เตือนภัย แก๊งมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อโรงแรมหรูเมืองพัทยา หลอกโอนเงินจองห้องพักลดราคา สุดท้ายสูญ พบเหยื่ออื้อ บัญชีม้านับสิบ...
ปัจจุบันโลกออนไลน์สามารถทำธุรกรรมได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว ความรวดเร็วและสะดวกสบายนี้ทำให้เกิดช่องโหว่บางอย่างจนทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางนี้ในการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในสังคม ซึ่งนับวันการหลอกลวงเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ และมีผู้เสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“คุณนิว” นักศึกษาปริญญาโท ติดต่อร้องทุกข์กับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ว่า ตนโดนโกงเงินจากการโอนจองค่าที่พักผ่านเพจเฟซบุ๊ก เป็นจำนวนเงิน 7,390 บาท และพบว่ายังมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง จากการกระทำของเพจมิจฉาชีพนี้
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2566 ก่อนวันหยุดยาวปลายเดือนกรกฎาคม คุณนิววางแผนจองที่พักแถวพัทยาเพื่อจะพาครอบครัวไปพักผ่อน หลังจากได้รีสอร์ตที่ต้องการเข้าพัก คุณนิวนำชื่อไปค้นหาในเฟซบุ๊ก และพบกับเพจที่ใช้ชื่อเดียวกัน เบื้องต้นได้เข้าไปดูหน้าเพจ พบว่ามียอดไลค์และผู้ติดตามหลักหมื่น จึงทำให้ตนเชื่อถือ และเลือกจองที่พักผ่านทางข้อความเพจนี้
...
“ตอนแรกผมไม่ได้เอะใจ เพราะเห็นว่ามีผู้ติดตามเยอะ ทำให้รู้สึกเชื่อถือ จึงติดต่อคุยกับแอดมินเพื่อสอบถามราคา และโอนเงินจองค่าที่พักไป”
จำนวนเงินที่ถูกโกงมากถึง 7,390 บาท ซึ่งเป็นการโอนที่เกิดขึ้น 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกจำนวน 4,490 บาท และครั้งที่สอง 2,900 บาท
“ทางมิจฉาชีพให้ผมโอนเงินทั้งหมด 2 ครั้ง ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ครั้งแรกเป็นค่าจองห้อง และครั้งที่สองเป็นค่าประกัน ตอนแรกไม่ได้เอะใจอะไรเลย แต่พอเขาให้โอนครั้งที่สอง และแจ้งว่าเป็นค่าประกัน ก็เริ่มรู้สึกสงสัย เพราะปกติแล้วผมไม่เคยโดนเรียกเก็บเงินในส่วนนี้ หรือหากทางที่พักต้องการก็จะเก็บตอนเช็กอิน”
เราสอบถามกลับว่า เมื่อรู้สึกเอะใจแล้วทำไมถึงเลือกที่โอนอีกครั้ง และตอนนั้นมั่นใจได้อย่างไรว่านี่คือการโกง...
“ที่ผมเอะใจเพราะตอนนั้นสงสัยว่าทำไมชื่อบัญชีปลายทางเป็นชื่อบุคคลไม่ใช่นามบริษัท แต่ด้วยเวลากระชั้นชิดและรีบร้อน เพราะอีกประมาณ 2 วันก็เดินทางแล้ว จึงตัดสินใจโอนเงิน แต่หลังจากนั้นสักพักรู้สึกตงิดใจอีกครั้ง จึงพยายามขอเบอร์ติดต่อเพื่อจะโทรไปถามให้มั่นใจ ซึ่งทางมิจฉาชีพอ่านข้อความ แต่ไม่ตอบอะไรกลับมา
ผมลองค้นหาชื่อเพจของรีสอร์ตอีกครั้ง พบว่าเพจจริงของรีสอร์ตแห่งนี้ มีผู้ติดตามถึงหลักแสนจึงลองติดต่อไป ทำให้รู้ว่าไม่มีชื่อผมอยู่ในการจอง และตอนนั้นเองที่ทุกอย่างชัดเจนว่าผมโดนโกง”
หลังจากเกิดเหตุการณ์คุณนิวได้เข้าแจ้งความที่ สน.พหลโยธิน ทางตำรวจได้ขอหลักฐานการแชตและโอนเงิน ทั้งยังออกหมายสั่งระงับบัญชีและเอกสารขอข้อมูลจากธนาคารบัญชีปลายทาง อย่างไรก็ตามหลังจากติดต่อกับธนาคารก็ได้ความว่า บัญชีปลายทางไม่มียอดเงินคงเหลืออยู่เลย คาดว่าหลังจากที่คุณนิวโอนเข้า ทางมิจฉาชีพก็โอนออกทันที...
“ตอนนี้เรื่องเงินผมทำอะไรไม่ได้ ต้องรอทางตำรวจดำเนินการ ผมคิดว่าผู้เสียหายคนอื่นก็อยากได้เงินคืน แต่ส่วนตัวแล้วไม่อยากตั้งความหวังไว้เยอะ ตอนนี้ก็ไม่ได้ติดตามการดำเนินคดี คิดว่าจะให้ครบ 1 เดือนก่อน หรือถ้ามีความคืบหน้าตำรวจก็คงติดต่อกลับมา”
ทีมข่าวฯ เข้าไปตรวจสอบหน้าเพจที่คุณนิวร้องทุกข์มา ทำให้พบว่ายังมีผู้เสียหายรายอื่นที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพรายนี้ และยังคงมีอยู่เรื่อยๆ แม้คุณนิวจะเคยแจ้งความไปตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม
...
“ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ เพราะรู้สึกว่าช่วงนี้มิจฉาชีพเยอะมากๆ และมาในหลายรูปแบบ อยากให้ทุกคนตรวจสอบให้ดีก่อนจะทำธุรกรรมใดๆ และอยากให้ทางตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยหาวิธีดำเนินการระงับเพจปลอมดังกล่าว เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม”
เบื้องต้นทีมข่าวฯ พบว่ารีสอร์ตที่โดนแอบอ้างชื่อจากมิจฉาชีพ ได้ประกาศเตือนประชาชนผ่านเพจเฟซบุ๊กของรีสอร์ต ไม่ให้หลงเชื่อการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ทั้งยังแจ้งเตือนให้ระวังการทำธุรกรรม และทำการตรวจสอบรายละเอียดให้ถี่ถ้วนก่อนโอนเงินอีกด้วย และย้ำว่าทางรีสอร์ตไม่มีนโยบายให้ทำธุรกรรมโอนเงินใน “นามบุคคล” แต่จะเป็นในรูปแบบของบริษัทเท่านั้น
นอกจากนั้นเพจยังได้ประกาศรายชื่อบัญชีปลอมที่มีผู้เสียหายเคยถูกหลอกมากกว่า 21 รายชื่อบัญชี และทางรีสอร์ตได้ดำเนินการแจ้งความต่อตำรวจแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คงยากที่จะได้คืน...
ทั้งนี้ เมื่อทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้โทรศัพท์สอบถาม "พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา" ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ทำให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า...
...
“การใช้ชื่อสถานประกอบการที่มีชื่อเสียงเพื่อแอบอ้างมีอยู่บ่อยครั้งและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทางตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ที่ผ่านมาตำรวจมีการดำเนินคดีลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง และปัจจุบันก็กำลังดำเนินการตามจับผู้กระทำความผิดในคดีลักษณะนี้อยู่”
โดยมิจฉาชีพมักใช้ “บัญชีม้า” ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่นมาใช้เป็นช่องทางหลอกผู้เสียหาย “ที่ผ่านมาการหลอกโอนเงินมักให้ทำธุรกรรมผ่านบัญชีม้า ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคในการดำเนินการของตำรวจ กฎหมายก็มีการเพิ่มโทษขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีการเปิดบัญชีม้าอยู่”
สำหรับประเด็นที่ผู้เสียหายแจ้งกับทีมข่าวฯ ว่า ได้แจ้งความไปตั้งแต่ 28 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ ผบช.สอท.ให้ข้อมูลว่า...
“เหตุที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ เนื่องจากการขอข้อมูลธนาคารค่อนข้างใช้ระยะเวลาพอสมควร และทางตำรวจกับธนาคารต้องตรวจสอบรายละเอียดด้วย เช่น โอนไปบัญชีนั้น แล้วบัญชีนั้นโอนไปบัญชีอื่นต่อหรือไม่ จึงทำให้เมื่อแจ้งความแล้วจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ต้องรอรายการบัญชีจากธนาคารก่อน เพราะถือว่าเป็นเอกสารสำคัญ”
ส่วนเรื่องจะได้เงินคืนหรือไม่นั้น พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า... “หากยังไม่มีการโอนเงินออกจากบัญชีปลายทางก็มีสิทธิ์ได้เงินคืน แต่ถ้ามีการโอนออกแล้วก็ถือว่ายากมากที่จะได้คืน”
ฝากเตือนประชาชน
“คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์” รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่า...
“ส่วนใหญ่แล้วมูลนิธิฯ ได้รับการร้องเรียนจากเรื่องการโอนเงินหลอกซื้อสินค้า เรื่องที่พัก หรือการท่องเที่ยวยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อย แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย”
...
เรื่องโกงมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่ผู้บริโภคโดนหลอกมักเกิดจากการถูกล่อใจด้วยราคาห้องพักที่ต่ำกว่าปกติ ตัวเลขความเสียหายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมิจฉาชีพก็พยายามปรับเปลี่ยนวิธีการหลอกต่างๆ นานา “ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และวันหยุดยาว เป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะบางครั้งรัฐอาจมีนโยบายกระตุ้นเศรษษฐกิจท่องเที่ยว ทำให้ผู้คนสนใจจองที่พักมากขึ้น จึงทำให้เป็นโอกาสของมิจฉาชีพ”
นอกจากนั้นถ้าดูสินค้า หรือบริการใดบ่อยครั้ง ก็จะทำให้มิจฉาชีพใช้อัลกอริทึมตรงนั้นจับพฤติกรรมผู้บริโภค และพยายามยิงแอด บางครั้งผู้บริโภคอาจจะสนใจและกดเข้าไป ทำให้ลืมตรวจสอบและตกเป็นเป้าหมายของผู้ไม่หวังดี
คุณนฤมลมองว่าหลักๆ แล้วผู้เสียหายจะโอนเงินเรียบร้อยแล้ว ถึงจะรู้ว่าตนเองนั้นถูกโกง จึงได้แนะนำวิธีการง่ายๆ หากถูกโกง
“สิ่งแรกที่ต้องทำคือ โทรอายัดเงินกับธนาคารที่โอนเงินไป ธนาคารจะส่งไอดีให้หลังจากตรวจสอบแล้ว ให้เรานำไอดีนั้นเข้าแจ้งความกับตำรวจ เพื่อดำเนินคดีภายใน 72 ชั่วโมง และอย่าลืมบันทึกภาพหน้าจอการสนทนากับมิจฉาชีพ เพื่อใช้ประกอบเป็นหลักฐานการแจ้งความ โดยให้แจ้งความร้องทุกข์ ไม่ใช่การแจ้งความลงบันทึกหลักฐาน”
ประเด็นการสำรองที่พัก คุณนฤมลแนะนำให้ผู้บริโภคจองผ่านแพลตฟอร์มจองที่พักจะดีที่สุด เพราะแพลตฟอร์มเหล่านั้นมีการคุ้มครองผู้บริโภค และค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเปอร์เซ็นต์การโกงน้อย หรือแทบไม่มี เพราะทางแพลตฟอร์มจะยังไม่จ่ายเงินให้กับที่พัก จนกว่าผู้บริโภคจะเข้าไปยืนยันว่าได้เข้าพักเรียบร้อย
“แม้บางครั้งการจองผ่านแพลตฟอร์มจะมีราคาที่สูงกว่าหน้าเพจ แต่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกโกง เพราะฉะนั้นนี่คือความคุ้มค่า ไม่อยากให้หลงไปกับโปรไฟไหม้ การชวนให้จ่ายตอนนี้ เดี๋ยวนี้ หรือข้อความที่อ้างว่าหลุดจอง เพราะถ้าจ่ายเงินไปแล้ว อาจจะไม่ได้เข้าพัก”
เพจปลอมส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนชื่อเพจ เช่น แรกเริ่มขายทุเรียน ตอนนี้เปลี่ยนมาทำรีสอร์ต คุณนฤมลบอกกับเราว่า “นี่มันก็ไม่ใช่เรื่องปกติ” ซึ่งสิ่งนี้สามารถดูได้โดยเข้าไปที่หน้าเพจและกด “เกี่ยวกับ” อีกทั้งในนั้นจะเห็นข้อมูลประเทศของผู้ดูแลเพจ อย่างเช่นเพจที่คุณนิวโดนโกงก็ปรากฏผู้ดูแลอยู่ที่ “เมียนมา”
ที่พักส่วนใหญ่จะไม่เปิดชื่อบัญชีในนามบุคคล ดังนั้นหากปลายทางบัญชีเป็นชื่อบุคคล ให้คิดไปก่อนได้เลยว่า “โกง” หรือถ้ายังไม่แน่ใจและต้องการความชัวร์ให้ติดต่อเบอร์ของที่พักก็เป็นอีกทางออกที่ดีไม่น้อย
คุณนฤมลให้ข้อสังเกตอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ ดูยอดแสดงความคิดเห็น หรือการแชร์ เพราะบางครั้งเพจที่โกงจะมีคนมาแสดงความคิดเห็นเตือนภัย และบางครั้งก็แชร์ออก
“ทุกวันนี้เทคโนโยลีวิ่งไปเร็วมาก กลยุทธ์ของมิจฉาชีพเปลี่ยนไปทุกวัน แม้โลกออนไลน์จะสร้างความสะดวกให้แก่เรา แต่ก็ทำให้มิจฉาชีพสบายด้วย ดังนั้นอยากฝากให้ประชาชนใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งจากข่าว หรือจากเว็บไซต์ของตำรวจ เพื่อที่จะไม่ได้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ”
สุดท้ายแล้วเงินที่คุณนิวสูญเสียไปก็ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าจะได้คืนหรือไม่ นี่ถือเป็นอีกคดีการโดนโกงที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์แก่ประชาชนให้คอยระวังและตรวจสอบการทำธุรกรรมอย่างถี่ถ้วน เพื่อจะได้รอดพ้นจากการเป็นเหยื่อของผู้ประสงค์ร้าย
อย่างไรก็ดี ทีมข่าวฯ ได้สอบถามประเด็นดังกล่าวไปยังโรงแรมที่ถูกแอบอ้างชื่อ ซึ่งทางแอดมินเพจโรงแรมได้ตอบกลับว่า อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และจะติดต่อกลับในเร็วๆ นี้ ซึ่งความคืบหน้าทีมข่าวฯ จะรายงานให้ทราบต่อไป.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ: