หลังมีการเผยแพร่ภาพพระพุทธรูปโบราณรอบระเบียงคด วัดอรุณราชวราราม เสียหายหนัก เนื่องจากมีการบูรณะไม่เหมาะสม ทำให้กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบพระพุทธรูปปลายสมัยอยุธยาทั้งหมด 126 องค์ โดยหลายองค์มีลักษณะแตกร้าวบริเวณเศียร การซ่อมแซมทางวัดตัดสินใจใช้ทุนทรัพย์ที่ได้รับการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาแทน

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยังพระลูกวัด ผู้ดูแลวัดอรุณราชวราราม เปิดเผยว่า พระพุทธรูปรอบระเบียงคดมีความเสียหายอย่างหนัก ส่วนหนึ่งเกิดการจากบูรณะผิดวิธี ทำให้องค์พระพุทธรูปเมื่อเจอความชื้น จึงมีการแตกร้าวเสียหาย

“ที่ผ่านมาทางวัดมีการบูรณะสม่ำเสมอ แต่การบูรณะคราวก่อนได้ใช้สีทาองค์พระ เมื่อเกิดความชื้นองค์พระเกิดระเบิด โดยตอนนี้ทางวัดตัดสินในซ่อมแซมด้วยทุนทรัพย์ของผู้มีจิตศรัทธา ที่เข้ามาร่วมทำบุญกับทางวัด เนื่องจากไม่อยากใช้งบประมาณของกรมศิลป์ เพราะท่านต้องใช้งบประมาณในการดูแลซ่อมแซมอีกหลายวัด สำหรับวัดอรุณ ยังพอมีทุนซ่อมแซมได้ ทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งมาจากการเก็บค่าเข้าวัดจากชาวต่างชาติ และผู้มีจิตศรัทธา เป็นเจ้าภาพในการซ่อมแซมองค์พระพุทธรูป”

...

งบประมาณในการซ่อมแซมองค์พระพุทธรูป แม้ใช้งบของทางวัด แต่อยู่ในความดูแลอย่างถูกต้องของกรมศิลปากร โดยงบประมาณซ่อมแซมเฉลี่ยองค์ละ 130,000 บาท กรณีที่องค์พระมีความเสียหายหนัก แต่มีพระพุทธรูปอีกบางส่วนที่มีความเสียหายไม่ร้ายแรง งบประมาณในการซ่อมจะลดลง

แนวทางการบูรณะองค์พระที่เสียหาย มีการปั้นซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ทำการลงรักปิดทอง องค์พระพุทธรูปรอบระเบียงคดมีทั้งหมด 126 องค์ สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ศิลปะสมัยอยุธยา ด้วยปูนแบบโบราณ เมื่อถูกความชื้นตัวปูนเกิดยุ่ย สำหรับการบูรณะทางวัดได้ดำเนินการซ่อมแซม โดยช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา บูรณะไปแล้ว 16 องค์

สำหรับองค์ที่ชำรุดเสียหายหนัก ตอนนี้มีอยู่ 1 องค์ ทางกรมศิลปากร เริ่มเข้ามาบูรณะแล้ว การชำรุดขององค์พระพุทธรูปส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณเศียร เนื่องจากเป็นจุดที่มีความไวต่อความชื้น เมื่อเจอสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จะเกิดการแตกร้าว จนเห็นเนื้อภายในเดิม ยิ่งการบูรณะด้วยการทาสี ทำให้เนื้อภายในของปูนโบราณ ไม่สามารถระบายความชื้นออกมาภายนอกได้ จึงทำให้พระพุทธรูปหลายองค์ มีลักษณะคล้ายกับการระเบิดของปูนบริเวณเศียร

การบูรณะพระพุทธรูปใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเสียหายอย่างหนักต้องใช้เวลาซ่อมแซมถึง 3 เดือน วิธีซ่อมแซมของกรมศิลปากร เริ่มจากการเก็บภาพก่อนการบูรณะ และทำการขูดส่วนที่ไม่เป็นทองออก จากนั้นนำปูนโบราณมาปั้นแต่งเติมตามรูปทรงเดิม จากนั้นปล่อยให้แห้ง และเริ่มทำการลงรักอีก 2 ครั้ง เมื่อองค์พระพุทธรูปแห้ง จึงเริ่มทำการปิดทอง

“การสร้างพระพุทธรูปรอบระเบียงคด เป็นคติความเชื่อในการสร้างเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มีนำอัฐิ มาบรรจุไว้บริเวณใต้ฐานพระพุทธรูป สำหรับญาติโยมที่ต้องการจะเป็นเจ้าภาพ หรือสมทบทุนซ่อมแซมองค์พระพุทธรูป สามารถมาติดต่อบริจาคได้ที่สำนักงานของวัดตามจิตศรัทธา”

...

คุณค่าของพระพุทธรูปรอบระเบียงคด ตามประเพณีโบราณวัดหลวงต่างๆ มีการนำพระพุทธรูปสำคัญมาไว้รอบระเบียงคด โดยของที่วัดจะเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย การช่วยเหลือในการบูรณะของญาติโยมก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในการจรรโลงพระพุทธศาสนา ให้คงอยู่ต่อไป

กรมศิลปากร ชี้ต้นเหตุบูรณะผิด

พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกองโบราณคดี กรณีพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณ ปางมารวิชัย บริเวณพระระเบียง พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม และพระพุทธรูปหินทราย วัดแจงร้อน เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ เกิดความชำรุดเสียหาย ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2564 วัดอรุณราชวราราม เคยมีหนังสือขอความอนุเคราะห์กรมศิลปากรเกี่ยวกับการบูรณปฏิสังขรณ์พระระเบียง พระพุทธรูป และจิตรกรรมฝาผนังภายในพระระเบียง วัดอรุณราชวราราม กรมศิลปากรได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี เข้าสำรวจสภาพความชำรุดเสียหายของพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณปางมารวิชัย และจิตรกรรมฝาผนังบริเวณพระระเบียง พบว่า ความชำรุดดังกล่าวเกิดจากการใช้วัสดุผิดประเภทในการซ่อมแซม ทำให้เกิดความชื้น ซึ่งกรมศิลปากรได้แจ้งสาเหตุของความชำรุดเสียหายดังกล่าวกับทางวัดเรียบร้อยแล้ว โดยทางวัดจะเป็นผู้ดำเนินการใช้งบประมาณของทางวัดในการบูรณะ.

ภาพจาก กรมศิลปากร

...