กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีวินมอเตอร์ไซค์เถื่อนผุดขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก บางวินจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่เป็นรายเดือน ตั้งแต่หลักพันถึงแสนบาท กลวิธีเก็บส่วยบางพื้นที่ เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นค่าปรับรายเดือนแบบเหมา หรือมีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เป็นตัวกลางคอยเคลียร์ให้
ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ส่วยวินมอเตอร์ไซค์ อาจไม่มีเม็ดเงินที่มากเหมือนก่อน แต่ไม่ได้หมดไปจากไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีการตั้งวินเถื่อนตามแนวรถไฟฟ้าสร้างใหม่จำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าว กทม. จะไม่อนุมัติการตั้งวิน หรือถ้าตั้งได้ก็จะค่อนข้างยาก เนื่องจากมีปัจจัยการขออนุญาตค่อนข้างมาก

“การที่มีรถไฟฟ้าเปิดใหม่หลายเส้นทางในเมือง ทำให้คนที่เห็นช่องทางหันมาตั้งวินเถื่อน ปกติวินมอเตอร์ไซค์ จะอยู่ตามซอยต่างๆ เพราะเงื่อนไขการขอตั้งวินใหม่ ต้องมีโฉนดที่ดินในการตั้งวิน พื้นที่ตรงแนวรถไฟฟ้าจะไม่มีโฉนดที่ดินของเอกชน ขณะเดียวกันคนที่มาขับวินต้องมีใบขับขี่รถสาธารณะรวมกัน 5 คนขึ้นไป ต้องไม่ไปกระทบวินอื่น ที่ตั้งอยู่เดิม เลยทำให้วินมอเตอร์ไซค์เถื่อนเหล่านี้ต้องจอดกันอยู่บนทางเท้าหรือริมถนน”
...
ระบบการเก็บส่วยของวินมอเตอร์ไซค์ ส่วนใหญ่เป็นการยินยอมทั้งจากคนขับวินและเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะวินที่จอดรอผู้โดยสารบนฟุตปาท ถ้าไม่มีการจ่ายเงินรายเดือนจะถือว่าผิดระเบียบ กทม. และวินมอเตอร์ไซค์ที่จอดริมถนน ไม่มีสถานที่จอดเป็นของตัวเอง ก็ต้องจ่ายส่วย ถ้าไม่จ่ายก็ไม่สามารถจอดได้

“การจอดรถบนสถานที่สาธารณะ ถือเป็นการกระทำผิดในการกีดขวางทางบนพื้นที่สาธารณะ แต่ถ้าจ่ายส่วย เจ้าหน้าที่บางรายก็จะทำเป็นมองไม่เห็น ซึ่งการจ่ายส่วนสมัยนี้อาจไม่มากเหมือนเดิม โดยมีการจ่ายรายเดือนวินละ 3,000 - 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนคนขับวินในพื้นที่นั้น”
จากข้อมูลพบว่าบางพื้นที่เทศกิจ มีการเก็บเป็นค่าปรับรายเดือน เช่นมีรถในวัน 20 - 30 คัน เจ้าหน้าที่จะมาตกลงกับคณะกรรมการวินว่า ขอจ่ายเป็นค่าปรับ โดยมีใบเสร็จให้ด้วย เป็นที่รู้กันว่าไม่ใช่ส่วย แต่เป็นค่าปรับรายเดือน แต่กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการแอบเรียกเก็บเงิน แบบที่ไมมีใบเสร็จให้ มีเจ้าหน้าที่มาเดินเก็บ และให้หัวหน้าวินเอาไปให้
สำหรับพื้นที่เรียกเก็บส่วย ยอดนิยมในกรุงเทพฯ คือ ย่านถนนสุขุมวิท ต้องจ่ายให้เจ้าหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท พวกวินเหล่านี้เหมือนอยู่กับผู้มีอิทธิพลมาตลอด เมื่อมีแอปพลิเคชันที่ผู้โดยสารใช้บริการมากขึ้น วินเหล่านี้อาจจะมีงานน้อยลง แต่ระบบส่วยไม่ได้หมดไป แต่จะจ่ายให้น้อยลง จากเดิมเดือนละ 40,000 บาท เปลี่ยนมาเป็น 20,000 บาท
แนวทางแก้ปัญหาส่วยวินมอเตอร์ไซค์ หน่วยงานรัฐต้องมีมาตรการดูแลที่เข้มงวด ถ้าหากจะเรียกเก็บ วินมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ก็พร้อมจะจ่าย เพื่อบำรุงท้องที่ในอัตราเหมาะสม แต่ที่ผ่านมาไม่มีการจัดระเบียบ เลยกลายเป็นช่องว่างทำให้เจ้าหน้าที่บางราย มาเรียกรับผลประโยชน์ พอไม่จ่ายก็อ้างความผิดต่างๆ เพื่อลงโทษ

“คนขับวินมอเตอร์ไซค์ พร้อมจะจ่ายค่าบำรุงสถานที่ให้กับ กทม. เป็นรายเดือน แต่ต้องสร้างระบบความโปร่งใส เพื่อป้องกันการมาเรียกรับของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย สิ่งสำคัญคือ ผู้ใหญ่ใน กทม. และรัฐบาล ถ้ามีการกวดขัน สั่งห้ามอย่างเข้มงวด เจ้าหน้าที่นอกรีตเหล่านั้น จะไม่กล้ามาเรียกรับ ขณะเดียวกันควรมีหน่วยงานกลางที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ และรับเรื่องร้องเรียนอย่างจริงจัง”
อยากเรียกร้องให้หน่วยเข้ามาจัดการระบบวินมอเตอร์ไซค์ อย่างเป็นระบบ เพราะตอนนี้มีวินเถื่อนอยู่จำนวนมาก พอพวกวินเหล่านี้กระทำผิด จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของคนที่กระทำถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน ระบบส่วยจะต้องมีการปราบปราม ให้เกิดความโปร่งใส ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่นอกรีตก็จะเรียกรับส่วย โดยที่เงินเหล่านี้ไม่ตกถึงหน่วยงานรัฐ.
...