เมื่อในหนึ่งชั่วชีวิตของคนๆ หนึ่ง ต้องพบการเปลี่ยนผ่านของชีวิตในหลายๆ ช่วงเวลา และในหลากหลายมิติ ได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ผ่านบทความ ในการประชุมวิชาการระดับชาติ “ประชากรและสังคม 2566” ครั้งที่ 17 จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในมุมมอง Life course ที่เกิดขึ้นในหนึ่งชั่วชีวิตของคน

หนึ่งในนั้นเป็นมิติรูปแบบการอยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตในทุกช่วงวัย เพราะการอยู่อาศัยของคนหนึ่งไม่ได้คงอยู่ตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัย โดยเฉพาะประเด็นผู้สูงอายุต้องย้ายจากบ้านที่คุ้นเคยไปสู่ที่พักในลักษณะของสถานดูแล จะพัฒนาให้ที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันให้เหมือนได้อยู่บ้านจะดำเนินได้อย่างไร จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ จากคาดการณ์ว่าผู้สูงอายุไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 12.0 ล้านคน เป็น 20.5 ล้านคน เข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด”

สถานสงเคราะห์ ไม่เพียงพอ รองรับคนแก่ไร้ที่พึ่ง

“รศ.ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านเส้นทางชีวิต ผู้สูงอายุหลายรายมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่จากบ้านที่คุ้นเคยไปสู่ที่พักในลักษณะของสถานดูแล เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เพราะ “สถานที่” ให้ความหมายที่สำคัญต่อตัวผู้สูงอายุทั้งในบริบทของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นความท้าทายในการพัฒนาสถานที่สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ให้น่าอยู่ “เหมือนได้อยู่บ้าน” หรือ “ได้อยู่ในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม” ที่มีความเป็นชุมชน เน้นการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายโดยเฉพาะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนาสถานสงเคราะห์ตามแนวคิดการสูงวัยในถิ่นที่อยู่เดิม

...

จากสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านทางประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สังคมจะรับมือต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นที่อยู่อาศัย ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีนโยบายระดับชาติ ในการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้สูงวัยในสถานที่เดิม โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้อาศัยในบ้านหรือละแวกใกล้เคียง เพื่อเป็นการสร้างเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ ชะลอการเข้ารับการรักษาในสถานดูแลระยะยาว และช่วยลดต้นทุนการดูแลสุขภาพ

ประเทศไทยดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีรายได้ ไร้ที่พึ่งพิง และไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ ในรูปแบบของบริการสังคมที่รัฐจัดให้ และปัจจุบันสถานสงเคราะห์ฯ ทั้งหมด ให้บริการได้สูงสุดเพียง 4-5 พันคนเท่านั้น ขณะที่ข้อมูลปี 2561 มีผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือ มากกว่า 3.8 ล้านคน และจากรายงานปี 2564 พบว่าในอนาคตอันใกล้จะมีความต้องการช่วยเหลืออย่างน้อยประมาณ 20 เท่าของบริการที่มีอยู่ในปัจจุบัน

“ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ปรารถนาจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของตนเองให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเชื่อว่าไม่มีที่ไหนที่อยู่แล้วมีความสุขเท่ากับบ้านตนเอง สภาพการอยู่อาศัยจึงมีผลต่อผู้อยู่อาศัย จนนำไปสู่แนวคิดสูงวัยในถิ่นที่อยู่เดิม ในการออกแบบนโยบายเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ใช่เพียงแค่ตัวบ้าน อาคารสถานที่พักเท่านั้นแต่รวมถึงชุมชนและผู้คน มีวัฒนธรรมเดียวกัน มีความคุ้นเคย และมีความทรงจำร่วมกัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ไม่ต้องย้ายไปอยู่ในสถานที่แห่งใหม่”

บ้านพักคนชรา ทางเลือกสำหรับผู้มีอำนาจตัดสินใจ

ปัจจุบันบริการด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเริ่มกลายเป็นทางเลือกของผู้สูงอายุและครอบครัวที่มีรายได้สูงในรูปแบบบริการ “บ้านพัก” หรือแม้แต่รายได้ปานกลาง และในสถานสงเคราะห์บางแห่ง จะพบผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว และมีเงินเก็บอยู่ไม่มาก ใช้บ้านพักคนชราเป็นสถานที่พักพิงในตอนปลายของชีวิต กลายเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่มีอำนาจตัดสินใจในการเลือกที่พักอาศัยให้กับตนเอง เมื่อก้าวเข้าสู่ภาวะสูงวัย

แต่สถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุ ยังมีปัญหาต้องแก้ไข ในด้านบุคลากรไม่เพียงพอ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุทุกคน โดยเฉพาะเมื่อผู้สูงอายุเริ่มมีสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งส่งผลให้บุคลากรแต่ละคนรับภาระงานหนักและได้รับการดูแลไม่ทั่วถึง นอกจากนี้ยังขาดบุคคลากรวิชาชีพเฉพาะ อย่างนักจิตวิทยา ในการดูแลผู้สูงอายุบางรายมีอาการทางจิตเวช หรือป่วยสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ภายหลังเข้าพักแล้ว

สถานสงเคราะห์ฯ เกือบทุกแห่งสร้างมาเป็นเวลากว่า 30 ปี อาคารบางหลังเก่าชำรุด ไม่มีความปลอดภัย และไม่ได้ถูกออกแบบตามลักษณะการใช้งานของผู้สูงอายุ และมีผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น บางคนเริ่มมีอาการทางสมอง และมีปัญหาทางจิต แต่สถานสงเคราะห์ไม่มีห้องหรืออาคารแยกสำหรับผู้มีปัญหาเหล่านี้ แต่จะจัดให้อยู่รวมกับผู้สูงอายุคนอื่นๆ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแล

...

“สถานสงเคราะห์ฯ ผู้สูงอายุที่ไร้ที่พักพิง เป็นที่พึ่งสุดท้ายของคนกลุ่มนี้ แต่มีหลายแห่งยังขาดความตระหนัก ในการพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุ และด้วยอาคาร สถานที่ บุคลากร ที่มีอยู่สามารถรองรับผู้สูงอายุได้อย่างจำกัด ในขณะที่มีผู้สูงอายุรอที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ และยังมีผู้สูงอายุขาดโอกาสในการเข้าอยู่อาศัยในสถานสงเคราะห์ฯ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีชื่ออยู่ทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการ รวมถึงเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย”

สูงวัยในถิ่นอาศัยเดิม ยึดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สุดท้ายเป็นปัญหาระบบฐานข้อมูลของสถานสงเคราะห์ไม่มีความเชื่อมโยงกันในการให้บริการรับผู้สูงอายุเข้า และส่งต่อผู้สูงอายุ เพื่อรับบริการสังคมและสุขภาพนอกสถานสงเคราะห์ฯ นำไปสู่การประยุกต์ใช้แนวคิดการสูงวัยในถิ่นที่อยู่อาศัยเดิม ในการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคม เน้นการสร้างความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยและให้ผู้บริการที่เป็นมิตร ส่งเสริมการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

...

“ให้ความรู้สึก มีอิสระ เป็นส่วนตัว ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมมากขึ้น จะทำให้เกิดความเข้าใจการสูงอายุและความจำเป็นที่แท้จริง โดยชุมชนจัดตั้งให้สถานสงเคราะห์เป็นทั้งบ้าน และชุมชนที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ อยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถพิจารณาเพิ่มอัตราบุคลากร โดยเฉพาะผู้ดูแลและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงการเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาสถานสงเคราะห์ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในพื้นที่และสภาพแวดล้อม ในการพัฒนาให้น่าอยู่ “เหมือนได้อยู่บ้าน” หรือ “ได้อยู่ในถิ่นเดิม” ที่มีความเป็นชุมชน และไม่ควรเป็นเพียงการตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้าแต่เพียงเท่านั้น.