เรื่องเล่ามุมมืดในเรือนจำ ปัญหาผู้ต้องขังใหม่ อย่าง ดีเจแมน และใบเตย อาจต้องเผชิญ นอกจากขั้นตอนต่างๆ ที่เข้มงวดแล้ว ยังมีปัญหาอื่นแอบแฝง เช่น ผีหลอกผี ....
ยังเป็นอีก 1 คดีที่ประชาชนให้ความสนใจ สำหรับ FOREX-3D ที่มีคนดังถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้อง และเวลานี้อยู่ในขั้นตอนสู้คดี ของ "ผู้ต้องหาลอตที่ 3” โดยเฉพาะ ดีเจแมน พัฒนพล มินทะขิน และใบเตย อาร์สยาม หรือ สุธีวัน กุญชร
ล่าสุด (10 ก.ค.) มีความคืบหน้าของคดีนี้ คือ การตรวจนัดพยานหลักฐานครั้งแรก ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งถือเป็นรอบ 2 เดือน ที่ ดีเจแมน กับ ใบเตย ได้เจอกันที่ศาล หลังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ
จากรายงานข่าว ใบเตย เวลานี้ ลักษณะซูบผอม และร่ำไห้ขณะเดินเข้าห้องพิจารณาคดี ขณะที่ ดีเจแมน ได้แต่โอบกอดให้กำลังใจภรรยา และภายในห้องพิจารณาคดี ใบเตยก็ร้องไห้อย่างหนัก จนดีเจแมนได้แต่ปลอบและลูบหัวภรรยา ก่อนจะร้องไห้ตาม
ทั้งนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 5 ได้ทำคำร้องขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปโดยให้เหตุผลว่า ยังรอสำเนาสำนวนคดีจากทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีเอกสารประมาณ 700,000 แผ่น เนื่องจากในคดีดังกล่าวมีการสอบพยานไปเกือบ 10,000 ปาก จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการรวบรวมสำเนาสำนวนคดี จึงขอเลื่อนไปอีก 2 เดือน
...
ขั้นตอนการถูกควบคุมขัง สิ่งที่ทำได้ และไม่ได้ในเรือนจำ
จากสภาพของ ดีเจแมน และใบเตย ทำให้เกิดความสงสัย ทำไมทั้ง 2 ถึงอยู่ในสภาพนั้น การถูกควบคุมตัวในเรือนจำแต่ละวันทำอะไร สิ่งที่ทำได้ และไม่ได้ในเรือนจำ คืออะไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้แหล่งข่าวจากราชทัณฑ์มาเล่าให้ฟัง
สิ่งที่เจอเหมือนกัน ของนักโทษเด็ดขาด กับผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวฝากขัง
ด่านแรกที่เจอ คือ เจ้าหน้าที่ทะเบียน เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า “เจ้าพนักงานจะรับบุคคลใดๆ เข้าคุมขัง ต้องมีหมายอาญา หรือ คำสั่งของผู้มีอำนาจ”
หมายความว่า ตอนแรกเข้า จะต้องมีหมายอาญาของศาลมา โดยในหมายสิ่งที่ต้องมีบอกคือ เลข 13 หลักประจำตัวประชาชน ซึ่ง ตัวตนกับหมายจะต้องตรงกัน...
ต่อมา เจ้าหน้าที่จะทำ “รูปพรรณ” ด้วยการสอบประวัติเบื้องต้น ต้องโทษคดีอะไร ฝากขังคดีอะไร จากนั้นก็พิมพ์ลายนิ้วมือ จากนั้นจะมีคำถามในเชิง “จิตวิทยา” และมีการตรวจสุขภาพร่างกายเบื้องต้น เพราะคืนแรกส่วนมากหมอจะไม่อยู่ จะเป็นเจ้าหน้าที่พยาบาล อย่างไรก็ตาม หมอก็จะต้องมาตรวจภายใน 24 ชั่วโมง
สิ่งที่ต้องตรวจ ประกอบด้วย
1.เป็นพาหะนำโรคหรือไม่
2. เป็นโรคจิต โรคประสาท หรือไม่
3.มีพฤติการณ์จะทำร้ายผู้อื่นหรือไม่
4.ตั้งครรภ์หรือไม่
5.มีอาการติดสุรา หรือ ป่วยด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังหรือไม่
แหล่งข่าวฯบอกกับเราว่า คนที่ติดพิษสุราเรื้อรัง พอเข้ามาแล้ว มักสร้างปัญหา ส่วนคนที่ป่วยโรคประสาท ส่วนมากจะทำร้ายตัวเอง เช่น ไปขโมยฝาปลากระป๋อง มาเฉือนคอตัวเอง
เมื่อผ่านการตรวจร่างกายแล้ว สิ่งที่จะได้ตามมาคือ อุปกรณ์ การอาศัยในเรือนจำ สบู่ ยาสีฟัน ขันน้ำ เครื่องแต่งกาย จากนั้น บางเรือนจำจะให้ไปอาบน้ำ ซึ่งเป็นห้องอาบน้ำรวมกัน (แยกหญิง-ชาย)
จากนั้น “คืนแรก” เขาหรือเธอ อาจจะได้กินอาหารมื้อแรก (เตรียมไว้จากอาหารเย็น) ส่วนจะเป็นอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เมนูในเรือนจำวันนั้นเป็นอะไร เขาจะเก็บไว้ให้ ซึ่งตามปกติแล้ว เมนูของเรือนจำ จะไม่ซ้ำกัน 30 วัน 30 เมนู สลับหมุนเวียนไป ขึ้นอยู่กับว่าเข้ามาวันไหน และมาเจอกับอะไร...
โดยปกติแล้ว อาหารในเรือนจำ จะแบ่งเป็น 2 มื้อ คือ เช้ากับเย็น ส่วนเที่ยงนั้น ไม่ใช่การจัดเลี้ยง อารมณ์เหมือนอาหารเสริม ส่วนมากจะมี ข้าวต้ม กับ ขนมหวาน
...
ทรัพย์สิน เด็ก และการค้นตัวครั้งสุดท้าย
สิ่งที่เรือนจำจะตรวจสอบในเวลาต่อมา คือ เรื่องทรัพย์สิน และเด็ก ซึ่งปกติแล้ว เด็กที่คลอด หรือ อยู่ในเรือนจำที่มากับแม่ จะไม่ให้อายุเกิน 3 ปี ส่วนทรัพย์สินต้องฝากเจ้าหน้าที่ไว้ทั้งหมด
จากนั้น จะต้องตรวจค้นตัวครั้งสุดท้าย ก่อนส่งตัวเข้าเรือนนอน พร้อมกับ “ผ้าห่ม” จำนวน 3 ผืน ส่วนของที่มาจากนอกเรือนจำ เข้าไปไม่ให้ทั้งหมด
ชีวิตประจำวัน ของนักโทษเด็ดขาด กับ ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวฝากขัง
แหล่งข่าวจากราชทัณฑ์ อธิบายว่า กลุ่มของผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวฝากขัง ส่วนมากจะไม่ค่อยทำอะไรมาก พอเปิดกรงขัง 6 โมงเช้า จากนั้น ก็มารวมตัวเคารพธงชาติ จากนั้นก็ว่างถึง 11.30 น. กินอาหารตอนเที่ยงเสร็จ ก็ว่าง...ไปถึงตอนเย็น ก่อน 6 โมงเย็น ต้องเข้าเรือนนอน
ตั้งแต่เปิดกรงขัง ผู้ต้องขัง หรือ นักโทษ ก็จะออกมาอยู่บนพื้นดิน แต่จะมีการ “บล็อกโซน” เอาไว้ เช่น โซนผู้สูงอายุ, โซนหญิงสาว, โซนคนบ้า, โซนเฝ้าระวังการหลบหนี
ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ต้องหาถูกฝากขัง ทำในยามว่าง คือ กิจวัตรประจำวัน บางคนก็อ่านหนังสือ เข้าห้องสมุด บางคนออกกำลังกาย แต่ถ้าไม่ทำอะไร คนเหล่านี้ ก็มักจะเกิดอาการ “เครียด”
ส่วนนักโทษเด็ดขาด กลุ่มเหล่านี้ บางคนจะเลือกเรียนหนังสือ เลือกทำงาน บางคนอาสาเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ เช่น งานโยธา
...
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ต้องหาถูกฝากขัง จะไปเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพราะโทษยังไม่ตัดสิน ยกเว้นแต่วัน “เจ้าตัวจะสมัครใจช่วย” สาเหตุที่ทำไม่ได้ เพราะตัวกฎหมายยังมองว่า อาจยังเป็น “ครึ่งผี ครึ่งคน” ไม่รู้ว่าโทษจะเป็นอย่างไร จะติดคุกหรือไม่
ซึ่งแปลว่า ยังมีโอกาสประกันตัวหรือไม่ประกันตัว....หากไม่ได้ประกันตัว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ “การตัดผม”
“การตัดผม” ผู้ถูกฝากขัง
การตัดผม ผู้ชายก็จะตัดทรงนักเรียน ส่วนผู้หญิงก็จะสั้นประมาณติ่งหู หรือ มัดให้เรียบร้อย ซึ่งโดยหลักแล้ว การจะตัดผม เจ้าหน้าที่จะให้โอกาส ช่วงฝากขัง 1 ฝาก คือ ภายใน 7 วัน ถ้ามีโอกาสได้ประกันตัว ทางเรือนจำก็อนุโลม
แต่...หากเข้ามาแล้ว หมอมาเจอว่ามี “เหา” เต็มหัวเลย ก็อาจจะต้องตัดก่อน
การซื้อของ และซื้ออาหาร
สำหรับการซื้อของหรืออาหาร ที่ต้องใช้เงินส่วนตัวนั้น สามารถนำมาฝากได้ โดยจะไม่ต้องไม่เกิน 9,000 บาท สมมติว่า มีผู้ถูกคุมขังรายหนึ่งอยากกินพิซซ่า เขาก็จะระบุว่า นายสาว ก. ขอเบิก พิซซ่า 1 ถาด
ซึ่ง....การจะได้กินพิซซ่า จะไม่ได้กินในทันที เบิกวันไหน ก็จะได้กินวันถัดไป โดยจะต้องเป็นของที่เรือนจำนำมาขาย แต่ถ้าเรือนจำไม่ได้นำมาขาย ก็ไม่ได้
“ถ้าอยากได้อะไร จะไม่ได้ทันที จะต้องเขียนเบิก รวมถึงน้ำต่างๆ เช่น โค้ก เป๊ปซี่ ขอเบิกไว้ ครึ่งโหล จากนั้นค่อยไปเอาในวันถัดไป เรียกว่าใครสั่งคนนั้นก็ได้”
...
เมื่อถามว่า ไม่มีอะไรที่ต้องซื้อ แล้วได้เลยหรือ... คำตอบของคำถามนี้ คือ “ไม่มี...ทุกอย่างต้องสั่ง ยกเว้นสิ่งที่เรือนจำจัดหามาให้”
ยกเว้นแต่ว่า....เพื่อนซื้อไว้ และไปขอยืม เช่น เพื่อนซื้อแปรงสีฟัน ดีๆ ไว้สัก 1 อันมาแล้ว และนี่อยากจะใช้ก่อน ก็ต้องไปขอยืมเพื่อน จากนั้นก็ซื้อคืนเพื่อนในวันถัดไป นี่คือชีวิตผู้ต้องขัง ที่ต้องแลกเปลี่ยนกันในบางครั้ง
ผู้ต้องขังใหม่ กับ ความเครียด
แน่นอนว่า คนที่ไม่เคยติดคุก เข้ามาย่อมมีความเครียด ซึ่งภายในเรือนจำก็มีนักจิตวิทยา มีหมอ สำหรับ คนที่จะสังเกตเห็นคนแรก คือ เจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลควบคุม หากสังเกตเห็นเขาก็จะแจ้งหมอ
ตรงนี้คือ ลักษณะ ผู้ต้องขังไม่ยอมแจ้งเจ้าหน้าที่ ส่วนอีกแบบ คือ ผู้ต้องขัง รู้ตัวอยู่แล้ว และแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็จะมีการพามาพบหมอ
การไปพบหมอ ใช่ว่าจะพบได้เลย แต่ต้องพบคนอื่นก่อน คือ อสรจ. (อาสาสมัครเรือนจำ) ซึ่งก็ทำหน้าที่คล้าย อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ซึ่งก็คือ ผู้ต้องขัง ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยหมอ จะประเมินเบื้องต้น
คนเหล่านี้ ผ่านการอบรมจาก ก.สาธารณสุขมา มีความรู้พื้นฐานคล้ายกับพยาบาล
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ คุกบางแห่งก็ไม่หมอ ถ้าคุกไหนมีก็จะเรียกว่า “หมอห้วงเวลา” เป็นการจ้างต่างหาก ส่วนมากจะมาหลังจากคลินิกเขาเลิกงาน บางคนมาแค่ช่วงเช้า บางคนมาช่วงบ่าย
สำหรับเรือนจำในกรุงเทพฯ ส่วนมากจะมีหมอประจำ 1-2 คนเท่านั้น/เรือนจำ ที่เหลือ คือ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์
ภัยคุกคามในเรือนจำ และสิ่งที่ไม่คาดคิด
ทีมข่าวฯ เจาะถามว่า ปัญหาในเรือนจำ ที่เป็นภัยคุกคาม ของคนถูกฝากขัง ส่วนมากเป็นเรื่องอะไร แหล่งข่าวจากราชทัณฑ์เผยว่า ส่วนมากจะเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่มีเรื่องกันมาก่อน เช่น บางคนถูก “จี้จับ” (การซัดทอด ชี้ตัวให้ตำรวจมาตามจับ) แล้วมาเจอกันข้างใน บางคนไม่รู้ที่มาที่ไปมาก่อน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ทราบ เมื่อเจอหน้ากัน ก็มีเรื่องวิวาท หากป้องกันทันก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ทัน ก็ต้องคอยระงับเหตุตามระบบ
เหตุไม่คาดฝันอีกอย่าง คือ เจอคนบ้า...คนบ้า จะทำร้ายตัวเอง เช่น หาฝาปลากระป๋องมาปาดคอตัวเอง ทุบกระจกมาทำร้ายตัวเอง กรีดแขนขา ระบายความเครียด
โดนจูงจมูก บางคนหมดตัว
เมื่อถามว่า กรณีคนดังเข้ามา จะเจอปัญหาอะไร แหล่งข่าวคนเดิม บอกว่า อาจจะเจอจูงจมูก เช่น เป่าหูว่า เธอ นาย มีโอกาสให้ไปหาเจ้าหน้าที่คนนั้น คนนี้ ไปฝากตัวกับเขา เขาจะได้ดูแล แต่ความเป็นจริง คือ โดนพวกคนเก่าหลอก เพื่อบางครั้งคนเก่า มันจะเกาะกิน หรือ หาอิทธิพล เรียกว่า จะสบายไปด้วย เหมือน “ผีหลอกผี”
คนใหม่ ส่วนมากก็ไม่รู้เรื่องอะไร ฉะนั้น คนเก่า มันพูดอะไรก็เชื่อ บางคนเกือบหมดตัว ถึงจะเก่ง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับใบเตย กับดีเจแมน ที่ดูซูบผอม มองว่าน่าจะมาจากความเครียด เพราะเขาเคยเป็นคนดังมาก่อน พอเข้ามา หากยังปรับตัวไม่ได้ หรือไม่ทำกิจกรรมอะไร...มันก็จะคิดไม่หยุด และยิ่งเวลาว่างมันเยอะด้วย โอกาสที่เขาจะผ่อนคลายได้ คือ 1.มีญาติมาเยี่ยม 2.มีทนายมาเยี่ยม ชีวิตมีแค่นี้ ถ้าหากไม่คิดทำอะไรภายในเรือนจำ และหากไม่ปล่อยวาง ก็อาจจะเกิดโรคประสาทได้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านบทความที่น่าสนใจ