'Earworm' ปรากฏการณ์ที่ไม่ใช่โรค คุยกับ 'รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์' ประโยชน์ ผลกระทบ และวิธีแก้ พร้อมเทคนิคทำเพลงหลอนหู...
หากคุณเคยได้ยินเพลงเหล่านี้ "ชิพกะเดล นี่สองพี่น้อง ขายของในคลอง" / "I have a pen. I have a apple. ummm Apple pen." / "Baby Shark, doo-doo, doo-doo, doo-doo" / "เจนค่ะ เจนค่ะ หนูชื่อเจน มากับนุ่น แล้วก็มากับโบว์" รวมถึงเพลงอื่นๆ ที่คุณอาจได้ยินจนติดหู แม้พยายามจะลืมก็ทำไม่ได้ กว่าจะหายไปจากหัวก็ยากซะเหลือเกิน
ล่าสุด "คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ มีงานให้ทำไหมคะ ปริญญาไม่มี แต่มี_นะคะ แต่มี_นะคะ" ก็สร้างปรากฏการณ์เสียงเพลงหลอนหูให้กับสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง
บางคนอาจจะคิดว่านี่เป็นโรคหรือเปล่า หรือสิ่งที่เจอและรู้สึกอยู่มันคืออะไรกันแน่ หลังจากทีมข่าวฯ ได้ลองค้นหาข้อมูลเบื้องต้นพบว่า อาการนี้เรียกว่า 'Earworm' (เอียร์เวิร์ม) คือ อาการที่เรานึกถึงเพลงนั้นๆ วนเวียนซ้ำไปมาอยู่ในหัว หรือเรียกง่ายๆ ว่า อาการเพลงติดหู และนี่เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ ไม่ใช่โรคแต่อย่างใด
...
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พร้อมจะแถลงไข และพาไปรู้จักกับ Earworm ให้มากขึ้น ผ่านการพูดคุยกับ 'รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์' ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี โดยอาจารย์ได้รับทุนวิจัย จากคณะกรรมการพัฒนางานวิจัยมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี ปี 2560 ในการทำวิจัย เรื่อง เพลงติดหูในงานโฆษณา หากพร้อมไขข้อสงสัย ก็ไปกันเลย!!!
Earworm คืออะไร? :
อาจารย์ธันยวิช บอกว่า Earworm เป็นอาการเสียงติดหู หรือเสียงหลอนหู ส่วนใหญ่จะเกิดกับเพลง และน้อยมากที่จะเกิดจากเสียงธรรมชาติ นอกจากคนที่รู้สึกอ่อนไหวด้านเสียงจริงๆ
"มันเป็นอาการที่ได้ยินเนื้อเพลงหรือนึกถึงเนื้อเพลงๆ หนึ่ง ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากจิตใต้สำนึก ผ่านจิตใจของคนเรา ทั้งที่เพลงนั้นไม่ได้เล่นในขณะที่เราได้ยินเสียงอยู่ในหัว แม้จะพยายามลืม สลัดทิ้ง ก็ไม่สามารถสลัดออกได้ หนำซ้ำจะยิ่งคิดถึงกว่าเดิม ส่วนที่เรียกว่า Earworm (Ear = หู / Worm = หนอน) เพราะอาการคล้ายกับหนอนไชหู แต่คนไทยจะเรียกแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า เพลงหลอนหู"
ตัวอย่างทฤษฎีและการศึกษา :
การศึกษาเรื่องนี้เพิ่งมีขึ้นหลังปี ค.ศ. 2005 เพราะมีคนต้องการนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ และที่ทีมข่าวฯ ถามไปข้างต้นว่า ทำไมเรียก Earworm (หรือหนอนไชหู) อาจารย์บอกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการรับรู้ทฤษฎีหนึ่งด้วย คือ ทฤษฎีคันทางการรับรู้ หรือ Theory of Cognitive Itchy
ทฤษฎีนี้อธิบายปรากฏการณ์การรับรู้ของมนุษย์ผ่านสถานการณ์ต่างๆ ด้วยประสาทสัมผัสใดสัมผัสหนึ่ง จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 [การมองเห็น (รูป–Sight), การลิ้มรส (รส–Taste), การได้กลิ่น (กลิ่น–Smell), การได้ยิน (เสียง–Hearing) และการสัมผัส (สัมผัส–Touch)] ที่มีผลกระทบหรือเข้มข้น ต่อระบบความจำและความรู้สึกอย่างมาก
...
แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านไปแล้ว แต่ยังคงหวนกลับไปรู้สึก เหมือนกำลังอยู่ในเหตุการณ์เดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก อยากจะลืมก็ยิ่งจำ คล้ายกับอาการคันที่แม้จะพยายามไม่นึกถึงและไม่ไปเกา ก็สามารถทำได้ยาก เพราะยิ่งเกาแล้วยิ่งรู้สึกดี เหมือนอาการดังกล่าวที่บังคับตัวเองฝืนไม่นึกถึง แต่ก็ไม่สามารถฝืนได้ หากแต่จะยิ่งกลับไปนึกถึงสัมผัสดังกล่าวอยู่ร่ำไป คล้ายคำพูดที่คนทั่วไปพูดกันว่าเป็น ภาพติดตา กลิ่นติดจมูก เสียงติดหู เป็นต้น
Professor James Kellaris จากมหาวิทยาลัยซินซินเนติ (University of Cincinnati) ได้พยายามใช้ทฤษฎีคันทางการรับรู้ เพื่อตีความแนวคิดและอธิบายเกี่ยวกับการมีเพลงติดหู อย่างที่บอกไปว่า ทฤษฎีนี้พูดถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5 แต่ที่เขาพยายามใช้ทฤษฎีนี้อธิบาย Earworm เพราะสำหรับมนุษย์ อาการที่เกิดขึ้นทางหูเป็นอาการที่พบมากกว่าประสาทสัมผัสด้านอื่น
...
Earworm เกิดกับใคร :
"อาการนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และเกิดขึ้นได้ทั่วไป หากเจออะไรที่ไม่ชอบ เราสามารถเบือนหน้า บังคับตา ไม่ให้สนใจสิ่งนั้นได้ หากไม่อยากได้กลิ่นอะไรก็แค่เอามือปิดจมูก แต่สำหรับหู เป็นเรื่องที่ยากมาก ต่อให้เอามือปิดหูแล้ว เสียงที่เล็ดลอดเข้าไปยังคงมี ด้วยสรีระของมนุษย์ เราไม่สามารถเดินปิดหูได้ตลอด เสียงมาจากทุกทิศทาง" อาจารย์ กล่าว
อ้างอิงจากการวิจัยเรื่อง Identifying properties of tunes that get stuck in your head: toward a theory of cognitive itch (2010) ของ Professor James Kellaris ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของประสบการณ์การได้ยินเสียงที่ยังดังก้องหลอนอยู่ในหัว (Earworm)
ผลการวิจัยพบว่า 98% ของคนที่เคยมีประสบการณ์ Earworm จะสามารถเกิดได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิง กล่าวคือ ทั้งเพศชายและเพศหญิงสามารถเกิดปรากฏการณ์ Earworm ได้เท่าๆ กัน แต่เมื่อศึกษารายละเอียดในระยะยาวต่อไปอีก พบว่า ปรากฏการณ์นี้จะมีโอกาสเกิดในเพศหญิงได้มากกว่า เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่มีความละเอียด และมีการรับรู้เกี่ยวกับเพลงได้ง่ายกว่า
...
เสียงติดหูทุกเสียงคือ Earworm หรือไม่ :
อาจารย์ธันยวิช บอกว่า "จริงๆ ทุกเสียงที่ติดหู เราสามารถเรียกว่า Earworm ได้หมด เพียงแต่โอกาสเกิดจากเสียงอื่นที่ไม่ใช่เพลงนั้นยากมาก และน้อยคนมากที่จะเกิด แต่ถ้าคนที่มีความพิเศษมากๆ ก็อาจจะหลอนหูจากเสียงอื่น จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า เสียงติดหูทุกเสียง คือ Earworm ทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับผู้รับเสียงแต่ละบุคคลว่า อ่อนไหวกับองค์ประกอบเสียงในรูปแบบใดมากกว่ากัน
บางงานวิจัยกล่าวว่า คนส่วนใหญ่ เสียง จังหวะ และทำนอง มีผลต่อการเกิดอาการเพลงหลอนหูมากกว่าเนื้อเพลง ในขณะที่บางงานวิจัยก็กล่าวว่า เนื้อร้องสามารถสร้างอาการคันทางสมองมากกว่าทำนอง แต่ถ้าทั้งสองส่วนประกอบกัน อาการหลอนหูก็จะติดง่ายแต่ฝังแน่นอย่างมาก"
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ Earworm :
อาจารย์ธันยวิช ได้ อ้างอิงผลการวิจัยจาก University of York และ Goldsmiths-University of London ของอังกฤษ ที่ร่วมกันเก็บข้อมูลจากนักท่องเที่ยวตามสถานบันเทิงทางตอนเหนือของอังกฤษ เพื่อสังเกตกลุ่มตัวอย่างนับพันคนว่า พวกเขาชอบร้องเพลงประเภทใดมากที่สุด จากการวิจัยทำให้ค้นพบว่า มี 4 ปัจจัย ที่ทำให้คนฟังติดหูและอยากร้องเพลงตาม
1. เนื้อร้องที่ใช้ภาษาสละสลวย (หากลงรายละเอียดไปอีก จะพบว่าเนื้อร้องต้องมีคำตายมากกว่าคำเป็น)
2. ท่อนที่ได้รับการจดจำ จะสามารถร้องได้โดยหายใจเข้าเพียงครั้งเดียว
3. มีระดับเสียงสูงต่ำที่หลากหลายในท่อนสร้อย
4. พิตช์เสียงที่ต่างกันถึง 3 แบบในท่อนฮุก
Earworm ถูกนำมาใช้กับวงการเพลงอย่างไร :
"ต้องเรียนว่าที่ผ่านมายังไม่มีใครถอดรหัสและนำมาใช้อย่างจริงจัง ผมเข้าใจว่างานผมน่าจะเป็นงานแรกๆ ที่เริ่มมีการถอดรหัสเพลงติดหู เพลงหลอนหูทั้งหลาย มีลักษณะโครงสร้างของเพลงประมาณไหน
แต่ถ้าลองไปเทียบกับวงการเพลงบ้านเรา ผลงานของนักแต่งเพลงเก่งๆ ค่อนข้างสอดคล้องกับผลงานวิจัย เช่น พี่ดี้ พี่จิก พี่เวสป้า พี่หนึ่ง ณรงค์วิทย์ พี่ฟองเบียร์ หรือ โจอี้ บอย
เป็นพรสวรรค์และความสามารถของเขา เพียงแต่สิ่งนั้นค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกับผลการวิจัยที่เก็บจากกลุ่มตัวอย่าง สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครถอดรหัส แค่เพลงไปถูกใจโดนใจมนุษย์" อาจารย์บอกกับทีมข่าวฯ
คำแนะนำทำเพลง Earworm :
Beaman and Williams (2010) ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง Earworms (stuck song syndrome): towards a natural history of intrusive thoughts ซึ่งเป็นการศึกษาอาการ Earworm ในเชิงจิตวิทยา งานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางจิตวิทยาของอังกฤษ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาการของ Earworm ที่ค้นพบจากงานวิจัยนี้ คือ อาการ Earworm มักจะเกิดกับเพลงที่มีความยาวของเพลงในช่วง 15-30 วินาที และเป็นเพลงที่มีความน่าสนใจ หรือมีความแปลกใหม่ทางดนตรี
จากผลวิจัยข้างต้นที่ อาจารย์ธันยวิช ได้ใช้สำหรับการทบทวนวรรณกรรมเพื่อทำงานวิจัย รวมถึงการศึกษาต่างๆ ที่อาจารย์ได้ทำมา ทีมข่าวฯ จึงขอข้อแนะนำสำหรับการทำเพลงติดหู เผื่ออาจเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ โดยอาจารย์ให้ข้อมูลไว้ ดังนี้
- ทำนอง (melody) เรียบง่าย วางอยู่บนโครงสร้างเพลงป๊อป AABA (popular song form) ด้วยวิธีการดัดแปลง แต่อาจจะไม่เหมือนเสียทีเดียว เมื่อใครๆ ฟัง ก็สามารถฮัมตามได้ภายในเวลาไม่นาน จะต้องใช้โน้ตในช่วงเสียงแคบๆ และทิศทางของทำนองคงที่ เพื่อจะได้ทำนองที่ไพเราะ ทำนองไม่กระโดดขึ้นสูงหรือลงต่ำมากเกินไป
- สีสันของเสียง (tone color) ควรเป็นการขับร้องประกอบดนตรีประเภทวง มีการร้องเสียงประสานในบางช่วงของบทเพลง เครื่องดนตรีประกอบด้วยกลอง กีตาร์เบส และเสียงสังเคราะห์คีย์บอร์ดปรุงแต่งให้ซาวนด์เป็นแบบ Easy Listening แต่ในเวลาเดียวกัน ยังเพิ่มไลน์ดนตรีให้มีส่วนผสมแบบบิ๊กแบนด์ มีฮอร์นเซ็กชัน (นำเสนอผ่านคีย์บอร์ด) เพื่อสร้างความคึกคัก อลังการในการรับรู้ ใช้ไลน์กีตาร์ดับเบิลสตอป แบบยุค 70-80 ไลน์สตริงกับไลน์บราสในท่อนพรี ให้เล่นแบบ Over Lab ทับกันเล็กน้อย เพื่อดันท่อนฮุกขึ้นมา เหมือนเป็นการรวบมูดแอนด์โทน
- จังหวะ (tempo) อัตราจังหวะส่วนใหญ่นิยมใช้ความเร็วปานกลางมากกว่าแบบช้า เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน คึกคัก แต่ไม่เร็วเกินไปจนฟังแล้วจดจำเนื้อหาไม่ทัน (ส่วนใหญ่จะใช้ความเร็วจังหวะ 120-130 จังหวะต่อ 1 นาที) การทำงานของเบสและกลองต้องร่วมกันสร้างกรู๊ฟของเพลงให้สนุกสนาน ปั่นให้เกิดความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว ไม่อยู่เฉย สะกดให้ทุกคนที่ได้ยินต้องขยับร่างกาย ยามได้ฟังจังหวะเพลงแบบนี้โดยไม่รู้ตัว
- จังหวะของทำนอง (melodic rhythm) ควรใช้จังหวะยก (anacrusis) โดยให้โน้ตตัวแรกหรือกลุ่มแรกของประโยค ที่ไม่ได้เริ่มบนจังหวะแรกของห้อง เป็นจังหวะเบา คล้ายกับเป็นการเตรียมเพื่อเข้าสู่โน้ตบนจังหวะที่หนักกว่าและสำคัญกว่า ทำนองที่เริ่มต้นด้วยจังหวะยก จะต้องให้ความรู้สึกการเริ่มต้นที่สบาย
- ประโยคเพลง (Phrase) ควรใช้เนื้อร้องที่มีจำนวนคำที่สั้น แต่สื่อความหมายแสดงอารมณ์หรือเสียง เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ มีความคล้องจอง และมีการร้องซ้ำตั้งแต่ 3 รอบขึ้นไป ด้วยเทคนิคการซ้ำทำนองในระดับเสียงเดียวกัน แต่อาจจะเพิ่มลูกเล่นโดยใช้เทคนิคซีเควนซ์ (sequence) การซ้ำแต่ต่างระดับเสียง ในการซ้ำครั้งสุดท้าย
- ทิศทางของทำนอง (direction) ทำนองส่วนใหญ่ของบทเพลงควรมีทิศทางคงที่ จะขึ้นหรือลงได้เล็กน้อยเท่านั้นตามความเหมาะสม
- ช่วงกว้างของเสียง (range) ส่วนใหญ่มีโน้ตอยู่ที่ระหว่าง 6-10 ตัว
- ช่วงเสียงต่ำสุด: ในเพลงส่วนใหญ่ จะมีความแตกต่างหลากหลาย ไม่จำกัดว่าตัวโน้ตเสียงที่ต่ำที่สุดว่าเป็นตัวโน้ตใด แต่จะไม่ต่ำกว่า โน้ตมี (E)
- ช่วงเสียงสูงสุด: โน้ตตัวสูงสุดของเพลงโฆษณาที่ติดหูส่วนใหญ่นั้น จะอยู่สูงสุดที่ โน้ตลา (A) เหมือนๆ กัน
- ช่วงเริ่มต้นก่อนเริ่มเพลง: Intro ไม่ยาว ใช้เสียง Effect ที่มีความไพเราะรื่นหู หรือกระตุ้นเร้าให้สนใจ เหมือนเป็นการเรียกความสนใจ เช่น เสียง ระฆังราว หยดน้ำ แก้วกระทบ เสียงสังเคราะห์จากเทคโนโลยี ฯลฯ
ตัวอย่างเพลง Earworm :
อาจารย์ธันยวิช ได้ยกตัวอย่างเพลงไทยที่เข้าข่ายลักษณะ Earworm ให้ทีมข่าวฯ และผู้อ่านได้รู้จักกัน
เพลงโฆษณา: เช่น เอ็มเคสุกี้, แลคตาซอย 5 บาท, ปีโป้, ปูไทย, เวเฟอร์ ตราปักกิ่ง, แป้งโยคีในรัศมีวงกลม, จอลลี่แบร์, ลัคกี้เฟลม, ไอศกรีมวอลล์
เพลงทั่วไป: รักคือฝันไป, โอ้ละหนอ My love, ชิพ แอนด์ เดล, โลกทั้งใบ, โต๊ะริม, ฉลามชอบงับคุณ, พิจารณา, วาดไว้, ซูลูปาก้า ตาปาเฮ้, ถ้าเราเจอกันอีก เป็นต้น
ข้อดี-ข้อเสีย ของ Earworm :
อาจารย์ได้ให้ความเห็นที่อ้างอิงจากงานวิจัย สำหรับคำถามนี้ไว้ว่า...
Earworm มีประโยชน์ต่อคน 2 กลุ่ม ที่มีวัตถุประสงค์ต่างกัน คือ วงธุรกิจ กับ นักพัฒนาพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนทางสังคม
ส่วนผลเสีย มีข้อพึงระวัง คือ เรื่องจิตสำนึกในการแต่งเพลง เพราะจากงานวิจัย พบว่า เพลงติดหู สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ในระดับมิติลึกๆ โดยเริ่มจากการเหนี่ยวนำสภาวะอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมการตัดสินใจ และนำไปสู่ค่านิยมในการดำเนินชีวิต
แก้ Earworm ยังไงดีล่ะ :
อาจารย์มองว่า อันดับแรก คือ อย่าพยายามที่จะฝืนสลัดออก แต่ให้หาอะไรทำ ซึ่งเป็นกิจกรรมไม่ง่ายเกินไปและไม่ยากเกินไป หรือหาคนพูดคุยด้วย แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นอาจารย์ได้มีวิธีปิดกั้น ที่อ้างอิงจากงานวิจัยของ Harriet Brown (2015) จากมหาวิทยาลัย Reading ประเทศอังกฤษ เขาได้ศึกษาวิจัยเรื่องวิธีแก้ไขอาการ Earworm โดยผลการวิจัยพบว่า การเคี้ยวหมากฝรั่งสามารถลดอาการ Earworm ได้เป็นการชั่วคราว เพราะการเคี้ยวหมากฝรั่งเหมือนเป็นการไปปิดกั้นเสียงจากในหู ปิดกั้นการฟังการได้ยินเสียงในหู หรือเสียงที่ดังก้องอยู่ในหัวได้ในระยะเวลาอันสั้น
ส่วน Carey Hoffman (2001) ได้เขียนบทความที่ชื่อ Songs that cause the brain to ‘rich’: professor investigates why certain turn get stuck in our heads ซึ่งได้กล่าวถึงการค้นพบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Earworm ของ Professor James Kellaris นอกจากนี้ในการศึกษาวิจัยยังได้ศึกษาเกี่ยวกับการกำจัดอาการ Earworm ให้ออกไปจากหัวด้วย
โดยวิธีการที่ค้นพบก็คือ การทำตัวให้ยุ่งหรือหาอะไรทำให้มากเข้าไว้ การอ่านออกเสียงดัง การทำกิจกรรมที่ต้องใช้หน่วยความจำในการทำงานที่มีความยากระดับปานกลาง เช่น Sudoku, puzzle หรืออ่านนวนิยาย เป็นต้น โดยผู้วิจัยระบุว่า วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ที่สามารถหยุดอาการ Earworm ได้จริง
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้น คือ เรื่องราววิทยาศาสตร์น่าสนใจเกี่ยวกับ Earworm หรือชื่อน่ารักๆ (?) แบบไทยว่า หนอนไชหู
สำหรับใครที่สนใจ Earworm และอยากอ่านงานวิจัยของ 'รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์' เพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่ การพัฒนากระบวนการแต่งเพลงติดหูสำหรับงานโฆษณา: The Development Process of Composing Earworm Songs for Advertising
วันนี้ทีมข่าวฯ ขอไปย้อนฟังเพลงที่อาจารย์แนะนำมาก่อน จะได้หลอนหูกันไปยาวๆ เลยทีนี้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ :