมีปรากฏชื่อเมืองศรีเทพ เมืองท่าโรง แต่ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดถึงความเชื่อมโยงระหว่างเมืองโบราณแห่งนี้ (อุทยานศรีเทพ) กับชื่อเมืองศรีเทพในเอกสาร"
"ปี พ.ศ.2478 กรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองศรีเทพ ปีนี้เป็นการขึ้นทะเบียนเพียงชื่อ แต่ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตของโบราณสถาน ต่อมาในปี พ.ศ.2506 ได้ขึ้นทะเบียนอีกครั้ง โดยมีการระบุและขยายขอบเขตของโบราณสถาน เป็นการขึ้นทะเบียนทั้ง เขาคลังนอก, ปรางค์ฤาษี รวมถึงเมืองศรีเทพ
ระหว่างปี พ.ศ.2506-2527 มีการขุดค้นพื้นที่อยู่ตลอด รวมถึงระหว่างนั้นมีการขุดค้นในเมือง และเนินโบราณสถาน กระทั่งปี พ.ศ.2527 เมืองโบราณศรีเทพได้มีโครงการจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์เกิดขึ้น ตั้งแต่นั้นก็มีการขุดค้น และขุดแต่งมาโดยตลอด
อย่างเขาคลังนอกที่ในอดีตมีสภาพคล้ายเนินเขา ผู้สำรวจค่อนข้างมั่นใจอยู่แล้วว่าเป็นโบราณสถาน และมีการขึ้นทะเบียนโบราณสถานอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2506 แต่เพิ่งได้งบประมาณขุดค้นเมื่อปี พ.ศ.2551"
...
ความสำคัญของเมืองศรีเทพ ต่อประวัติศาสตร์ :
คุณธนัชญา เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า เมืองศรีเทพ เป็นจุดเริ่มต้นของยุคประวัติศาสตร์ในพื้นที่ประเทศไทย โดยอยู่ในยุคแรกเริ่มที่ชุมชนพื้นที่ประเทศไทยในอดีต ได้เปลี่ยนจากชุมชนหมู่บ้านไปเป็นชุมชนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่การค้าเริ่มรุ่งเรือง มีการรับเอาศาสนาจากอินเดียเข้ามา และเป็นเมืองที่มีการนับถือศาสนาที่หลากหลาย มีความสมบูรณ์ครบถ้วนมากกว่าเมืองอื่นๆ ในยุคเดียวกัน คือ ยุคทวารวดี
ทวารวดี ขอใช้นิยามที่ใช้ในปัจจุบัน มันเป็นการเรียกชื่อวัฒนธรรมหรือเมือง ที่มีหลักฐานคล้ายกันในแถบภาคกลางของประเทศไทย เช่น เมืองคูบัว จ.ราชบุรี, เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, เมืองนครปฐมโบราณ, เมืองจันเสน จ.นครสวรรค์, เมืองขีดขิน จ.สระบุรี, เมืองซับจำปา จ.ลพบุรี เป็นต้น
ทีมข่าวฯ ถามกลับว่า หากนำความสมบูรณ์ของโบราณสถาน หรือวัตถุโบราณต่างๆ ไปเทียบกับเมืองโบราณที่กล่าวมา เมืองศรีเทพ มีความสมบูรณ์มากกว่าเมืองอื่นใช่หรือไม่ คุณธนัชญา ให้คำตอบว่า
"ใช่ค่ะ โดยเฉพาะเรื่องลักษณะผังเมือง คือ เมืองศรีเทพ แทบจะเป็นเมืองเดียวที่ไม่ถูกรุกล้ำจากสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ ถ้าเมืองอื่นๆ ก็มีการถูกผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่สร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย หรือมีการตัดถนนขึ้น ส่วนเมืองศรีเทพยังคงลักษณะดั้งเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ความครบถ้วนสมบูรณ์นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เรานำไปยื่นขอขั้นทะเบียนมรดกโลกด้วย"
...
การขึ้นสู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของเมืองไทย :
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อจาก เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร, เมืองประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเมืองบริวาร และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี
สำหรับ เมืองโบราณศรีเทพ และแหล่งต่อเนื่อง มีจำนวน 3 แห่ง ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล เพราะยังคงความครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นของแท้ดั้งเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเสนอตามเกณฑ์การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก ประกอบด้วย
เกณฑ์ข้อที่ 2 แสดงถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือพื้นที่ในวัฒนธรรมใดๆ ของโลก ผ่านการพัมนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์
เกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว
"อุทยานศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะผ่านเกณฑ์ของยูเยสโก 2 ข้อ ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย อย่างแรก คือ มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นเมืองทวารวดีที่ยังไม่ถูกรุกล้ำจากสิ่งก่อสร้างปัจจุบัน ข้อต่อมา คือ เป็นตัวแทนของการรับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามา และมีการส่งต่อ หรือเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมสมัยทวารวดีสู่สมัยอยุธยา" คุณธนัชญา กล่าวกับเรา
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ :
การได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง แต่การรักษาสถานะ และการดูแลพื้นที่มรดกโลกหลังจากนี้จะเป็นโจทย์ต่อไปที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมมือช่วยกัน โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและสนับสนุน โดยคุณธนัชญามีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไทย 3 เรื่องหลักด้วยกัน
"1. อยากให้มี การเพิ่มอัตรากำลังคนและเจ้าหน้าที่ เนื่องจากตอนนี้มีนักโบราณคดีที่เป็นข้าราชการเพียง 2 คน คือ หัวหน้า และพี่ (คุณธนัชญา) อาจจะมีนักโบราณคดี หรือเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นเข้ามาเพิ่มเติม เพราะตอนนี้งานโบราณคดีที่เมืองศรีเทพนั้นเยอะมาก แต่จำนวนคนทำงานไม่เพียงพอ
2. อยากให้ เพิ่มอาคารสิ่งก่อสร้าง ที่จะเป็นออฟฟิศทางโบราณคดี เพราะของเยอะ จึงต้องมีคลังเก็บของ และมีพื้นที่สำหรับทำงาน เนื่องจากงานมีเพิ่มมากขึ้น
3. การทวงคืนโบราณวัตถุ ที่กระจัดกระจายอยู่ต่างประเทศ และในประเทศไทยเอง ซึ่งในข้อนี้ก็นำไปสู่การที่ อ.ศรีเทพ ควรมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่จะเป็นพื้นที่เก็บโบราณวัตถุจากเมืองศรีเทพ ตอนนี้ยังไม่มี ซึ่งตามกฎหมายแล้วโบราณวัตถุต้องอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ทำให้ตอนนี้โบราณวัตุของเมืองศรีเทพกระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงที่ต่างประเทศ ซึ่งอันนี้อาจจะทวงคืนยากหน่อย แต่ก็อยากให้ได้กลับมา เพราะคนพื้นที่ก็อยากให้โบราณวัตถุกลับประเทศไทย"
โบราณวัตถุพลัดถิ่น :
หากอิงคำพูดจากข้อเสนอแนะที่ 3 แสดงว่ามีของโบราณที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ด้วย "ใช่ค่ะ มีโบราณวัตถุหลายชิ้นที่ไปอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่ทราบจำนวน ทั้งอยู่ที่ต่างประเทศ และอยู่ในไทย แต่ในประเทศไทยจะเป็นสมบัติส่วนตัวของเอกชน" คุณธนัชญา กล่าวกับทีมข่าวฯ
ทีมข่าวฯ ถามกลับว่า จะแน่ใจได้อย่างไรว่าหลักฐานเหล่านั้นที่เราต้องการคืน เป็นโบราณวัตถุของเมืองศรีเทพ คุณธนัชญา ตอบว่า
"อันนี้ก็ตอบยากเหมือนกัน เพราะมันถูกขุดค้นโดยนักลักลอบไปแล้ว เหลือแค่คำบอกเล่าที่ผู้ขายบอกกันว่าชิ้นนั้นๆ มาจากเมืองศรีเทพ แต่บางชิ้นมีข้อความแปะในพิพิธภัณฑ์ที่เมืองนอกว่าชิ้นไหนมาจากเมืองศรีเทพ ดังนั้นนี่จึงเป็นข้อมูลที่เราพอจะรู้ อีกข้อคือ บางชิ้นพอจะทราบได้จากรูปร่าง ลวดลาย ว่าเป็นของช่างสกุลศรีเทพ
แต่ความยากคือ โบราณวัตถุที่ถูกขุดหลุดออกจากบริบท และแหล่งที่อยู่เดิม เราอาจจะไม่ทราบว่าชิ้นนั้นมาจากตรงไหน โบราณวัตถุจึงเหมือนสูญเสียคุณค่าทางวิชาการไปพอสมควร อย่างไรก็ตามที่อยากได้คืน เพราะของเหล่านั้นก็ยังมีคุณค่าต่อจิตใจ และเมืองโบราณศรีเทพ
การได้กลับมานั้นยังไงก็มีประโยชน์ ยกตัวอย่าง เทวรูปที่อยู่ต่างประเทศ ที่ผ่านมาเราศึกษาได้เพียงจากรูปถ่าย ทำให้เราไม่รู้ลักษณะโดยรอบทั้งหมด เช่น ด้านหลัง เราก็ดูไม่ได้ เพราะมันมาแค่รูปถ่ายด้านเดียว เราจึงอยากเห็นของจริงว่าเป็นอย่างไร เพราะของอยู่ต่างประเทศ ครั้นจะตามไปดูก็ไม่สะดวกอีก
เราอยากได้กลับมาศึกษา แต่ก็เข้าใจว่ายากมาก เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลระหว่างประเทศ เราเพียงพูดแทนชาวศรีเทพที่เขาอยากให้ของกลับมาอยู่บ้านเขา แต่ก็ต้องเข้าใจต่อว่าหากได้กลับมาตอนนี้ก็ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์รองรับ
โบราณวัตถุที่เมืองศรีเทพมันล้ำค่ามากๆ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าต่อของโบราณ หากโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งถูกแยกออกจากบริบทที่เคยอยู่ คุณค่าทางวิชาการมันเสียไป อยากให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องนี้ งานวิชาไม่ใช่แค่มีของ หรือโบราณวัตถุสวยๆ แล้วมันจะดี"
ทีมข่าวฯ ถามปิดท้ายว่า แล้วการที่โบราณวัตถุสูญหายแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นมรดกโลกหรือไม่ ได้คำตอบว่า "ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเป็นมรดกโลก เพราะตอนที่มีการประกาศเป็นมรดกโลก ทางยูเนสโก และกรรมการ ก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ หรือท้วงเรื่องนี้ขึ้นมา"
แม้ตอนนี้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว แต่การบำรุงรักษา พัฒนา รวมถึงการขุดค้นยังต้องดำเนินต่อไป ไม่แน่ว่าในอนาคตพื้นที่แห่งนี้อาจจะเจอหลักฐานสำคัญอื่นๆ ที่ช่วยต่อยอดเชื่อมโยงเรื่องราวเมืองศรีเทพได้มากขึ้น จนอาจทำให้เราได้รู้ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงก็เป็นได้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :