ทันทีที่ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ได้รับการโหวตจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และในช่วงเย็นวันที่ 23 ส.ค. มีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย ได้มีเสียงเรียกร้องจากคนไทยต้องการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ประกาศจะเดินหน้าทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล และจะทำให้สำเร็จภายใน 6 เดือน นั่นหมายความว่าเมื่อมี ครม. "เศรษฐา" แล้ว จะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. ในวันแรกทันที

นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ของพรรคเพื่อไทย เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ในการใช้งบประมาณจำนวนมาก และที่มาของงบจะนำมาจากส่วนใดในการจ่ายให้กับคนไทยผู้ได้สิทธิ 50 ล้านคน จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้จริงหรือ อีกทั้งมีการจัดทำงบประมาณขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง จนระดับหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันเกินกว่า 60% ต่อจีดีพีไปแล้ว อาจทำให้ไทยเกิดวิกฤติหนี้สินแบบละตินอเมริกา

...

เหมือนเวลานี้คนไทยต้องการจะใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงสะกิดไปยังพรรคเพื่อไทย ต้องทำตามนโยบายหาเสียง เมื่อถาม "ดร.นณริฏ พิศลยบุตร" นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ถึงความยากง่ายในการผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้เป็นจริงโดยเร็ว ก็ต้องขึ้นอยู่ว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ว่าใครจากพรรคใดในรัฐบาลอยู่กระทรวงใด เพราะก่อนพรรคก้าวไกล จะสร้างเอ็มโอยู ทางเจ้ากระทรวงจะต้องผลักดัน และขึ้นอยู่กับพรรคนั้นจะได้กระทรวงที่จะเดินหน้าเงินดิจิทัลได้หรือไม่ เช่น กระทรวงการคลัง ต้องดูว่ามีการแบ่งเก้าอี้ใน ครม.กันอย่างไร อย่างกระทรวงคมนาคม ทางพรรคเพื่อไทยต้องการลดค่าตั๋วรถไฟฟ้าเหลือ 20 บาทตลอดสาย ส่วนพรรคภูมิใจไทย จะขับเคลื่อนโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ เชื่อมอ่าวไทยกับอันดามัน 

“เท่าที่ดูทางเพื่อไทย เอากระทรวงเศรษฐกิจแน่ๆ และจะผลักดันเงินดิจิทัล หากให้พรรคอื่น ก็คงต้องอาศัยให้ผลักดัน แต่ต้องยอมรับเลยว่าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ใช้งบจำนวนมาก จะต้องลดงบกระทรวงอื่น บริหารงบอย่างมีประสิทธิภาพ หรือจะกู้มาเพิ่ม จะกู้มากแค่ไหน มีกฎระเบียบและกฎหมาย และการจะดำเนินการบางลักษณะ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะของใหม่ อย่างที่คุณเศรษฐาพูด ต้องสร้างบล็อกเชน และกฎระเบียบของแบงก์ชาติจะทำได้หรือไม่ เพราะเงินแสนล้าน รวมไปถึงเรื่องเทคนิคอล หากใช้ระบบพร้อมเพย์ ระบบคนละครึ่ง ถ้าอย่างนั้นก็จะเร็ว ถ้าคิดใหม่ก็จะดีเลย์ จากเงื่อนไขต่างๆ อาจเร็วสุด 3-6 เดือน และตัวดิจิทัล อาจประมาณไตรมาส 2 ปีหน้า”

หวั่นเกิดการเหลื่อมล้ำ ร้านใหญ่ไร้ปัญหา ร้านเล็กลำบาก

หากใช้ระบบที่มีอยู่แล้ว อย่างโครงการคนละครึ่ง ก็จะเร็ว ถ้าคิดระบบใหม่ ก็จะใช้เวลานานอย่างแน่นอน และร้านค้าบริการต้องมีการลงทะเบียน กว่าจะให้ครอบคลุมต้องใช้เวลานาน อย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ก็ใช้เวลานาน และรอบนี้ต้องมีร้านครอบคลุมในรัศมี 4 กิโลเมตร ก็ไม่ง่าย หากไม่ใช่ร้านค้าขนาดใหญ่ หรือกรณีรถเข็นขายหมูปิ้ง ร้านค้าเล็กๆ จะวัดกันอย่างไรในการเข้าร่วมและดูจากโลเคชั่น อาจเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เหมือนโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งร้านเล็กๆ จะลำบาก อาจลงทะเบียนตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านในบ้านเกิด แต่ความจริงไปขายในเมืองใหญ่จังหวัดอื่น จะเป็นปัญหา เพราะจดอีกที่ ไปอยู่อีกที่

การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะรวดเร็วต้องใช้ระบบเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ ที่สำคัญต้องตั้งรัฐมนตรีให้ตรงกระทรวง ในการผลักดัน และต้องหาแหล่งเงินให้ได้ หากสร้างระบบใหม่ ต้องตรวจสอบระบบให้ปลอดภัยโปร่งใส อย่างแบงก์ชาติ พัฒนาระบบล็อกเชน (Blockchain) ของ CBDC หรือบาทดิจิทัล ก็ใช้เวลานานเป็นปีๆ เคยทดลองในบางพื้นที่ในกลุ่มเฉพาะ ก็ไม่สามารถให้ประชาชนใช้ได้ หากจะเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล ต้องหารือกับแบงก์ชาติ หากมีแฮกเกอร์ ใครจะรับผิดชอบ หากเงินหายไป ซึ่งระบบ CBDC ก็คล้ายกับคูปองร้านอาหาร เพื่อให้ร้านค้าเอาเงินดิจิทัลมาแลกกับแบงก์ชาติ มาเป็นเงินบาท

เมื่อกระแสสังคมต้องการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จริง ถือว่านโยบายนี้เป็นเรือธงของพรรคเพื่อไทย จะต้องทำให้ได้ แต่ในทางทฤษฎีไม่เอากระแสประชาชน ก็สามารถหาเหตุผลไม่ทำก็ได้ แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนก็อาจไม่เอา และถ้าจะเดินหน้า มีความเป็นห่วงมากสุดหากไปกู้มา จะทำให้เป็นหนี้ในอนาคต ซึ่งแนวทางที่ดีที่สุด ควรลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นในกระทรวงอื่นๆ เช่น ไม่เอาเรือรบ ไม่เอาเรือดำน้ำ 

...

“ถ้าเราเป็นรัฐสวัสดิการ ฐานะทางเศรษฐกิจของเรายังมีความเข้มแข็ง เชื่อว่ายังพอไหวภายในไม่กี่ปี ไม่เสี่ยงต่อสถานะทางเศรษฐกิจ และไซส์เงินก็ไม่ได้สูงมากนัก แม้เพื่อไทยจะใช้งบเป็นจำนวนมาก แต่ฐานะทางการคลังของเรา ยังคงเข้มแข็งอยู่ จะไม่เกิดวิกฤติหนี้สินแบบละตินอเมริกาอย่างแน่นอน”.