เป็นที่วิจารณ์ในโลกโซเชียล กรณีพนักงานรายหนึ่งขอลาหยุดเนื่องจากแม่ป่วย จนต่อมาแม่เสียชีวิต แต่หัวหน้างานกลับส่งข้อความกลับมาว่าให้มาลาออก ล่าสุดกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง แม้ทางกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อขอไปทำกิจธุระได้ 3 ครั้ง/ปี แต่มีแนวทางในการลาหยุดเพื่อไม่ให้หัวหน้าไล่ออก ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลูกจ้างควรรู้
ภายหลังลูกจ้างรายหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊ก มีภาพข้อความการขอลาหยุดต่อหัวหน้า เนื่องจากแม่มีอาการป่วย และแม่เสียชีวิตในเวลาต่อมา สำหรับกฎหมายแรงงานการลาหยุด หรือเหตุที่นายจ้างสามารถไล่ออกได้ตามกฎหมาย นราธิป ฤทธินรารัตน์ ทนายความด้านกฎหมายแรงงาน สำนักกฎหมายเนตินรา เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า กรณีนายจ้างแจ้งความประสงค์ให้ลูกจ้างลาออก ลูกจ้างไม่ได้มีความประสงค์ที่จะลาออก ทางกฎหมายต้องไปดูว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะลูกจ้าง หรือเป็นเหตุที่นายจ้างสามารถทำได้ตามข้อกฎหมาย

“ถ้าเป็นเหตุที่ลูกจ้างทำผิดจริงตาม พ.ร.บ.แรงงาน มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง แต่ถ้าเป็นการเลิกจ้างด้วยเหตุอื่น จากความต้องการของนายจ้าง ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง กรณีที่เป็นประเด็น ทางกฎหมายมีการกำหนดว่า หากต้องการลากิจธุระจำเป็น สามารถลาได้ 3 วัน แบบรับค่าจ้าง เช่น ลาไปดูแลบุพการี ถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์นี้ แต่ถ้าลากิจครบตามกฎหมายกำหนดแล้ว ต้องการลากิจอีก ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท”
...
การลาเพื่อไปดูแลบุพการี หากเป็นกรณีที่ต้องลาหลายวัน แล้วสิทธิการลาครบตามกำหนด บริษัทจะมีหนังสือเรียกลูกจ้างให้กลับมาทำงาน แต่ถ้าลูกจ้างไม่มา และไม่เป็นกรณีที่ลูกจ้างไม่มีอาการเจ็บป่วย จะขึ้นอยู่กับหัวหน้างาน และองค์กรในการตกลงกับลูกจ้าง เพื่อทำการใช้สิทธิการลาอื่นแทน ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับธรรมาภิบาลของแต่ละบริษัท

“บางครั้งพนักงานคนที่ลาหยุดอยู่ในตำแหน่งสำคัญ ทำให้บริษัทต้องเรียกพนักงานกลับเข้ามาทำงาน สำหรับการลาหยุดผ่านไลน์ หรือข้อความ ถ้ามีการอนุมัติผ่านทางข้อความตอบกลับมา ถือเป็นการลาที่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นการส่งข้อความไปแล้ว แต่หัวหน้างาน หรือตัวแทนบริษัท ไม่ตอบกลับ แล้วลูกจ้างตัดสินใจหยุดทันที ทางกฎหมายถือว่า การเงียบ ไม่เป็นการอนุมัติ”
สำหรับกรณีการให้มาลาออกผ่านไลน์ หรือข้อความ ตามกฎหมายการแจ้งให้มาลาออก ถือว่าไม่เป็นการเลิกจ้าง เพราะตามกฎหมายการไล่ออกถือเป็นเจตนาฝ่ายเดียว ถ้าลูกจ้างส่งข้อความขอลาออกออก หากนายจ้างไม่อนุมัติ แต่ก็ถือว่ามีผลตามกฎหมาย เช่นเดียวกับกรณีนายจ้างแจ้งลูกจ้างผ่านไลน์ หรือข้อความว่า ให้มาเก็บของออกจากที่ทำงาน ถือเป็นการไล่ออก และมีผลทางกฎหมาย แต่กรณีที่ให้มาเขียนใบลาออก ยังเป็นพฤติกรรมที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นการไล่ออก เพราะหลายรายเมื่อนายจ้างได้มาคุยกับลูกจ้าง มีการปรับความเข้าใจ และกลับมาทำงานเหมือนเดิม
นายจ้างสามารถแจ้งให้ลูกจ้างออกจากการทำงานผ่านไลน์ หรือข้อความได้ แต่ต้องเป็นข้อความที่ชัดเจนว่าให้ลูกจ้างพ้นสภาพการทำงาน ปกติกฎหมายแรงงานได้กำหนดว่า การให้ลูกจ้างลาออกต้องแจ้งก่อนภายใน 30 วัน แต่มีกรณียกเว้นว่าถ้าลูกจ้างบอกกล่าวถึงการลาออกในวันนั้นก็สามารถทำได้
ในสภาวะคนทำงานต้องดูแลครอบครัวที่ป่วย สิ่งสำคัญคือ นายจ้างกับลูกจ้างต้องมีการพูดคุยตกลงกัน หากมีความจำเป็นต้องลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน แต่ต้องคุยวันหยุดให้ชัดเจน เพราะงานบริษัทต้องเดินไปต่อ ขณะที่ครอบครัวพนักงานก็ต้องดูแล
เทคนิคการลาไม่ให้หัวหน้าไล่ออก คือ ต้องได้รับการอนุมัติ ไม่ว่าเป็นการส่งข้อความผ่านไลน์ หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แต่สิ่งสำคัญต้องมีการตอบรับมาจากหัวหน้าเป็นข้อความยืนยัน แม้แต่การส่งสติกเกอร์ไลน์ก็ถือเป็นการยืนยันการอนุมัติการลาหยุด
“อีกกรณีที่ส่งข้อความไปหาหัวหน้า แต่นิ่งไม่ตอบกลับบมา ลูกจ้างต้องพยายามส่งข้อความให้ตอบกลับมาให้ได้ ถึงจะเป็นหลักฐานในการยืนยันทางกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาลูกจ้างมักเสียเปรียบ เพราะหลายรายเมื่อสิ้นสภาพพนักงานไปแล้ว มีกรณีพิพาทจะไม่มีใครช่วยเหลือ ดังนั้นไม่ว่าทำอะไรต้องมีเอกสาร ข้อความ ภาพถ่ายเก็บเอาไว้”
...
เคยมีกรณีที่ลาเกินสิทธิแล้ว แต่นายจ้างอนุมัติ ถือเป็นการลาที่ถูกต้อง เพราะถ้ามีหลักฐาน ถือว่านายจ้างที่เลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติมจากเงินชดเชย

กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการตรวจสอบ
สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าวลูกจ้างสาวรายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก โดยนำภาพแชตคุยกับหัวหน้าที่ทำงาน กรณีขอลางานเนื่องจากแม่ป่วยหนักและใกล้จะเสียชีวิต แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลางาน ว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ในเบื้องต้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 34 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็น เท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 3 วันทำงาน
เนื่องจากการลากิจธุระอันจำเป็น เป็นสิทธิพื้นฐานที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดสิทธิให้ลูกจ้างทุกประเภทมีสิทธิลากิจได้ แม้จะเป็นลูกจ้างทดลองงาน ลูกจ้างรายวัน และลูกจ้างประเภทอื่น ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ผมได้กำชับให้พนักงานตรวจแรงงานเร่งสอบข้อเท็จจริงจากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยกระทรวงแรงงานจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน.
...
