ครูกายแก้ว กลายเป็นกระแสความนิยมของสายมูในไทย หลังมีการเคลื่อนย้ายมาตั้งยังกลางเมืองกรุงเทพฯ มีผู้มาร่วมบวงสรวงจำนวนมาก ขณะที่นักประวัติศาสตร์ศึกษาเขมรโบราณยืนยันว่าในจารึกไม่มีการบันทึกถึงครูกายแก้วเป็นบรมครูพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตามที่กล่าวอ้าง แต่มีบันทึกถึงครู 3 คนสำคัญที่สอนพิชัยสงครามและไสยเวทย์ จนทำให้อาณาจักรเขมรโบราณขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลจนชาวกัมพูชายกย่องว่า "พระพุทธเจ้าแห่งชัยชนะ"

ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกเขมรโบราณ เปิดเผยกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า กรณีครูกายแก้วที่มีคนไทยศรัทธา โดยระบุว่าเป็นบรมครูพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของเขมรโบราณ แท้จริงแล้วไม่มีจารึกใดปรากฏชื่อดังกล่าว

แต่มีข้อความจารึกในปราสาทตาพรหม ระบุถึงบรมครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ไว้ 2 ท่าน ในโศลกที่ 37 คือ 1."ศรีชยมังคลารถเทวะ" 2."ศรีชยกีรติเทวะ" โดยในปราสาทประดิษฐานรูปเคารพของครูทั้งสองไว้ด้านซ้ายและขวา ตรงกลางเป็นรูปเคารพพระมารดา มีเทพบริวารอีก 260 องค์ เสมือนการบูชาครู ซึ่งชื่อของครูที่ลงท้ายด้วย “เทวะ” เป็นการสร้างรูปเคารพหลังจากที่อาจารย์เสียชีวิต ก่อนการสร้างปราสาท

...

3."ศรีชยมหาประธาน" เป็นพราหมณ์ที่ไม่ได้บันทึกไว้ในปราสาทตาพรหม เนื่องจากช่วงก่อสร้างปราสาทท่านยังมีชีวิตอยู่ เลยไม่ได้ตั้งรูปเคารพของท่านไว้ ในจารึกมีการระบุสรรพวิชาที่ครูได้สอนไว้ทั้งตำราพิชัยสงคราม ไสยเวทย์ในการรบ ที่น่าสนใจคือครูของท่านมีรูปกายเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่มีความสามารถด้านการรบ ซึ่งอย่าง "ศรีชยมหาประธาน" มีการบันทึกว่าเป็นชาวต่างชาติ คาดว่าอยู่ในพื้นที่พม่าหรือประเทศอินเดียปัจจุบัน

“ยืนยันว่าในบันทึกของโบราณไม่มีชื่อของครูกายแก้ว แต่อาจเป็นลูกเล่นของผู้ที่เลื่อมใสในการนำขอมโบราณมาสร้างเป็นเรื่องราวเพื่อให้ผู้คนสนใจ และมีการออกแบบรูปลักษณ์ตามจินตนาการ สำหรับชาวกัมพูชาในปัจจุบันหลายคนยังมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ ส่วนใหญ่บูชาเครื่องรางที่มีมาแต่เดิม เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ แต่ไม่มีการออกแบบรูปลักษณ์ให้เหมือนกับคนไทย ที่มีการครีเอตเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และทำให้ชาวต่างชาติที่มีความเชื่อมาเช่าบูชา”

บรมครูของเขมรโบราณมีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน ครูแต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญด้านการปกครอง ภาษาสันสกฤต และต้องมีความรู้ด้านพิธีกรรมอย่างรอบด้าน สำหรับตัวตนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงหลังท่านได้หันมานับถือพุทธศาสนา ยุคนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับไสยเวทย์เข้ามาบ้าง เช่น ภาพสลักในปราสาทบายน ภาพการเคลื่อนทัพ มีพิธีการฆ่าควาย เหมือนพิธีตัดไม้ข่มนามในเวลาศึกสงคราม โดยในภาพมัดควายไว้กับต้นไม้ แล้วมีคนกำลังฆ่าควาย โดยด้านข้างมีช้างและฤาษีกำลังอ่านโองการ

ปรากฏการณ์ของครูกายแก้วถือเป็นกระแสที่มักเกิดขึ้นแล้วหายไป เป็นเสมือนการให้ความหวังเพื่อบรรลุอะไรสักอย่าง โดยที่ไม่มีความพยายาม แทนที่เราจะใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองมุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย แต่ถ้ามัวแต่ร้องขอ ดังนั้นการเคารพบูชาสิ่งใด ถ้าสร้างกำลังใจได้ก็จะดี แต่ถ้าขอแล้วไม่ทำงาน ไม่มีความพยายาม มัวแต่รออย่างเดียว ก็เป็นเรื่องสูญเปล่า

...

เห็นได้จากครูทั้ง 3 ท่านของ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีบันทึกในปราสาทขอมโบราณ ส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดา แต่มีความเชี่ยวชาญ แสวงหาความรู้ ดังนั้นคนรุ่นหลังเมื่อศรัทธาสิ่งใดควรมีการยึดเหนี่ยวแต่พอดี และต้องใช้การแสวงหาความรู้ไปศึกษากับครูผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นโดยเฉพาะ จะช่วยส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายได้สำเร็จมากกว่านั่งขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว.