เที่ยว 'คลองบางหลวง' พื้นที่ศิลปะย่านฝั่งธนฯ และการหาจุดลงตัวบนความเห็นต่างของคน 2 ฝั่งคลอง...
"ศิลปะบำบัดจิตใจ" น่าจะเป็นคำที่ใครหลายคนเคยได้ยิน ในประเทศของเรามีแหล่งงานศิลปะหลายที่ให้ได้เดินทางไปเยี่ยมชม แต่หนึ่งในพื้นที่ศิลปะที่กลายเป็นกระแสในหมู่วัยรุ่นไทยเมื่อไม่นานมานี้ และยังคงมีผู้คนเดินทางไปเยือนอย่างไม่ขาดสาย คงจะหนีไม่พ้น 'ชุมชนคลองบางหลวง'
ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ฝั่งธนบุรี ที่ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ เส้นทางสัญจรทางน้ำสายสำคัญในอดีตที่แยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ ขุนนาง และเหล่าข้าหลวง ที่มาตั้งรกรากตั้งแต่เมื่อครั้งสร้างเมืองธนบุรี ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า 'คลองบางข้าหลวง' กระทั่งปัจจุบันเหลือเพียงชื่อ 'คลองบางหลวง'
"ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้เดินทางสู่ชุมชนแห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่เริ่มต้นตั้งแต่วัดกำแพงบางจาก จนถึงวัดคูหาสวรรค์ โดยบรรยากาศช่วงเช้าก่อนร้านค้าต่างๆ จะเปิดให้บริการ ค่อนข้างเงียบสงบ ส่วนคลองบางหลวงก็มีเรือนักท่องเที่ยวสัญจรอยู่บนผิวน้ำให้เราได้เห็นเป็นระยะๆ ชาวบ้านมีการนำเสนอเอกลักษณ์วิถีชุมชนและบรรยากาศกลิ่นอายของอดีต ที่สะท้อนภาพชุมชนดั้งเดิมบนเรือนไม้ริมชายน้ำได้เป็นอย่างดี
...
จุดเริ่มต้นคลองบางหลวง :
'คุณอ๋อย' ผู้นำชุมชนคลองบางหลวง เล่ากับทีมข่าวฯ ว่า เขาเติบโตมากับชุมชนแห่งนี้ และตอนนี้พยายามพัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้น เพราะตั้งใจอยากให้เป็นจุดรวมของทุกคน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่จะได้เที่ยวใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล ซึ่งการผลักดันและพัฒนาทั้งหมดนี้ เป็นการทำร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่
"ชุมชนของเราเข้มแข็งเพราะอยู่กันมานาน ผมพยายามให้คนพื้นที่ประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืนของชุมชน คนนอกเข้ามาทำก็คงไม่ถาวร เพราะอาจจะเข้ามาเพียงแค่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ตอนนี้ก็กำลังฟื้นฟูตลาดน้ำที่เป็นซุ้ม เนื่องจากหายไปช่วงโควิด ผมจะเปิดให้คนมาขายของฟรี เพราะต้องการให้ชุมชนอยู่ได้
เราต่อยอดให้มีกลุ่มวิสาหกิจเรือ โดยที่ไม่ต้องนั่งเรือใหญ่ แต่นั่งเรือเล็กของเรา สามารถไปไหว้พระวัดปากน้ำภาษีเจริญได้ หรือจะไปอีกทางก็สามารถไปตลาดน้ำตลิ่งชันได้ เป็นการพยายามเชื่อมเครือข่ายชุมชนต่างๆ เข้าหากัน
ตอนนี้กำลังพัฒนาและต่อยอดพื้นที่ให้ดีมากขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนที่เข้มแข็ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังอยากให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมดูแลบ้าง เพราะที่ผ่านมามีน้อยมาก"
ในอดีตพื้นที่นี้เคยเป็นตลาดที่รุ่งเรืองมาก่อน แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มหายไป แต่การมาของ บ้านศิลปิน ทำให้คลองบางหลวงเปลี่ยนไปอีกครั้ง...
"สมัยผมเด็กๆ แถวนี้เป็นตลาดอยู่แล้ว ถือว่าเจริญพอสมควร เพราะมีร้านขายทองอยู่ 5 ร้าน แต่เวลาผ่านไปอะไรก็เปลี่ยนแปลง จนวันหนึ่งมีคนมาซื้อบ้านที่ประกาศขาย แล้วทำเป็น บ้านศิลปิน ก็ถือว่าเขาเป็นคนมาจุดประกายให้ชุมชนเหมือนกัน" คุณอ๋อยกล่าวกับทีมข่าวฯ
การเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา :
คำกล่าวของคุณอ๋อยสอดคล้องกับคำกล่าวของ 'ยายนุช' คุณยายขายอาหารปลาที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านศิลปินมากนัก แม้คุณยายจะเกิด เติบโต และอยู่ที่นี่มาอย่างยาวนาน แต่คุณยายก็ยังดูแข็งแรง พูดคุยกับเราพลางทำงานไปด้วยท่าทีที่กระฉับกระเฉง
"การเปลี่ยนแปลงเข้ามาตรงที่มี บ้านศิลปิน เกิดขึ้นมานี่แหละ มีการขายของหน้าบ้านใครบ้านมัน ใครอยากขายอะไรก็ขาย อดีตมีตลาดสดอยู่ช่วงทางเดินไปวัดคูหาสวรรค์ มีเขียงหมู ตลาดผัก ตลาดปลา ฝั่งนี้ก็จะเป็นร้านขายทอง ขายยา เครื่องยาไทย ตอนนี้ปิดตัวกันไปหมดแล้ว คนแก่ๆ เขาทำไม่ไหว คนรุ่นลูกก็ไม่ได้ทำต่อ
...
พอมีบ้านศิลปินเกิดขึ้นมา คนก็มาเช่าพื้นที่หน้าบ้านขายของ อย่างป้าแก่แล้วก็ขายอาหารปลาง่ายๆ เจ้าของเดิมก็อยู่บ้านกันแต่ก็ไม่ได้ขายอะไร ให้คนมาเช่าพื้นที่ขายของ สองฝั่งคลองก็อยู่ด้วยกันมานาน มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง" คุณยายนุช กล่าว
ส่วน 'แม่ขนุน' คนขายของที่ระลึกที่อยู่ติดกับแม่นุช ก็บอกกับทีมข่าวฯ เช่นเดียวกันว่า "จุดเปลี่ยนแปลงของที่นี่คือบ้านศิลปิน วันเสาร์นี้ (9 กันยายน 2566) เขาก็จะทำบุญบ้านครบรอบ 14 ปี พอมีเขามันก็ดีนะ ทำให้นักท่องเที่ยวมาเยอะ เราคนค้าขายก็ขายของได้
มันก็มีปัญหาตามมาบ้างนิดหน่อยในช่วงแรกที่มีกระแส เอาตรงๆ นะ ถ้าเป็นต่างชาติโซนยุโรป เขาจะสะอาดไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องขยะ แต่ถ้าเป็นคนจีน คนไทย บางทีทิ้งเรี่ยราด แต่มันก็เป็นปัญหาช่วงแรกๆ ตอนนี้ชุมชนก็เรียนรู้และจัดการกันได้ดีมากขึ้น"
...
ดูเหมือนว่าบ้านศิลปินจะเป็นการจุดประกายที่ทำให้คลองบางหลวงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง ทีมข่าวฯ ได้เดินไปยัง 'บ้านศิลปิน' บ้านไม้สองชั้นทรงมะนิลา ตัวเรือนลักษณะเป็นรูปตัวแอล ที่สร้างล้อมรอบเจดีย์เก่าแก่ย่อมุมไม้สิบสอง มีการสันนิษฐานว่านี่เป็นหนึ่งในสี่ของเจดีย์ที่กำหนดอาณาเขตวัด
เดิมพื้นที่บ้านหลังเก่าเป็นของ 'ตระกูลรักสำรวจ' ตระกูลช่างทองเก่าแก่ กระทั่งทายาทรุ่นสุดท้ายขายบ้านหลังนี้แก่ 'ชุมพล อักพันธานนท์' สู่เจ้าของปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงเป็นสถานที่แสดงงานศิลป์ และเป็นที่รวมตัวกลุ่มศิลปินที่รักงานศิลปะ สถานที่แห่งนี้เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นตัวเอง
บ้านศิลปิน ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของคลองบางหลวง หากได้ถามคนที่เคยมาเยือน หรือ ค้นหาในเว็บไซต์ต่างๆ จะมีชื่อ บ้านศิลปิน ติดมากับ คลองบางหลวง อยู่เสมอ
แม้จะเป็นเวลาประมาณ 10.00 น. ที่พื้นที่ทางศิลปะแห่งนี้เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว แต่ผู้คนก็ทยอยเดินทางมาเรื่อยๆ จากร้านที่เงียบสงบ ไม่นานก็เริ่มเต็มไปด้วยผู้มาเยือน 'โบว์' หนึ่งในวัยรุ่นไทยที่กำลังนั่งทำงานประดิษฐ์อยู่ภายในบ้านศิลปิน เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า
...
"เคยมาที่นี่ครั้งหนึ่งแล้ว ตอนนั้นมาวันเสาร์ คนจะแน่นกว่านี้มาก วันนี้ (วันศุกร์) ว่างพอดี เลยรีบตื่นแต่เช้าเพื่อมาเที่ยว รู้สึกชอบบรรยากาศแบบนี้มันสบายและผ่อนคลายดี ถ้ามีพื้นที่ที่สามารถรองรับคนและกิจกรรมที่หลากหลายกว่านี้ เชื่อว่าน่าจะมีคนเดินทางมาเที่ยวมากขึ้นกว่าเดิม"
ความคิดเห็นของโบว์ ดูจะใกล้เคียงกับ 'แป้ง' และ 'เจ' สองวัยรุ่นไทยที่บอกกับเราว่า การได้มาคลองบางหลวงทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย แต่กิจกรรมยังค่อนข้างน้อย ส่วนพื้นที่ทำกิจกรรมก็ยังมีไม่มาก อาจจะรองรับจำนวนคนที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ยาก
แต่ดูเหมือนว่าการได้มานั่งทำกิจกรรมที่คลองบางหลวง จะเหมาะกับวัยรุ่นไทยมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 'Jane' บอกกับทีมข่าวฯ ว่า "ฉันมากับกลุ่มทัวร์ เขาจัดให้มาเที่ยวที่นี่ พอมาแล้วก็รู้สึกได้ถึงวิถีชีวิตของคนไทย แต่ฉันไม่ได้มีเวลาสำหรับการรนั่งทำกิจกรรมขนาดนั้น นอกจากจะซื้อของที่ระลึกกลับไป"
อีกฟากคลองที่กำลังจะเปลี่ยนไป ? :
หลังจากพูดคุยกับเหล่านักท่องเที่ยวเสร็จแล้ว ทีมข่าวฯ ได้พูดคุยกับ 'อาจารย์กก' หรือ 'ชุมพล อักพันธานนท์' ผู้ก่อร่างสร้างบ้านศิลปินแห่งนี้ อาจารย์กำลังจัดดอกไม้ใส่แจกันเตรียมสำหรับงานทำบุญครบรอบ 14 ปี ที่จะเกิดขึ้นในวัน เสาร์ ที่ 9 เดือน 9 ปี 2566 นี้ อาจารย์พูดคุยกับเราแต่มือก็ยังคงตัดดอกไม้ไปอย่างชำนาญ
"ที่นี่ก็เปลี่ยนไปเยอะ เมื่อก่อนบริเวณนี้เขาใช้แค่อยู่อาศัย ส่วนเราเข้ามาอยู่ใหม่ สิ่งที่ดีของคนที่นี่คือเป็นคนเก่าหมดเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนเก่าอยู่กับความเคยชิน เขาจะไม่รู้สึกว่ามันมีอะไรแปลกใหม่ ส่วนเรามาถึงเรารู้สึกดี แค่บรรยากาศมันเงียบเหงา เราก็คิดว่าทำไมไม่มีใครมาทำอะไรเลย
เราพยายามจินตนาการว่าบ้านริมน้ำน่าจะครึกครื้นนะ พอได้ซื้อบ้านหลังนี้ ก็ปรับปรุงพัฒนาให้มันดีขึ้น มีการทำบุญขึ้นบ้านเก่า ชวนชาวบ้านมาทำบุญ แล้วก็แจงจุดประสงค์ว่าเราอยากจะทำอะไร ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้เป้าหมายของเราไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย"
"เราอยากให้คนพลิกฟื้นการท่องเที่ยวริมน้ำ อยากให้คนมาพลิกฟื้นสายน้ำให้มีชีวิตอีกครั้ง ตลอด 14 ปี มีทุกอย่างปรับเปลี่ยนไปตลอดตามความเป็นจริง เราไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องแบบเดิมตลอดไป คนที่มาเยือนเขาก็มีไอเดียใหม่ๆ มาให้เราตลอด ส่วนเราก็ต้องพัฒนา บ้านหลังนี้จะถูกปรับเปลี่ยนทุก 2 ปี" อาจารย์กล่าว...
อาจารย์บอกว่า กระแสของบ้านศิลปินเกิดขึ้นจริงๆ หลัง โควิด-19 คนต่างโหยหาการทำกิจกรรมด้วยตัวเอง แบบเน้นความเรียบง่ายสบายๆ อาจารย์มีโอกาสถามคนไทยที่เคยมาซ้ำ ต่างบอกว่ารู้สึกผูกพัน นั่นคือสิ่งที่ทำให้อาจารย์รู้สึกดี ที่สามารถทำให้คนมาเยือนแล้วรู้สึกเหมือนบ้านตัวเอง อาจารย์มองว่าความรู้สึกแค่นี้ก็พอแล้ว มีคนมาเที่ยวมากขึ้น มีคนซื้อของกิน เกิดเศรษฐกิจ และทำให้คลองบางหลวงมีชีวิตชีวามากขึ้น
นอกจากนั้นหลัง โควิด-19 ก็มีคนต่างชาติเข้ามาทำกิจกรรมมากขึ้นด้วย อาจารย์มีความกังวลว่าชาวต่างชาติอาจจะพยายามหลบคนไทย จนไม่อยากทำกิจกรรม แต่พอได้ถามคนต่างชาติที่เคยมาเที่ยว เขากลับบอกว่ารู้สึกดีมากที่เห็นเยาวชนไทยเที่ยวในบ้านตัวเองแบบนี้
แม้ คลองบางหลวง จะเต็มไปด้วยงานศิลปะและกิจกรรมฮีลใจ รวมถึงวิถีชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่หลายคนใฝ่หา แต่ตอนนี้พื้นที่ข้ามฝั่งคลองส่วนหนึ่ง กำลังมีเรื่องบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้อาจารย์เองก็หนักใจอยู่ไม่น้อย
"พื้นที่ฝั่งนี้เป็นพื้นที่วัดค่าเช่าจึงไม่แพงมาก และไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่ดินติดริมคลองตรงข้ามบ้านศิลปินเป็นที่ดินมีโฉนด ตอนนี้เจ้าของเดิมยกที่ให้ลูกสาว ส่วนลูกสาวเขาก็อยากจะพัฒนาที่ตรงนั้น แต่ติดตรงที่ว่ามีชาวบ้านที่เช่าอยู่มานานแล้ว
เจ้าของที่เขาประกาศขาย โดยเคยแปะโพสต์ไว้หน้าเพจบ้านศิลปินมา 2 ปีแล้ว จนเขาเดินมาหาผมที่นี่ มาบอกว่าอยากให้พัฒนาสองฝั่งคลองไปในทางเดียวกัน ผมก็คิดว่างานเข้าแล้วสิจะทำยังไงดี ผมเลยไปลองก็ประสานไปคุยกับชาวบ้านที่อยู่เดิม บอกกับเขาว่าหากจะอยู่ก็อยู่ได้ แต่เจ้าของอาจหาคนมาซื้อ แล้วชาวบ้านก็ต้องเช่าคนอื่นต่อ ซึ่งราคาเช่าก็อาจจะสูงกว่าปกติ
หลายคนคิดว่าบ้านศิลปินจะไปซื้อ คิดว่าพวกเราเป็นนายทุนแต่เราไม่ใช่ เราแค่เป็นคนประสานระหว่างเจ้าของที่กับชาวบ้าน เดิมแล้วเจ้าของเขาก็อยากขายยกแปลง แต่ถ้าชาวบ้านจะอยู่ต่อเขาก็ยินดีแบ่งขายให้ ผมรู้สึกว่ามันก็ดีนะ"
"เราพยายามเสนอว่า หากซื้อที่ได้ก็ลองเปิดร้านค้าขาย เพื่อจะได้มีเงินเข้าบ้าน มีพื้นที่ให้คนที่มาเยือนได้เที่ยว เหมือนเป็นการสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนและตัวเขาไปด้วย แต่หลายคนอาจจะอยู่กับความเคยชิน และยังไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนี้
อย่างเรื่องหลังคาผมก็เคยเสนอออกเงินทำหลังคาให้เขา อยากให้มันเป็นสีน้ำตาลไม่สะท้อนแสงเข้ามาแบบนี้ เรามองอยู่ตรงข้ามเราเห็นว่ามันเป็นยังไง จะบอกว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกันก็ไม่ได้อีก มันเป็นเรื่องเดียวกันเพราะเราอยู่ด้วยกัน
ตอนนี้ก็ปวดหัวเหมือนกัน เราก็ยังอยากให้ชาวบ้านอยู่เหมือนเดิมแล้วปรับตัวหรือพัฒนาต่อยอด เพราะเราคิดว่าพื้นที่นี้ก็สามารถสร้างมูลค่าให้พวกเขาได้ และเราก็อยากให้วิถีชีวิต เศรษฐกิจ และความผูกพันทั้งหมดดำเนินไปด้วยกัน"
วิถีที่ผูกพัน :
สองฝั่งคลองบางหลวงมีเขตพื้นที่การปกครองคนละเขตกัน ฝั่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว (ฝั่งบ้านบ้านศิลปิน) จะอยู่เขตภาษีเจริญ และอีกฝั่งคลองจะอยู่ในเขตบางกอกใหญ่ หลังจากได้พูดคุยกับอาจารย์กก ทีมข่าวฯ จึงเดินข้ามสะพานสู่อีกฝั่ง เพื่อพูดคุยกับชาวบ้าน
ทางเดินเข้าพื้นที่เป็นทางแคบๆ มีแผ่นไม้สภาพค่อนข้างเก่าปูรองยาว บ้านทุกหลังอยู่ติดกันราวกับว่าทั้งหมดนั้นคือบ้านหลังเดียวกัน
'ป้าน้อย' หนึ่งในชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนที่ดินดังกล่าว เล่าให้ทีมข่าวฯ ฟัง ด้วยท่าทางที่ดูเป็นกังวลว่า "ทั้งหมดตอนนี้มีบ้านอยู่ 9 หลัง เราเช่าแถวนี้อยู่กันมานานแล้ว แต่เมื่อเดือนเมษายนเจ้าของต้องการขายที่ ทางบ้านศิลปินเขาก็เป็นคนกลางมาเจรจากับทางป้าว่า ถ้าใครสนใจจะซื้อที่ตรงนี้ ทางเจ้าของก็ยินดีแบ่งขายให้ เขาเข้ามาสอง 2 รอบ แต่พวกเราไม่มีเงินเลยไม่มีใครซื้อ ส่วนบ้านที่ทำเป็นโฮมสเตย์บอกว่าเขาจะซื้อเพราะลงทุนไปเยอะ"
ระหว่างที่ยืนสนทนากับป้าน้อย 'คุณยายสมคิด' อายุ 81 ปี ได้เดินออกมาเจอทีมข่าวฯ พอดี จึงได้ชวนเราเข้าไปนั่งพูดคุยในบ้าน คุณยายเล่าว่า ตนอยู่อาศัยบนพื้นที่นี้มาตั้งแต่บ้านเหมือนเรือนแพ "ตอนที่รู้ว่าเจ้าของเขาอยากขายที่ตรงนี้ เราก็เสียใจเหมือนกัน" คุณยายกล่าว
ป้าน้อยที่เข้ามานั่งข้างๆ เรากล่าวเสริมว่า "ตอนเขามาบอกว่าอยากขายที่เราก็เสียใจ เพราะรู้สึกผูกพัน แต่ก่อนมีการทำสัญญาเช่า โดยจะต่อสัญญาทุก 3 ปี แต่หลังจาก โควิด-19 ทางเจ้าของเปลี่ยนเป็นสัญญาปีต่อปี และเจ้าของเพิ่งไม่ต่อสัญญาประมาณปีที่แล้ว ตอนนี้เราก็อยากได้ความชัดเจน ว่าเขาจะยังไง เราอยู่กันมานานแล้ว ข้าวของก็เยอะ "
คุณยายและป้าน้อยยังพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า พวกเขารู้สึกผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้ เพราะอยู่อาศัยกันมานาน เป็นวิถีชีวิตที่ถูกฝังรากอยู่ตรงนี้ หากวันหนึ่งจำเป็นต้องย้ายออกก็คงรู้สึกเสียใจ
มุมมองจากเจ้าของที่ :
เมื่อทีมข่าวฯ ได้รับฟังข้อมูลทั้งจากอาจารย์กก และชาวบ้านในพื้นที่แล้ว เราจึงได้ติดต่อเจ้าของที่ดิน เพื่อสอบถามถึงรายละเอียด และจุดประสงค์ของเหตุการณ์ครั้งนี้ 'คุณหญิง' เจ้าของที่ดินซึ่งได้รับมรดกจากมารดาเปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่า
"พื้นที่ตรงนั้นพี่จะเก็บไว้บางส่วน เพราะเป็นที่โบราณและเป็นมรดกตกทอด โฉนดยังใบใหญ่เท่าโต๊ะอยู่เลย เดิมเป็นที่ของคุณทวดจนตอนนี้ตกทอดมาสู่พี่ พี่อยากเก็บส่วนหนึ่งเอาไว้ให้ลูก และก็อยากพัฒนาส่วนอื่นตรงนั้นให้ไปได้ดี เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม มีพื้นที่ที่เรื่องราวผสมกลมกลืนกัน แบบที่ชาวบ้านยังคงเลี้ยงตัวเองได้ นั่นคือภาพฝันของพี่
แต่ความเป็นจริงมันก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ถ้าอยากทำให้เกิดขึ้นพี่คงทำเองไม่ได้ทั้งหมด ในส่วนที่เก็บเราก็เก็บ ส่วนที่อยากปรับปรุงเราก็ไปปรึกษากับบ้านศิลปิน เพราะพี่เห็นว่าพอมีตรงนั้นเกิดขึ้น มันมีความเจริญเข้ามาด้วย พี่ก็ได้รับคำแนะนำที่ดีหลายอย่าง ทำให้พี่มองว่าถ้าสามารถปรับปรุงตรงนี้ขึ้นได้ พี่คิดว่าประเทศไทยจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าเพิ่มอีกแห่ง"
"คนที่ติดต่อขอซื้อก็มีหลายแบบ พี่คุยเองก็มองออกว่าเขาจะทำอะไร ซึ่งมันอาจจะทำให้ฝั่งของเราไม่เป็นภาพเดียวกันกับอีกฝั่ง ถ้าพี่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้นคนทำพังคือพี่เลยนะ เราไม่ได้อยากให้เป็นแบบนั้น เรามีความรู้สึกอยากพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น พี่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของพื้นถิ่น
พอมาเป็นของพี่ พี่ก็ทำสัญญาปีต่อปี พี่ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะให้มีการพัฒนา มีการได้คุย ได้บอก ได้แจ้ง ส่งกระแสเป็นระยะๆ จากคุณแม่ที่เคยให้ทำสัญญาแบบ 3 ปี หรือ 5 ปี พอเปลี่ยนมาเป็นสัญญาปีต่อปี มันก็คือสัญญาณที่ 1 แล้ว พอหมดสัญญาประมาณกลางปีที่แล้วพี่ก็ไม่ต่อเลย เพื่อเป็นสัญญาณอีกครั้ง"
"พี่ก็มีการไปพูดคุยกับอาจารย์กก เรามีความเห็นตรงกันให้บอกคนในพื้นที่ก่อนว่าไปด้วยกันกับเราไหม ในที่นี่คือการพัฒนาไปด้วยกัน ทำให้มันดีขึ้น ก็มีการเสนอไป แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับ นอกจากบ้านบางหลวงที่เป็นโฮมสเตย์ คือตอนนี้ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นสักเท่าไร แต่ก็ไม่แย่มาก แต่พี่คิดว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ พี่อาจจะเป็นคนมองโลกในแง่ดีด้วย
ถ้าคนที่อยู่เดิมเขาไม่อยากทำ พี่ก็ไม่ได้ว่าอะไร หรือใครอยากทำพวกเราก็อยู่ด้วยกัน คุยกันดีๆ แต่ชาวบ้านเขาก็ไม่ซื้อหรอก ตอนที่เจ้าของโฮมสเตย์คลองบางหลวงเขารับรู้ว่าต้องซื้อ ทุกคนก็รับรู้หมดแล้วว่าถ้าจะซื้อก็มาคุยกันในราคานี้แบบนี้ แบ่งกันเป็นแปลงยังไงก็ว่าไป แต่เราขอว่าคุณต้องดูแลตรงนี้ให้สวย ถ้าจะไม่เป็นร้านอาหารหรือร้านใดๆ เป็นเพียงพื้นที่อยู่อาศัย ก็ยังอยากให้มันดีขึ้น สวย สะอาด
ที่ผ่านมาทนายเขาก็บอกว่าไม่มีการติดต่อกลับมา บางคนรับจดหมาย บางคนไม่รับ แต่ไม่ได้มีทิศทางที่ดีขึ้นว่าจะย้าย พี่ไม่ได้ทำอะไรเลยนะ เราแค่บอกทนายว่ามีเรื่องแบบนี้ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเหมาะสม พี่ไม่ได้มีเรื่องหรือโกรธใคร"
คุณหญิงกล่าวปิดท้ายว่า "มันคือพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่พี่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของ พี่จะไม่ทำให้มันพังด้วยมือพี่"
เมื่อชาวบ้านส่วนหนึ่งยังคงผูกพัน และต้องการอยู่ด้วยวิถีชีวิตที่มีมา เรื่องราวนี้บนพื้นที่คลองบางหลวงจะจบลงเช่นไร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องลงมาช่วยพูดคุยหาทางออกต่อไป...
อย่างไรก็ตาม คลองบางหลวง ก็ยังคงเปิดพื้นที่ต้อนรับทุกคนอยู่ทุกวัน หากใครต้องการฮีลใจก็อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชุมชนแห่งนี้ มีทั้งของกินที่อร่อย งานศิลปะ และกิจกรรมดีๆ ให้ทำอยู่ตลอด หรือหากใครไปวันเสาร์-อาทิตย์ ทางชุมชนก็ยังมีหุ่นละครเล็กมาแสดงให้ดูอีกด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ภาพ : ศรันย์ พงษ์สวัสดิ์
อ่านบทความที่น่าสนใจ :