ช่องเก็บอัฐิตามวัด ปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 1,000–20,000 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการเก็บ และขนาดของช่องในการเก็บอัฐิ สิ่งนี้ทำให้หลายครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพื่อทำประเพณีด้านศาสนา จนต้องแบกหนี้เป็นภาระให้กับคนยังมีชีวิตอยู่ แต่ครอบครัวรุ่นใหม่ เลือกที่จะนำอัฐิไปลอย เพื่อลดค่าใช้จ่าย
วิโรจน์ สุริยเสนีย์ ประธานกรรมการบริษัทสุริยา ฟิวเนอรัล จำกัด (สุริยาหีบศพ คลองหลวง)
เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ปัจจุบันช่องบรรจุอัฐิตามวัดต่างๆ มีราคาตั้งแต่ 1,000–20,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานที่ในการบรรจุ รวมถึงขนาดของช่องจัดเก็บ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะต้องให้ทางวัดครั้งเดียว เมื่อตอนแรกเข้า แต่มีบางสถานที่ของเอกชน จะมีค่าจัดเก็บเป็นรายเดือนหรือปีขึ้นอยู่กับการตกลง
“อีกปัจจัยทำให้ช่องบรรจุอัฐิ มีราคาสูง เนื่องจากราคาของการทำป้ายหินอ่อนที่ปิดบริเวณด้านหน้า มีให้เลือกว่าจะติดรูปผู้เสียชีวิตลงไปด้วยหรือไม่ หากไม่ติดรูปราคาจะถูกลง โดยแผ่นป้ายมีราคาตั้งแต่ 2,000–4,000 บาท โดยทั่วไปขนาดช่องเก็บอัฐิอยู่ที่ 20 × 15 เซนติเมตร ถือเป็นขนาดมาตรฐาน ที่ติดตามกำแพงวัด ที่ช่างทำป้ายหินอ่อนทั่วไปทำสำเร็จรูปไว้แล้ว”
...
ขณะที่การเก็บอัฐิอีกแบบเป็นเจดีย์ มีราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ส่วนใหญ่ช่องใส่อัฐิตามกำแพงจะบรรจุได้ 1 ช่อง ต่อ 1 คน แต่ถ้าคนที่เป็นครอบครัวใหญ่ อยากจะบรรจุไว้ในสถานที่เดียวกัน จะบรรจุเป็นเจดีย์ ที่ใส่ได้หลายอัฐิในที่เดียว
ส่วนพื้นที่ของช่องบรรจุอัฐิจะมีในจุดต่างๆ ภายในวัด เช่น รอบโบสถ์ ศาลาอเนกประสงค์ กำแพงวัด บางสถานที่ดัดแปลงพื้นที่วัดเพื่อบรรจุอัฐิโดยเฉพาะ อย่างวัดที่เป็นฌาปนสถาน มีค่าแรกเข้า 20,000 บาท มีการเก็บค่าดูแลเป็นรายปีอีกต่างหาก
หากมองถึงพื้นที่บรรจุอัฐิภายในวัด มีราคาถูกสุดอยู่บริเวณกำแพงวัด ส่วนใหญ่แถวหนึ่งมีช่องประมาณ 4 ชั้น แต่ถ้าเป็นเจดีย์ มีราคาแพงสุด บางคนสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ไว้บรรจุอัฐิประจำตระกูล ใช้งบประมาณ 2–3 แสนบาท
แต่ในยุคสมัยใหม่ ญาติผู้เสียชีวิตเริ่มจะไม่นำอัฐิมาไว้ตามวัด แต่นำไปลอยประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เหตุผลหลักคือ สะดวกสบาย ไม่ต้องคอยดูแล เนื่องจากหลายคนมองว่า หากนำไปไว้ตามกำแพงวัด บางครั้งก็ไม่สะอาด หรือถ้านำไปไว้ในสถานที่เอกชนรับดูแลโดยเฉพาะ ต้องเดินทางไกลไปถึงชลบุรี ไม่สะดวกกับการเดินทาง
“หลายครอบครัวการจะเลือกว่าเก็บอัฐิไว้หรือนำไปลอยอังคาร ขึ้นอยู่กับคำสั่งเสียของผู้เสียชีวิต หลายคนเลือกจะนำไปลอยทั้งหมด เพื่อไม่อยากให้ลูกหลานที่ยังอยู่ต้องรับภาระมาดูแล หรือบางคนก็ไม่อยากมีรูปตัวเองไปอยู่บนกำแพงวัด เลยมีการสั่งเสียไว้ก่อนให้นำไปลอยอังคาร”
ประกอบกับบางวัด พื้นที่ในการจัดเก็บอัฐิเต็มเกือบทั้งหมด จนไม่มีที่ว่างให้ผู้เสียชีวิตรายใหม่ ทำให้บางวัดเมื่อเห็นว่าช่องอัฐิดังกล่าวไม่มีลูกหลานมาดูแลนาน จะทำพิธีกรรมคล้ายกับการล้างป่าช้า โดยนำกระดูกมารวมกันก่อนนำไปลอยอังคาร
การเก็บกระดูกไว้ในช่องอัฐิหรือจะนำไปลอยอังคาร จะขึ้นอยู่กับผู้วายชนม์และญาติผู้เสียชีวิต แต่ส่วนใหญ่ใช้การลอยอังคารเป็นหลัก ซึ่งทุกสิ่งอย่างอยู่ที่ใจ หากเก็บอัฐิไว้ที่วัดแต่ไม่ไปดูแลทำบุญให้กับผู้เสียชีวิตก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นการคุยกันภายในครอบครัว ตอนที่ยังไม่ล้มป่วยและมีสติ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้รู้ความประสงค์ของผู้นั้น.
...